Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 31 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ออกแถลงการณ์เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน กรณีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกรณีการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ได้สร้างปัญหาผลกระทบในหลายมิติ และเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากขาดธรรมาภิบาลในการเจรจาและการกำหนดนโยบาย ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และยึดถือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้ได้ประโยชน์บางกลุ่มเป็นหลักในการตัดสินใจ


 


อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 190 ได้มีข้อบัญญัติเพิ่มเติมหลายประการที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพื่อให้กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความโปร่งใส มีการถ่วงดุลการตัดสินใจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและภาคประชาชน คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม


 


ในขณะนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์แล้ว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (รายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์ดูล้อมกรอบ)


 






เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เพื่อส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน


กรณี การเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ


 


การเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศเป็นนโยบายสาธารณะเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประชาชน มีผลผูกมัดต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกรณีการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ได้สร้างปัญหาผลกระทบในหลายมิติ และเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากขาดธรรมาภิบาลในการเจรจาและการกำหนดนโยบาย ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และยึดถือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้ได้ประโยชน์บางกลุ่มเป็นหลักในการตัดสินใจ


 


รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ ได้มีข้อบัญญัติเพิ่มเติมหลายประการที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ เพื่อให้กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความโปร่งใส มีการถ่วงดุลการตัดสินใจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและภาคประชาชน คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม


 


ในขณะนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์แล้ว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น โดยขอเรียกร้องและเสนอแนะให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้


 


1)      รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องความก้าวหน้าและสถานะเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยกำลังดำเนินงานอยู่ต่อสาธารณะ เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป , สนธิสัญญาความร่วมมือสิทธิบัตร, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-เอฟต้า ฯลฯ เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ได้รับรู้ว่าการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ อยู่ในขั้นตอนใด และที่สำคัญ คือ จะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ม.๑๙๐  โดยเฉพาะข้อบัญญัติเรื่องการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การเสนอกรอบการเจรจาและชี้แจงต่อรัฐสภา (.๑๙๐ วรรคสาม) และเรื่องการขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อนแสดงเจตนาผูกพัน (.๑๙๐ วรรคสอง)


 


2)      สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ" ขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมาธิการฯ เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐


 


3)      สำหรับ กรณี "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น" หรือ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๐ แล้วนั้น เนื่องจากความตกลง JTEPA เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ดังนั้น ในขั้นตอนก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน รัฐบาลจะต้องเสนอความตกลง JTEPA ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง และมาตรา ๓๐๓ ()


 


4)      แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๓ จะกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐสภาไปก่อนจนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้มีสถานะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่สมบูรณ์ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ดังนั้น ในระหว่างนี้จึงไม่ควรมีการเสนอเรื่องความตกลงระหว่างประเทศซึ่งจะมีผลผูกพันระยะยาวต่อประเทศและประชาชนให้สภานิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ม.๑๙๐ วรรคสอง ควรรอให้มีรัฐสภามาจากการเลือกตั้งก่อน สิ่งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรดำเนินการในระหว่างนี้ คือ การพิจารณาจัดทำ "กฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ" ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ม.๑๙๐ วรรคห้า เพื่อจะได้เป็นกรอบกติกาของสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันต่อไป โดยควรยึดถือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำและพิจารณากฎหมายดังกล่าวด้วย


 


 


 


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)


๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๐


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net