กวี-นักเขียน ออกแถลงการณ์ตรวจสอบ กก.ซีไรต์รอบคัดเลือก พ.ศ.2550

กวีนักเขียนในนาม "ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย" ออกแถลงการณ์ตรวจสอบคณะกรรมการซีไรต์รอบคัดเลือก พ.ศ.2550 ทั้งนี้ แถลงการณ์ ระบุว่า การพิจารณาวรรณกรรมรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) มีปัญหาด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานและนับวันก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะความคลางแคลงใจต่อวิจารณญาณของคณะกรรมการ ซึ่งกลายเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อรางวัลซีไรต์เพิ่มขึ้นทุกปี  แต่ไม่มีการตรวจสอบหรือท้วงติงกันอย่างเป็นทางการ

 

ปีนี้ก็เช่นกัน การพิจารณาในรอบคัดเลือก ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย นายอดุล จันทรศักดิ์ เป็นประธานกรรมการ  ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา, นายพินิจ  นิลรัตน์, นายพิเชฐ  แสงทอง, นายวชิระ  ทองเข้ม,  ผศ.ดร.สายวรุณ  น้อยนิมิตร  และ รศ.อวยพร  พานิช เป็นกรรมการ ได้คัดเลือกผลงานกวีนิพนธ์เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 8 เล่ม คือ 

 

1. เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก  ของ ศิริวร  แก้วกาญจน์ 

2. ที่ที่เรายืนอยู่  ของ อังคาร  จันทาทิพย์ 

3. ปลายทางของเขาทั้งหลาย  ของ กฤช  เหลือลมัย 

4. แมงมุมมอง  ของ พรชัย  แสนยะมูล 

5. ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์  ของ อุเทน  มหามิตร 

6. ลงเรือมาเมื่อวาน  ของ ศิริวร  แก้วกาญจน์ 

7. โลกในดวงตาข้าพเจ้า  ของ มนตรี  ศรียงค์ 

8. หมู่บ้านในแสงเงา  ของ โกสินทร์  ขาวงาม  นั้น

 

ความเคลือบแคลงใจได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรม  โดยมีศูนย์รวมของปัญหาอยู่ที่ความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และการใช้วิจารณญาณอย่างแท้จริงของคณะกรรมการ 

 

"ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย" เห็นว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรดูดาย จึงขอนำเสนอประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพื่อพิจารณาร่วมกัน  ดังนี้

 

. กรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดระเบียบของรางวัล

 

นายวชิระ  ทองเข้ม  หรือนามปากกาว่า สุภาพ  พิมพ์ชน  กับ นายพิเชฐ  แสงทอง เป็นรองประธานฝ่ายวิชาการของ "เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย"  ซึ่งมี ศิริวร  แก้วกาญจน์ เป็นฝ่ายดูแลการผลิตหนังสือ  โกสินทร์  ขาวงาม เป็นผู้ประสานงานภาคอีสาน (อิสรีอิน.  "เครือข่ายนักเขียนฯ ชวนฟัง "ดอน & สิงห์" ตอบปัญหาทางอากาศ,"  เนชั่นสุดสัปดาห์.  วันศุกร์ที่  ๑๔  กรกฎาคม  ๒๕๔๙.) จึงเห็นได้ว่า  กรรมการและเจ้าของผลงานที่เข้ารอบเป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกัน 

 

เท่านั้นยังไม่พอ ผลงานของ โกสินทร์  ขาวงาม  ยังจัดพิมพ์โดย "เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย" อีกต่างหาก  เช่นนี้แล้วจึงมีคำถามว่า  นี่เป็นการเกื้อกูลกันภายในกลุ่มของตัวเองหรือเปล่า? แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า  เมื่อผู้จัดพิมพ์ (หรือผู้บริหารในองค์กรของผู้จัดพิมพ์) มาเป็นกรรมการเสียเอง  ก็เท่ากับ "ผลประโยชน์ทับซ้อน"ของกรรมการนั่นเอง ซึ่งขัดต่อระเบียบการพิจารณาวรรณกรรมไทยเพื่อรับรางวัลซีไรต์ ปี พ.. ๒๕๓๗ ลงนามโดยนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กับนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ในข้อที่ ๓.ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณาวรรณกรรมฯ  ซึ่งกำหนดว่า  กรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงานที่เสนอเพื่อพิจารณา(สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์.  ๒๕ ปีซีไรต์  รวมบทวิจารณ์คัดสรร.  ๒๕๔๗.  หน้า ๗๙๔.)

