ค่าชดเชยที่เป็นธรรม: คำตอบสำเร็จรูปเพื่อการพัฒนา?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สืบเนื่องจากจดหมายของโสภณ พรโชคชัย ที่วิจารณ์ต่อแนวคิด "รักษ์ท้องถิ่น" ของกรณ์อุมา พงษ์น้อย และวันนี้ นฤมล กล้าทุกวัน อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาที่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับการต่อสู้ของชาวบ้านที่ บ่อนอก-บ้านกรูดจึงได้ส่งความเรียงเพื่อปะทะสังสรรค์ และกระทุ้งถามมุมมองต่อการพัฒนาที่ค่าชดเชยไม่อาจทดแทน

000

           แม้ดิฉันจะรู้สึกเคารพต่อ "ท่าที" ของคุณโสภณ พรโชคชัย ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย อย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ แต่ความชื่นชมนี้ก็เป็นคนละประเด็นกับความคิดเห็นของดิฉันที่มีต่อ "เนื้อหา" ที่คุณโสภณเขียน

ดิฉันขอเริ่มจากประเด็นที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นประเด็นเล็กๆ ก่อน

เริ่มแรก ต่อให้เดินตามเกม "การจ่ายค่าชดเชย" ที่คุณโสภณเสนอเพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ดิฉันก็ยังคิดว่ามันมีปัญหา

ก่อนที่จะมีการพิจารณาชดเชยแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากโครงการ ย่อมต้องมีการประเมินผลได้ผลเสียของโครงการ ซึ่งแม้จะยึดหลักการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ อันมีขอบเขตการพิจารณาที่กว้างกว่าการประเมินทางการเงิน แต่ก็ยังถือว่ามีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดที่ว่าการประเมินจะพิจารณาเฉพาะด้าน "ประสิทธิภาพ" ไม่ได้สนใจด้าน "การกระจาย" กล่าวคือ หากขนาดของผลประโยชน์รวมสูงกว่าขนาดของต้นทุนรวมก็ถือว่าโครงการนั้นสมควรดำเนินการ แต่กลับไม่พิจารณาว่าใคร/คนกลุ่มใดที่ต้องแบกรับภาระต้นทุน

อีกทั้งในการแปลงต้นทุนและผลประโยชน์เป็นหน่วยของเงิน มักจะมีปัญหาเรื่อง "การให้มูลค่า" แน่นอนว่าการให้มูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยชาวประมง ย่อมต่างไปจากผู้ใช้ไฟฟ้า หุ้นส่วนโรงไฟฟ้า เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ นักประเมินค่าทรัพย์สิน ฯลฯ 1

จากประเด็นเหล่านี้ทำให้ดิฉันไม่มั่นใจนักว่าการประเมินโครงการต่างๆ จะเที่ยงตรงและเป็นธรรมได้จริง รวมไปถึงกรณีการชดเชยด้วย จะชดเชยกันให้เป็นธรรมได้อย่างไรเมื่อต่างฝ่ายต่างให้คุณค่าของสิ่งที่สูญเสียไปและสิ่งที่ได้รับมาต่างกัน แม้การชดเชยเรื่องอาชีพก็ยังมิใช่เรื่องง่าย ชาวประมงที่ใช้ทั้งชีวิตหาปลามาตลอด จะใช้วิธีใดหาเลี้ยงครอบครัวหากไม่สามารถหาปลาได้แล้ว เงินชดเชยจะพอเลี้ยงชีพเขาและครอบครัวไปตลอดเลยกระนั้นหรือ? ที่สำคัญ ค่าชดเชยนั้นยังไม่สามารถรวมวิถีชีวิตของผู้คน ความผูกพัน/ความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับธรรมชาติ ฯลฯ ที่ย่อมถูกกระทบเมื่อสร้างโรงไฟฟ้า อันยากต่อการตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน

จากที่ผ่านมาจะพบว่า แม้จะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ EIA ดังกล่าวกลับบิดเบือนข้อมูลอย่างไม่น่าให้อภัย (เช่น ระบุว่าทะเลบ่อนอกไม่ได้อุดมสมบูรณ์มากนัก ทั้งๆ ที่ท้องทะเลแห่งนี้มีปลาวาฬ) ดังนั้น "EIA อัปยศ" เช่นนี้จึงทำหน้าที่เสมือน "ใบผ่านทาง" เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้โดยสะดวกเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติของการประเมินโครงการและการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ

นอกจากนี้ การจ่ายค่าชดเชยที่จะเรียกว่าเข้าใกล้ "ความเป็นธรรม" ได้นั้น ดิฉันเข้าใจว่าหลักการของมัน ไม่ใช่การให้น้ำหนักกับทุกคน/ทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน แต่ควรคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาเป็นลำดับแรก (แน่นอนว่าหากดิฉันได้ประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ย่อมไม่คู่ควรที่จะไปตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าได้อย่างทัดเทียมกับคนบ่อนอก จ.ประจวบฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าจะไปตั้งอยู่)

