Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 ก.ย. 50 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นางอังคณา นีละไพจิตร พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เร่งรัดการสอบสวนการซ้อมทรมานผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขัง และทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา ในคดีปล้นปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 เพื่อให้รับสารภาพ โดยยื่นเรื่องผ่านกองรับเรื่องร้องเรียน สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้เร่งรัดการสอบสวนการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)


 


ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ไว้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 48 และได้ส่งคดีเรื่องการซ้อมทรมานผู้หาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อสอบวินัยเรื่องที่ผู้ต้องหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน


 


ในหนังสือระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีความสำคัญและยังนำไปสู่การอุ้มนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 จนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือนที่ทนายสมชายหายตัวไป เนื่องจากที่ผ่านมาทนายสมชายร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ และได้ส่งคดีดังกล่าวมาให้ ป.ป.ช. เพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวที่จะนำไปสู่การที่ทนายสมชาย ถูกอุ้มหายไป



พยานที่เกี่ยวข้องในคดี ล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบว่ามีผู้เสียหายบางคนเสียชีวิตโดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และมีอีกหลายคนที่ถูกข่มขู่คุกคาม


 


แต่อย่างไรก็ดี ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน ได้ย้ายจากส่วนกลางลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงสร้างความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยให้กับพยานที่เหลืออยู่


 


อีกทั้งเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 50 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำร้องยืนตามศาลปกครองกลาง โดยระบุว่า การที่ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจกลับเข้ารับราชการเป็นอำนาจหน้าที่ทางบริหารบุคคลในองค์กร ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสมและกรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้คำสั่งของผบ.ตร.ในการให้ข้าราชการตำรวจกลับเข้ารับราชการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในบังคับตามคำสั่งเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของนางอังคณาผู้เป็นภรรยาของบุคคลที่ถูกทำให้หายไป ทำให้หนทางการนำความจริงในการหายไปของทนายสมชายตามกระบวนการทางกฎหมายโดยศาลปกครองสิ้นสุดลง


 


ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ช่วงที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งกำลังถูก ป.ป.ช. สอบสวนมีความพยายามขอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งกำลังเข้าที่เรียนที่สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ พยายามชลอการสอบสวนคดีดังกล่าว เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ที่ผู้ถูกกล่าวหาเชื่อว่าสามารถช่วยเหลือให้พ้นจากการถูกกล่าวหาได้


 


นางอังคณาระบุว่า เนื่องจากการอุ้มทนายสมชาย เป็นคดีที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและระบบนิติรัฐของประเทศไทยและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษญ์ชนอย่างร้ายแรงที่สุด จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งรัดดำเนินการไต่สวนเรื่องดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการหายตัวไปของทนายสมชาย และขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมเพื่อทำความจริงให้ปรากฎ



ทั้งนี้ คดีดังกล่าว คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีพล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร. กับพวก ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขัง และทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา ในคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เพื่อให้รับสารภาพ โดยมีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน


 


สำหรับคดีอุ้มนายสมชาย เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยพนักงานอัยการส่งฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน เป็นจำเลยที่ 1-5 และศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2-5 ส่วนจำเลยที่ 1 คือ พ.ต.ต.เงิน พิพากษาจำคุก 3 ปี คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์


 


 


 


 


 



 


๗๓/๕ ถนนอิสรภาพ ๑๑ ธนบุรี


กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐


 


                                                                                    ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐


 


เรียน ท่านประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ


เรื่อง ขอให้เร่งรัดการสอบสวนการซ้อมทรมานผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


 


            ดิฉัน นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยา นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกบังคับให้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ซึ่งเป็นตำรวจสังกัดกองบังคับการกองปราบปราม กับพวกอีก ๓ -๕ นาย เป็นผู้ผลักนายสมชายขึ้นรถที่จำเลยกับพวกเตรียมมาแล้วทำให้หายตัวไป จนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา ๓ ปี กับ ๖ เดือน โดยมีสาเหตุมาจากการที่ นายสมชาย นีละไพจิตร ร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ไว้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ซึ่งขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่ง เรื่องการซ้อมทรมานผู้หาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อสอบวินัยเรื่องที่ผู้ต้องหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน ที่นำไปสู่การที่นายสมชาย นีละไพจิตรถูกทำให้หายตัวไป


 


            แต่เนื่องจากบรรดาผู้เสียหายที่จะมาให้การเป็นพยานนั้นล้วนแต่เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ และพบว่าผู้เสียหายบางคนได้เสียชีวิตลงจากการถูกฆาตกรรมโดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ และมีอีกหลายคนซึ่งถูกข่มขู่คุกคาม รวมถึงตัวของดิฉันเองด้วย ทั้งนี้ดิฉันทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานซึ่งเป็นตำรวจจากส่วนกลางได้ย้ายลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดาผู้ที่จะมาเป็นพยานในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งดิฉันได้รับแจ้งทางโทรศัพท์โดยผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวได้แจ้งให้ทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งกำลังจะถูก ปปช สั่งสอบวินัยนั้นมีความพยายามที่จะให้มีการชลอการสอบสวน โดยพยายามขอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเลขาธิการ ปปช ซึ่งกำลังเข้าเรียนที่ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ พยายามชลอการสอบสวนคดีนี้เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ที่ผู้ถูกกล่าวหาเชื่อว่าอาจจะสามารถช่วยเหลือให้พ้นจากการถูกกล่าวหาได้