 

สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก้ไขระเบียบข้อนี้  เพื่อให้กรรมการคัดเลือกมีสิทธิ์เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงานที่เสนอเพื่อพิจารณาแล้วหรือ?

 

. มีการเล่นพรรคเล่นพวก

คล้ายคลึงกับข้อแรก  กล่าวคือ  นายพินิจ  นิลรัตน์  กับ นายพิเชฐ  แสงทอง  เป็นสมาชิกของ "กลุ่มหน้าราม"  หรือกลุ่มนักเขียน-นักกิจกรรมที่เคยพำนักอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง  หัวหมาก  การเป็นกรรมการของบุคคลทั้งสองทำให้ผลงานของสมาชิกกลุ่มหน้ารามด้วยกันคือ ศิริวร  แก้วกาญจน์  กับ อังคาร  จันทาทิพย์   เข้ารอบรวม ๓ เล่ม 

 

อย่างไรก็ตาม  ในสายตาของคนวงในอย่าง Mr.QC  มองเห็นว่า  การคัดเลือกรางวัลซีไรต์ปีนี้  มีผลงานของกลุ่มหน้ารามเข้ารอบถึง ๔ เล่ม  หรือคิดเป็น ๕๐ % ของทั้งหมด โดยนับรวม พรชัย แสนยะมูล ที่มีความสนิทชิดเชื้ออย่างยิ่งกับ นายพินิจ นิลรัตน์ เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มหน้ารามด้วย  ดังข้อเขียนที่ระบุว่า 

 

"เพื่อนกันถ้าไม่เพ้อถึงกัน...มันจะนับเป็นเพื่อนได้อย่างไร...เพราะจากหนังสือกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 76 เล่ม  มีเพื่อนกวีของผมอย่าง ศิริวร  แก้วกาญจน์  มีผลงานเข้ารอบถึง 2 เล่ม  ขณะที่เพื่อนรุ่นน้องของผมอย่าง อังคาร  จันทาทิพย์ และ พรชัย  แสนยะมูล  ก็เข้ารอบด้วยผลงานที่ไม่ธรรมดา  ทุกคนที่เอ่ยนามมา  พวกเรามักคุ้นกันดีกับรสชาติอาหารและเครื่องดองของเมาที่ร้านข้าวต้มคาราบาว หน้ารามฯ ในสมัยนั้น ส่วนคณะกรรมการตัดสินรางวัลรอบแรกมีทั้งหมด 8 คน..."

 

"มีท่านใดมาจากริมบาทวิถีหน้ารามฯ บ้าง...ผมไม่บอก  อิ อิ อิ"  (Mr.QC.  "เขียนถึงเพื่อนกวีจากริมบาทวิถีหน้ารามฯ,"  จุดประกายวรรณกรรม  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.  วันอาทิตย์ที่  ๑๕  กรกฎาคม  ๒๕๕๐.)

 

แม้ Mr.QC จะไม่บอกชื่อกรรมการที่มาจากกลุ่มหน้าราม หรือเปิดเผยข้อมูลอื่นใดให้มากกว่านี้ คำถามก็เกิดขึ้นแล้วว่า  นี่คือการ "เล่นพวก" หรือเปล่า?