สุดท้าย หากเราจัดลำดับความสำคัญของผู้เสียหายมาเป็นประเด็นแรกแล้ว เมื่อชาวบ้านบอกว่า เค้ารับไม่ได้กับการโรงไฟฟ้ารวมทั้งการพัฒนาแบบนี้ แต่ต้องการวิถีชีวิตแบบที่เค้าเลือกเอง นั่นเท่ากับมูลค่าความเสียหายในการสร้างโรงไฟฟ้าที่เกิดแก่เค้ามันเป็น infinity หรือไม่มีอะไรมาชดเชยได้ ทางออกของปัญหา (หากจะเดินตามเกมการจ่ายค่าชดเชย) คือ จบมันซะ แล้วไปหาพื้นที่อื่นที่ชาวบ้านเค้ายอมรับราคาที่คุณจะจ่ายให้

ยังไงก็ตาม ดิฉันไม่อยากจะเล่นเกมการจ่ายค่าชดเชยสักเท่าไหร่ เพราะมันทำให้ดิฉันขาด "จินตนาการ" ไปมากทีเดียว

ที่คุณโสภณพุ่งประเด็นจากคำถาม "ปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนา" ไปสู่คำตอบ "การจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม" นั้น ดิฉันเห็นว่ามันคับแคบเกินไป เพราะเท่ากับว่าคุณโสภณมี "ธง" ที่ชัดเจนว่าโครงการนี้ยังไงก็ต้องสร้าง ดังนั้นจึงมีชุดคำตอบเกี่ยวกับค่าชดเชยมารอไว้

ทั้งยังเป็นวิธีคิดที่อันตราย อันสะท้อนฐานคิดที่ว่าทุกสิ่งอย่างสามารถตีค่าตีราคาและชดเชยไปได้เสียหมด เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง (ที่ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงอะไร)

หากทุกคนมีจินตนาการแบบเดียวกับคุณโสภณทั้งหมด เรื่องมันคงจะจบง่ายกว่านี้ แต่บังเอิญชาวบ้านที่นั่นเค้าไม่ได้คิดเพียงว่า "ฉันจะควรจะรับค่าชดเชยเท่าไหร่ดีนะ" หรือ "ฉันจะเลิกหาปลามาทำงานโรงไฟฟ้าดีกว่า" 

ดิฉันเดาว่าจินตนาการของชาวบ้านกว้างกว่านั้น จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจกว่า เช่น "ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้า" "หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีปัญหาอะไรตามมา" "มันไม่มีหนทางอื่นในการพัฒนาแล้วเหรอ" "ทำไมพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศก็เจอกรณีอย่างนี้" "ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้" "ทิศทางพลังงานที่เหมาะสมของไทยควรเป็นอย่างไร" ฯลฯ เท่าที่ดิฉันติดตาม ทราบมาว่า ชาวบ้านเค้าสงสัยกันไปถึงกระทั่งนิยามของ "ชาติ" เลยทีเดียว

ในประเด็นเรื่องผลประโยชน์ชาตินี้ดิฉันเห็นว่าคุณโสภณให้ความสำคัญมาก และมองราวกับว่าชาวบ้านเป็นคนเข้ามาถือเอาทรัพยากรส่วนรวมไปเป็นของตัว เลยเถิดไปถึงทำตัวขัดขวางความเจริญของชาติบ้านเมือง ดังข้อความที่คุณโสภณเขียนว่า

"...ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หาไม่ก็จะเป็นการขัดขวางความเจริญของชาติไปอย่างน่าเสียดาย

หากประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศพากันจับจองทรัพยากรของส่วนรวม เช่น ทะเล ลำคลอง หรือป่าเขา มาเป็นของตนด้วยถือว่าตนอยู่ใกล้และได้ใช้ประโยชน์มานาน ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ก็คงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส ถ้าการปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ก็คงทำให้ประเทศแตกแยกกันไปหมด และเกิดความวุ่นวายแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไม่มีที่สิ้นสุด บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องนี้จะพันธนาการประเทศของเราให้ถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือทั่วโลกต่างพัฒนาไปไกลโดยไม่ติดกับปัญหานี้เพราะต่างยอมรับในสิทธิของชาติเหนือสิทธิส่วนบุคคล" 2


