Skip to main content
sharethis


 



 



 



 


เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 11.00 น. ที่ลานสวนปาล์ม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงข่าวเปิดตัว โครงการติดริบบิ้นดำคัดค้าน ม.นอกระบบ ที่แขนซ้ายจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและงานรวมพลคนไม่เอา ม.นอกระบบและเผด็จการในวันที่ 19 กันยายน 2550 นี้ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ


 


พร้อมทั้งจัดกิจกรรมไว้ทุกข์ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยวางพวงหรีดไว้อาลัย  เขียนข้อความอาทิ "มหา" ลัยใครกำกับ" "สิทธิ์นักศึกษาหายไปไหน" "อนาคตการศึกษาอยู่ที่นักศึกษาหรือผู้บริหาร" เป็นต้น


 


โดยตัวแทน สนนท. ได้อ่านหนังสือเปิดผนึก ระบุส่งถึง นิสิตนักศึกษา ประชาชนชาวไทยและต่างประเทศ เนื้อความชี้แจงถึงสาเหตุในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยรัฐบาลรักษาการที่มาจากการรัฐประหาร ได้แก่


 


1. แนวคิดการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยขณะที่รัฐบาลสนับสนุนให้งบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับผลักความรับผิดชอบทางด้านงบประมาณทางการศึกษาให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่ง สนนท. เห็นว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการศึกษาฟรีให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง


 


2. รัฐบาลรักษาการที่มาจากการรัฐประหาร รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตลอดทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้ง 242 คน นั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการพิจารณาและออกกฎหมายในช่วงรัฐบาลรักษาการนี้ อีกทั้งรัฐสภาปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารนั้นมีแค่สภาเดียวคือ สนช. ซึ่งต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มี 2 สภาในการกลั่นกรองกฎหมาย สนนท.จึงเห็นว่า ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง หน้าที่หลักตอนนี้ของรัฐบาลรักษาการคือการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดมากกว่า


 


3. กระบวนการร่างกฎหมายว่าด้วยร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นั้นไม่มีความโปร่งใสและเป็นกลางเนื่องด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายกับเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ของการออกกฎหมายเอง อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่ามีตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา นายเกษม สุวรรณกุล เป็นกฤษฎีกา คณะที่ 8 และขณะเดียวกันพบว่าเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายพรชัย มาตรังคสมบัติ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬาของ สนช.ก็พบว่าไปร่วมยกร่างกฎหมายทั้งที่ควรจะทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบในฐานะกรรมาธิการ อีกทั้งนายพรชัย ยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย หรือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่าง รธน.ก็พบว่าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น


 


ทั้งนี้ สนนท. ได้เชิญชวนให้ประชาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาทุกคน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาทั่วโลกที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายการแปรรูปมหาวิทยาลัย หรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลไทย รวมทั้งการทัดทานอำนาจเผด็จการ ร่วมกันติดริบบิ้นดำ บริเวณแขนซ้ายทุกวันจนกว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเพื่อแสดงออกถึงพลังเงียบที่ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและปฏิเสธระบบเผด็จการ


 


และเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สนนท.จัดงานรวมพลคนไม่เอา ม.นอกระบบและเผด็จการ โดยการรวมตัวกันทำกิจกรรมและพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษาและประชาชนตลอดทั้งผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ณ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ในวันพุธที่ 19 กันยายน 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00.เป็นต้นไป จึงขอเชิญประชาชนทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแปรรูปมหาวิทยาลัยและระบบเผด็จการออกมาร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงพลังครั้งสำคัญให้รัฐบาลเผด็จการได้รับรู้


 


พร้อมกันนี้ สนนท. ขอให้ประชาชนจับตาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายแนวทางเสรีนิยมหรือสนับสนุนการแปรรูปมหาวิทยาลัยและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เข้ามาบริหารประเทศนับจากนี้ไป


 


หลังการแถลงข่าว นักศึกษาได้รณรงค์ภายในสถาบันในการทวงคืนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือบริเวณลานสวนปาล์มบริเวณสวนปาล์มและโรงอาหาร


 







สัมภาษณ์ ภัทรดนัย จงเกื้อ


โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และนักศึกษา สพจ.


 


สาเหตุที่คัดค้าน ม. ออกนอกระบบ คืออะไร


เราคัดค้านแนวคิดและกระบวนการทั้งหมด ทั้งแนวคิดที่ผิดและกระบวนการร่างไม่ได้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน จึงคัดค้านเพื่อให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ให้ได้


 


ทั้งนี้ แนวคิดการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เริ่มตั้งแต่ยุคอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อปลดแอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกจากกองทัพ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ต่อมา ผู้บริหารอุดมศึกษาไทยบอกว่า ต้องนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อพัฒนามาตรฐานวิชาการทางการศึกษา โดยมีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 2540 ประเทศไทยที่เกิดยุคฟองสบู่แตก ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากเอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ โดยเอดีบี มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลต้องยกเลิกภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา หรือสวัสดิการอื่นของภาคประชาชนลง หนึ่งในนั้นคือ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ นำมาสู่มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนตามต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ 100%


 


เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นักศึกษาต้องเลือกสาขาวิชาที่ทำเงิน ต่อไปสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ ปรัชญา ศาสนศาสตร์ จะถูกปฏิเสธเพราะไม่สามารถทำเงินได้ นักศึกษาจะไปเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิชาการพวกนี้เรียนไปเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยม ระบบโรงงาน ระบบเสรีนิยม นั่นทำให้ปรัชญาการศึกษาต้องแปรเปลี่ยนไป


 


 


ฝ่ายที่สนับสนุนบอกว่า การเปิดเสรีจะเอื้อให้เกิดการแข่งขันกันในด้านคุณภาพ


จริงหรือเปล่า เมื่อคุณเปิดเสรีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็ไม่มีทุนจะแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ ถ้าเปิดเสรี มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือมหาวิทยาลัยฮาวายอิของสหรัฐจะเข้ามาได้ และเมื่อมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างนี้มาเปิดในประเทศไทย คนก็จะไปเรียนที่นั่นมากขึ้น มหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็จะเกิดการรวมตัวกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อขยายตลาดทางการศึกษา เป็นหุ้นส่วน เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางการศึกษา เรียกนักศึกษาเข้ามา ทำให้ปรัชญาทางการศึกษาต้องแปรเปลี่ยนไป


 


แต่การแข่งขัน อาจทำให้ผู้เรียนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เนื่องจากราคาถูกลง


ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว คนจนจะไม่มีโอกาสเรียน เพราะต้นทุนทางการศึกษาจะต้องมากขึ้น จ่ายเอง 100% เพราะฉะนั้น มันเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาจริงหรือไม่ เพราะเมื่อเปิดเสรีแล้ว จะเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษา


 


เมื่อพูดถึงการศึกษา วันนี้ ถ้าซื้อของราคา 10 บาทที่ร้านค้า ราคาเท่ากัน แต่คุณภาพไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเลือกคุณภาพทางการศึกษา การพัฒนาการศึกษาต้องเลือกที่คุณภาพ ไม่ใช่บอกว่า แข่งกันแล้ว การศึกษาจะถูก แล้วนักศึกษาจะได้เรียนมากขึ้น แต่มันต้องพัฒนาไปที่คุณภาพของการศึกษาและพัฒนาอาจารย์


 


เพราะฉะนั้น หากต่อไปคุณภาพการศึกษาดีจริง ปรัชญาการศึกษาดำรงไว้ ให้นักศึกษาออกค่าเทอม ค่าหน่วยกิตเพิ่มอีกนิดก็ไม่ได้หนักหนา ก็ยอมรับได้ แต่วันนี้ที่ห่วงคือ ต้นทุนการศึกษาที่เพิ่มขึ้น โดยปรัชญาการศึกษาต้องแปรเปลี่ยนไป


 


 


ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะให้รัฐนำต้นทุนมาจากไหน


การจัดการศึกษาของประเทศไทย ต้องเป็นสวัสดิการของรัฐ ที่จะจัดให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ต้องเป็นการศึกษาฟรี ตัวอย่างเช่น เยอรมนี สหรัฐฯ มีต้นทุนที่ถูกมากด้านการศึกษา ประเทศไทยต้องใช้การศึกษากับประชาชนไม่ใช่แค่ 12 ปี แต่ต้องจบปริญญาตรี หรือ จัดการศึกษาให้เพียงพอตามที่นักศึกษาคนนั้นๆ ต้องการจริงๆ


 


ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างของการเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ซึ่งหากดูจากรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วจะพบว่า ขณะที่งบประมาณกองทัพเยอะมาก โดยไม่ได้พูดถึงการศึกษาเลย และยังมีการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่สวนทางกัน จะเห็นว่ารัฐบาลจากเผด็จการ จากกองทัพทหาร ไม่ได้สนใจการศึกษา แต่สนใจเรื่องของกองทัพและความุรนแรงมากขึ้น


 


การศึกษาตามรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเลย กลับจะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะกองทัพกลับมีงบประมาณมากขึ้น เพราะฉะนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริง เปิดกว้างทางการศึกษาจริง ต้องระบุว่า การศึกษาต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนและสังคมจะต้องได้รับจากรัฐ โดยเอางบประมาณจากการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามาสนับสนุน


 


 


แปลว่าไม่ควรออกนอกระบบเลย


ไม่ต้องออกนอกระบบ ถ้ามหาวิทยาลัยบริหารไม่คล่องตัวตรงไหนก็แก้เป็นจุดๆ ไป เช่น วินัยทางการเงินไม่คล่องตัว งานวิชาการไม่คล่องตัว ก็แก้ พ.ร.บ. เฉพาะจุดตรงนั้นไป ถ้าบอกว่า แก้การจัดการในมหาวิทยาลัยโดยการออกนอกระบบ ต่อไป ก็จะต้องเอากระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เอากระทรวงต่างๆ ออกนอกระบบทั้งหมด เพื่อแก้ข้อบกพร่อง


 


 


พ.ร.บ.สจพ. มีอะไรที่ต่างจากของที่อื่นไหม


ทุกที่แทบไม่มีอะไรต่างกันเลย ทั้งที่ สจพ. ไม่มีคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ แต่ผู้บริหารแทบจะลอก พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยอื่นเข้ามาใช้ทั้งสิ้น เพราะ พ.ร.บ. แต่ละมหาวิทยาลัยแทบจะเหมือนกัน 100% ด้วยซ้ำไป


 


ทั้งที่ บริบทและคณะต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน เช่น สจพ. เป็นสายวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสายอุตสาหกรรมมากกว่า หรือม.ศิลปากร ซึ่งมีคณะพวกวรรณศิลป์ หรือศิลปศาสตร์ ก็ไม่สามารถที่จะขายงานวิจัย ขายการศึกษาแล้วเอาไปหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยได้ หรือพ.ร.บ.ระหว่าง จุฬาฯ กับ สจพ. ก็คงต้องต่างกัน ในแง่งบประมาณ รายได้ที่ต้องหาเข้ามหาวิทยาลัย นี่คือข้อบกพร่อง


 


 


ผู้บริหารบอกว่าจะไม่ขึ้นค่าหน่วยกิต


แต่เขาขึ้นค่าธรรมเนียม ค่าสวัสดิการนักศึกษา เพิ่มนั่นเพิ่มนี่มาเรื่อยๆ นี่คือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลายๆ ทั้งสิ้น


 


สุดท้าย แม้ว่า พ.ร.บ. ของ สจพ. จะผ่านแล้ว แต่ก็ยังมี พ.ร.บ. ของอีกหลายมหวิทยาลัย ซึ่งจะต้องคัดค้านให้ถึงที่สุด ช่วยกันหยุด พ.ร.บ.ลูกเหล่านี้ให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net