 

นายพินิจ  นิลรัตน์  กับ นายพิเชฐ  แสงทอง  อาจจะกล่าวอ้างความบริสุทธิ์ใจในการคัดเลือก  หรืออ้างว่า  กวีและนักเขียนทุกคนในประเทศไทยก็เป็นพวกพ้องกันทั้งนั้น 

 

คำกล่าวว่า "พวกพ้อง" ในแวดวงวรรณกรรมเป็นคำที่น่าชื่นชม แต่การที่ผลงานจากผู้เขียนที่สนิทสนมกับกรรมการในลักษณะ "กลุ่ม" และ "พรรคพวกใกล้ชิด" เข้ารอบมาหลายเล่ม  ดูจะเกินเชื่อว่าเป็นความบังเอิญ  จึงทำลายความน่าเชื่อถือเสียสิ้น

 

เพราะแท้จริง ในความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีอยู่มากมายนั้น  ยังมี "กลุ่มสนิทสนมเฉพาะ" เป็นกลุ่มย่อย ๆ อยู่ใช่ไหม?   

 

หาก นายพินิจ  นิลรัตน์  กับ นายพิเชฐ  แสงทอง เห็นแก่ "พวกพ้องในวงการวรรณกรรม" อย่างบริสุทธิ์ใจจริง  โดยไม่สนใจความเป็น "พรรคพวกใกล้ชิด" ทำไมจึงไม่ถอนตัวเสียตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้เป็นที่ครหา? 

 

และถ้าทุกคนเป็นพวกพ้องกันทั้งนั้น ทำไม"พวกพ้อง" ในกลุ่มอื่นๆหรือที่ไม่สังกัดกลุ่มซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยจึงไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการบ้าง?

 

. กรรมการมีอคติ และไม่เข้าใจกวีนิพนธ์ 

กรรมการบางคนหรืออาจจะทั้งหมดก็เป็นไปได้ มีอคติต่อผลงานบางประเภท และเข้าไม่ถึงกวีนิพนธ์อย่างแท้จริง  ปรากฏตามคำแถลงของ นายพิเชฐ  แสงทอง ในวันประกาศผลรอบคัดเลือก เมื่อวันที่    กรกฎาคม  ๒๕๕๐ ว่า 

 

สถานการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการปลดแอกให้กับกวี  หลังจากที่ผูกขาดกับความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์มาแสนนาน  "งานหลายเล่มที่เข้ารอบ  จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลดกวีออกจากหอคอยขอบฟ้า และอัญเชิญลงมาจากหิ้ง เพราะจะสื่อให้เห็นว่า เราสามารถเขียนกวีได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเกร็งไปกลัว  หลายคนจะรู้สึกว่า กวีมันต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่  คนที่เขียนกวีต้องเป็นกวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็เลยมีความเกร็งกลัวที่จะเสพที่จะสร้าง ถึงกับมีคำพูดว่า ถ้ากวีเดินผ่านมา  นักเขียนจะต้องลุกขึ้นและโค้งคำนับ วิธีคิดแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมและคนทั่วไปถอยห่างจากกวีมากขึ้น" 

("หลากมิติหลายมุมมองในซีไรต์  2550,"  หนังสือพิมพ์มติชน.  ฉบับวันที่  ๑๔  กรกฎาคม  ๒๕๕๐.)

 

ความต้องการ "ปลดแอก" ให้แก่กวี (หรือกวีนิพนธ์)  นั่นหมายความว่า นายพิเชฐ  แสงทอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือภาพรวมของคณะกรรมการทั้งหมด) มีความเห็นว่า  บทกวีประเภท "ขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์" ที่เคยเข้ารอบหรือได้รับรางวัลซีไรต์ ตกอยู่ในสภาพ "จำนน" "ทุกข์ทรมาน" หรือ "เป็นข้ารับใช้" ของอะไรสักอย่างใช่หรือไม่? (เช่นเดียวกับโค-กระบือที่ต้อง"เทียมแอก" ลากไถ)  ถ้าไม่ใช่  ทำไมต้อง "ปลดแอก"?  ดังนั้น  คำถามคือ การที่กวีนิพนธ์ เพียงความเคลื่อนไหว ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ คมทวน  คันธนู, ปณิธานกวี ของ อังคาร  กัลยาณพงศ์ หรือเล่มอื่น ๆ ของกวีคนอื่น ๆ ซึ่งมีความขรึมขลังและศักดิ์สิทธิ์ เข้ารอบหรือได้รับรางวัลซีไรต์นั้น ทำให้กวีหรือกวีนิพนธ์ต้อง "จำนน" หรืออย่างไร? หรือแท้แล้วทัศนะเช่นนี้เป็นการสะท้อน "อคติ" ต่อผลงานประเภท "ขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์" ต่างหาก

 

มีข้อน่าสังเกตว่า ทำไมคณะกรรมการจึงไม่คัดเลือกผลงานให้เข้ารอบครบตามเกณฑ์สูงสุดคือ "ไม่เกิน ๑๐ เล่ม"?  หรือว่าผลงานที่ตกรอบทั้งหลายไม่มีคุณภาพเทียบเท่ากับ ๘ เล่มนั้นอีกแล้ว? 

 

จึงนำไปสู่คำถามว่า นี่เป็นการ "ตั้งแท่น" ผลงานของพวกพ้องเพื่อ "มัดมือชก" กรรมการรอบตัดสินใช่หรือไม่?- คำตอบล้วนอยู่ตรงนี้

 

ทัศนะ "ปลดแอก" ด้วย "อคติ" จึงเป็นคำตอบที่แท้จริง!!

 

ดังนั้น ผลงานประเภท "ขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งส่งเข้าชิงรางวัลซีไรต์ปีนี้ จะมีพื้นที่ของตนเพียงใด ในเมื่อคณะกรรมการมีอคติเสียแล้ว?

 

คณะกรรมการที่มีอคติจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผลงานทุกประเภทได้อย่างไร?

 

การยกเหตุผลเรื่อง ปลดกวี(หรือกวีนิพนธ์) ออกจากหอคอยขอบฟ้า หรืออัญเชิญลงจากหิ้ง มาอธิบายผลงานที่เข้ารอบก็เช่นกัน เป็นภาพสะท้อนหรือเปล่าว่า คณะกรรมการใช้หลักเกณฑ์นี้ในการคัดเลือก? ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ คำถามก็คือ กวี (หรือกวีนิพนธ์) ที่อยู่บนหอคอยขอบฟ้า หรือบนหิ้ง ตามความเห็นของคณะกรรมการมีข้ออ่อนด้อยหรือน่ารังเกียจอย่างไรบ้าง? กวีนิพนธ์หลายเล่มที่กล่าวมา ไม่ได้อยู่ "บนหิ้ง" หรอกหรือ? หรืออีกนัยหนึ่งคือ กวีนิพนธ์เหล่านี้มีคุณค่าควรแก่การเคารพและศึกษาเรียนรู้ คณะกรรมการต้องการปลดลงมาด้วยเหตุผลอันใด?

 

นี่คือข้อตอกย้ำในอคติของคณะกรรมการ และยังสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมการไม่ได้ใช้สติปัญญาในการคัดเลือกครั้งนี้อย่างเพียงพอเลย

 

การอธิบายต่อเนื่องเรื่อง "ความง่าย" ของกวีนิพนธ์  หรือทุกคนสามารถเขียนได้อ่านได้ก็เช่นกัน  ถามว่า  คณะกรรมการเข้าใจอย่างแท้จริงหรือเปล่าว่า  กวีนิพนธ์มีองค์ประกอบมากมาย  เช่น  องค์ความรู้  แรงสะเทือนใจ  จินตนาการ  และสุนทรียภาพ เป็นต้น? การยึดถือ "ความง่าย" เพียงประการเดียวโดยไม่สนใจองค์ประกอบอื่นใด  ก็เท่ากับย้ายที่กวีนิพนธ์จากที่ที่ควรอยู่ไปยังที่ไม่สมควร  ดังที่ นายพิเชฐ  แสงทอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือภาพรวมของคณะกรรมการทั้งหมด) ต้องการ "ปลด" กวีนิพนธ์ออกจากหอคอยขอบฟ้า  หรืออัญเชิญลงมาจากหิ้ง  นั่นเอง  ซึ่งเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกเหยียบย่ำทำลาย  หรือเสื่อมคุณค่าลงไป

