Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.30น. ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ องค์กรสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ จัดงาน "ปลูกต้นไม้แห่งชีวิต...รำลึกวันคนหายสากล ปี 2550" ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกและไว้อาลัยถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้หายไปเนื่องในโอกาสวันคนหายสากล สร้างความตระหนักต่อสาธารณชนถึงปัญหาคนหายในสังคมไทย รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาคนหายอย่างเร่งด่วนและจริงจัง และลงนามเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาป้องกันคนหายของสหประชาชาติ


 


นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา มธ. กล่าวว่า มธ. ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัดนั้น มีประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องเดียวกับประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทยมาตลอด สถานที่จัดงานเองก็มีความหมายคือหน้าตึกโดมและหน้ารูปปั้นของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย


 


ทั้งนี้ ต้นไม้ที่จะปลูกในการทำกิจกรรม จะเป็นการรำลึกถึงคนหายในประเทศ ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ที่มีคนหาย 50 คน ไม่รู้ว่าหายไปไหน และคนหายในภาคใต้ อย่างน้อย 30 คนรวมถึงนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนด้วย


 


เขาหวังว่าต้นไม้จะโตไปพร้อมกับระดับสิทธิมนุษชนในประเทศไทย โดยต้นไม้ต้นนี้จะมีความหมายอยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคมไทยตลอดไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรำลึกถึงคนสูญหายและช่วยกันไม่ให้เกิดคนหายอีก


 


"การทำให้คนหายไปเป็นการละเมิดยิ่งกว่าการทำให้ตาย เพราะญาติที่เสียพี่น้องไปโดยรู้ว่าตาย ยังยอมรับได้มากกว่าญาติที่ไม่รู้ชะตากรรมพี่น้องของตน ความเจ็บปวดที่ตกกับญาติผู้สูญหายเจ็บกว่าญาติผู้เสียชีวิต" ปริญญา กล่าวและว่า กิจกรรมในวันนี้เพื่อระลึกถึงชะตากรรมของผู้สูญหายร่วมกับผู้คนในประเทศอื่นทั่วโลกที่ถูกทำให้สูญหายไป เนื่องจากความเห็นทางการเมืองต่างจากผู้มีอำนาจ และความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน


 



จากนั้น ตัวแทนญาติผู้สูญหาย กล่าวแสดงความรู้สึก โดยนายเล็ก ประจู อายุ 85 ปี บิดาของผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 กล่าวว่า 15 ปีแล้วที่ลูกสาวหายไป คิดถึงลูกทุกวัน และเนื่องจากเขาเป็นมุสลิม ก็อยากจะฝังลูก แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ศพ


 


ด้านนางต่วน รอฮานา ตัวแทนของผู้สูญหายใน 3 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า สามีของเธอหายไปได้ 3 ปี 6 เดือนแล้ว ทั้งนี้ หากรู้ว่าคนที่รักหายไปโดยเสียชีวิต ก็จะทำใจและจะทำบุญให้ แต่นี่หายไปโดยไม่รู้ว่าใครทำ จึงทำใจได้ยาก แต่ตราบใดที่ยังไม่พบศพก็ยังมีความหวังว่าสักวันจะได้เจอเขา


 


ต่อมา นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ อ่านแถลงการณ์ร่วมขององค์กรร่วมจัดงาน (อ่านล้อมกรอบ) และกล่าวว่า รัฐสามารถยุติปัญหาคนหายได้โดยการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้หายไป ซึ่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกลงนาม เพื่อแสดงความรับผิดชอบและใส่ใจว่าจะยุติการบังคับให้หายไป ซึ่งขณะนี้มีกว่าร้อยประเทศที่ลงนามแล้ว


 


นอกจากนี้ นางอังคณา ยังแสดงความเห็นว่า ถ้ารัฐใส่ใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง รัฐควรต้องเป็นเจ้าภาพจัดงานในปีต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี ต้องไม่ถูกทำให้หายไปเฉยๆ ที่สำคัญ ต้องนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อไม่ให้มีคนหายเกิดขึ้นอีก 


 


จากนั้น เป็นการขับร้องบทเพลงโดยโฮปแฟมมิลี่ อ่านบทกลอน Death (ความตาย) ร่วมกันปลูกต้นไม้แห่งชีวิต ยืนไว้อาลัยแก่ผู้สูญหาย และร่วมกันเขียนข้อความบนผืนผ้าเพื่อเรียกร้องให้ยุติการบังคับให้คนหายไปด้วย


 


 


 



 



 


แถลงการณ์ร่วม


งานปลูกต้นไม้แห่งชีวิต..รำลึกวันคนหายสากล ปี 2550


 


การถูกบังคับให้บุคคลต้องหายไปถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนานและส่งผลกระทบ อันใหญ่หลวงต่อเหยื่อ ครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมทั้งระบบนิติรัฐของสังคมไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายของไทยยังไม่สามารถนำคนผิดมารับโทษตามกฎหมาย รัฐยังไม่ยอมรับว่ามีการบังคับให้บุคคลต้องหายไปจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นทางการ เป็นผลให้ญาติพี่น้องผู้สูญหายเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการร้องเรียนและการต่อสู้ตาม กระบวนการยุติธรรมเรื่องการบังคับให้บุคคลต้องสูญหาย


อีกทั้งยังไม่มีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต่อญาติพี่น้องของผู้สูญหายที่ ทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เนื่องจากไม่รู้ชะตากรรมของบุคคลที่รัก กลายเป็นรอยแผลบาดลึกที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากความรู้สึก และยากเกินกว่าที่ผู้ใดจะคาดคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบนิติรัฐของประเทศไทย)


 


            มาตรฐานของความโปร่งใสและความชอบธรรมของรัฐบาลได้ถูกท้าทายกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการบังคับให้บุคคลต้องหายไปโดยการจับกุม ควบคุมตัว การซ้อมทรมาน การลักพาตัวหรือการกระทำในรูปแบบอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกลุ่มบุคคล ที่ทำตามอำนาจสั่งการจากรัฐ ระบบนิติรัฐกำลังถูกตรวจสอบและถูกท้าทายจากสังคมไทย ในกรณีการบังคับให้บุคคลต้องหายตัวไป และพบว่ากรณีคนหายทุกกรณียังคงไม่ได้รับการใส่ใจและติดตามค้นหาจากรัฐอย่างจริงจัง อีกทั้งในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ในปัจจุบันและกรณีอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นและไม่ได้รับการรับรู้จากสังคมไทย มาโดยตลอด เช่น การหายสาบสูญของบุคคลในจังหวัดกาฬสินธุ์ และการหายตัวไปของบุคลในช่วงการทำสงครามยาเสพติด เป็นต้น


 


            เนื่องในวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี อันถือเป็นวันคนหายสากล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรำลึกถึงการสูญเสีย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการก่ออาชญากรรมที่คุกคามมนุษยชาติ เพราะ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตามก็จะต้องไม่ถูกบังคับให้หายไปโดยปราศจากการค้นหา และปราศจากความรับผิดชอบจากรัฐ การสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนถึงปัญหาการถูกบังคับ ให้หายไปของบุคคลในสังคมไทยจึงมีความสำคัญ เพื่อเป็นการผลักดันให้รัฐรับผิดชอบต่อปัญหาการบังคับให้หายไป ด้วยการหาแนวทางแก้ไขและยุติปัญหาต่างๆ เพื่อที่สังคมไทยจะเรียนรู้ใน การเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเป็นการวางรากฐานของระบบนิติรัฐให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง


 


องค์กรร่วมลงนาม:


•           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


•           คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace)


•           องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (AI Thailand)


•           กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)


•           Non Violence International Southeast Asia


•           องค์การฮิวแมนไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch)


•           คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 2535


•           กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


•           สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)


•           มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


•           คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)


•           ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)


 


 


 


DEATH


By Harold Pinter


 


Where was the dead body found?


Who found the dead body?


Was the dead body dead when found?


How was the dead body found?


Who was the dead body?


Who was the father or daughter or brother


Or uncle or sister or mother or son


Of the dead and abandoned body?


Was the body dead when abandoned?


Was the body abandoned?


By whom had it been abandoned?


Was the dead body naked or dressed for a journey?


What made you declare the dead body dead?


Did you declare the dead body dead?


How well did you know the dead body?


How did you know the dead body was dead?


Did you wash the dead body


Did you close both its eyes


Did you bury the body


Did you leave it abandoned


Did you kiss the dead body


 


 


ความตาย


 


ร่างนั้นพบที่ไหน


ใครเป็นคนพบ


ร่างนั้นสิ้นลมหรือยังตอนที่พบ


และพบด้วยอาการเยี่ยงไร


ร่างนั้นเป็นของผู้ใด


ใครคือพ่อ คือพี่สาวหรือพี่ชาย


หรือเป็นลุง เป็นพี่สาว เป็นแม่ เป็นบุตร


ของร่างที่ถูกละไว้นั้น


 


ร่างนั้นสิ้นลมหรือยังตอนที่ถูกทิ้งไว้


ใครเป็นผู้นำไปทิ้ง


เป็นร่างเปลือยหรือสวมใส่เสื้อผ้าเมื่อออกจากบ้าน


คุณรู้ได้อย่างไรว่าร่างนั้นสิ้นชีวิตแล้ว


คุณประกาศออกไปหรือไม่ว่าร่างนั้นสิ้นชีวิต


คุณรู้จักผู้ตายดีแค่ไหน


คุณรู้ได้อย่างไรว่าร่างนั้นสิ้นชีวิตแล้ว


 


คุณได้อาบน้ำให้ศพหรือไม่


ได้ปิดเปลือกตาทั้งสองลง


ได้กลบฝังร่างนั้นหรือไม่


หรือเพียงแต่ปล่อยทิ้งไว้


คุณได้จุมพิตร่างนั้นหรือไม่


 


 


*ประพันธ์บทกวีโดย แฮโรลด์ พินเตอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2005


ถอดความเป็นภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net