Skip to main content
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์ รายงาน


 


หลังจากที่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้จบสิ้นลงไปแล้วด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าของฝ่ายที่รับร่างตามความคาดหมายของใครหลายๆ คน


 


คำถามที่ตามมาคือ เราในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศนี้ ควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หรือมีแนวทางอย่างไรในการที่ดำรงชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะในฐานะของผู้ที่ "รับ" ผู้ที่ "ไม่รับ" หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ประสงค์จะออกความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม


 


และหากย้อนไปในช่วงก่อนลงประชามติที่ผ่านมา เราจะได้รับฟังเสียงจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สสร. หรืออาจารย์นักวิชาการ ฯลฯ แต่จากการลงคะแนนที่ผ่านมาก็ชวนให้สงสัยว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเอง ที่ถึงวัยมีสิทธิออกเสียงลงประชามติตรงนี้แล้ว กลับยังดูเหมือนจะมีโอกาสได้สะท้อนสิ่งที่พวกเขาคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย


 


ทั้งนี้ยังไม่รวมนักศึกษาบางส่วนที่เสียสิทธิในการลงคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยสาเหตุที่มาจากการที่มหาวิทยาลัยย้ายรายชื่อของนักศึกษาในทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยออกไป (ข่าวย้อนหลัง)


 


ในที่นี้ เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษา ต่อความเห็นเกี่ยวกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รวมถึงการคาดคะเนหนทางปฏิบัติต่อสิ่งที่จะเกิดหลังจากการรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


ซึ่งได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามคน คือนางสาวเนตรชนก แดงชาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางสาวลีน่าร์ กาซอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "อ่างแก้ว" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกหัดของนักศึกษา และนายจิรณะ นุตจรัส จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่สาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


000


 






"คิดว่าการรัฐประหารมันมาโดยไม่ชอบธรรม แล้วก็ดูจากอะไรประกอบหลายๆ อย่างนอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองมันมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ อย่างเช่นงบประมาณที่มันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แล้วงบทางการศึกษากลับลดลง เงินกู้ของเพื่อนป่านนี้ยังไม่เข้าเลย ทำไมถึงนำเงินภาษีของเราไปใช้ในทางนี้ คิดว่ามันเป็นการตอบโต้ทางสัญลักษณ์มากกว่า ในที่นี้หมายถึงการเลือกไม่รับร่างนี้เป็นการแสดงออกว่าเราไม่เอาพวกคุณ ไม่เอารัฐประหารของพวกคุณด้วย ถึงคุณจะเข้ามาแล้วอ้างว่าทำให้บ้านเมืองสงบ แต่จริงๆ ถ้าเรามองดีๆ แล้ว มันก็สงบด้วยอำนาจปืนมากกว่า ไม่ได้สงบจริงๆ"


 


เนตรชนก แดงชาติ กล่าวว่า ได้ไปลงประชามติมาในวันที่ 19 ที่เขตเลือกตั้งศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เล่าถึงบรรยากาศการลงประชามติว่า ค่อนข้างจะเงียบเหงา นักศึกษามาใช้สิทธิกันน้อย


 


เนตรชนกก็แสดงความเห็นว่า สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากเรื่องที่เด็กปีหนึ่งย้ายทะเบียนบ้านมาเป็นของมหาวิทยาลัยไม่ทัน แต่อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจยาก ทำให้ไม่สนใจที่จะอ่าน รวมถึงเรื่องของการเมืองในปัจจุบันถูกทำให้ดูเป็นเรื่องไกลตัวด้วย


 


"...แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะแจกไปตามหอพัก แต่ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แล้วคิดว่าบางคณะอย่างคณะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางสังคมเลย เขาจะอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า ขนาดเด็กสังคมฯ เด็กนิติฯ เองบางคนก็ยังไม่อ่านเลย แล้วก็ความสำคัญของการเมือง การเมืองตอนนี้ถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว แล้วตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เลือกตั้งก็แค่เลือกๆ ไป"


 


ในเรื่องผลการลงประชามติที่ออกมา เนตรชนก วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่คนไปลงประชามติรับร่างว่า น่าจะมาจากที่คนเริ่มเบื่อและไม่อยากยุ่งกับการเมือง จึงเลือกลงเพื่อที่จะได้จบๆ ไปขณะเดียวกันก็น่าจะมาความกลัวผลที่ตามมาเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่านร่าง


 


"คนที่เลือกลงรับร่างเขาคงคิดว่า เฮ้ย! ก็แค่ให้มันจบๆ ไป ไม่อยากยุ่งกับการเมืองแล้ว คิดว่าเอ่อ...เลือกไปเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้นคิดว่าจะได้มีการเลือกตั้ง แล้วคิดว่ามันเหมือนกับมีอะไรบางอย่างมาหลอกเขาว่า ไม่ลงรับจะไม่มีสิทธิได้เลือกตั้งนะ อาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับแย่ๆ ใช้นะ ก็เลยกลัวกัน คนส่วนใหญ่ก็คิดแบบนั้นด้วย ซึ่งมันก็อยากที่จะเปลี่ยนความคิดของเขาแล้ว"


 


สำหรับการที่ทางภาครัฐแสดงท่าทีออกมารณรงค์ให้รับร่างนั้น เนตรชนกก็ไม่เห็นด้วยกับการทำเช่นนี้ เพราะการที่ให้ผู้ร่างกับผู้รณรงค์เป็นคนเดียวกัน จะทำให้คนลงประชามติรู้สึกอยากรับร่างเนื่องจากความเห็นใจ นอกจากนั้นยังมีการแบ่งฝ่าย รวมถึงใช้ข้ออ้างต่างๆ ยังมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนอีกด้วย


 


 "...คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะคนเขียนกับคนบอก มันจะต้องอยู่คนละส่วนกัน ถึงแม้คุณจะบอกว่าคุณมีความรู้ด้านกฎหมายมาก บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องของความสงสาร อย่างเหมือนกับ "เราเขียนน่ะ ช่วยรับหน่อย" ทำให้คนรู้สึกว่าไม่รับเดี๋ยวจะเสียน้ำใจที่เขาอุตส่าห์เขียนมา แล้วนอกนั้นก็เหมือนเอาอะไรมาอ้าง เช่น ถ้าไม่รับร่างคือไม่รักชาติ คือเป็นพวกทักษิณ ซึ่งความจริงมันมีหลายด้านมากกว่านั้น มีคนที่ไม่เอาทักษิณแล้วก็ไม่เอารัฐธรรมนูญด้วย แต่เขาก็ไม่เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เลย"


 


ในส่วนของผู้ที่ไม่รับร่าง เนตรชนกก็ได้บอกว่ามีความเป็นไปได้หลายเหตุผล อย่างเช่นเพราะไม่รู้เนื้อหา บางส่วนอาจจะมีความรู้สึกต่อต้านผู้ที่เข้ามาล้มทักษิณ ขณะที่บางคนคิดว่าน่าจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้


 


"ก็มีหลายเหตุผล ไม่รับเพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้เนื้อหาเลยไม่รับไว้ก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความคิดที่ว่า คนพวกนี้มันโค่นทักษิณ ฮีโร่ของเรา เราต้องไม่เอามัน อีกกลุ่มหนึ่งก็คิดว่า มันน่าจะมีแนวทางอะไรมากกว่านี้ หรือเอารัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้มาใช้"


 


ตัวของเนตรชนกเองบอกว่า ได้ลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องมาจากสาเหตุหลักๆ คือต้องการต่อต้านคณะรัฐประหารเชิงสัญลักษณ์ เพราะความไม่ชอบธรรมของรัฐประหารและการใช้งบประมาณไปในทางที่น่าสงสัย


 


"คิดว่าการรัฐประหารมันมาโดยไม่ชอบธรรม แล้วก็ดูจากอะไรประกอบหลายๆ อย่างนอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองมันมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ อย่างเช่นงบประมาณที่มันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แล้วงบทางการศึกษากลับลดลง เงินกู้ของเพื่อนป่านนี้ยังไม่เข้าเลย ทำไมถึงนำเงินภาษีของเราไปใช้ในทางนี้ คิดว่ามันเป็นการตอบโต้ทางสัญลักษณ์มากกว่า ในที่นี้หมายถึงการเลือกไม่รับร่างนี้เป็นการแสดงออกว่าเราไม่เอาพวกคุณ ไม่เอารัฐประหารของพวกคุณด้วย ถึงคุณจะเข้ามาแล้วอ้างว่าทำให้บ้านเมืองสงบ แต่จริงๆ ถ้าเรามองดีๆ แล้ว มันก็สงบด้วยอำนาจปืนมากกว่า ไม่ได้สงบจริงๆ"


 


อีกสาเหตุหนึ่งคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ไม่พูดถึงผลเสียเลย


 


"อย่างการประชาสัมพันธ์ ก็น่าจะเปิดพื้นที่มากขึ้น แต่ทำไมพูดถึงเรื่องแต่ ผลดี ผลดี ผลดี ตลอดล่ะ ซึ่งไม่บอกผลเสียเลย ทั้งที่มันจะเป็นการดีกว่า หากเราจะเอาจุดอ่อนของมันมาแก้ไข"


 


เกี่ยวกับเรื่องอดีตกฯ ทักษิณ เนตรชนกก็แสดงความเห็นว่าการที่ประชาชนบางส่วนของประเทศนิยมชมชอบเขาและคิดอยากให้เขากลับมาก็เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับคนระดับรากหญ้าเลย


 


"เขาก็มีสิทธิที่จะเชื่อได้ อย่างคนระดับรากหญ้านักการเมืองไม่เคยให้ความสำคัญเลย แต่คราวนี้ทักษิณมีนโยบายแบบประชานิยม แน่นอนว่าคนต้องรักต้องศรัทธา แล้วคิดว่าพวก ส.ส. ที่กำลังรวมกลุ่มตั้งพรรคใหม่ๆ ก็เป็นพวกคนหน้าเดิมๆ ซะมากกว่า มันก็อิหรอบเดิม ถ้าเขาหวังว่าทักษิณจะยังกลับมามันก็ไม่แปลก"


 


ในเรื่องของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแล้วนั้น นักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ก็มองว่า รัฐบาลหลังจากนี้ก็ยังสามารถโกงบ้านเมืองได้อยู่ดี เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหนก็ตามก็มีช่องโหว่ เรื่องของการโกงมันอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า ตัวรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าดี ก็ไม่ใช่หลักประกันว่ารัฐบาลจะดีตามไปด้วย


 


"มันไม่จบง่ายๆ เหมือนที่คุณคิดว่าเลือกไปแล้วมันจะจบหรอก เพราะว่าในประวัติศาสตร์มันก็จะมีอย่างนี้ตลอด คือมีร่างรัฐธรรมนูญปุ๊บ เลือกตั้ง...แล้วก็ตัวรัฐบาลเอง มันก็ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญดีแล้วรัฐบาลจะดี มันขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลนี้เป็นยังไง นโยบายยังไง มีโครงการอะไรบ้าง แล้วถ้ามันยังโกงอิหรอบเดิม รัฐธรรมนูญยังไงมันก็ต้องมีช่องโหว่ ถึงจะเขียนเลิศเลอเพอร์เฟกท์ขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าคนมันคิดจะโกง มันคิดจะเอา มันคิดจะหาช่องโหว่ มันยังไงๆ ก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า" 


 


ในฐานะของนักศึกษา เนตรชนกก็บอกว่า เป็นเรื่องลำบาก เพราะนักศึกษาถูกทำให้ห่างจากการเมือง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องในมหาวิทยาลัย นักศึกษาในส่วนที่สนใจและต้องการจัดกิจกรรมทางการเมืองก็ต้องพบกับอุปสรรค์หลายอย่าง


 


"ถ้ามองจากมุมนักศึกษาอย่างเดียวก็ลำบาก เพราะตอนนี้นักศึกษาถูกทำให้สนใจการเมืองน้อยลง อย่างเรื่องใกล้ตัว เช่นเรื่องของมหาวิทยาลัย เราจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารไหม เราจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอะไรหรือเปล่าเพราะตอนนี้ลำพังนักศึกษาที่เคลื่อนไหว ที่ใจรักการเมืองจริงๆ ก็มีอุปสรรค์ทั้งทางด้านการจัดกิจกรรมหลายอย่าง ซึ่งทำให้เขาท้อ แล้วก็การไม่มีพื้นที่ที่จะบอกว่าเราใส่ใจทางการเมืองนะ อีกหลายๆ คนก็มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว นักศึกษาไม่เข้าใจหรอก ก็ปล่อยให้คนเพียงหยิบมือมีอำนาจอยู่เพียงฝ่ายเดียว"


 


กระนั้นก็ตามนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ก็มองว่า การสร้างความตระหนักทางการเมืองสำหรับนักศึกษาควรจะมาจากเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่เป็นผลประโยชน์เชิงรูปธรรม ให้นักศึกษาได้รู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกว่าเป็นสิทธิของเรา


 


"ถ้าอยากจะให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับการเมืองจริงๆ ก็น่าจะเอาเรื่องที่เป็นผลประโยชน์เขาเลยดีกว่า เพราะว่ามันใกล้ตัวแล้วมันมองเห็นได้ชัดเป็นรูปธรรม แล้วทำให้เขารู้สึกตระหนักว่า มันเป็นสิทธิของเรานะ ทำไมเราถึงยอมให้เขาละเมิดได้ขนาดนั้น จริงๆ การสร้างประชาธิปไตยมันไม่ได้หรูหราถึงขนาดแบบ อุดมการณ์สละชีพหลั่งเลือกโรแมนติกอะไรขนาดนั้น แต่ความจริงมันเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นสิทธิของเรา แล้วก็สังคมที่เราอยู่ เราควรจะมีส่วนร่วมไหม หรือว่าเราชอบที่จะโดนคนอื่นบงการเป็นเผด็จการเสียมากกว่า ไม่ต้องคิดอะไร ก็แล้วแต่คน"


 


000


 






"...กระแสการเมือง กระแสของประชาชน มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วเราจะมองเฉยๆ แบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะตัวนักศึกษาเลย ควรจะตั้งใจดูอย่างระมัดระวังไม่นิ่งเฉย เราอาจจะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถึงมันน่าเบื่อแต่มันก็เกี่ยวกับเรา ถ้าเราวางเฉยใส่มัน ก็เท่ากับเราวางเฉยกับตัวเอง"


 


ลีน่าร์ กาซอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการสื่อสารมวลชน กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "อ่างแก้ว" ยอมรับว่า ไม่ได้ไปลงประชามติเช่นกันเพราะบ้านอยู่ไกลถึงภาคใต้ขณะที่ขึ้นมาเรียนอยู่ในภาคเหนือ แล้วก็ไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเดือนกรกฎาคมไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถไปลงประชามติได้


 


กระนั้นก็ได้เผยว่า ถ้ามีโอกาสได้ไปลงประชามติก็จะออกเสียงไม่รับร่าง ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าเสียงส่วนใหญ่จะเป็นของฝ่ายที่รับร่างก็ตาม


 


"ถ้าให้เลือก...ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจะรับร่าง แต่ก็ขอเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รับร่าง แล้วก็จะให้เขารู้ว่าคนกลุ่มที่ไม่รับร่างก็ยังมีตัวตนอยู่นะ ไม่ใช่ว่ามีแต่คนรับทั้งหมด"


 


นาวสาวลีน่าร์ได้พูดถึงเหตุผลที่คนลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญว่า มันมองได้หลายแง่ และไม่เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้านทักษิณทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่า


 


"...ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าคนที่รับคือคนที่ต่อต้านทักษิณ โดยส่วนตัวเชื่อว่าผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจ ...คิดว่าในบางกลุ่มน่าจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องในตรงนี้"


 


นอกจากนี้ยังได้ให้สัมภาษณ์อีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่มีคนไปรับร่างเป็นเพราะผู้ร่างไม่ให้เวลาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ยากต่อความเข้าใจของคนทั่วไป รวมไปถึงความรู้สึกว่ารับร่างแล้วอะไรๆ จะดีขึ้น


 


"...เคยคุยกับแม่ค้าหลังมหาวิทยาลัย ง่ายๆ เลย เขาบอกว่า "รับๆ ไปเหอะ...อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รับไปเดี๋ยวเขาก็มาต้านกันอีก ตอนนี้ก็รับไปก่อน เดี๋ยวก็คงจะดีขึ้นมั้ง เห็นเขาว่ามันไม่เหมือนอันเดิม ก็คงจะดีขึ้น" นี่คือเหตุผล เราโทษเขาไม่ได้หรอก"


 


"น่าจะมองว่า ทำไมเขาให้เวลาคนอ่านนิดเดียว แป๊บเดียว เทียบกับคนอ่านหนังสือเรียนให้จบภายใน 1 วัน ไม่รู้เรื่องหรอก ...อีกอย่าง ถ้าคุณไม่อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านให้เขาเข้าใจ ใครจะไปเข้าใจภาษากฏหมาย นักศึกษาที่ไม่ได้เรียนนิติฯ ก็ไม่เข้าใจ อย่างเราอ่านแล้วก็ไม่รู้เรื่อง มีแต่ภาษากฎหมาย ต้องตีความกันนานมาก ตีความไปก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดด้วย ภาษากฎหมายมันมีนัยยะ มันมีแง่หลายแง่ซ้อนอยู่ การให้เวลาอ่านตีความน้อยเกินไป มันทำให้คนคิดว่า "เอ่อ...รับๆ ไปเถอะ" "


 


ขณะเดียวกัน ผู้ให้สัมภาษณ์ ได้พูดถึงการที่ไม่ให้เวลาเพียงพอต่อการอ่านและทำความเข้าใจร่างฯ ในอีกแง่หนึ่งว่า มันทำให้บางส่วนรู้สึกไม่ชอบมาพากลกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นสาเหตุให้ไม่รับร่างฯ ได้ด้วย


 


ในส่วนของเนื้อหาสิทธิเสรีภาพที่ระบุในร่างรัฐธรรมนูญ ลีน่าร์ ก็กล่าวว่า สิทธิที่อ้างถึงนี้จะไม่ได้ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ แต่จะไปตกอยู่กับคนบางกลุ่มที่เราไม่สามารถแทรกแซงอะไรได้ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากยุครัฐบาลทักษิณเลย


 


"...ถ้ามองดีๆ สิทธินั้นไม่ได้ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ คือไปตกอยู่กับ พวกคนมีตำแหน่งบางคน แล้วเราก็จะแทรกแซงพวกเขายังไง จะเข้าไปมีส่วนร่วมยังไง มันไม่ได้ดีขึ้นเลย มันแค่เปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีไปในอีกทางหนึ่งเท่านั้นเอง ในตอนทักษิณเราโดนบล็อกในแง่ของทุน คราวนี้เราก็โดนบล็อกในแง่ของการบริหาร โดนบล็อกเหมือนกันแต่คนละแบบ"


