Skip to main content
sharethis

 



 


 


ตูแวดานียา มือรีงิง  
ศูนย์ข่าวชายแดนใต้ (
WWW.STBNEWS.NET)


 


 


 


เปลวเพลิงที่แผดเผาโรงเรียนบ้านควนหรันจนวายวอดด้วยน้ำมือของผู้ก่อความไม่สงบเมื่อหลายเดือนก่อน ไม่อาจเผาใจของชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ลงไปด้วย โรงเรียนถูกสร้างขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับพลังใจของเด็กๆ ที่เพิ่มขึ้น เสียงละหมาตอายัตเพื่อสันติภาพกำลังดังก้องขึ้นชั้นฟ้า เป็นสิ่งยืนยันว่า จิตวิญญาณของชาวควนหรันยังคงอยู่


 


"โรงเรียนคือ สวรรค์ในความคิดของหนูเพราะถ้าไม่มีโรงเรียน ไม่มีครูที่แสนดี หนูก็คงจะเป็นเด็กที่ไร้การศึกษา หนูจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร ถึงแม้โรงเรียนของหนูจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ไม่มีอุปกรณ์และหนังสืออ่าเพียงพอเท่าโรงเรียนอื่น แต่หนูก็ภูมิใจที่ได้เรียนในโรงเรียนของหนูเพราะคุณครูทุกคนแสนดีสอนหนังสือเป็นกันเองเอ็นดูพวกหนูทุกคน


 


"แต่ก่อนโรงเรียนของหนูไม่เคยมีเหตุการณ์อะไร พวกหนูเรียนกันมาสงบสุข แต่ที่หนูอยากถาม หนูอยากรู้ว่า ใครที่มาทำลายโรงเรียนของหนู ทำให้หนูไม่มีห้องเรียน แต่หนูก็มีความสุข ที่ได้เห็นความสมานฉันท์ของคุณครูทุกคน คุณครูของหนูท่านให้กำลังใจพวกหนูทำให้พวกหนูมีกำลังใจที่จะเรียนต่อหนูอยากฝากบอกกับคนที่กระทำเหตุว่าอย่าไปทำอีกเลย เพราะคนที่เรียนทุกคนก็เป็นลูกหลานของท่านทั้งนั้น สุดท้ายหนูขอบอกกับคุณครูทุกคนว่า หนูขอเป็นกำลังใจให้นะค่ะ ขอให้คุณครูเป็นแม่ที่สองของพวกหนูสอนหนังสือให้พวกหนูตลอดไป ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไร ถ้าเราร่วมมือร่วมใจเป็นสมานฉันท์เราก็จะผ่านจุดนี้ไปได้ แต่ตอนนี้ก็มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้ เจ้าหน้าที่ทุกคนใจดีมากค่ะ สุดท้ายหนูขอเป็นกำลังใจให้ใครที่ประสบเหตุการณ์นี้ขอให้สู้ๆน๊ะค่ะ จบแล้วค่ะ"  - ด.ญ.อามีเนาะ เหมาะจะโรจน์  


 


เรียงความอีกชิ้นหนึ่งของนักเรียนโรงเรียนบ้านควนหรัน สะท้อนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมุมมองของเด็กๆ เรียบง่าย ไม่มีการปรุงแต่ง สื่อสารตรงไปตรงมา แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ โลกที่อยากเห็น สิ่งที่อยากจะให้เป็นในความคิดของ อามีเนาะ แม้จะดูเป็นคำของ่ายๆ แต่สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็ไม่อาจทำให้คำขอของ อามีเนาะเป็นจริงได้


 



 


โรงเรียนบ้านควนหรัน ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางเพลิงเผาอาคารเรียนเสียหายทั้งหมด 2 หลังเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2550


 


แต่เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป ซึ่งก็เหมือนอย่างที่ "อามีเนาะ" บอกว่า "...ถ้าไม่มีโรงเรียน ไม่มีครูที่แสนดี หนูก็คงจะเป็นเด็กที่ไร้การศึกษา หนูจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร..."


           


นักเรียนโรงเรียนควนหรัน อาศัยเต็นท์ซึ่งหน่วยงานรัฐและชาวบ้านช่วยกันจัดหาเป็นห้องเรียนชั่วคราว วันไหนฝนตกเปียกก็ต้องหยุดเรียน วันไหนอากาศร้อนจัดก็เรียนได้ไม่เต็มที่ บางครั้ง บางคนพลอยเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงแต่ว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งครูและนักเรียนก็ได้แต่ให้กำลังใจกันและกันเพื่อจะผ่านจุดลำบากของชีวิตไปให้ได้


           


ในอีกมุมหนึ่งวิกฤติก็เป็นโอกาสที่ได้เห็น น้ำใจ เห็นความร่วมมือระหว่าง ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 และกลุ่มผู้นำในหมู่บ้าน พวกเขาออกเรี่ยไรเงินบริจาคภายในหมู่บ้าน และข้ามไปยังพื้นที่อำเภอใกล้เคียงนำข่าวสารความทุกข์ยากของลูกหลายโรงเรียนควนหรันสื่อสารส่งความต่อเพื่อนร่วมมาตุภูมิ บวกกับงบประมาณที่ราชการสมทบมาให้อีกส่วนหนึ่ง อาคารเรียนหลังใหม่ก็เกิดขึ้น


           


อาคารเรียนแห่งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมแรงร่วมใจ


 


"เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ชาวบ้านได้จัดงานมาแกแต (งานกินน้ำชาเพื่อการกุศล) ระดมทุนจากชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารที่เสียหายจาการถูกเผาซึ่งในการจัดงานในวันนั้นได้รับเงินบริจาคประมาณ 100,000 กว่าบาท และเราได้รับเงินบริจาคเงินส่วนหนึ่งจาก ผบ.พตท. เลขาธิการ กรอ.มน ภาค 4  ผบ.ฉก. 4 อบต.และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เราสามารถระดมทุนและซ่อมแซมอาคารได้เสร็จสมบูรณ์ด้วยพลังสามัคคีของพี่น้องประชาชนและการช่วยเหลือของรัฐ" นายอับดุลเลาะ ลาเตะ  ประธานกรรมการโรงเรียนกล่าว


 


เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา อาคารเรียนหลังใหม่จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มีการจัดกิจกรรมแข่งขันเขียนเรียงความในหัวข้อเรื่อง "ทำอย่างไรให้โรงเรียนของเราไม่ถูกทำลาย" เพื่อให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในการแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ยังมีการมอบรถเข็น 1 คันให้กับนายนิอาลี ดอรอนิง หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มโรงเรียนปอเนาะบ้านควนหรันเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา


           


ก่อนปิดงาน ชาวบ้านกว่า 400 คนจากบ้านควนหรันและพื้นที่ใกล้เคียงรวมละหมาดฮายัตเพื่อสันติภาพเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้ 


           


คำอธิษฐานของพวกเขาดังก้องไปถึงชั้นฟ้า...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net