10 ล้านเสียงแด่ผู้มีเกียรติในสวนอัมพร "ปลาร้าปาร์ตี้" เหม็นหรือหอม ?

ประชาไท - 31 ส.ค. 50 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กว่า 200 คน ร่วมชุมนุมกันจัดงานเลี้ยงฉลอง "ปลาร้าปาร์ตี้" นัดรวมตัวกันเมื่อวันที่ 30 ส.ค. เวลา 17.00 น. ณ หมุดประชาธิปไตย บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าสวนอัมพร

 

ในวันและเวลาเดียวกันนั้น อีกด้านหนึ่งของบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า คือ ภายในสวนอัมพร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานจัดงานเลี้ยงรับรองการฉลองรัฐธรรมนูญ 2550 มีผู้เข้าร่วมฉลองได้แก่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) สมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ(สนช.) อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้ง เอกอัครราชทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

 

ภายในงานฉายวีดีทัศน์ ชุด "กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 50" นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และนายมีชัยได้กล่าวแสดงความยินดีในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ด้วย

 

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประโยชน์มาก ในสภาวะที่ต่างประเทศมองเราอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เราต้องการประชาธิปไตย เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ถือว่าผ่านไปครึ่งทางกว่า เกือบจะบรรลุไปถึงวันเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.ระบุไว้ ซึ่งผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งบอกความสมบูรณ์ของความเป็นประชาธิปไตย

 

ตำรวจยึดรถปลาร้า หวั่นเสียภาพลักษณ์ เกรงใจคณะทูตที่ฉลองรธน. 50

ขณะที่ภายในอาคารสวนอัมพรมีการฉลองรับรัฐธรรมนูญ 2550 ด้านนอกสวนอัมพร ก็มีการฉลอง 10 ล้านเสียงที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ ในนาม "ปลาร้าปาร์ตี้"

 

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีนครบาลกว่า 150 นายมาเรียงแถวรอบการชุมนุม ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.ต.มานิต วงสมบูรณ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ พ.ต.อ.ชโลทร ศรีธวัชพงศ์ ผู้กำกับการสน.ดุสิต

 

พล.ต.ต.มานิตย์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือ ผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้พื้นที่บนลานพระบรมรูปทรงม้า เพราะอยู่ในเขตพระราชฐาน ต้องขออนุญาตจากสำนักพระราชวังก่อนใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้จงใจขัดขวางการชุมนุม

 

ด้านพ.ต.อ.ชโลธร กล่าวว่า ไม่ได้ห้ามหรือกดดันผู้ชุมนุมในการทำกิจกรรม แต่ได้ขอไม่ร้องไม่ให้ใช้พื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจาก สสร. จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สวนอัมพรซึ่งมีฑูตมาร่วมงาน

 

จนเวลาประมาณ 17.30 น. ขณะผู้ชุมนุมกำลังเตรียมการ ซึ่งจะมีการอ่านแถลงการณ์ และเตรียมเดินเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้าอาคารรัฐสภานั้น ผู้ชุมนุมประมาณ 10 คน แต่งกายพื้นบ้านอีสาน รำเซิ้ง สร้างสีสันให้การชุมนุม

 

ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพากันกรูเข้าไปคล้องแขนเป็นวงกลม เพื่อยืนล้อมผู้ชุมนุมที่รำเซิ้งอยู่ในระยะประชิด เกิดเป็นความความชุลมุนเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบและให้งดใช้เครื่องเสียง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเขตพระราชฐาน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยึดรถกระบะของผู้ชุมนุมไปยังสน.ดุสิตเป็นการชั่วคราว โดยภายในรถนั้น บรรทุกเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น พิณ แคน ชุดเครื่องเสียง รวมไปถึงไหปลาร้าที่เตรียมมาสำหรับการเฉลิมฉลอง

 

หลังจากเจรจากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสัญญาว่าจะคืนรถให้ โดยจะให้รถนั้นไปรอผู้ชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา แทนที่จะเดินขบวนไปพร้อมกับผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้า

 

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและแกนนำนปก.รุ่น 2 กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 53 ผู้ชุมนุมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่กลับใช้ข้ออ้างเรื่องเป็นเขตพระราชฐาน เขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีความหวังใดๆ เพราะเพียงการรำเซิ้งตามประเพณียังถูกห้าม การกินส้มตำปลาร้ายังถูกห้าม ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคน

 

 

10ล้านเสียง คือก้าวสำคัญที่เผด็จการต้องหวั่นไหว

จนเวลาประมาณ 18.00 น. น.ส.อรุณวนา สนิกะวาที นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนของผู้ชุมนุม ยืนอ่านแถลงการณ์สดุดีเสียงทุกเสียงที่ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่เอาเผด็จการ ณ บริเวณหมุดประชาธิปไตย ความว่า เสียง 10 ล้านเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเสียงของพี่น้องประชาชนคนธรรมดา ถือเป็นชัยชนะก้าวสำคัญของประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งก้าวสำคัญก้าวนี้เองที่ทำให้คณะเผด็จการหวั่นไหวอกสั่นขวัญแขวน

 

 

ตำปลาร้ากลางสายฝน

จากนั้น ผู้ชุมนุมก็ตั้งขบวนเดินออกจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังหน้าอาคารรัฐสภา ในเวลา 18.52 น. เมื่อขบวนผู้ชุมนุมไปถึง ปรากฏว่า ตำรวจรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาได้ปิดประตูใหญ่ของอาคารรัฐสภาโดยทันที

 

ด้านผู้ชุมนุมพากันตั้งแถวหน้ารัฐสภา เตรียมจะเปิดปลาร้าปาร์ตี้ โดยมีนพ.สันต์ หัตถีรัตน์ และ นพ.เหวง โตจิราการ ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย แต่ขณะที่ยังไม่ทันได้เริ่มเปิดงาน ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก เต้นท์ที่เตรียมเอาไว้มีเพียงเต้นท์เดียว ไม่เพียงพอสำหรับเป็นร่มเงาให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดได้ ทำให้ส่วนหนึ่งต้องตากฝน

 

ช่วงเวลาที่ฝนตกหนักลงมาอย่างหนักนั้น สาวรำเซิ้ง ได้ออกมายืนนอกเต้นท์ เพื่อรำเซิ้งสร้างสีสันให้ผู้ชุมนุมกลางสายฝน

 

จนเวลา 19.34 น. ฝนซาลง กิจกรรมจึงดำเนินต่อไป เริ่มต้นที่การมอบดอกไม้ให้กำลังใจเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ที่ประกาศจะอยู่ในที่คุมขังหน้ารัฐสภาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย

 

 

ทหารทำลายประชาธิปไตย ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง

เวลา 20.00 น. นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ประธานนปก.รุ่น 2 ก็เปิดงานปลาร้าปาร์ตี้ ชวนให้ร่วมกันตำส้มตำครกต่างๆ ให้แตก อาทิ ครกอำมาตยาธิปไตย ครกพันธมาร ฯลฯ ก่อนที่จะเข้าสู่วาระปาฐกถาพิเศษ เรื่อง คุณูปการประชาธิปไตยของชาวเหนือและชาวอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ดร.สุธาชัยกล่าวว่า ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีคุณูปการต่อประชาธิปไตยไม่ต่างกัน เห็นได้จากสองกรณีคือ หนึ่ง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะเห็นว่าประชาชนก็จะพากันออกมาใช้สิทธิ์ และสอง ในประวัติศาสตร์ การฉีกรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร ไม่มีสักครั้งที่ทำขึ้นโดยประชาชน แต่จะมาจากชนชั้นนำและทหารที่เป็นผู้ก่อการ

 

แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าสนใจในภูมิภาคเหนือและอีสานอยู่หลายประเด็น

 

ดร.สุธาชัยกล่าวว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 และนำไปสู่การเลือกตั้ง พบว่าประชาชนภาคอีสานมีความตื่นตัวมาก นักการเมืองในพื้นที่ก็มีบทบาทในบรรยากาศความตื่นตัวนี้ด้วย

 

เมื่อคราวประเทศญี่ปุ่นบุก ก็พบว่าฝ่ายที่ยอมจำนนให้ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย ก็คือทหาร กองทัพ ส่วนคนที่ไม่ยอมคือประชาชน โดยเฉพาะที่สกลนคร มีการรวมตัวกัน และมีกองกำลังสำคัญฝึกอาวุธที่เทือกเขาภูพาน

 

แต่แล้วการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกก็เกิดขึ้นในปี 2490 โดยคณะทหาร ที่ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของประเทศไทย ถือเป็นคณะทหารคณะแรกที่ทำลายประชาธิปไตย ทำบ้านเมืองถอยเข้าสู่เผด็จการ แล้วผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็คือประชาชน

 

ดร.สุธาชัยกล่าวว่า ชาวอีสานเป็นกำลังสำคัญในการต้านเผด็จการ ส่วนประชาชนภาคเหนือก็สะท้อนบทบาทออกมา เช่นชาวนาภาคเหนือรวมตัวกันตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่

 

เขาตั้งข้อสังเกตว่า เราจะเห็นความตื่นตัวของคนเหนือและคนอีสานเสมอ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง ภูมิภาคเหล่านี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ต่างจากคนกรุงเทพมหานคร

 

ดังนั้น ข้ออ้างที่ชนชั้นปกคริงออกมาบอกว่าประชาชนไม่มีความตื่นตัว ไม่รู้จักการเลือกตั้ง ก็เป็นข้ออ้างที่ใช้ไมได้จริงๆ และย้ำว่า เป็นทหารต่างหากที่ทำลายประชาธิปไตยและดูถูกประชาชนเสมอ

 

ดร.สุธาชัยกล่าวถึงข้อหาที่เกิดขึ้นจากการประชามติ 2 ข้อหาใหญ่ๆ ที่ประชาชนได้รับ คือ หนึ่ง ประชาชนเป็นพวกไทยรักไทย และสอง เป็นเรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียง

 

นักวิชาการสายประวัติศาสตร์อธิบายต่อไปว่า ต่อข้อกล่าวหาทั้งสองนั้น เรื่องแรกที่ว่าเป็นพวกไทยรักไทย คงต้องถามกลับไปว่า ใครจะนิยมพรรคการเมืองไหน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่จะเลือกได้มิใช่หรือ ส่วนกรณีกล่าวหาว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้น ก็ดูจะเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย ในเวลานี้ยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้สักคน

 

ดร.สุธาชัยกล่าวว่า ข้อหาทั้งสอง เป็นข้อหาที่เฮงซวย และนั่นเป็นเพราะว่า สิ่งที่ฝ่ายกล่าวหาพูดไม่ได้ และไม่กล้าพูด ก็คือ 10 ล้านเสียงที่ไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น มีนัยยะถึง 10 ล้านเสียงที่ไม่เอาเผด็จการด้วย

 

อย่างไรก็ดี ดร.สุธาชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ชาวเหนือและชาวอีสาน ได้สอนบทเรียนให้ชนชั้นนำรู้แล้วว่า เผด็จการทหารจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท