ดันเส้นเศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-อาเจะห์ เอดีบี-อาเซียนหนุนIMT - GT

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กันยายน 2550 ที่โรงแรมบีพีสมิหลาบีชแอนด์รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีการประชุมระดับรัฐมนตรีตามแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย หรือ IMT - GT มีนายเสาวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยเป็นหัวหน้าคณะ ส่วนหัวหน้าคณะฝ่ายมาเลเซียคือ ดาโต๊ะ สรี ชาฮีดาน กัสซิม รัฐมนตรีหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศมาเลเซีย ส่วนฝ่ายอินโดนีเซียคือ นายดาอิลบัชเตียร์ ตานสีรัฐมนตรีหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซีย มีเจ้าหน้าที่อาวุโสและสภาธุรกิจของทั้งสามประเทศเข้าร่วม รวมทั้งผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เข้าร่วมด้วย

 

หลังการประชุม นายเสาวนิตได้เปิดแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกแผนงาน IMT-GT ของ 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบนของไทยอย่างเป็นทางการ รวมกับพื้นที่เดิม เป็น 14 จังหวัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ IMT-GT ของไทย

 

ที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาเพื่อการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ(IMT - GT Connectivity Corridor) โดยธนาคารเพื่อพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจตามแผนที่นำทางของ IMT-GT (IMT - GT Roadmap) โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้ศึกษาแนวเศรษฐกิจ ระนอง - ภูเก็ต - อาเจห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคต หลังจากมีการเพิ่ม 6 จังหวัดใหม่เข้ามาอยู่ใน IMT - GT

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับทราบถึงความคืบหน้าของการดำเนินการด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ประสานงาน IMT-GT รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย การจัดตั้ง IMT-GT Plaza เพื่อเป็นจุดแสดงและขายสินค้าของประเทศสมาชิกในเมืองสำคัญๆ ที่จัดตั้งแล้วที่จังหวัดตรัง และมีแผนจะจัดตั้งในเมืองบูกิตกายูฮิตัม ของมาเลเซีย ปอร์ต ดิกสันของอินโดนีเซียและที่จังหวัดพัทลุง

 

ส่วนความก้าวหน้าในด้านต่างๆ 6 สาขา เช่น ด้านการค้าการลงทุน จะมีการร่วมกันจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทย - มาเลเซีย ด้านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กับเมืองบูกิตกายูฮิตัม ด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

นายเสาวนิต กล่าวว่า สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 4 - 6 กันยายน 2550 นั้นได้มีตัวแทนของอาเซียนเข้าร่วมด้วย รวมทั้งตัวแทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ทั้งสององค์กรจะให้การสนับสนุนแผนงาน IMT-GT โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการนำเสนอแผนงาน IMT-GT ให้ที่ประชุมอาเซียนรับทราบด้วย

 

ส่วนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียนั้น ได้เข้ามามีบทบาทในแผนงาน IMT-GT โดยเป็นผู้จัดทำ IMT-GT Roadmap ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

 

นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับแนวเศรษฐกิจ ระนอง - ภูเก็ต - อาเจห์ นั้นจะมีขอบเขตความร่วมมือใน 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วยด้านการค้าการลงทุน ที่เชื่อมโยงกับระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซียมากขึ้น รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ และด้านการเกษตรและประมง นอกจากนี้จะมีการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศและทางเรือ ซึ่งจะมีการหารือในคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหรือ ทั้งนี้ในการเชื่อมโยงพื้นที่ร่วมของทั้งสองประเทศนั้น จะมีการหารือกันในกรอบของ IMT-GT ส่วนการเชื่อมโยงพื้นที่ในประเทศนั้น จะมีการหารือในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท