Skip to main content
sharethis

ก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบางจังหวัดของประเทศไทย กลับถูกจำกัดด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ซึ่งห้ามมิให้มีการชุมนุมใดๆ เกิดขึ้น และท่าทีของแกนนำ คมช.ก็แสดงออกชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ทำให้มีข้อกังขาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมเพียงใด


 


จากกรณีดังกล่าว "ประชาไท" สัมภาษณ์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เพื่อนำข้อมูลอีกด้านมานำเสนอ


 


 


 


"ถ้ากองทัพยังยืนยันที่จะใช้กฎอัยการศึก


ก็คงจะต้องชี้แจงว่าในพื้นที่เหล่านี้มีความล่อแหลมอย่างไร


แล้วก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงอย่างไร


แล้วการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างไร"


 


 


00000


 


ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น รัฐมีความจำเป็นอะไรที่ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัด


อันที่จริง กฎอัยการศึกนี่มีมานานแล้ว ทุกประเทศก็มี เป็นสิ่งที่ให้ทหารมีอำนาจเหนือระบบบริหารจัดการปกติ เพื่อที่จะควบคุมพื้นที่ จำกัดการเข้าออก แล้วก็จัดระบบบ้านเมืองเพื่อที่จะทำศึกสงคราม ทั้งนี้ทั้งนั้น รวมถึงการจับกุม คุมขัง ตรวจค้นเคหะสถาน จำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน ควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่จะประกาศใช้หรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีศึกสงครามหรือไม่ ของเราส่วนใหญ่เป็นการออกกฎเพื่อที่จะจัดการกับศึกสงครามระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในปัจจุบันเราเอามาใช้ในบริบทของความมั่นคงเชิงการเมืองภายในเสียเยอะ เพราะว่าเรามีปัญหากับภายในเป็นหลัก กฎอัยการศึกก็ถูกออกมาประกาศใช้ในบริบทของการจัดการปัญหาการเมืองและความมั่นคงภายใน


 


ส่วนที่มาของการใช้กฎอัยการศึกในปีที่แล้ว (2549) มันชัดเจนว่า การรัฐประหารยึดอำนาจเก่า ก็ต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า เป็นการใช้เพื่อเหตุผลของเหตุการณ์และความมั่นคงภายใน แต่ปัจจุบัน การไม่ยกเลิกกฎเหล่านี้ก็ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่วันที่ 19 กันยา ซึ่งกองทัพมองว่าพื้นที่เหล่านี้มีปัญหา แล้วก็มีความเคลื่อนไหวที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และต้องคงกฎอัยการศึกเอาไว้


 


การประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกลายๆ ข้อจำกัดเหล่านี้จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใสได้อย่างไร?


สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางครั้งบางคราระบอบไม่เป็น แต่สังคมเป็น ความต้องการของประชาชนก็ไม่อยากจะให้มีการควบคุมสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมากนัก กฎอัยการศึกก็เลยมีปัญหาในการประกาศใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน มีปัญหาความมั่นคงมากๆ อย่างที่เราเห็นทางภาคใต้ กฎอัยการศึกก็ยังต้องประกาศใช้อยู่ แต่การประกาศใช้จริงๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้ เพราะฉะนั้น โดยรวม บางทีประชาชนอาจจะไม่รู้สึกว่ามันมีผลกระทบกระเทือนก็ได้ เพราะผู้ประกาศใช้มีวิจารณญาณและใช้ตามความรุนแรงลดหลั่นกันไปตามสถานการณ์ คือไม่ได้ใช้เต็มที่ แต่บางครั้งบางคราวก็อาจทำให้เกิดข้อครหาว่า ได้รับอำนาจมากไป ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากระบบปกติ


 


เพราะฉะนั้น ถ้ากองทัพยังยืนยันที่จะใช้กฎอัยการศึก ก็คงจะต้องชี้แจงว่าในพื้นที่เหล่านี้มีความล่อแหลมอย่างไร แล้วก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงอย่างไร แล้วการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างไร ถ้าชี้แจงได้ ผมคิดว่าการใช้กฎอัยการศึกก็จะเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องที่สากลอาจจะยอมรับได้มากขึ้น และถ้าเราชี้แจงไม่ได้ ไม่มีข้อมูลว่าตรงไหนที่มีการเคลื่อนไหว มันก็จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักกับสายตาต่างประเทศ แล้วก็ทำให้เกิดข้อครหาขึ้นมา ว่าการเลือกตั้งอาจจะไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม แล้วก็ไม่สอดคล้องกับบรรยากาศประชาธิปไตย ก็เลยมีความพยายามที่จะเข้ามาสังเกตการณ์หรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง


 


แต่ฝ่ายทหารบอกว่ากฎอัยการศึกเป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องชี้แจงเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกให้ต่างชาติเข้าใจ


เราอยู่ในสังคมโลกมากขึ้น เราก็ค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น รายได้เราส่วนใหญ่ก็มาจากต่างประเทศ เราค้าขายกับเขา เราอาจจะต้องชี้แจงกับเขา เจ้าของทุน เจ้าของเงิน ก็มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รายได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดก็มาจากต่างประเทศทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องการรู้ข้อมูลเพื่อที่จะนำไปพิจารณาในการค้าการลงทุนการท่องเที่ยว เขาก็คงจะเป็นกังวล ถ้าทหารเข้าไปดูแลจัดการการเลือกตั้งโดยตรง หรือว่ามีบทบาทมากเกินกว่าความจำเป็น เรื่องนี้ก็สามารถที่จะนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาเปิดเผยได้ ถ้าเป็นเรื่องจริง


 


ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายทหาร หรือฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องสามารถที่จะชี้แจงได้ว่าฝ่ายตรงข้ามเขาเคลื่อนไหวอย่างไรในทางลบ มีการซื้อเสียงอย่างไร ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ทุกฝ่ายจะนำมาเปิดเผยกับสาธารณชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศทราบ เพราะว่าทุกคนก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ ถ้ามีการเปิดเผยอย่างโปร่งใสและให้ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตัดสินใจ ผมคิดว่าปัญหามันก็จะน้อย แต่ถ้ามีการปิดกั้นต้านกระแสหรือเกิดวิธีการที่ไม่ยุติธรรมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ความชอบธรรมในการเลือกตั้งก็จะมีน้อย ความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาก็มีน้อย แม้แต่ความชอบธรรมของทหารเองก็จะมีน้อย และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา


 


มองบทบาทของอียูที่จะเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งว่าอย่างไร ถือเป็นการแทรกแซงหรือความพยายามถ่วงดุล?


ทางอียูเขาก็คงมีผลประโยชน์ของเขา ในการเมืองระหว่างประเทศ ทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์ก็พยายามที่จะแสดงบทบาท เขาอาจจะขอมา เผื่อไว้ก่อนว่าหากว่าเข้ามาได้อย่างอิสระเสรีก็คงจะได้เปรียบในการดูแลป้องกันการลงทุน ในการแสดงจุดยืนความเป็นประชาธิปไตย ยกระดับบทบาทของอียูในสากล เขาก็คงจะมีเงื่อนไขผลประโยชน์ของเขา แต่ว่าของเราเอง เราเป็นเจ้าของบ้าน เราก็คงจะต้องต่อรองและร่วมมือกันในระดับหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับเราด้วย


 


ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปิดโอกาสให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง?


ถ้าเขาเข้ามาดูและยอมรับว่าการเลือกตั้งเรียบร้อย เราก็จะได้ประโยชน์ด้วย เหมือนเขาเข้ามารับประกันการเลือกตั้งของเรากลายๆ ว่ามีความชอบธรรม และเขาเลือกตั้งกันมาเป็นเวลาร้อยๆ ปีแล้ว ถ้าเกิดเขามีความรู้ความสามารถในการจัดการการเลือกตั้งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราเลือกตั้งจริงๆ ก็เพิ่งจะแค่ไม่กี่ปี แต่เขาผ่านวิกฤตประชาธิปไตยมา 200-300 ปี เขาก็ย่อมมีข้อได้เปรียบ และอีกแง่หนึ่งเขาก็ไม่ได้รู้เรื่องเมืองไทยมากนัก ก็ดีที่ให้เขามารู้เรื่องเมืองไทย เรื่องการซื้อเสียง เรื่องปัญหาในเมืองไทย ให้เขาได้เอากลับไปคิด ไปแก้ปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ผมคิดว่าประเด็นปัญหาสำคัญคือการต่อรองและทำงานร่วมกัน


 


ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะอยู่ได้ตามลำพัง การค้าขายการลงทุนมันก็ผูกมัดประเทศเหล่านี้ไว้ด้วยกัน และความต้องการของประชาชนในเชิงสากลที่ต้องการจะเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิส่วนบุคคล มีสิทธิด้านมนุษยชนก็เป็นเรื่องสากลไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็คงต้องอาศัยองค์กรเหล่านี้มาช่วยเราบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เขามีบทบาทครอบงำเรา หรือทำให้เราเป็นตะวันตกและลืมตัวเองไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net