"พี่ครับ เพื่อนผมถูกยิง..." จากใจนิสิต มอ.ปัตตานี

ศูนย์ข่าวภาคใต้ ประชาไท

 

ประชาไท - เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 50 กลุ่มนิสิต - นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี กว่า 300 คน ร่วมกันเดินขบวนประณามคนร้ายที่ก่อเหตุลอบยิงนายปิยะพงค์ เพชรเงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.50 ที่ผ่านมา

 

นายดาวุด ทับอุไร นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี อ่านแถลงการณ์ใจความว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสูญเสียต่อบรรดาเครือญาติ คนใกล้ชิดและพี่น้องชาวไทยเป็นจำนวนมากและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งต่อบรรดาเครือญาติ คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนบรรดานักศึกษา ที่เป็นผู้สร้างความสว่างให้แก่ชาวโลกได้มีแสงสว่างในการขีดเส้นทางของสังคม

 

เมื่อนายปิยะพงค์ เพชรเงิน ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่แบกรับหน้าที่ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต ถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 1 ก.ย.50 บริเวณบ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้นายปิยะพงค์เสียชีวิต องค์การนักศึกษา ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของนายปิยะพงค์ และขอเป็นกำลังใจให้ต่อบรรดาเครือญาติ เพื่อนๆ และบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมต่อนายปิยะพงค์

 

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง และมีการสื่อสารเป็นภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ เป็นพหุสังคมที่มีความหลากหลายภาคใต้ผืนแผ่นดินเดียวกัน จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องออกมาในรูปแบบความรุนแรงและได้สร้างความสะเทือนใจต่อพี่น้องทั่วประเทศ

 

และภายใต้สื่อต่างๆ ที่เสนอออกไปทำให้สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ ตกอยู่ในเงามืดของความกดดัน หวาดผวากลัวต่อการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่กระจายอยู่ในพื้นที่

 

ด้วยเหตุนี้องค์การบริหารนักศึกษาและสภานักศึกษาขอเรียกร้องสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากไม่อาจทนต่อสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของประชาชนและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่ท่าว่าจะยุติ ซึ่งได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมทุกด้าน ที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชน ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยไม่มีเงื่อนไขและเส้นแบ่งความแตกต่างด้านภาษา สีผิว และชาติพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งความเข้าใจสู่ประตูสันติภาพ ที่ทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำใจชาวใต้แห่งนี้กลับมาอีกครั้ง

 

 

เปิดใจเพื่อนและอาจารย์

สำหรับเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงนายปิยะพงค์ หรือชื่อเล่นว่า เอฟ นั้น เกิดขึ้นขณะที่เขาขับรถจักรยายนต์ เพื่อจะไปเยี่ยมนายอิมรอน มะลูลีม อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดยะลา โดยมีนางสาวนอัสมา ลูกของนายอิมรอน นั่งซ้อนท้าย และมีเพื่อนอีก 2 คน คือนายพงษ์เทพ แก้วเสถียร และ น.ส.อาชรี (ไม่ทราบนามสกุล) ขับรถรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันขับตามหลัง

 

ประชาไท มีโอกาสได้สัมผัสความรู้สึกจากใจของเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์และอาจารย์ผู้ใกล้ชิดกับ "เอฟ" เขามีมุมมองอย่างไรกับเหตุการณ์ที่นำความโศกเศร้าอีกครั้งหนึ่งให้กับพวกเขา มุมมองต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์ไม่สงบ

 

อุ๋ย หรือ พงษ์เทพ แก้วเสถียร เพื่อนสนิทของ เอฟ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า ขณะขี่มอเตอร์ไซค์ตามหลัง เอฟ ประมาณ 200 เมตร มีมอเตอร์ไซค์อีก 2 คันขับแซงไป แต่ไม่เห็นว่าเขาทำอะไรกัน แล้วเอฟขับแซงเขา แต่เขาแซงกลับทันที จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นสองนัด ทีแรกคิดว่าเป็นเสียงประทัด ไม่นึกว่าเป็นเสียงปืน เสียงมันดังปังสองครั้ง เบามาก

 

พอได้ยินเสียง ปัง ปัง "อุ๋ย" ก็หันไปมอง ผมเห็นรถเขาเซและล้มลง นึกว่ารถเขาไปเบียดกับคันอื่นแล้วล้มลง แต่พอขับไปถึงเห็นกองเลือด อัสมา ก็ตะโกนว่า "เอฟโดนยิง เอฟโดนยิง" ก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ก็ได้แต่โบกรถให้เขามาช่วย

 

อุ๋ยกล่าวว่า พยายามโบกรถที่ผ่านไปมาให้จอดช่วยพาเพื่อนไปส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีรถคันไหนยอมจอด เกือบสิบนาทีได้ จนต้องเอาหมวกกันน็อคไปวางบนถนนเพื่อให้รถหยุด และสุดท้าย ใช้วธีกระโดดลงไปยืนขวางอยู่กลางถนน คิดในใจว่า ตายเป็นตาย ขอแค่ให้มีคนจอดรถชวยเพื่อน

 

จนมีรถกระบะคันหนึ่งจอด คนขับเป็นผู้หญิง ผมไหว้เขา ขอร้องให้เขาช่วยเอฟ เขาก็ให้เราอุ้มเอฟขึ้นรถ ตอนนี้มีผู้ชายผอมๆ คนหนึ่งมาจากไหนไม่รู้ มาจากข้างหลังเรา ช่วยอุ้มเอฟขึ้นรถกระบะ ผมให้เพื่อนนั่งรถไปกับเอฟ บอกให้เขาไปก่อน

 

ส่วนเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่ป้อมทหาร บอกว่า "พี่ครับ เพื่อนผมถูกยิงครับ ช่วยผมด้วยครับ" โดยต้องยืนอยู่นอกรั้วหนามอยู่ตั้งนาน จนกว่าเขาจะบอกให้เข้าไปได้ ใจก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่ไปดูเหตุการณ์ ไม่ไปดูสถานที่ก่อน เจ้าหน้าที่วิทยุไปหาตำรวจ ให้ตำรวจมา ซึ่งกว่าตำรวจจะมาก็นานเหมือนกัน

 

ตอนที่โบกรถอยู่นั้น ใช้เวลาเกือบ 10 นาที ไม่มีใครจอด มีรถสัญจรไปมาตามปกติ ช่องทางเดินรถอีกฝั่งก็มีรถขับสวนทางอยู่ ส่วนอัสมาก็ร้อง ช่วยด้วย ช่วยด้วย ผมไปลากอัสมามาอยู่ข้างถนน ช่วยกันโบกรถ แต่ก็ไม่มีใครจอดสักคัน จนผมตัดสินใจโดดขวางถนนเลย จนมีรถจอดซึ่งทีแรกเขาก็ทำท่าจะไม่ช่วย เขาลงมา เขาก็เห็น ก็ไหว้เขา บอก "พี่ครับ พาเพื่อนผมไปโรงพยาบาลหน่อยครับ" เขาก็บอกให้เอาเอฟขึ้นรถ ก็ช่วยกันยกขึ้นรถ

 

ตอนนั้นผมเรียกชื่อ เอฟ แต่เอฟไม่ตอบ แต่เขายังมีอาการกระอักเลือกอยู่ เขาน่าจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหรือระหว่างทาง

 

อุ๋ยเล่าวว่า เป็นคนโทรหา 191 แต่ก็ไม่มีคนรับ แล้วก็โทรไปที่ 1341 ของทหารบอกเขาว่า มีเพื่อนผมถูกยิงอยู่ตรงนี้ เขาก็บอกว่า เดี๋ยวติดต่อกลับไปนะ แล้วเขาก็ติดต่อกลับมาตอนที่คนเจ็บไปโรงพยาบาลแล้ว ตอนนั้นเขากำลังขับรถไปที่ป้อมทหาร และพอหน่วยงานที่โทรมา ตำรวจก็โทรมา ทหารก็โทรมา อำเภอก็โทรมา ติดต่อมาตลอด

 

"ผมอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันมากกว่านี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อนๆ พูดกันว่า ที่โรงพยาบาลจัดการศพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มาที่วัดนี่เลือดก็ยังติดมาเต็ม น่าจะแต่งศพให้ดี จัดการให้เรียบร้อยก่อน แต่นี่เพื่อนๆ ต้องมาช่วยกันเช็ดเลือดให้"

 

