Skip to main content
sharethis

โดย กองบรรณาธิการ โลคอลทอล์ค


       www.localtalk2004.com


 


 



 


ท้ายที่สุด วันนี้ก็มาถึงจนได้ แม้ดูเหมือนว่ามันจะช้าไปสักนิด แต่ก็ถือว่าเป็นการย้ำจุดยืนเพื่อการเดินหน้าต่อไปอย่างสร้างสรรค์มายิ่งขึ้น กับ "วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก" (The International Decade of the World"s Indigenous People) ซึ่งในระหว่างปี 2006-2014 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองระยะที่ 2 โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปี รวมถึงประเทศไทย เมื่อทุกฝ่ายขานรับเป็นเสียงเดียวกันภายหลังการประชุมหลายครั้ง จึงได้จัดงานและประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมานี้เอง


 


ที่กล่าวว่า "เหมือนว่าจะช้าไปสักนิด" ก็เนื่องจากประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองกว่า 50 กลุ่ม ซึ่งมาจากทั้งการอพยพย้ายถิ่น หรือตั้งรกรากถิ่นฐานมานานก่อนการสถาปนารัฐไทยด้วยซ้ำ อีกทั้งไทยยังร่วมเป็นภาคี และลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เรายังพบว่า กลุ่มคนชาติพันธุ์ต้องประสบกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการ-ภาครัฐ-สังคม ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองสิทธิความเป็นพลเมืองตามกฎหมาย ฯลฯ อยู่ร่ำไป


 


ความเป็นมา และสภาพของปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ การประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยจะส่งผลอย่างไรต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องชนพื้นเมืองในไทยบ้าง…โปรดติดตามอ่านจากบทสัมภาษณ์ วิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)


 


สถานการณ์การของชนพื้นเมืองในต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้างภายใต้กฎกติกา หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิต่างๆ หรือการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ


มีหลายประเทศที่นำมาใช้ได้จริง หรือมีผลในทางปฏิบัติ เช่น ในประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศในแถบยุโรป แอฟริกาใต้ และในเอเชียที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง โดยให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิไว้อย่างชัดเจน


 


ชนพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ก้าวหน้ามาก มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเขาเอง มีสิทธิบนผืนแผ่นดินของเขาเองในฐานะที่เป็นเจ้าของ (ดั้งเดิม) ซึ่งคนผิวขาวนั้นเป็นผู้มาใหม่ ควรต้องเคารพสิทธิของชนเผ่า ในประเทศออสเตรเลียถึงกับให้มีการชดใช้ย้อนหลังไปหลายสิบปีให้แก่ความเสียหายที่ผู้มาใหม่เข้ามาบุกรุกให้ด้วย นับว่าปฏิญญาเหล่านี้ค่อนข้างส่งผลมากเหมือนกัน ในด้านของสิทธิพลเมือง ไม่นับเรื่องปฏิญญาในหลายประเทศก็ไม่พบปัญหาใดๆ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างลาว เวียดนามไม่มีปัญหาสัญชาติเลย


 



วิวัฒน์ ตามี่
ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)


แต่ทำไมในประเทศเราถึงมีปัญหาเรื่องสัญชาติ มีเงื่อนไขแตกต่างกับประเทศอื่นอย่างไร?ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องวิถีคิด โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็ไม่ได้คิดแตกต่างกันเลย ก็คือมองปัญหาเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" เป็นหลัก


 


จริงๆ แล้วหากย้อนไปมองปัญหานี้ ก่อนหน้าปี 2515 เด็กที่เกิดก่อนปีนี้ได้สัญชาติไทยหมด แต่เพิ่งมาเปลี่ยนตอนปี 2515 นี่เอง ซึ่งมีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ เขาก็มองว่าเรื่องสัญชาติเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งๆ ที่รัฐต้องการจะจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์ พี่น้องญวนซึ่งประสบกับสงครามเวียดนามก็จะอพยพเข้ามาในไทยเยอะมาก แล้วก็ได้สัญชาติไทยด้วย


 


จวบจนมาสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม ก็ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ถอดสัญชาติคนเหล่านั้น ระบุบุคคลใดที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวต้องถูกถอดสัญชาติ ส่วนคำนิยามสำหรับคำว่า "ชนกลุ่มน้อย-คนต่างด้าว" ที่หมายถึงชาวเวียดนาม หรือชนเผ่าต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศ แต่ปรากฎว่าชนเผ่าบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นคนไทย เกิดในไทยก็ถูกเหมารวมเข้าไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งก็มีลูกมีหลานเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลก็รู้สึกหวาดระแวงไม่ไว้ใจ


 


เหตุการณ์ม้งในจังหวัดตากที่เคยลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อขูดรีดเก็บภาษีปลูกฝิ่นปีละกว่าสามครั้ง แทนที่จะเป็นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ทำให้ชาวม้งทนไม่ไหว หรือการที่เจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ที่ชาวบ้านเชียงคำจนต้องหนีเข้าป่าไปหลายต่อหลายกรณี สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยเท่าไรนัก


 


หรือในอดีตกรณีชาวบ้านในแถบอำเภอแม่ฟ้าหลวง ชาวบ้านกลัวทหารไทยมากกว่าทหารของกองกำลังขุนส่าเสียอีก เพราะทหารไทยสมัยนั้นอยากกินไก่ กินหมูก็ยิงเอาเลย แต่หากเป็นทหารขุนส่าจะไม่รังแกชาวบ้าน


 


อนุสัญญา กติการะหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามและเป็นภาคี ไม่มีผลในทางปฏิบัติเลยหรือ? ทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองในไทยได้รับการแก้ไขบ้างหรือไม่?
ไทยไปลงนามไว้ในอนุสัญญาต่างๆ กว่า
5 ฉบับ ทั้งด้านสิทธิเด็ก สิทธิพลเมือง สตรีและการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ซึ่งในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมือง ประเทศไทยรับข้อตกลงทั้งหมดทุกข้อ ซึ่งในหลายๆ ข้อนั้นมีการระบุถึง "การที่เด็กเกิดในไทยจะต้องได้รับสัญชาติไทย" ซึ่งไทยก็รับมามั่วๆ เพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติตามนั้นเลย ส่วนเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ไทยก็ได้ตั้งข้อสงวนไว้ในมาตราสำคัญๆ อีก เช่นในมาตรา 7 การที่เด็กเกิดที่ประเทศใดต้องได้รับสัญชาติจากประเทศนั้น จะต้องได้รับการรับรองเอกสารทางการเกิด… แต่ประเทศไทยก็ตั้งข้อสงวนไว้ว่าไม่รับข้อนี้


 


อนุสัญญาฯ ล่าสุดที่ว่าด้วยเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองนั้น ได้ผ่านการรับรองในชั้นของสภาสิทธิมนุษยชนแล้ว กำลังจะเข้าสู่ชั้นสมัชชาใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนานาประเทศก็เห็นด้วยกับอนุสัญญาฯ นี้แต่ประเทศไทยกลับขอเวลากลับมาหารือ และทบทวนอีกครั้ง นั่นคือยังไม่ยอม (รับทั้งหมด) โดยในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าตัวนี้มีเนื้อหาระบุถึง การรับรองสิทธิในที่ดินที่ทำกินทั้งหมด รัฐบาลไทยก็ยังไม่ยอม


 


ซึ่งแน่นอนว่า หากรัฐไทยนำข้อตกลงในกติการะหว่างประเทศ หรือในอนุสัญญาต่างๆ มาปฏิบัติ ย่อมจะส่งผลแน่นอนครอบคลุมหมด ทั้งด้านสิทธิของพลเมือง สิทธิในที่ดิน สิทธิในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนสิทธิในการคุ้มครองจารีตวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งยังให้มีการสนับสนุนความรู้ภูมิปัญญา การพัฒนา (คุณภาพชีวิต) ต่างๆ


 


"ประเทศไทยเป็นประเทศที่แน่มากเลย แบบว่าไม่เคยสนใจใครเลย" อย่างกรณีสหประชาชาติยื่นข้อเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนการฆ่าตัดตอนในช่วงการทำสงครามกับยาเสพติดในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีการต่อว่าสหประชาชาติ (ดังกรณีอคติทางชาติพันธุ์ เช่น ม้งค้ายาเสพติด และข่าวที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ")


 


ด้านพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง แท้จริงแล้วมีความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมากน้อยอย่างไร?
ตื่นตัวเรื่องสิทธิมากขึ้น นับตั้งแต่ปี
42 เป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกคุมไว้หมด ที่ว่าถูกคุมนี้อยู่ในสองแนวทางคือ หนึ่ง ใช้ระบบสังคมสงเคราะห์ ใช้ระบบปลูกจิตสำนึก ความรักชาติต้องตอบแทนบุญคุณชาติ ความคิดความเชื่อบางอย่างที่ถูกปลูกฝังอยู่ในตำราเรียนต่างๆ คือกดจิตสำนึกเอาไว้เลย ทำให้ไม่กล้าจะลุกขึ้นมา


 


สอง คือใช้กฎหมายควบคุมเอาไว้ กฎหมายกบฏ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขา (ชนพื้นเมือง) ลุกขึ้นมาต่อสู้ กระทั่งเมื่อปี 42 * ที่พวกเขากล้าลุกขึ้นมาเนื่องจากตกเป็นผู้ถูกกระทำมาเยอะแล้ว เช่น การถูกอพยพหมู่บ้าน การถูกจับกุม ถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ต้องออกไปชุมนุมเรียกร้องซึ่งก็ทำให้ชนเผ่ามีความมั่นใจมากขึ้น พยายามที่จะเรียกร้องให้ผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการขยายขบวนการไปยังเวทีสากลด้วย


 


หากถามถึงปัญหาเกี่ยวกับชนเผ่า ปัญหาใดที่สำคัญและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด?ปัญหาแรกที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และสิทธิในการจัดทรัพยากรธรรมชาติ ชนเผ่าจำนวนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในเขตป่า และเป็นป่าที่ถูกเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับ ฉะนั้นต้องมีการรับรองคุ้มครองสิทธิในการจัดการทรัพยากร โดยปราศจากการคุกคาม ซึ่งการได้รับสิทธิตรงนี้จะนำมาซึ่งสิทธิต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เพราะชนเผ่าคิดอย่างนี้ว่า เมื่อมีอาหารกิน มีแหล่งที่อยู่มั่นคง ก็ไม่กลัวปัญหาอื่นๆ แล้ว ทุกอย่างย่อมสามารถแก้ไขได้ เนื่องจากป่าเป็นแหล่งผลิตสิ่งต่างๆ มากมาย อาหาร วิถีชีวิต ความเชื่อ ฯลฯ


 


อันดับที่สองคือ สิทธิในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการได้รับสัญชาติเท่านั้น สิทธิในความเป็นมนุษย์คืออยากให้สังคมไทยมองพวกเขาอย่างที่เป็นคนไทยทั่วไป ให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน เพราะพวกเขาไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดที่มากมายไปกว่ามนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษใดๆ


แต่ก็ยอมรับว่าสำหรับชนเผ่าบางกลุ่ม ปัญหาเรื่องสัญชาติก็เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่สำคัญ เพราะการมีสัญชาตินั่นหมายถึงการเข้าถึงสิทธิการรับบริการต่างๆ จากรัฐได้ ไม่ถูกควบคุมจำกัดการเดินทาง เจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรต่อพวกเขาก็ต้องคิดให้มากขึ้น "เพราะเขาเป็นคนไทยเหมือนกัน!" ประเทศไทยเรานิยามคนไทยแค่การมีบัตรประชาชนเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดถึงมิติด้านความร่วมมือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม แผ่นดิน ซึ่งชนเผ่าก็มีส่วนร่วมเหล่านั้นเช่นกัน


 


"วันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในประเทศไทย" สะท้อนอะไรให้กับสังคม และคาดว่าจะส่งผลต่อไปอย่างไร?
การจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในประเทศไทยครั้งนี้ จะถือเป็นการประกาศให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า มีชนเผ่าพื้นเมือง และมีวันสำคัญที่สหประชาชาติให้การรับรอง ในวันที่
9 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะมีการสนับสนุนให้มีการทำกิจกรรมของชนเผ่าพื้นเมือง


 


ในประเทศไทยเราก็รู้กันมาตั้งนานแล้วว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ซึ่งก็จะถือใช้โอกาสในวันนี้ ระดมข้อเสนอ-ข้อเรียกร้องเพื่อยื่นต่อรัฐบาลไทย และนำเสนอข้อมูลในด้านบวกซึ่งมีมากมายต่อรัฐบาลและสังคมไทยเกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่า เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคมให้มากขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนความหลากหลายทางชาติพันธุ์


 


และในการจัดงานครั้งนี้ อย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้กับคนชนเผ่า มีวันชนเผ่าในทุกๆ ปีก็จัดกิจกรรมได้ และยังเป็นการถือโอกาสมาร่วมชุมนุมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยน หารือร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ตลอดจนจัดกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี - แรงงาน ก็มีวันแรงงาน มีวันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันสตรี ฯลฯ นั่นก็คือถือว่าเป็นวันสำคัญนั่นเอง และยังเป็นการมาสร้างสรรค์กัน เกิดเครือข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่มาจากการจัดตั้ง


 


 


หมายเหตุ* เหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชนเผ่าเมื่อปี 2542 เกิดขึ้นหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้องชนพื้นเมืองเข้าร่วมชุมนุมจำนวนนับหมื่นคน ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีกรณีหรือเหตุการณ์ที่อำนาจรัฐได้คุกคาม ละเมิดสิทธิของชนเผ่าหลากหลายกรณี ทั้งการไล่ที่ให้อพยพโยกย้าย การข่มขู่ จึงเป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น เพื่อเรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องที่ทำกิน ปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิ - สัญชาติ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล มีมติ ครม. ออกมาเพื่อพิสูจน์สถานะ แต่แนวนโยบายก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นมากนัก รัฐเพียงต้องการทำเพื่อลดกระแสชาวบ้านในขณะนั้นเท่านั้นเอง


 


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม


www.chonpao.com
www.tobethai.org


 


 






ปัจจุบันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ 5 ฉบับ จากทั้ง 7 ฉบับแล้ว ได้แก่



  1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

  2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

  3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)

  4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC) และ

  5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยลงนามและให้สัตยาบันเป็นรัฐสมาชิกในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยยอมรับในมาตรฐานสากลฉบับนี้ เพื่อนำมาสู่การคุ้มครองสิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในประเทศไทยเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจึงเป็นสิทธิสากลที่รัฐบาลไทยยอมรับ

มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เป็นมาตรฐานด้านสิทธิสากลที่กำหนดขึ้นโดยการทำงานขององค์การสหประชาชาตินับแต่มีการก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2488 มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จัดทำเพื่อให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ยอมรับและนำหลักสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อให้มีผลบังคัลใช้ในการคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกคนในฐานะประชากรโลก


 






ความเป็นมา พ...สัญชาติ โดยสังเขป



  • พ.ร.บ.สัญชาติฉบับแรกปี 2456 ในรัชการที่ 6 มีการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งเรื่อยมา ได้แก่ ปี พ.ศ.2495 โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2495 กฎหมายสัญชาติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 ในปีพ.ศ. 2496, ฉบับที่ 3 ในปี พ.ศ.2499 และฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้น พ.ร.บ.สัญชาติฉบับปี พ.ศ. 2495 ก็ถูกยกเลิกด้วย พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งถูกนี้ ถูกแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515, ครั้งที่ 2 โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 และโดยฉบับที่ 3 พ.ศ.2535


  • กฎหมายสัญชาติที่ใช้ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.สัญชาติปี 2508 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ปี 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและขัดต่อข้อเท็จจริง และทำร้ายเด็กยังคงไม่ได้รับการแก้ไข หรือแม้แต่โดยหลักกฎหมาย จะยอมรับให้บุคคลมีสัญชาติไทยได้โดยหลักความกลมกลืนกับสังคมไทย และยังมีกฎหมายและนโยบายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐสัญชาติในสถานการณ์ต่างๆ จึงมีความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ นั่นคือร่างแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. …

 






มาตราที่น่าสนใจใน พ...สัญชาติ


:: หมวด 1 การได้สัญชาติไทย
มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1)
ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือ นอกราชอาณาจักรไทย
(2)
ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง
[
มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535]
มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือ บิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(1)
ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็น กรณีพิเศษเฉพาะราย
(2)
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3)
ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมือง
ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตาม วรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net