 


และโดยส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์เองมีเหตุผลหลักๆ ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เนื่องมาจากความมีเลศนัยในร่างฯ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับมาตรา 309 ซึ่งมีเนื้อหานิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร โดยยอมรับว่าถึงแม้จะเห็นด้วยกับรัฐประหารในตอนต้น เพราะทางตันในการแก้ปัญหารัฐบาลทักษิณ แต่ต่อมาก็พบว่าคณะรัฐประหาร ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอหรือคืนอำนาจให้ประชาชนจริงๆ เพียงแค่ขึ้นมาใช้อำนาจล้มล้างระบอบทักษิณเท่านั้น จึงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในเวลาต่อมา


 


"จริงๆ รัฐประหารไม่ใช่เรื่องดี ถึงแม้ตอนแรกจะแอบเชียร์เขาอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะคิดว่าปัญหาจากระบอบทักษิณเราหาทางแก้กันมาหลายรูปแบบแล้ว เขาก็ยังดื้อด้าน ไม่ยอมปรับตัวเองสักที อาจจะไม่ถึงขั้นต้องออก แต่น่าจะปรับตัวเองบ้าง ในตอนนั้นจึงเหลือวิธีการเดียวคือรัฐประหาร …แต่พอดูไปดูมา ทำไมมันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เหมือนกับคุณยึดอำนาจเพื่อเอาอำนาจมาเป็นของคุณ ที่บอกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนนี้ก็ไม่ได้คืนจริง คุณขึ้นมาเพื่อล้มระบอบทักษิณอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำเพื่อประชาชนเลย


 


ระบอบทักษิณไม่ใช่ปัญหาหลักของสังคมไทย ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดหรือร้ายแรงที่สุด ปัญหาคือความสมานฉันท์ของคนมันหายไปไหน ความแตกแยกมันก็มีเป็นธรรมดา แต่ทำไมมันรุนแรงขึ้น ระบอบทักษิณมันไม่ใช่อะไรที่ต้องมาล้มล้างกันเป็นล่ำเป็นสันแบบนี้ ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ควรจะทำในแง่ที่ทำให้คนกลับมาดีกัน ขัดแย้งกันน้อยลงได้ไหม"


 


ลีน่าร์ยังได้กล่าวอีกว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ แต่ก็คิดว่าคนที่สนับสนุนทักษิณก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขามีมุมมองที่ต่างจากเรา


 


"...อันนี้พูดถึงในแง่ของชาวบ้าน คนทั่วไป ไม่ใช่พวกคนใหญ่คนโต ว่ามันก็เป็นเรื่องของเขาถ้าเขาจะคิด อย่างคนที่เขียนหนังสือ "ทักษิณอยู่ไหน" มันก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาใช้เลนส์แว่นกันคนละเลนส์กับเรา เขาอาจจะมองในเรื่องของการเข้าถึงอะไรที่ "เร็ว"  เพราะว่านโยบายไทยตั้งแต่ก่อนมามันช้ามาตลอด แต่นี่คือ "เร็ว" เพราะว่านโยบายไทยตั้งแต่ก่อนมามันช้ามาตลอด แต่นี้คือ "เร็ว" ถึงงั้นมันก็มีแค่ผลในระยะสั้น โอเค เขาไม่ผิด...แต่กับเรา เราไม่ได้มีผลประโยชน์ในระยะสั้นตรงนั้น เราก็จะมองระยะยาวและอะไรที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งก็สรุปได้ว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีใครผิด"


 


จากนั้น ผู้ให้สัมภาษณ์ก็แสดงความเห็นว่า อดีตนายกฯ คงจะไม่กลับมา หรืออาจจะกลับมาแบบลับๆ


 


"แต่โดยส่วนตัวคิดว่าทักษิณคงไม่กลับมาหรอก หรือถ้าจะกลับมาก็คงกลับมาแบบไม่เป็นทางการ มาแบบลับๆ เพราะไม่มีที่ให้เขาอยู่แล้ว แม้ว่าเขาจะกลับมา ก็คงอยู่แบบใต้ดิน แล้วกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณก็มี แต่ไม่ได้ใหญ่เท่าแต่ก่อนแล้ว"


 


เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่าน นักศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน ก็ได้แสดงทัศนะไว้ว่า ควรจับตาดูอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะเดาไม่ถูกจริงๆ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป กระแสต่างๆ ทั้ง กระแสการเมืองและกระแสของประชาชน จะมีอะไรเคลื่อนไหว และจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง คงต้องจับตาดูกันต่อไป


 


ลีน่าร์ กาซอ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า การเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงควรตั้งใจจับตามองให้ดี โดยเฉพาะนักศึกษาด้วยกัน


 