"เหตุการณ์นี้ทำให้ผมกลัว แต่ไม่ใช่กลัวแบบไม่กล้าออกไปไหน เอฟเองก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน คือไม่กลัว ยอมรับว่าเอฟ เป็นคนที่ไม่เคยกลัวอะไรเลย เขาจะพูดตลอดว่า "ไปเถอะ ไป" เขายังพูดกับอัสมาว่า เมื่อไหร่เราจะได้ไปเบตง (จ.ยะลา) กัน ไหนว่าเราจะขับมอเตอร์ไซค์ไปเบตงกัน"

 

"ผมอยู่กับเขาด้วยกัน เวลาเราจะไปไหนกัน เราจะขับมอเตอร์ไซค์ไปตลอด เราไปเที่ยวที่ไหน จะขับมอเตอร์ไซค์ไปตลอด นานๆ ครั้งจะไปกับรถยนต์ เขาเป็นคนที่สนิทกับผมมากที่สุดในมหาวิทยาลัย ผมคงจะจำเอฟไปตลอด (น้ำตาร่วง) ต้องคิดถึงเรื่องนี้ตลอด เพราะภาพที่เห็นในวันนั้นยังติดตาตลอด"

 

อาจารย์อาลิสา หะสาเมาะ เป็นอาจารย์ที่สนิทกับนักศึกษาในกลุ่มของเอฟ กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปในสถานการณ์เช่นนั้น ซึ่งคิดมาตลอดว่า เรื่องการทำให้มอ.เป็นเขตปลอดอาวุธ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องไปทำที่อื่น

 

ประเด็นที่สองคือ เราไม่สามารถดูแลนักศึกษาให้ปลอดภัยในเฉพาะใน มอ.เท่านั้น เพราะนักศึกษาต้องออกไปข้างนอก บ้านเขาอยู่แถวนี้ ญาติเขาอยู่แถวนี้ เขาต้องเดินทาง แล้วเราจะบอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน เราก็ไม่รู้ว่าต่อไปมหาวิทยาลัยจะปลอดภัยอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่

 

อย่างแรก เราอยากให้มอ.เป็นเขตปลอดอาวุธก่อน อย่างที่สอง ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ถ้าเราสามารถรักษาเด็กไม่ตายใน มอ. แต่เด็กไปตายที่อื่น ก็ไม่รู้ว่าจะรักษาเด็กอย่างไร

 

เราทำกิจกรรมกับเด็กเยอะ เราต้องฟังเด็กเกือบทุกวันว่า เมื่อคืนบ้านหนูถูกยิงกราด พี่ชายถูกยิง ถูกขู่ เราก็ได้แต่ฟัง แต่ก็คิดว่า อย่าเป็นคนที่เรารู้จักเลย เราอาจเห็นแก่ตัวที่คิดแบบนั้น แต่อย่าให้เป็นเด็กที่เรารู้จักเลย

 

ประเด็นที่สาม หลายสถานการณ์ คนที่ช่วยได้มากที่สุด คือภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน อย่างกรณีปิยะพงษ์ เห็นชัดว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ มาช้า แม้เขาพยายามมาช่วย แต่ช้า คนที่จะช่วยได้มากที่สุดคือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่

 

ประชาชนคือเครื่องมือที่ดีที่สุด ต้องช่วยกันก่อน คนต้องมีน้ำใจต่อกันท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อุ๋ย (พงษ์เทพ แก้วเสถียร) เสียใจตรงนี้มากที่สุด เราก็เสียใจตรงนี้มากที่สุด ในหลายๆ กรณี เราเสียใจตรงนี้ที่สุด เขามีข้อจำกัด เราเข้าใจ แต่ถ้าคนในสังคมทั่วๆ ไปไม่ช่วยเหลือกัน เราจะช่วยกันอย่างไรภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดบ่อย ภาวะความไม่มั่นคงมันมีในชีวิตประจำวัน

 

เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรเป็นส่วนแค่สนับสนุน เรียกว่าพึ่งความหวังได้ในลักษณะที่เป็นส่วนเสริม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนอย่างเราๆ นี่แหละ ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัว และเราเชื่อว่าทุกคนก็กลัว แต่ทุกคนต้องมีความกล้าให้มากกว่าความกลัว ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้

 

ศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คิดว่าปัญหาอยู่ที่ การเคลื่อนไหวบนถนน ทหารตำรวจเขาก็ดูแลอยู่ เพียงแต่จะให้ดูแลทุกจุดตลอดเวลาคงลำบาก ผู้ก่อการมันหาโอกาส แต่ตำรวจทหารเป็นผู้เฝ้าระวัง เพราะฉะนั้น เราคงต้องให้กำลังใจทหารตำรวจด้วย ในขณะเดียวกันเราก็อยากเห็นการทำงานที่รวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะความรวดเร็วมันอาจจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ได้

 

มหาวิทยาลัยเราบอกว่า ในสถานการณ์แบบนี้ พื้นที่ข้างนอกทุกแห่ง ไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นก็พยายามที่จะไม่ให้ออกไปในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย หลักของมหาวิทยาลัยเราก็บอกว่า เราต้องช่วยกันดูแล ครูบาอาจารย์และนักศึกษาก็ต้องช่วยกันตักเตือน การที่จะไปไหนก็ต้องช่วยกันดูแล เราจะไปว่าคนโน้นคนนี้คงไม่ได้

 

จริงๆ แล้วเราเรียกร้องต่อชุมชนมาตลอด ความหมายของเราคือว่า ชุมชนไม่ได้สร้างปัญหา แต่มีแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่สร้างปัญหา คนกลุ่มเล็กๆ นี้ไม่เคยสนใจเราเลย เพราะฉะนั้นเราจะไปคุยกับใครก็ไม่ได้ เพราะชุมชนจริงๆ ช่วยกันอยู่แล้ว

 

ผมคิดว่าทุกคนก็ช่วยกันดูแล อย่างเวลาเราไปในตลาด หรือในหมู่บ้าน นักศึกษาเข้าไป ประชาชนก็ดูแล แต่คนที่คิดร้ายเขาไม่สนใจหรอกว่าเราเข้าไปนี่เราเป็นใคร ถ้าเขามีโอกาสหรือคิดว่าเป็นจังหวะ เขาก็อาจจะทำ เขาคิดไม่เหมือนเรา ฉะนั้นโดยทั่วไปผมเชื่อว่าไม่มีชุมชนไหนอยากให้เกิดเหตุการณ์ร้าย แต่คนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดแบบนั้น ถึงอย่างไรเขาก็ทำ

 

ผมก็คงบอกนักศึกษาเหมือนที่เคยบอกตั้งแต่ตอนปฐมนิเทศและตอนที่เราพบนักศึกษาตลอดมาว่า ขณะนี้ทุกคนต้องยอมรับว่าพื้นที่สามจังหวัดบ้านเรามันไม่ปลอดภัย ฉะนั้นการจะออกไปไหนมาไหนต้องระมัดระวัง อย่าไปคนเดียว อย่าไปโดดๆ เราพยายามพูดตลอดมา เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงๆ จะยุติเมื่อไหร่

 

ผมคิดว่ามันเป็นภาระหนักของทั้งประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนตลอดเวลา ทำมาหากินก็ไม่ได้ เดือดร้อนทหารตำรวจ เดือดร้อนตัวสถานที่ราชการ โรงเรียนทั้งหลายปีหนึ่งต้องเรียน 200 วัน แต่ไม่รู้ว่าได้เรียนถึง 100 วันหรือเปล่า ถามว่าคนที่คิดร้าย เคยสนใจตรงนี้หรือไม่ เขาไม่สนใจ แต่ถามว่าพ่อแม่ของนักเรียนทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม เขาเดือดร้อนหรือไม่ เดือดร้อนทั้งนั้น เพราะลูกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ

 

สมัยก่อนผมพยายามบอกว่า การที่ลูกมาเรียนที่ มอ.ปัตตานี พ่อแม่ไม่ต้องกังวลมากนัก ตอนนั้นเราคาดว่าปีครึ่งมันจะยุติ แต่วันนี้ ดูแล้วมันไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ เราบอกพ่อแม่ว่าไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ผมคิดว่ามันหลอกลวง มันไม่พูดความจริง แต่สิ่งที่อยากจะพูดก็คือว่า ในฐานะครูบาอาจารย์ เราพยายามจะดูแลลูกศิษย์ของเราเต็มที่ พยายามอบรมตักเตือน นักศึกษาเองก็คงต้องช่วยกัน

           

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท