Skip to main content
sharethis

วันที่ 30 ส.ค.50 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) จัดแถลงข่าว "รัฐธรรมนูญ 50 กับการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ"


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร กล่าวว่า มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550  ก็คือ มาตรา 224 ของรัฐธรรมูญ 2540 ที่พัฒนาขึ้นมา โดยภาพรวมแล้วก้าวหน้ามากแม้จะไม่เป็นไปอย่างที่เอฟทีเอว็อทช์เสนอทุกประการ


 


นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า ตอนนี้รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับแล้ว คณะเจรจา หน่วยงานราชการ องค์กรการเมือง ต้องยึดถือตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มเอฟทีเอวอชท์มีข้อเสนอรูปธรรม ดังนี้  1. ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐยังมีการเจรจาในหลายประเทศ หลายกลุ่มเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลสถานะการเจรจาว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรป สนธิสัญญาความร่วมมือสิทธิบัตร เอฟทีเอไทย-เอฟตา และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการเจรจาในเรื่องพิธีสารเกียวโต ซึ่งอาจมีพันธกรณีระหว่างประเทศกับประเทศกำลังพัฒนามากไป


 


2.สภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะรัฐสภา ควรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อติดตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะเอฟทีเอ แต่รวมไปถึงสนธิสัญญาเรื่องเกษตร แรงงานด้วย โดยให้ภาคประชาชนเข้าไปช่วยติดตาม


 


3.ในส่วนของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)  ลงนามไปเมื่อ 3 เม.ย.50 ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอรัฐสภาและรัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบให้สัตยาบรรณแล้ว แต่ฝ่ายไทยยังมีปัญหาทางปฏิบัติ โดยก่อนหน้านี้นักวิชาการยื่นหนังสือเปิดผนึกว่าต้องเสนอรัฐสภาก่อนตามมาตรา 224  แต่ก็รัฐก็ตีความแบบไม่ยอมเสนอ แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 50 ขยายความชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาคือ หนังสือสัญญาที่กระทบกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันต่อการการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  ดังนั้น ขั้นต่อไปของ  JTEPA การแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน รัฐบาลต้องเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบตาม มาตรา190 วรรค 2 และ มาตรา 303 วรรค 5 ซึ่งระบุชัดเจนว่าหากหนังสือสัญญายังดำเนินการค้างอยู่ต้องเป็นไปตามรรัฐธรรมนูญ


 


จักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยจากโครงการศึกษาปฏิบัติงานงานพัฒนา (โฟกัส) กล่าวว่า ภาพรวมรัฐธรรมนูญนั้นยังต้องปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  แม้มีบางมาตราที่ภาคประชาชนผลักดันสำเร็จบ้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีการเจรจาที่ค้างอยู่อย่างน้อย 10 การเจราจาคือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี ในส่วนของทวิภาคีที่ดำเนินการค้างอยู่ ได้แก่ ไทย-บาเรนห์ ไทย-เอฟต้า ไทย-อินเดีย ไทย-เปรู  รวมไปถึงบิมสเทค เรื่องเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญแล้วต้องนำเนื้อหามาเปิดเผยและให้ประชาชนมีส่วนร่วม


 


จักรชัย กล่าวอีกว่า มี 2 กรณีที่อยากเน้นคือ เอทฟีเอไทย-ยุโรป ที่อยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-อียู สัปดาห์ที่แล้วมีการแถลงข่าวว่าจะเริ่มเจรจาต้นปีหน้า ต้องขอความชัดเจนว่าสถานะของการเจรจานี้อยู่ตรงไหน รัฐบาลไทยยังไม่ได้ตัดสินใจให้เจรจา เพียงแต่มีการแต่งตั้งคณะทำงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อเตรียมการ ดังนั้น จึงต้องนำเรื่องนี้ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา โดยนำกรอบ วัตถุประสงค์ ผลดีผลเสีย ก่อนเริ่มเจรจา ส่วนกรณีเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รอบสุดท้ายจบเมื่อต้นเดือนมกราคม 2549 หลังจากนั้นสหรัฐประกาศเป็นทางการว่าไม่เจรจากับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ถ้าจะมีการเจรจาใหม่ในรัฐบาลใหม่ก็ต้องเอากรอบ เนื้อหา วัตถุประสงค์ เข้าขอความเห็นชอบกับรัฐสภาก่อนเจรจา


 


จักรชัยกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การดำเนินการเจรจาต่างๆ ต้องเสียเวลานานจนเกินไป รัฐธรรมนูญมาตรา190 (5) กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยขั้นตอนการกำหนดวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่กระทบทางเศรษฐกิจหรือมีผลผูกพันทางการค้า รวมถึงการเยียวยาผลกระทบจากการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว และมาตรา  303 (3) มีการกำหนดกรอบชัดเจนว่า กฎหมายที่ว่าไปอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา มีความโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมรวมถึงต้องมีวิจัยที่มีความเป็นอิสระก่อนการเจรจา โดยให้ออกกฎหมายนี้ภายใน 1 ปี นับแต่มีการแถงนโยบายของรัฐบาล


 


จักรชัยกล่าวถึงกฎหมายดังกล่าวว่า กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ได้ร่วมหารือกับภาคประชาสังคมต่างๆ ทั้งภาคแรงงาน  และภาคเกษตรกรรวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อ จนมีการร่างกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ชื่อว่า พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เป็นร่างที่ตรงตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ มีความเป็นอิสระของการศึกษาวิจัย โดยเน้นที่ประสิทธิภาพของการเจรจาต่อรองที่ดีมากขึ้น มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องวิจัย รับฟังความเห็นต้องดำเนินการภายในกี่วัน รวมถึงบทบาทของรัฐบาลที่ต้องเปิดเผยข้อมูลและส่งเสริมการมีส่วนร่วมขอประชาชน


 


"เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราพร้อมจะนำร่าง พ.ร.บ.นี้หาความสนับสนุนจากประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอกฎหมายตามมาตรา 163 ต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้การเจรจาดำเนินการได้เร็วที่สุด" จักรชัยกล่าว


 


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า ทางกลุ่มยังจะจัดทำนโยบายระหว่างประเทศและการทำเอฟทีเอนำเสนอพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ตอบกลับมาว่ามีความเห็นอย่างไร หรือมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net