"...กระแสการเมือง กระแสของประชาชน มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วเราจะมองเฉยๆ แบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะตัวนักศึกษาเลย ควรจะตั้งใจดูอย่างระมัดระวังไม่นิ่งเฉย เราอาจจะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถึงมันน่าเบื่อแต่มันก็เกี่ยวกับเรา ถ้าเราวางเฉยใส่มัน ก็เท่ากับเราวางเฉยกับตัวเอง"


 


000


 






"ที่ผ่านๆ มา ส.ส. เข้ามาแทรกแซงมากกับข้าราชการประจำ เท่าที่ผมรับรู้มาไม่เคยมีกรณีใดที่ ส.ส. จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้การทำงานของข้าราชการดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง"


 


"แล้วถ้า ส.ส. นักการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับระบบราชการมากเกินไป มันจะส่งผลเสีย ระบบคุณธรรมมันก็ใช้ไม่ได้เต็มที่ อย่างเช่น ถ้ามี ส.ส. มาฝากคนเข้าโรงเรียนอำเภอ ซึ่งที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้น แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดกลายเป็นเด็กรัฐมนตรี แล้วประชาชนจะอยู่ยังไง ดังนั้นผมว่า บทบัญญัติเรื่องนี้ถือว่าดีมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายผมไม่เคยเป็นรัฐบาลไหน จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้เลย"


 


ทางด้านของจิรณะ นุตจรัส จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่สาม ก็เผยว่าไม่ได้ไปลงคะแนนเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากไม่อยากเสียค่าเดินทางและเป็นช่วงเวลาสอบแล้ว ยังคาดหมายว่าผลการส่งประชามติฝ่ายที่รับร่างคงเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน จึงคิดว่าตนไม่จำเป็นต้องไปลงคะแนนก็ได้


 


"ผมมองจากแนวโน้มนะครับ จากทั้งการรณรงค์ของภาพรัฐ ทั้งทางกระทรวงมหาดไทย ทั้งหน่วยราชการต่างๆ ทั้งส่วนภูมิภาค ก็รู้สึกว่ารัฐบาลมีแนวโน้มอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านมาก ก็สั่งการไปยัง ทั้งทางผู้ว่า-อำเภอ พูดให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นไปในแนวทางนั้น คือรัฐบาลต้องการให้ผ่านมาก ดังนั้นก็น่าจะผ่าน"


 


นอกจากการรณรงค์ของทางภาพรัฐแล้ว จิรณะ ยังบอกอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลงคะแนนเสียงรับร่างเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะว่าคนไทยส่วนมากมักจะประนีประนอมและยอมรับอำนาจการชี้นำจากทางภาครัฐอยู่แล้ว


 


"นอกจากนั้นผมก็มองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นคนที่ประนีประนอม ก็ถ้ามีรัฐบาลใหม่มาคนมักจะยอมรับ ถ้ามองจากอดีตแล้วทุกครั้งที่มีรัฐประหารมา คนไทยก็มักจะยอมรับ ก็มักจะไม่ได้ขึ้นมาต่อต้านอะไร โดยส่วนใหญ่คนไทยจะประนีประนอมยอมรับกับอำนาจอยู่แล้ว ประชามติในครั้งนี้ในเมื่อภาครัฐชี้นำมาขนาดนั้นแล้วผมก็เลยมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่คงจะมีแนวโน้มลงรับตามที่ภาครัฐโฆษณาประชาสัมพันธ์"


 


ทั้งนี้เขายังเห็นว่า การที่ทางภาครัฐออกมาสนับสนุนให้รับร่างจริงก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดอะไร ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญ เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขาร่างกันขึ้นมาเองก็ย่อมต้องอยากให้ถูกนำไปใช้เป็นธรรมดา


 


"ถ้ามองถึงบทบาทของเขา คือรัฐบาลเป็นธรรมดาที่ต้องการให้กลไกของรัฐดำเนินต่อไปได้ คือรัฐธรรมนูญมันได้จากภาครัฐ แม้จะแต่งตั้ง สสร. คมช. จากภาคส่วนต่างๆ แต่โดยหลักแล้วร่างโดยภาครัฐเพราะเครือข่ายมันเกี่ยวเนื่องกัน ก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องการให้รัฐธรรมนูญที่เขาร่างผ่าน เป็นกลไกที่จะเป็นไปตามแผนการของเขา ดังนั้นผมจึงไม่มองว่าผิดอะไรแต่ถ้าเมื่อใดที่เขาใช้การบังคับขู่เข็ญให้คนไปรับ หรือวิธีการอื่นๆ ที่มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างนั้นผมก็มองว่าไม่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ได้ใช้วิธีการแบบนั้นก็โอเค"


 


สำหรับเหุตุผลในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น จิรณะ ได้ชี้แจงว่ามาจากข้อดีที่มีมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เช่น การห้าม ส.ส. ส.ว. เข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำ ทำให้ ส.ส. ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงข้าราชการที่ดีและประสานประโยชน์กับข้าราชการที่ไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อระบบคุณธรรม ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์การใช้เส้นสายของนักการเมือง


 


"ที่ผ่านๆ มา ส.ส. เข้ามาแทรกแซงมากกับข้าราชการประจำ เท่าที่ผมรับรู้มาไม่เคยมีกรณีใดที่ ส.ส. จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้การทำงานของข้าราชการดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง"


 


"ถ้าทำตามหลักการที่เขาวางไว้ให้ ส.ส. ส.ว. มาตรวจสอบการทำงานของข้าราชการประจำด้วย โดยหลักการมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าโดยทางปฏิบัติแล้ว อย่าง ส.ส. มักจะเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำที่ดีเพื่อทำให้เข้ากับพวกตน ประสานประโยชน์กับพรรคพวกตน แล้ว ส.ส. พวกนี้ก็มักจะมากลั่นแกล้งข้าราชการประจำที่ดี ประสานประโยชน์กับข้าราชการที่เลวโดยส่วนใหญ่"


 


"แล้วถ้า ส.ส. นักการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับระบบราชการมากเกินไป มันจะส่งผลเสีย ระบบคุณธรรมมันก็ใช้ไม่ได้เต็มที่ อย่างเช่น ถ้ามี ส.ส. มาฝากคนเข้าโรงเรียนอำเภอ ซึ่งที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้น แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดกลายเป็นเด็กรัฐมนตรี แล้วประชาชนจะอยู่ยังไง ดังนั้นผมว่า บทบัญญัติเรื่องนี้ถือว่าดีมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายผมไม่เคยเป็นรัฐบาลไหน จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้เลย"


 


นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ยังได้บอกอีกว่า การที่ไม่เคยมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดระบุเรื่อง ส.ส. ส.ว. ห้ามแทรกแซงทางราชการเลยนั้น เป็นเพราะว่ารัฐบาลที่ผ่านมามักเป็นรัฐบาลทุน และจะเขียนกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา และชนชั้นของพวกเขาเท่านั้น


 


"ซึ่งผมพอมองออก ว่าโดยพื้นฐานแล้ว พวกรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ส่วนมากจะเป็นรัฐบาลทุน เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะเขียนกฎหมายมาจำกัดสิทธิของเขาเอง พวกทุนมักจะเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเขียนไม่ให้แทรกแซงข้าราชการประจำ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของเขา และชนชั้นของเขา"


 


ถึงจิรณะจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีข้อดี แต่ก็ยอมรับว่ามันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เช่น มาตรา 309 ว่าเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำคณะรัฐประหาร ล่วงหน้าและต่อเนื่อง แต่การอิงรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ก็จะทำให้ คมช. หมดวาระไปตามที่ระบุไว้อยู่ดี จึงไม่น่าจะเป็นอันตราย


 


"เขาเขียนอย่างนั้นมาเพื่อให้งานต่างๆ เช่น คตส. สามารถทำต่อไปได้ แต่ผมว่ามันก็อันตรายในส่วนหนึ่ง คือว่ามีกลไกในการควบคุมอำนาจ การใช้อำนาจตามมาตรา 309 พอสมควร อย่างเช่นมาตรา 309 มันเป็นมาตราที่อิงมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เช่นถ้ารัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า คมช. จะอยู่ 8 ปี ผมว่ารัฐธรรมนูญ 50 แล้วมีมาตรา 309 แต่ คมช. เป็นหน่วยงานที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 อยู่ดี แม้ว่าจะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 แต่ คมช. ก็ต้องสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ระบุไว้ ดังนั้นก็ถือว่ามันไม่อันตรายมานัก"


 


อีกข้อหนึ่งคือการที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งสรรหา จิรณะได้กล่าวว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือมันทำให้ ห่างไกลจากประชาธิปไตยในอุดมคติ ซึ่งของปี 2540 จะตรงกับอุดมคติตรงนี้มากกว่าเพราะ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีข้อดีตรงที่จะได้ ส.ว. ที่มีความรู้ความสามารถ และอาจจะเป็นคนดีมากกว่า ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง


 


นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ส.ว. ที่น่าเชื่อถือได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมไทยในระบะนี้ และเมื่อพ้นจากตรงนี้ไปแล้ว ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งมามีมากขึ้นและเข้ามาแทนที่เองในที่สุดตามการพัฒนาของสังคม


                                                                                                                     