 


เนื่องจากคดีการบังคับให้หายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ถือเป็นคดีสำคัญ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และระบบนิติรัฐของประเทศไทย อีกทั้งเป็นที่จับตามองของภาคประชาสังคม และนักสิทธิมนุษยชน ทั้งในและต่างประเทศ เพราะการบังคับให้หายไปของบุคคลถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุด ดิฉันจึงมีหนังสือฉบับนี้มายังท่าน เพื่อขอความกรุณาได้โปรดเร่งรัดการดำเนินการไต่สวนเพื่อสอบข้อเท็จจริงคดีการซ้อมผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ซึ่งเชื่อมโยงกับการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร และให้มีการดำเนินการ ด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพยาน เพื่อการทำความจริงให้ปรากฏ และเพื่อการสร้างความความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่คนไทยทุกคน


 


ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับความกรุณาจากท่านในการช่วยคลี่คลายคดีนี้เพื่อพิสูจน์ว่า คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไปจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อวางรากฐานของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


 


                                                 ขอแสดงความนับถืออย่างสูง



                                                 ( นางอังคณา นีละไพจิตร )


 


 


 



ที่ 11/2550        


 


                                                            4 กันยายน 2550


 


เรื่อง ขอให้เร่งรัดพิจารณาการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการ


 ตำรวจแห่งชาติกับพวก ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน สืบสวน คดีอาญาได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง


 และทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาในคดีปล้นอาวุธปืน


 


เรียน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


 


 


            จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาในคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งมีนายมะกะตา ฮารง นายสุกรี มะเม็ง นายอับดุลเลาะ อาบู คารี นายมะนาเซ มามะ และนายซูดือรือมัน มาและ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมซ้อมทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนั้น


 


            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ติดตามและผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ในการส่งเสริม สนับสนุนการไม่เลือกปฏิบัติทางกฏหมายต่อผู้กระทำผิดแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจก็ตาม ดังนั้น การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI.) เสนอมา จึงเป็นเรื่องที่สมควรได้รับการสนับสนุนจากสังคมในการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และการสร้างบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป


           


            เนื่องด้วยคดีดังกล่าว มีความเกี่ยวพันหลายส่วนของเหตุการณ์ เชื่อมโยงถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากนโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยระบอบอำนาจนิยมโดยละเลยกระบวนการยุติธรรมในสมัยอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สังคมจะต้องร่วมกันตรวจสอบมูลเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำทางนโยบายหรือจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงก็ตาม ทั้งนี้ การซ้อมและทรมานผู้ต้องหาดังกล่าว ยังอาจเป็นสาเหตุในการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 อีกด้วย เนื่องเพราะวันที่ 11 มีนาคม 2547 นั้น นายสมชายได้ทำจดหมายร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานราชการ หลังจากไปรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาทั้ง 5 คนว่า ถูกตำรวจชุดจับกุมทำการซ้อม ทำร้ายร่างกาย และขู่บังคับให้รับสารภาพ ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ต.ตันหยง จังหวัดนราธิวาส และได้รับการยืนยันว่ามีนายตำรวจที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายและยืนดูด้วยทั้งหมด 10 คน ซึ่งมีตำรวจยศระดับสูงรวมอยู่ด้วย โดยมีรายละเอียดการซ้อม ทรมาน ดังนี้


 


            1. ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ 1 ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง 3 ครั้ง


            2. ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอนแล้วให้คนปัสสาวะรดหน้า


            3. ผู้ต้องหาที่ 3 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง


            4. ผู้ต้องหาที่ 4 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง


            5. ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง


 


            ดังนั้น เรื่องดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นการกระทำที่ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอีกด้วย ทั้งยังอาจเกี่ยวพันถึงคดีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งจนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิด หรือเกี่ยวข้อง มาลงโทษในคดีอุ้ม-ฆ่าได้แต่อย่างใด


           


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอสนับสนุนและขอให้กำลังใจในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อเรื่องดังกล่าว อย่างเต็มที่ เนื่องเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันถึงเจ้าหน้าที่แห่งรัฐระดับสูง และผลพวงจากวัฒนธรรมดังกล่าวยังทำให้เกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนจำนวนมากโดยที่กฏหมายไม่สามารถเอาผิดได้ด้วยการถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน และถ้าหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งชี้มูลความผิดต่อเรื่องดังกล่าวโดยเร็วจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 


            จึงเรียนมาเพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาคดีดังกล่าว และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้


 


 


                                                            ขอแสดงความนับถือ


 


 


นายสมชาย หอมลออ


เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


 


นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์


ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย


 


นายเมธา มาสขาว


ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


 


นางอังคณา นีละไพจิตร


ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


 


นางกรองกาญจน์ สืบสายหาญ


เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา" 2535


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net