 

นี่คืออันตรายของทิศทางวรรณกรรม 

นี่คืออันตรายของการศึกษาและเรียนรู้วรรณกรรม

 

นอกจากนี้ การกล่าวอ้างเรื่อง "ความง่าย" โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆมารองรับ นอกจากเหตุผลว่า "ทุกคนสามารถเขียนได้อ่านได้" ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ๆ ได้ ถึงที่สุดก็ย่อมหนีไม่พ้น "อัตวิสัย" ซึ่งไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาอะไรเลย   

 

นายพิเชฐ  แสงทอง  และเหล่ากรรมการทั้งหลายจะมีทัศนะหรือพฤติกรรมต่อกวีนิพนธ์อย่างไรก็ไม่แปลก ถ้าไม่ใช่ "กรรมการ" ที่จะต้องวางอคติของตนไว้เบื้องหลัง และทอดปัญญาอย่างแท้จริงไว้เบื้องหน้า

 

ส่วนประเด็นที่ว่า ถ้ากวีเดินผ่านมา นักเขียนจะต้องลุกขึ้นโค้งคำนับ (ชึ่งความจริงแล้ว นายพิเชฐ  แสงทอง อ้างอิงมาผิด ที่ถูกคือ เมื่อกวีเดินผ่านมา คนทั่วไปจะต้องลุกขึ้นยืนปรบมือ ตามแนวคิดของทางตะวันตก) แสดงให้เห็นว่า กวี (หมายถึงกวีที่แท้จริง เช่น รพินทรนาถ ฐากูร,คาลิลยิบราน หรือ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้น) เป็นผู้ทรงเกียรติและทรงภูมิปัญญาเช่นนักปราชญ์  กวีอยู่ในสังคมใด  สังคมนั้นย่อมได้ประโยชน์และภูมิใจในความเป็น "อารยะ" ของตน  เช่นนี้แล้วสังคมจะถอยห่างจากกวีหรือกวีนิพนธ์ไปเพื่ออะไร?  วิธีคิดแบบที่ไม่ต้องการให้กวีได้รับเกียรตินั่นต่างหากที่จะทำให้สังคมถอยห่างจากกวีหรือกวีนิพนธ์  เพราะเท่ากับผลักกวีนิพนธ์ลงสู่เหวของความโง่เขลา

 

ไม่น่าเชื่อว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอคติ เข้าไม่ถึงกวีนิพนธ์อย่างถ่องแท้ แถมยังมีทัศนะที่น่าสนเท่ห์เช่นนี้ จะมีบทบาทในการคัดเลือกผลงานที่สะท้อนภูมิปัญญาของประเทศ

 

รางวัลซีไรต์ที่อยู่ภายใต้การกำหนดทิศทางของบุคคลเช่นนี้จะมีสภาพเช่นไรหนอ

 

. กรรมการผูกขาดอำนาจ

คณะกรรมการส่วนหนึ่งอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน มากที่สุดคือ ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา เป็นกรรมการรอบคัดเลือก ๑๒ สมัย (ในจำนวนนี้เป็นประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก ซึ่งหมายถึงการเป็นกรรมการรอบตัดสินด้วย ๓ สมัย)  ได้แก่ปี ๒๕๓๔-๒๕๓๙ , ปี ๒๕๔๔  และปี ๒๕๔๖-๒๕๕๐  รองลงมาคือ นายพิเชฐ  แสงทอง เป็นกรรมการรอบคัดเลือก ๔ สมัย ในปี ๒๕๔๖-๒๕๔๘  และปี ๒๕๕๐  นอกจากเป็นกรรมการรางวัลซีไรต์แล้ว บุคคลทั้งสองรวมทั้ง นายพินิจ  นิลรัตน์ ซึ่งเป็นกรรมการรอบคัดเลือก ๒ สมัย ในปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐  ยังกระจายตัวออกไปเป็นกรรมการในรางวัลอื่น ๆ อีกมาก เช่น รางวัลเซเว่นบุ๊กอะวอร์ด  รางวัลพานแว่นฟ้า  รางวัลศิลปาธร  รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด  และรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย  เป็นต้น  จนแทบจะเป็นการผูกขาดทิศทางวรรณกรรมของประเทศไทยก็ว่าได้

 

จริงอยู่  รางวัลจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ก็มีการผูกขาด  แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไป

การผูกขาดอำนาจ  ด้านดีคือการสั่งสมประสบการณ์และการเสียสละ  แต่ด้านร้ายคือการเพาะสร้างอิทธิพล และการใช้วิจารณญาณที่ซ้ำซาก ส่งผลให้การตัดสินไม่เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น ดั่งคำแถลงของ ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา ในวันประกาศผลรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ปีนี้ว่า 

 

"ปีนี้น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่ากลอนเปล่าหรือบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ผ่านเข้ารอบมาหลายเล่ม เฉพาะที่เลือกเข้ามาอย่างน้อยจะมีอยู่สามเล่ม ทั้งผลักทั้งดันกันเข้ามา เพราะคิดว่าควรจะส่งเสริมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์เหมือนกันและบทกวีไร้ฉันทลักษณ์มันจะมีคุณค่าอีกแนวหนึ่งคือ  จะเต็มไปด้วยจินตภาพและจินตนาการ" 

(หนุ่มบางนา.  "8 เล่มสุดท้าย  กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์  2550," 

จุดประกายวรรณกรรม  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.  ฉบับวันอาทิตย์ที่  ๑๕  กรกฎาคม  ๒๕๕๐.)

 

การ "ทั้งผลักทั้งดันกันเข้ามา" นั้น แน่นอนว่า ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา คนเดียวย่อมกระทำไม่สำเร็จ ใครเล่าจะเป็นพวกที่ช่วยผลักช่วยดัน  ถ้าไม่ใช่พวกที่สั่งสมบารมีอยู่ด้วยกันในรางวัลซีไรต์หรือรางวัลต่าง ๆ  หรือไม่เช่นนั้นก็แสดงว่าอิทธิพลของ ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา มีมากพอในการระดมพลผลักดันเพื่อผลที่ตัวเองต้องการ

 

การผลักดันภายใต้เหตุผลที่ต้องการส่งเสริมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอหรือไม่?  ในเมื่อรางวัลซีไรต์ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าปีไหนจะต้องส่งเสริมบทกวีแบบไหน  แต่เปิดกว้างให้แก่ผลงานทุกประเภทที่ดีพร้อมต่างหาก (ดูรายละเอียดกฎเกณฑ์ในการเลือกสรรเรื่องเข้าพิจารณารางวัลซีไรต์ ใน ทิน  ละออ.  25 ปีซีไรต์.  2546.  ไม่ระบุเลขหน้า.)  ผศ.ดร.ธเนศ  เวศร์ภาดา  รวมทั้งทีมงานที่ช่วยผลักช่วยดัน  จึงเอาความเห็นของตนอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของรางวัล 

 

การ "ทั้งผลักทั้งดัน"  และ "คิดว่าจะส่งเสริม" (รวมทั้ง "ปลดแอก" ตามคำกล่าวของ นายพิเชฐ  แสงทอง)  แสดงให้เห็นว่ากรรมการเข้าใจว่าตน "คิด" จะทำอะไรก็ได้  คิดจะกำหนดทิศทางกวีนิพนธ์อย่างไรก็ได้  ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงการใช้ "อำนาจ" โดยกำลังละเลย "หน้าที่" อันควรต้องดำเนินไปภายใต้กรอบเกณฑ์กติกาที่มีอยู่

 

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าอำนาจตามหน้าที่ภายใต้กรอบเกณฑ์กติกา กรรมการ "คิดจะส่งเสริม" "คิดจะกำหนดประเภท" ชิ้นงานตามแต่ใจตน  "คิดจะปลดแอก"  "คิด" อยากได้และให้เป็นไป  นั่นเป็นการสมควรแล้วหรือ?

 

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า โดยหน้าที่ภายใต้กรอบกติกา กรรมการควรพิจารณาเนื้องานแต่ละประเภท  แต่ละแนวขนบตามที่มันควรเป็นมิใช่หรือ?

 

เพราะการใช้อำนาจเช่นนี้เป็น "อำนาจบาตรใหญ่" (power)  หาใช่ "อำนาจหน้าที่" (authority) ไม่

 

"อำนาจหน้าที่" ที่กรรมการได้รับมอบหมายคือ ต้องผลักดันกวีนิพนธ์โดยพิจารณาเนื้อหาและการสร้างสรรค์ของผลงานทุกประเภทอย่างยุติธรรม

 

ส่วนคำอธิบายที่ว่า กวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์มีคุณค่าในแง่ของความอิ่มเต็มด้านจินตภาพและจินตนาการนั้น  ถามว่า  จินตภาพและจินตนาการถูก "ผูกขาด" อยู่ในกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ประเภทเดียวหรือ? ไม่ถูกต้องกว่าหรือที่จะกล่าวว่า  กวีนิพนธ์ทุกประเภทล้วนแต่อุดมไปด้วยจินตภาพและจินตนาการได้ทั้งนั้น

 

คณะกรรมการที่เข้าใจผิดเรื่องรูปแบบและเนื้อหา  มีหรือที่จะไม่เข้าใจผิดในการคัดสรร?

    

. กรรมการไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

คณะกรรมการส่วนหนึ่งไม่เคยมีผลงานด้านการเขียนกวีนิพนธ์ การวิจารณ์กวีนิพนธ์ หรือการวิจัยกวีนิพนธ์ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในวงการวรรณกรรม หรือแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ "รู้จริง" ในสาขากวีนิพนธ์  แต่สามารถเข้ามาเป็นกรรมการได้เพราะมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  หรือมีสายสัมพันธ์อยู่กับสมาคมทั้งสองนี้

 

ตัวอย่างเช่น นายพินิจ นิลรัตน์ เป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แต่ไม่เคยมีงานเขียนหรืองานวิชาการใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า  เป็นผู้มีความรู้  ความเข้าใจด้านวรรณกรรมพอเพียงที่จะเป็นกรรมการในรางวัลระดับประเทศ  แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ถึง ๒ สมัยติดกัน  พิจารณาผลงานทั้งประเภทนวนิยายและกวีนิพนธ์  รวมทั้งเป็นกรรมการในรางวัลอื่น ๆ อีกมาก  ดังกล่าวแล้ว

 

ผลงานในปัจจุบันของนายพินิจ  นิลรัตน์ คือเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ลงในคอลัมน์รายงานวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับในวันอาทิตย์  เขียนข่าวความเคลื่อนไหววรรณกรรมในหนังสือบางเล่ม และใช้นามปากกา ฝุ่นฟ้า  ธุลีดิน  เขียนบทกวีลงพิมพ์ตามนิตยสารอยู่บ้าง 

 

ส่วนผลงานในอดีตคือใช้นามปากกา นิด  ระโนด  เขียนบทกวีชื่อ กูคือคอลัมนิสต์  ได้รับรางวัลยกย่อง (ชมเชย) จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯกับเป็นผู้ดูแลคอลัมน์บทกวีในนิตยสาร "ฐานสัปดาห์วิจารณ์" และหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ"อยู่ระยะหนึ่ง

 

ผลงานเหล่านี้  โดยเฉพาะการได้รับรางวัลยกย่อง (ชมเชย) จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับการดูแลคอลัมน์บทกวี  อาจนำมาใช้ยืนยันความรู้  ความเข้าใจด้านกวีนิพนธ์ได้อยู่บ้าง  แต่คำถามคือ  ทำไมผู้ที่เขียนกวีนิพนธ์  วิจารณ์กวีนิพนธ์  หรือวิจัยกวีนิพนธ์   ซึ่งแสดงภูมิปัญญาที่เหนือกว่า นายพินิจ  นิลรัตน์ อยู่มาก  จึงไม่ได้รับโอกาสจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยให้เข้ามาเป็นกรรมการ? 