ดิฉันกลับมองว่าการที่ชาวบ้านดำเนินวิถีชีวิต ทำมาหากิน รักษาและใช้ประโยชน์จากท้องทะเลอย่างสมดุล มิใช่เพียงก่อประโยชน์เฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสังคมโดยรวม ลักษณะเช่นนี้ไม่ควรจะถูกเรียกว่าเป็นการเอาสมบัติส่วนรวมไปเป็นของตัว ตรงกันข้าม พวกเขากำลังพยายามปกป้องรักษาท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์นั้นให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่ให้ถูกทำลายโดยโครงการโรงไฟฟ้าของเอกชน และหากจะมีความวุ่นวายในการแก่งแย่งทรัพยากรเกิดขึ้น คำอธิบายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความเรื่อง "ความรุนแรงในรัฐที่ลำเอียง" อาจเป็นคำตอบได้ดี


"ในสมัยหนึ่งคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในชนบทถูกแย่งชิงผลผลิตด้วยการกดราคาพืชผล ด้วยกลไกตลาดที่ไม่ยุติธรรม ด้วยการกีดกันออกไปจากแหล่งเงินกู้ ด้วยการบริการของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน ฯลฯ แต่มาบัดนี้ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาคเมืองของไทย กำลังก้าวเข้าไปแย่งตัวทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตจากคนส่วนใหญ่ในชนบทแล้ว

เหตุฉะนั้นความขัดแย้งจึงย่อมรุนแรงขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเขาไม่มีที่จะถอยไปไหนได้อีกแล้ว" 3

นิยาม "ผลประโยชน์ชาติ" นั้น จึงพร่ามัวเหลือเกินถ้าหากมิได้นับรวมผลประโยชน์คนเล็กๆ เข้าไปด้วย ดิฉันคิดว่าคำกล่าวของคุณกระรอกในเรื่อง "ทำไมต้องรักท้องถิ่น" นั้นชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว

"อย่ามาพูดคำว่า "ผลประโยชน์ของชาติ" หรือ "ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" กับเราแต่เพียงลอยๆ เพื่อเป็นข้ออ้างให้เราต้องเสียสละ เพราะคนส่วนใหญ่ ย่อมประกอบด้วยคนส่วนน้อย คนเล็กคนน้อยมารวมกัน ศักดิ์ศรีของคนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนส่วนน้อยถูกย่ำยี" 4

หรือจากตอนหนึ่งในบทความของอาจารย์นิธิ ที่เขียนไว้ว่า "ถ้าไม่คิดถึงคนธรรมดาๆ และคนเล็กๆ แล้ว บางทีชาติที่ถูกรักษาไว้ด้วยการเอาเลือดทาแผ่นดิน ก็กลับจะกลายเป็นเครื่องมือของคนส่วนน้อยใช้สำหรับเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ในนามของการเสียสละเพื่อชาติเท่านั้น" 5

หากจะอ้างว่าผลประโยชน์ชาติ คือ การที่คนส่วนใหญ่ได้ใช้กระแสไฟฟ้า ก็คงต้องกลับไปสู่คำถามในเชิงการกระจายว่าใครเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ (ไฟฟ้าจ่ายเข้าหาภาคส่วนใดของประเทศเป็นหลัก) แล้วใครที่ต้องคอยแบกรับภาระ รัฐเองพยายามทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วกำลังไฟฟ้าสำรองเราขาดแคลนเพียงใด ถามให้ไกลกว่านั้นคือรัฐไม่สามารถหาหนทางอื่นในการจัดการทิศทางของพลังงานแล้วกระนั้นหรือ

แทนที่จะหาค่าชดเชยที่เป็นธรรม ดิฉันอยากจะชวนให้ตั้งคำถามต่อการพัฒนา รวมถึงรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นอยู่มากกว่า

ทุกวันนี้รัฐก็เน้นแต่การจัดการแต่ด้านอุปทานของพลังงาน (สร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า และขุดหาแหล่งพลังงานสารพัดรูปแบบ) เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่กลับไม่มีใครมาจัดการด้านกับด้านอุปสงค์ของพลังงานเลย (พวกโฆษณารณรงค์หน้าไว้หลังหลอกทั้งหลาย ดิฉันไม่เต็มใจที่จะนับเป็นการจัดการด้านอุปสงค์เสียทีเดียว)

ห้างสรรพสินค้าและสถานบันเทิงกี่ร้อยกี่พันแห่งที่ใช้ไฟฟ้ากับแสงสีที่ไม่ก่อประโยชน์ ป้ายโฆษณาสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่ไม่เคยดับแสง ห้องประชุมที่ทุกคนต้องใส่สูทตลอดเวลาเพราะเครื่องปรับอากาศมันเย็นจับใจ ดวงไฟประดับประดาถนนที่ไม่จำเป็น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในมหานครอย่างหน้าตาเฉย ในขณะที่พื้นที่อื่นกำลังถูกรุกรานด้วยการสร้างแหล่งพลังงานในนาม "การพัฒนา"

หากการจัดการด้านอุปสงค์ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐก็ย่อมต้องจัดหาอุปทานไม่มีที่สิ้นสุด หรือว่าการจัดการสร้างแหล่งพลังงานบนพื้นที่ของคนเล็กๆ มันง่ายกว่าการไปจำกัดการใช้ไฟฟ้าของคนใหญ่คนโต หากเป็นเช่นนี้คำถามของดิฉันก็คือ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเท่าไหร่ถึงจะพอ และคนเล็กคนน้อยอันเป็นส่วนประกอบของชาตินี้จะต้องมาคอยรับค่าชดเชยที่เป็นธรรม (ซึ่งไม่มีจริง) อีกสักกี่ราย


ด้วยความเคารพ ... ดิฉันอยากจะชวนคุณโสภณให้ลองตั้งคำถามใหม่ว่า ประเทศไทยควรเดินไปสู่เส้นทางการพัฒนาแบบไหน และจะต้องมีคนเล็กๆ อีกสักกี่ราย ชุมชนอีกกี่แห่งที่ต้องมาคอยรับค่าชดเชยที่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อให้บ้านเมืองมัน "พัฒนา"

ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีมานี้ มีแกนนำกลุ่มอนุรักษ์กี่รายที่ต้องตายเพื่อโครงการพัฒนา เพื่อการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อผลิตแหล่งพลังงานที่ว่ากันว่าไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อภาษีอากรที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อการสร้างงานสำหรับประชาชนในพื้นที่ เพื่อค่าทดแทนที่เป็นธรรม ฯลฯ


ถึงจุดนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจต่อคำว่า "ชาติ" "คนส่วนใหญ่" และ "การพัฒนา" กันเสียใหม่


ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ที่คุณโสภณกล่าวว่าเสียดายที่ภาคประชาชนของไทยไม่ดำเนินบทบาทในการตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่าที่ควร เพราะหากติดตามก็จะทราบว่าอย่างน้อยก็มีชาวบ้านบ่อนอกนี่แหละที่ทำหน้าที่นี้อย่างชัดเจน

การเคลื่อนไหวของขบวนชาวบ้านเพื่อยับยั้งการกระบวนการอันไม่ชอบธรรมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้มิใช่หรือจึงทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมหันมาให้ความสนใจและพิจารณาเบื้องลึกเบื้องหลังของโครงการมากขึ้น การที่คุณเจริญ วัดอักษร เข้าไปมีส่วนร่วมกับการตรวจสอบการทุจริตกรณีที่ดินสาธารณะจนกระทั่งตนเองถูกยิงเสียชีวิต สิ่งนี้ไม่นับว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่หรอกหรือ

ดิฉันจึงไม่เคยคิดว่าชาวบ้านบ่อนอก (รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนา) เป็นผู้ขัดขวางความเจริญของประเทศเลยสักคน แต่กลับเป็นผู้มีคุณูปการในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ เพราะชาวบ้านได้พยายามมีส่วนร่วมในการกำกับทิศทางการพัฒนาให้เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมินิเวศของท้องถิ่น และเป็นการพัฒนาที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ร่วมกันกำหนดเอง …การผลักไสให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นโดยไม่ฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบต่างหากจึงสมควรจะถูกเรียกว่าเป็นการขัดขวางความเจริญของชาติบ้านเมือง


ดิฉันมองว่าการรับโครงการพัฒนาเข้ามาในชุมชน ไม่ใช่การเสียสละ ยิ่งไปกว่านั้น ... มันไม่ใช่หน้าที่ (และไม่มีใครควรมาบอกว่ามันเป็นหน้าที่) แต่มันเป็น "สิทธิ" - - สิทธิของคนในพื้นที่ที่จะ "เอา" หรือ "ไม่เอา" ต่างหาก


นฤมล กล้าทุกวัน

roronoar1@yahoo.com

1 สำหรับข้อแตกต่างของการประเมินทางเศรษฐศาสตร์กับการประเมินทางการเงิน รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ ของการประเมิน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก เยาวเรศ ทับพันธุ์, การประเมินโครงการตามแนวทางเศรษฐศาสตร์, (กรุงเทพฯ: 2543), . 3-5 และ 11-13


2http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=2563&SystemModuleKey=mailtoBK&SystemLanguage=Thai


3 นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ความรุนแรงในรัฐที่ลำเอียง," เก็บที่โล่งแก่รากหญ้า: คัดสรรข้อเขียนในรอบทศวรรษว่าด้วยทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และอื่นๆ, (กรุงเทพฯ: 2543), . 7


4http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8593&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


5 นิธิ เอียวศรีวงศ์, "บางระจัน," ว่าด้วยการเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ, (กรุงเทพฯ: 2545), . 28

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท