Skip to main content
sharethis

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 



 



 



อุตสาห์ลงทุน 'ชี้นำ' ขนาดนี้แล้ว โหวตโนยังถล่มทลาย (ที่มาของภาพ: ผู้จัดการออนไลน์)


 


ผลคะแนนเสียงของ จ.เชียงใหม่ อาจจะเป็นมุมมองสะท้อนกับ กทม. โดยที่ จ.เชียงใหม่ นั้นถึงแม้ผลประชามติจะไม่ผ่าน แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าคล้ายคลึงเหมือนกับกรณีของ กทม. คือ ผลคะแนนรับ-ไม่รับนั้น ไม่ได้ทิ้งห่างกันถล่มทลายเหมือนในหลายๆ พื้นที่


 


ดังนั้นที่ จ.เชียงใหม่ ถ้าใครคิดว่า รธน. จะถูกคว่ำอย่างฉลุยเนื่องจากเป็นบ้านเกิด พ.ต.ท. ทักษิณ ก็คงจะเป็นการประเมินที่ง่ายเกินไป - เช่นเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่ง คือ ใครคิดว่า กทม.คือศูนย์รวมแห่งชนชั้นกลาง ที่สนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ จะรับร่าง รธน. อย่างฉลุยทิ้งขาดนั้น ก็คงจะเป็นการมองภาพรวมที่ผิดพลาด


 


ทั้งใน กทม. และ จ. เชียงใหม่ จึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ ในการศึกษาผลประชามติที่ออกมาอย่างยิ่ง


 


วันนี้ประชาไทขอนำเสนอรายระเอียดผลการลงประชามติใหม่ ภาพรวมแต่ละอำเภอ รวมถึงสรุปการเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐและทหารก่อนวันลงประชามติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการเคลื่อนไหวของรัฐและทหาร ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่เข้มข้นและใช้งบประมาณสูงนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผลการลงประชามติของฝ่ายไม่รับ รธน. 2550 นั้น มีมากกว่า


 


000


 





พื้นที่ "เขียว - แดง" ในจังหวัดเชียงใหม่


 


























































































































































































































































 













หมายเหตุ


 


อำเภอที่มีผู้ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญมากกว่าผู้เห็นชอบ


 


อำเภอที่มีผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญมากกว่าผู้ไม่เห็นชอบ


 


อำเภอที่ได้รับบัตรลงประชามติน้อยกว่าผู้มีสิทธิลงประชามติ


 


ที่มาของตาราง : ปรับปรุงจาก ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องผลการรวมคะแนนออกเสียงประชามติ (http://chiangmai.ect.go.th/Pdf/19aug.pdf) เข้าดูเมื่อ 26 ส.ค. 50


 




แผนที่แสดงพื้นที่ สีเขียว-สีแดง ใน จ.เชียงใหม่


 


กลไกของรัฐไม่สามารถกุมความคิดคนส่วนใหญ่ได้


อย่างที่รู้ๆ กันว่าในทุกพื้นที่นั้น การรณรงค์ให้คนไปลงประชามตินั้น ก็มีค่าเท่ากับการกดดันให้ประชาชนไปรับร่าง รธน. โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั่นเอง


 


เช่นเดียวกันที่ในพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ที่กลไกของรัฐทุกอย่างถูกนำไปเป็นฟันเฟืองในการดัน รธน. ให้ผ่านประชามติ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น


 


แต่จากผลประชามติของ จ.เชียงใหม่ จะพบได้ถึงความล้มเหลวของภาครัฐและทหารที่ต้องใช้ทางลัดเพียงไม่กี่เดือน ในการทำให้คนเชียงใหม่ลืมพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วให้หันมาเป็นมวลชนที่สนับสนุนการรัฐประหาร


 


ทั้งนี้มีปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การเข้าไม่ถึงมวลชนอย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้าถึงเพียงแค่กลุ่มคนที่เกาะติดกับรัฐ (ไม่ว่าใครได้เป็นรัฐบาล) เช่น คนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น , คนของผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และคนของส่วนราชการ ซึ่งในสภาพชุมชนเมืองกึ่งชนบท เช่นในพื้นที่บางส่วนของ อ.เมือง อ.สันกำแพง อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.สันป่าตอง พบว่ากลุ่มคนที่เกาะติดกับรัฐ ไม่สามารถเข้าหามวลชนได้ เนื่องจากประชากรได้เข้าไปเป็นแรงงานในเมือง รวมถึงการแปรเปลี่ยนรูปสังคมชนบทไปเป็นชุมชนเมือง


 


ทั้งนี้กลุ่มคนที่เกาะติดกับรัฐส่วนใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ ก็ยังเป็นอดีตหัวคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทย


 


รวมถึงการปฏิบัติงานที่ไม่มีคุณภาพของภาครัฐ ตัวอย่างเช่นการเกณฑ์คนเข้าโครงการอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย (อสพป.) กว่า 425,009 คน แต่พบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว เป็นโครงการที่ไม่มีมวลชนดังที่อวดอ้างไว้เลย เนื่องจากการทำงานแบบขอไปที ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อ่าน : รายงาน : จับตา อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย (อสพป.) มวลชนจริง มวลชนลวง ? )


 


 


เกษตรกรผู้ปลูกลำไยโหยหา "ไทยรักไทย"


ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่ในแถบ อ.สารภี , อ.หางดง และ กิ่ง อ.ดอยหล่อ ที่คะแนนประชามติฝ่ายไม่รับร่างชนะฝ่ายรับร่างเกือบครึ่งต่อครึ่งนั้น มีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คืออยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไย ที่ราคาลำไยในช่วงหลังรัฐประหารมานี้ ไม่ดีเหมือน 2 - 3 ปีก่อนในช่วงที่รัฐบาลไทยรักไทยบริหารประเทศ


 


ทั้งนี้จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ อ.สารภี พบว่ามีการโยงประเด็นค่าครองชีพ เศรษฐกิจ และราคาลำไย เข้ากับผลการลงประชามติ


 


ถึงแม้ว่าราคาลำไยจะลดลงมาตั้งแต่ปีที่แล้วเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง (อ่าน : รายงานพิเศษ : "ลำไย" บนเส้นทางที่อับเฉา กับ การดิ้นรนของเครือข่ายฯ ผู้ปลูกลำไย) แต่การนำไปเปรียบเทียบอย่างเป็นรูปธรรม กับ 2 รัฐบาล "ก่อน/หลัง" รัฐประหาร ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยเทคะแนนเสียง "ไม่รับร่าง รธน." ซึ่งเป็นคะแนนที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการโหยหานโยบายจัดการเกี่ยวกับลำไยในช่วง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนายก


 


 


มช. ประชามติรัฐธรรมนูญผ่านเฉียดฉิว แต่รายชื่อหายอื้อ - ม.เที่ยงคืนสอบตก!?


สำหรับพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นพื้นที่น่าสนใจ เพราะ หนึ่ง ที่นี่มี ศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ อังกะสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น "คุณติ๋ม" หรือคุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่ง "คุณติ๋ม" สำเร็จการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง ศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ อังกะสิทธิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น


 


สอง คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนหนึ่ง ที่รวมตัวกันในนามนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และมี "แคมเปญ" รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการออกแถลงการณ์ เวทีเสวนา เวทีอภิปรายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญทั้งภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านการรณรงค์ในระดับประเทศ เช่น การอภิปรายดีเบตผ่านรายการโทรทัศน์ต่างๆ


 


สาม มีธรรมเนียมปฏิบัติให้นักศึกษา และบุคลากรที่พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยย้ายทะเบียนบ้านเข้ามานั้น ประกอบกับในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีอภิปรายข้อดี-ข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นสนามลงประชามติที่นี่ ก็สะท้อน "ผลสัมฤทธิ์" ของการรณรงค์ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ได้ในบางประการ


 


ปรากฏว่าผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งศาลาอ่างแก้ว ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ในหน่วยเลือกตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้เห็นชอบ 3,238 คน ไม่เห็นชอบ 3,129 คน บัตรเสีย 46 คน หรือคิดเป็นเห็นชอบ ร้อยละ 50.4% ต่อ ไม่เห็นชอบ 48.7% (อ่าน: ผลการลงประชามติ รธน. 50 ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลออกมาคู่คี่) แม้คะแนนโหวตรับจะมากกว่า แต่ก็ชนะแบบฉิวเฉียด สะท้อนถึงความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยของนักศึกษาว่ามีมากมีน้อยเพียงไร รวมถึงอิทธิพลทางวิชาการของทั้งฝ่ายผู้บริหารและฝ่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่ามีผลต่อการตัดสินใจของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขนาดไหน


 


ทั้งนี้ พบว่ามีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิน 5 ปี เกิดรายชื่อหายไปจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงประชามติจำนวนมาก (อ่าน : นักศึกษา มช.ร้องเรียนถูกปล้นชื่อ อดลงประชามติ) และบางส่วนมีการร้องเรียนหน้าคูหาลงประชามติ และเดินทางไปร้องเรียนที่ กกต. จังหวัด โดยพบว่า ก่อนหน้านี้ พวกเขาหลายคนเคยใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา แต่ผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน ในวันที่ 19 สิงหาคม กลับพบว่ารายชื่อของตัวเองกลับถูกย้ายออกไปจากทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัย โดยที่เจ้าตัวไม่ทราบล่วงหน้า


 


000


 


 






การขยับครั้งสำคัญของภาครัฐและทหาร ก่อนวันลงประชามติ ที่เชียงใหม่ (ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2550)


 


สุดท้าย ขอเสนอ "ความเคลื่อนไหว" สำคัญของภาคราชการ ทหาร ช่วง 18 วันของการศึกษารัฐธรรมนูญ คือนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. (โดย กกต. ระบุว่ารัฐธรรมนูญจะไปถึงทุกครัวเรือนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าภาคราชการ ทหารก็ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ทุกกระบวนการ นับตั้งแต่การอบรม สัมมนา เยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่ มีการใช้เครื่องบินไม่ต่ำกว่า 4 ลำ ประกาศกระจายข่าว การตรวจค้น-ยึด ไปรษณียบัตรของฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ


 


กระทั่งมีการเดินทาง "ตรวจราชการ" โดยพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธาน คมช. หรือไคลแมกซ์ของการรณรงค์โดยการระดมมวลชนทั้งภาคเหนือกว่า 50,000 คน จัดงาน "รวมพลังพัฒนาประชาธิปไตย" ที่สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จ.เชียงใหม่ โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา


 


ซึ่งผลคะแนนจากการลงประชามติ "รับ 344,219" ต่อ "ไม่รับ 451,309" คงสะท้อนชัดว่า ผลสัมฤทธิ์ของ "แคมเปญรณรงค์" เหล่านี้ "คุ้มค่า" และ "ได้ผล" หรือไม่ อย่างไร!?


 


(ที่มา : รวบรวมจาก สวท.เชียงใหม่)


 


1 ส.ค. 50 - คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยบุคลากรตัวแทนจากอำเภอ กิ่งอำเภอ สถาบันการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ทั้ง 5 เขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งสิ้น 440 คน


 


1 ส.ค. 50 - พลโทจิระเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงความกังวลในการออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ของประชาชน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ภายหลังการเดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการรื้อถอนพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ตรวจยึด 906 ไร่ เขตป่าสงวนแห่งชาติดอยบ่อ บ้านยะผ่า ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า ขณะนี้ทางกองทัพได้ดำเนินอบรม เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง ประชาชนแกนนำ ทุกภาคส่วน ให้มีความเข้าใจ ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร การลงประชามติ ทำเพื่ออะไร ซึ่งให้เขาเหล่านี้ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งตั้งแต่เราใช้รัฐธรรมนูญมา ไม่เคยถามประชาชนเลยว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทำ แม้รัฐบาลจะมาจากการปฏิรูป แต่คนที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นประชาชนที่มาจากทุกสาขาอาชีพ ในแต่ละจังหวัด ส่วนเรื่องที่กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาให้ข่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาจากการนร่างของทหารเป็นเรื่องที่พยายามทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งในเรื่องนี้ประชาชนน่าจะเข้าใจดีว่าเขาทำเพื่อจุดประสงค์อะไร สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือ พวกที่ปลุกปั้นประชาชนว่ารัฐธรรมนูญ มาจากเผด็จการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ คนในแต่ละจังหวัด ทั้ง ครู อาจารย์ ผู้รู้ และส่วนใหญ่เคยร่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับก่อนๆ มาทั้งนั้น เพียงแต่เอาข้อผิดพลาดของฉบับที่แล้วมา มาแก้ไขให้ดีขึ้น อย่างไรก้ตาม ก็ขอให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงกันให้มาก โดยเฉพาะกลุ่มพลังเงียบ ส่วนจะรับหรือไม่รับนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องพิจารราเอง


 


2 ส.ค. 50 - นางสาวสมใจ สะสมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เป็นประธานเปิดการประชุมวิทยุชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ ณ สโมสรค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคณะทำงานภาคประชาชนประจำจังหวัดเชียงใหม่ในการมีส่วนร่วมดำเนินการเกี่ยวกับวิทยุชุมชนจัดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้  ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กล่าวว่า วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถเป็นเครือข่ายของทางราชการ สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ทั้งสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย  สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับความมั่นคง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ โดยมีเจ้าของ ผู้ดำเนินการและนักจัดรายการวิทยุชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน


 


3 ส.ค. 50 - พันเอกวิสุทธิ์ บุญยินดี ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวภายหลังเป็นประธาน อบรมให้ความรู้ แก่กำลังพลของหน่วย ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย เกี่ยวรับร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่า ในฐานะที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 เป็นหน่วยทหารที่ปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับประชาชน และผู้นำชุมชน จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข การให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการหนึ่งที่ จะสร้างเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยกำลังพลที่ผ่านการอบรมจะได้เป็นเครือข่ายขยายผลประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่การปฏิบัติงาน ได้รับทราบ ถึงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่แท้จริง แล้วจะได้มีความคิดพิจารณาในการตัดสินใจ ว่าจะรับ หรือไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และมีความตระหนักในการออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม นี้ด้วย.


 


3 ส.ค. 50 - นายธงชัย วงษ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับบริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด และจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการของรัฐผ่านเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2550 ณ ศูนย์คอมพิวเตอร์ อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้บันทึกข้อมูลโครงการของรัฐของหน่วยงานต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบในภาพรวม มีความพร้อมในการใช้งาน รวมทั้งเข้าใจมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบในภาพรวมด้วย


 


6 ส.ค. 50 - พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่มีความสำคัญกับประชาชนในระดับรากแก้ว ซึ่งจัดโดยกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ข้าราชการที่ต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน สามารถนำนโนบายหลักการ และข้อเท็จจริงไปขยายผลให้เกิดความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า 3 องค์กรที่ต้องรวมกันให้ได้เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง คือ สถาบันสูงสุด ข้าราชการ และประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ทั้งนี้หากเป็นปึกแผ่นประเทศชาติก็จะมั่นคง นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ประชาชนระดับรากแก้วก้าวกระโดดสู่ความเจริญทางเทคโนโลยีเร็วเกินไป ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงตามสังคมต่างประเทศมากขึ้น ทำให้สังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามัคคีของไทยหายไป ดั้งนั้นควรน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน บริหารราชการแผ่นดินด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย และนำพาประเทศชาติกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป


 


7 ส.ค. 50 - พลตำรวจตรีอนุสรณ์ สู่ศิริ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ให้ความรู้และรณรงค์เชิญชวนกำลังพลในสังกัด พร้อมครอบครัว ลูกเสือชาวบ้าน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 300 คน ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 บอกว่า การรณรงค์ให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แก่กำลังพลและทุกฝ่าย ไม่ได้เป็นการโน้มน้าวกำลังพลให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการชี้แจงให้เข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญ รวมถึงประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีความสำคัญและประโยชน์อย่างไร นอกจากนั้น มุ่งเน้นให้ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดน นำความรู้ไปขยายผลเผยแพร่แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการปกครองบริหารประเทศ โดยร่วมออกเสียงลงประชามติ ส่วนการจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ให้เป็นความคิดเห็นและวิจารณญาณของแต่ละบุคคลโดยอิสระ


 


7 ส.ค. 50 - นายชูโชค ทองตาล่วง ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการประชุมชี้แจงผู้ประกาศข่าวของหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเห็นว่าหอกระจายข่าวเป็นเครื่องมือสื่อสารที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสร้างขึ้นในการกระจายเสียงในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าสารและการบริหารสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและของรัฐ ประกอบกับในขณะนี้อยู่ในช่วงของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในเนื้อหาระของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำสู่การออกเสียงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าหอกระจายข่าวมีบทบาทสำคัญและเป็นสื่อที่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนมากที่สุด จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้ประกาศข่าวหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชน เข้าใจในบทบาทหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน พัฒนาศักยภาพของผู้ประกาศข่าวให้มีความรู้ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ข้องมูลข่าวสารนของร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนให้สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องและกว้างขวาง เพื่อนำสู่การออกเสียงประชามติอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรมและสุจริตต่อไป ในการนี้ได้มีวิทยากรจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชน รวมทั้งการให้ความร่วมมือของหอกระจายข่าในการถ่ายทอดรายการข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดงานสำคัญของชาติและรัฐบาลในวาระต่างๆและถ่ายทอดรายการผู้ว่าพบประชาชนของ สวท.เชียงใหม่ เป็นการขยายผลอีกทางหนึ่งด้วย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว่าการจัดประชุมชี้แจงหอกระจายข่าวของจังหวัดเชียงใหม่ดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประกาศข่าวของหอกระจายข่าว เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน


 


8 ส.ค. 50 - นาวาอากาศเอกสิทธิพร เกสจินดา ผู้บังคับการกองบิน 41 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า นอกจากกองทัพอากาศจะรณรงค์ให้กำลังพลออกใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมนี้แล้ว ระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคมนี้ กองทัพอากาศจะนำเครื่องบินของกองทัพอากาศจำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นภาคละ 1 ลำ บินกระจายเสียงรณรงค์ให้ประชาชนออกใช้สิทธิลงประชามติ สำหรับพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือจะนำเครื่องบินนอร์แม็กซ์ออกบินไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในระดับความสูงไม่เกิน 500 ฟุต โดยจะนำสปอตวิทยุจากคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และสปอตของกรมกิจการพลเรือนทหารอากาศไปเปิดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ทราบเป็นการย้ำเตือนก่อนวันจริง


 


9 ส.ค. 50 - ตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมกับ กกต. เปิดโครงการรณรงค์เพื่อออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเน้นให้ ตำรวจเร่งชักชวนญาติๆ และเพื่อนบ้านที่รู้จักในการออกมาลงประชามติโดยไม่มีใครชี้นำด้วย คาดว่าจะทำให้การลงประชามติในพื้นที่มีความคึกคักและมีผู้มาลงประชามติมาก ด้านรองประธานคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นประชาชนประจำจังหวัดเชียงราย เผยติดตามข่าวการชักชวนคนไม่ให้มาลงประชามติ และมีการจ่ายเงินหัวละ 200 บาท ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่


 


9 ส.ค. 50 - นายมานพ ศักดาพร ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่ชุดสืบสวนของสำนักงานอำนวยการออกเสียงประชามติจังหวัดเชียงใหม่ได้พบว่ามีบุคคลว่าจ้างเจ้าของรถยนต์รับจ้างไปว่าจ้างประชาชนในหมู่บ้านและบรรทุกผู้รับจ้างไปโดยไม่เปิดเผยและไม่ทราบวัตถุประสงค์ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวหากทำไปเพื่อเป็นการชักจูงใจหรือบังคับไม่ให้ผู้อื่นไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงตามที่ตัวผู้ว่าจ้างต้องการ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2550 โดยขณะนี้ชุดสืบสวนของสำนักงานอำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และหน่วยงานทหารที่ดูแลด้านความมั่นคงตามกฎอัยการศึก ได้เผ้าระวังและติดตามพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งการแจกเสื้อรณรงค์ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้หากมีการกระทำผิดก็จะได้ดำเนินการโดยเฉียบขาดต่อไป