"ในระยะนี้ของสังคมไทย ผมก็เชื่อนะครับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มันจะเป็น ส.ว. สรรหาครึ่งหนึ่ง แต่ต่อไปทันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของสังคมอยู่แล้ว เมื่อสังคมการเมืองได้ก้าวหน้าขึ้น ส.ว. แต่งตั้งจากการสรรหาอาจจะลดจำนวนลง ทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกลายเป็นเลือกตั้งทั้งหมด แล้วทีนี้ผมว่าจะสมบูรณ์แบบยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เสียอีก ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้เราถอยหลังไปก้าวหนึ่ง เพื่อที่จะก้าวไป สองก้าวหรือมากกว่านั้นในวันข้างหน้า" 


 


ในแง่ของการที่มีคนมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะแก้ไขได้ยากขึ้นเนื่องจากการที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง จิรณะ ก็ได้แสดงความเห็นว่า ถ้าประชาชนมีความต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ ส.ว. ก็คงไม่มีความชอบธรรมอะไรมาคัดค้านการเรียกร้องได้


 


"...คือถึงแม้ ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้ง เกือบครึ่งก็ตาม แต่ผมมองว่าถ้าประชาชนชาวไทยต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ และรัฐสภาก็ต้องการแก้ไขด้วย ผมว่า ส.ว. ครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจอะไรจะไปขัดมติรัฐบาล มติประชาชน มติสภาผู้แทนฯ หรอกครับ เพราะถ้าพิจารณาทางอำนาจแล้วมันผิดกัน ส.ว. 75 คนจริงอยู่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่จะเอาความชอบธรรมอะไรมาต้านมติมหาชน ต้านมติสภาผู้แทนราษฎร ผมว่าเป็นไปไม่ได้หรือกครับที่ ส.ว. 75 คนที่มาจากการแต่งตั้งจะคัดค้านอะไรได้คัดค้านไปก็ถูกประณามไปเท่านั้นเอง"


 


ถึงแม้ว่าจิรณะ จะมีเจตนารมณ์ในการรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ก็มองคนที่ไม่รับร่างว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะเห็นต่าง และมองว่าส่วนใหญ่คงเลือกลงคะแนนไม่รับร่างด้วยเหตุผลของตัวเอง มากกว่าจะรับเงินมา


 


"...เราเป็นสังคมที่เปิดกว้างเป็นธรรมดาที่เราจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เรื่องรับเงินคงมีบ้างบางส่วนแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่คงเป็นพลังบริสุทธิ์ คงเป็นความเห็นของเขาเอง ธรรมดาที่ความเห็นคนเรานั้นแตกต่าง"


 


เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน จิรณะก็ได้ตอบว่า คงจะมีการเลือกตั้ง แล้วจะมีรัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรม ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีประสิทธิภาพด้านการบริหารเท่ารัฐบาลเดี่ยวที่เข้มแข็ง แต่เชื่อว่าการเป็นรัฐบาลผสมจะทำให้มีการตรวจสอบกันเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลพรรคเดี่ยวจะขาดการตรวจสอบตรงนี้


 


"...โดยส่วนตัวคิดว่า แม้รัฐบาลผสมจะไม่มีประสิทธิภาพรัฐบาลไทยรักไทยแบบที่เป็นมา แต่รัฐบาลผสมก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร เพราะมันก็มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันชั้นนึง ลองคิดดูถ้าเกิดรัฐบาล พรรคเดียว เข้มแข็งมาก มีเสียงแบบปึกแผ่นชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ มันก็ดีในด้านบริหารแต่มันก็ไม่ดีในอีกส่วนคือ มันเข้มแข็งแล้วก็ควบคุมส่วนอื่นหมดไม่มีการถ่วงดุลอำนาจอะไรเลย ดังนั้นการที่รัฐบาลผสมมันก็มีการถ่วงดุลกันพอสมควร ก็ถือเป็นเรื่องโอเค"


 


จิรณะ ยังได้บอกต่ออีกว่า การที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรม และจะไม่มีเหตุให้ก่อรัฐประหารอีก


 


ผมไม่คิดว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะมียึดอำนาจอะไรอีก เพราะคิดว่าระบบมันน่าจะเซ็ตตัวเข้าที่ ถ้ามีการเลือกตั้งมาแล้ว ก็ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรม ซึ่งเราได้บทเรียนสมัยทักษิณแล้ว เราก็มีการเรียนรู้จากอดีต ประวัติศาสตร์มันก็คงไม่ซ้ำรอย"


 


สุดท้ายจิรณะเสนอว่า นักศึกษาควรทำให้ตนเองเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งสนใจการเมือง ตรวจสอบภาครัฐได้


 


"...ในฐานะเป็นนักศึกษาก็ขอให้ครั้งต่อไปเราไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันทุกคน แล้วอยากให้ทำตัวเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง คือ สนใจการเมือง ร่วมตรวจสอบภาครัฐ คิดเสียว่าประเทศเป็นของพวกเราทุกคนก็ช่วยกันประคับประคองรักษา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net