 


10 ส.ค. 50 - นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยไม้หก หมู่ที่ 6 ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้พบปะผู้นำองค์กรท้องถิ่น ผู้แทนประชาชน(สภากาแฟ) และพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในย่านชุมชนของอำเภอ เข้านมัสการเจ้าคณะอำเภออมก๋อย และพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน ณ จุดตรวจเยี่ยมตำบลม่อนจอง เพื่อชี้แจงข้อราชการ รับฟังความคิดเห็น สภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในวิเคราะห์ช่วยเหลือและหาทางแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของประชาชนและชุมชนต่อไป ในการนี้ได้มีหลายหน่วยงานนำงานบริการไปให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ เช่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในเบื้องต้น บริการงานทะเบียนและบัตร ต่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทำใบอนุญาตขับขี่ บริการตัดผมดัดผมฟรี สาธิตและแนะนำอาชีพ การให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายและด้านอื่นๆ


 


10 ส.ค. 50 - นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ประธานชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รอ. หญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงเชียงใหม่ ร่วมกันทำบุญและเปิดสำนักงานลูกเสือชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ และเฉลิมแลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนม์พรรษา 80 พรรษา ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้อบรมลูกเสือชาวบ้านไปแล้วกว่า 447 รุ่นและปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200,000 คน ซึ่งการฟื้นฟูลูกเสือชาวบ้าน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสามัคคี ซึ่งจะมีการปลุกหัวใจลูกเสือตามชุมชนและหมู่บ้านขึ้นหลังจากที่กิจกรรมลูกเสือชาวบ้านที่ผ่านมามีบทบาทน้อยลง ประธานชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านในครั้งมุ่งเน้นที่จะให้ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้างคนในชาติให้เป็นพลเมืองที่ดีและปลุกจิตสำนึกความเป็นคนไทยให้รู้จักความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์รวมทั้งยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขณะเดียวกันก็จะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนได้ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงในวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ด้วย


 


โดยนางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนบุตรสาวคือ รอ. หญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงเชียงใหม่ เคยเป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่


 


10 ส.ค. 50 - ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับในพื้นที่ภาคเหนือ 101 แห่ง ร่วมประชุมเครือข่ายสถาบันการศึกษา เพื่อรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่  นายมานพ ศักดาพร ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการรณรงค์ออกเสียงประชามติโดยเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ 5 ที่โรงแรมสุริวงศ์เชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการรณรงค์ให้ประชาชนมาออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 รวมทั้งเป็นการปลูกฝังเจตคติการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปสู่นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนเครือข่าย เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกระดับคือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 77 สถาบัน ระดับอาชีวศึกษา 5 สถาบัน และระดับอุดมศึกษา 19 สถาบัน รวม 101 แห่งจาก 16 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนกว่า 100 คน


 


11 ส.ค. 50 - พลโทจิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่3 ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงราย เพื่อวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินการทางกฎหมาย กับบุคคลที่มีความพยายามใช้เงินในการล้มล้างการทำประชามติ หลังจากที่ทราบข้อมูลว่ามีกลุ่มนักการเมืองขั้วอำนาจเก่าพยายามที่จำเงินจากบ่อนกาสิโน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางด้านอำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน เข้ามายังจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เพื่อเตรียมการ ซื้อบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะชาวไทยภูเขา แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่าขณะได้สั่งการให้ทหาร หน่วยงานทางจังหวัด อำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยสอดส่องดูแลว่าในพื้นที่ไหน มีพฤติกรรมในการใช้เงินเพื่อเพื่อการล้มล้างการทำประชามติหรือไม่ และจะจัดหน่วยงานออกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มกระบวนการดังกล่าว โดยเฉพาะชาวไทยภูเขาที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ และไม่มีความเข้าใจในการในการออกเสียงประชามติ นอกจากนี้แม่ทัพภาคที่3 ยังฝากถึงประชาชนในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 จะต้องมีคุณธรรมเพื่อเอาชนะอำนาจเงิน และมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามกระบวนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชนชนในพื้นที่ทุรกันดาร ทางกองทัพ ร่วมกับฝ่ายปกครองได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว สามารถออกปฏิบัติงานได้ทันที


 


13 ส.ค. 50 - พลโทจิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 9 จังหวัดภาคเหนือกว่า 900 คน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เพื่อให้ความรู้ด้านความมั่นคงภายใน ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และการรณรงค์เพื่อการออกเสียงประชามติ ตลอดจนเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า อสม.เป็นกล่มหนึ่งที่มีพลังสำคัญมาก เป็นผู้ป้องกันและสร้างเสริมสรุขภาพของคนไทย ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการรักษาคนป่วย เนื่องจากสุขภาพที่ดีทำให้เกิดโรคภัยน้อยลง และเห็นว่า อสม.เป็นผู้ที่นำความรู้ด้านความมั่นคงภายใน และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ไปถ่ายทอดให้ประชาชนและสร้างความร่วมมมือให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม ก็จะทำให้ปัญหาลดระดับความรุนแรงลง ซึ่งปัจจุบันการแตกแยกทางความคิดของคนในชาติมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติได้ รัฐจึงเร่งดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการทางประชาธิปไตยให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ว่า ผู้นำชุมชน/ท้องถิ่น อสม. เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดและมีความสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาใช้สิทธิลงประชามติครั้งนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง และเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในการลงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยด้วย  แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวอีกว่า สำหรับกระแสข่าวที่มีกลุ่มต่าง ๆรณรงค์ไม่รับ หรือมีการใช้เงินจ้างไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในภาคเหนือนั้น ภาพรวมมีน้อยมาก และขอให้คิดว่าผู้ที่นำเงินมาให้ไม่ใช่คนดี หากพบพฤติกรรมดังกล่าวขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป


 


15 ส.ค. 50 - นายกรัฐมนตรีนำประชาชนกว่า 5 หมื่นคนจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำปางและลำพูน ร่วมงานรวมพลังพัฒนาประชาธิปไตยที่เชียงใหม่ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปางและลำพูนกว่า 5 หมื่นคน ร่วมกิจกรรมรวมพลังพัฒนาประชาธิปไตย ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนภาคเหนือไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในการพัฒนาระบอบการเมือง การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ที่ชาวไทยทุกคนจะได้แสดงพลังสามัคคีและกำหนด ทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ส่งมอบธงอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยแก่นายกรัฐมนตรี กิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจในงาน พังวันเพ็ญ กับพลายคำแสน ช้างน้อยสองเชือกจากปางช้างแม่สา มาเขียนหนังสือบนภาพดอกทานตะวันข้อความเชิญชวนไป ลงประชามติ การแสดงบอลลูนยักษ์ลอยฟ้า การตีกลองสะบัดชัย และเครื่องบินกระจายเสียงรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ


17 ส.ค. 50 - นายยุทธการ โอวาสิทธิ์ สวัสดิการและคุมครองแรงงานจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติตามประกาศคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ประกาศให้วันที่ 20 สิงหาคม 2550 เป็นวันหยุดราชการ เพื่อการอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติและส่งเสริมให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิออกเสียงที่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาสามารถเดินทางไปและกลับจากการไปใช้สิทธิออกเสียง ในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550 ได้โดยสะดวกและปลอดภัยไม่ต้องเร่งรีบในการเดินทาง จึงขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการอนุญาตให้ลูกจ้างที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติหยุดงานในวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2550 โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด


17 ส.ค. 50 - นายชูโชค ทองตาล่วง ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เลขานุการคณะทำงานโฆษกจังหวัดเชียงใหม่ แถลงว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย ว่ามีบุคคล/กลุ่มบุคคลได้ส่งแผ่นปลิวผ่านทางไปรษณีย์มีข้อความบิดเบือนและชี้นำต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 10(3) ด้วยการหลอกลวงเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงฯ จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จะก่อให้ประชาชนเกิดความสับสนเข้าใจผิดต่อร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อต่อคำโฆษณาชวนเชื่อในแผ่นปลิวเหล่านั้น ขอให้ท่านทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญในการตัดสินออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ปราศจากการชี้นำใดๆ และหากพบเบาะแสการกระทำความผิดดังกล่าว ขอให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัดต่อไป


 


17 ส.ค. 50 - นายอดุลย์ ทรงชัยกุล นายอำเภอฝาง เป็น ประธานในพิธีเดินรณรงค์ ออกเสียงประชามติ โดยมี กำนันตำบลม่อนปิ่นกล่าวรายงานต่อประธานในพิธี มีพลังมวลชนทุกหมู่เหล่า ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตชด. ตำรวจ ทหาร ชุดพัฒนามวลชนสัมพันธ์ ต.ม่อนปิ่น สถานีอนามัย หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน อสม. ชมรมลูกเสือชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง กลุ่มสตรีแม่บ้าน รวมกว่าพันคน ใน ต.ม่อนปิ่นและใกล้เคียง ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเชิญชวนพี่น้องตำบลม่อนปิ่น ตลอดจนตำบลอื่นๆ ใน อ.ฝาง ออกไปใช้สิทธิ์ ใช้เสียง ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่จะมีในวันที่ 19 สิงหาคม นี้ ตลอดจนสนองนโยบายของภาครัฐ ในการให้ความร่วมมือกันของมวลชนทุกหมู่เหล่า โดยเดินรณรงค์ไปตามถนนสายแยกบ้านม่อนปิ่นไปตามถนนสายเขื่อนพลังน้ำแม่มาว ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร พร้อมถือป้ายผ้าเชิญชวนพี่น้องประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550


17 ส.ค. 50 - นายมานพ ศักดาพร ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์การออกเสียงประชามติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาทั่วจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิทั้งหลายได้ไปออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น.จนถึงเวลา 16.00 น.  กิจกรรมภายในงานมีการแสดงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดนิทรรศการ การรณรงค์ออกเสียงประชามติของผู้พิการ และการสาธิตการลงคะแนนของผู้พิการและประชาชนทั่วไป โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้พิการ และกลุ่มพลังต่าง ๆ ร่วมงานจำนวนมาก


 


17 ส.ค. 50 - นายชูโชค ทองตาล่วง ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เลขานุการคณะทำงานโฆษกจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ เพื่อให้กระทรวง กรมและส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและฐานะเทียบเท่ากรม ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในสังกัดต่างๆและองค์กรของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภทและทุกระดับในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ไปใช้สิทธิ์ออกเสีงประชามติ ให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไป และให้คำแนะนำ ชักชวนบุคคลผู้มีสิทธิในครอบครัว ญาติและมิตรสหาย ไปใช้สิทธิออกเสียงโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ต้องวางตัวเป็นกลางในการออกเสียงประชามติอย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิบัติการใดๆในลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิอกเสียงไปลงคะแนนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อตอบสนองมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการส่งเสริมและสนับสนุนระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 81 จังหวัดเชียงใหม่จึงได้เวียนแจ้งให้ส่วนราชการ กำชับให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภท ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 อย่างพร้อมเพรียงกัน


 


17 ส.ค. 50 - หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงาน บริเวณจุดตรวจ/จุดสกัดกั้น ช่องทาง ท่าข้าม จุดผ่อนปรนการค้า จุดผ่านแดนต่าง ๆ และพื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ตามแนวชายแดน ในเขตอำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน ในห้วงวันที่ 15-18 สิงหาคม 2550 (ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติ) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ได้ส่งผลดีต่อการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดและสกัดกั้นแรงงานต่างด้าว ผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในห้วงนี้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ทุกหน่วย เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงาน ด้วยการออกพบปะพัฒนาสัมพันธ์/ ชี้แจงทำความเข้าใจ รณรงค์ให้ราษฎรออกไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียงลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ให้มากที่สุด รวมทั้งสอดส่องดูแล ตรวจสอบข่าวสาร/ความเคลื่อนไหวในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net