 

หรือแท้แล้ว นายพินิจ  นิลรัตน์ เป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  จึงมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตัวเอง?

หรือแท้แล้ว นายพินิจ  นิลรัตน์ ทำหน้าที่สื่อมวลชนอยู่ด้วย  จึง "พูดเสียงดัง" กว่าใคร และเป็นข้อได้เปรียบในการเลือกกรรมการแต่ละครั้ง? 

 

ถึงที่สุด  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยใช้วิจารณญาณเพียงใดในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการรางวัลซีไรต์  และรางวัลอื่น ๆ?

 

มีข้อน่าสังเกตว่า ในปีที่ผ่านมา นายพินิจ  นิลรัตน์ ในฐานะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย (ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะมีความรู้อย่างพอเพียงเช่นกัน) ได้ออกมาคัดค้านผลงานที่ได้รับรางวัลในรอบตัดสิน  แม้ว่าผลงานนั้นตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้าไปก็ตาม นี่ย่อมแสดงว่านายพินิจ นิลรัตน์ไม่สามารถแสดงเหตุผลเพื่อเอาชนะกรรมการผู้อื่นในที่ประชุมได้  จึงออกมาแสวงหาชัยชนะข้างนอก

 

บุคคลที่ความรู้ ความสามารถ และวุฒิภาวะยังไม่เพียงพอเช่นนี้ สมควรเพียงใดต่อการเป็นกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์?

 

สรุปความได้ว่า คณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ในปีนี้ เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผิดระเบียบของรางวัล  เล่นพรรคเล่นพวก มีอคติ ไม่เข้าใจกวีนิพนธ์อย่างถ่องแท้ ผูกขาดอำนาจ และไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในวงการวรรณกรรม  คณะกรรมการเช่นนี้ย่อมทำลายกวีนิพนธ์มากกว่าสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ ทำลายรางวัลซีไรต์ มากกว่าเกื้อหนุนรางวัลซีไรต์  ซึ่งส่งผลกระทบถึงการพัฒนาทางภูมิปัญญาของประเทศ

 

เนื่องจากในแต่ละปีมีนักเรียน นักศึกษา ครู และประชาชนทั่วไป รอคอยอ่านผลงานที่ได้รับรางวัลซีไรต์จำนวนนับแสนคน และหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ก็จะอยู่คู่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมให้อ่านหรือศึกษากันอย่างต่อเนื่อง จึงมีผู้เสพหนังสือเหล่านี้อยู่รุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นจำนวนมหาศาล  หากกรรมการที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความเป็นธรรมเข้ามาคัดเลือก  ก็จะได้ผลงานที่ไม่อาจคาดหวังว่า จะสร้างสติปัญญาให้แก่สังคมได้หรือไม่ ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจนำพาสังคมไปในทางตกต่ำก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์นี้มิได้มุ่งร้ายแก่คณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์  หรืออคติ  หรือโกรธแค้นส่วนตัวแต่ประการใด เพียงต้องการตรวจสอบคุณสมบัติและพฤติกรรม ในฐานะบุคคลสาธารณะที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาวรรณกรรมไทยเท่านั้น  อาจจะมีกรรมการบางคนที่มีความยุติธรรม  และมีความรู้ความสามารถ  แต่ในเมื่อต้องมาตกระกำอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ไม่ได้ใช้สติปัญญาและความเป็นธรรมอย่างแท้จริงแล้ว  ก็ย่อมถูกตรวจสอบไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

 

นอกจากนี้ แถลงการณ์นี้ก็มิได้มุ่งร้าย หรืออคติ หรือโกรธแค้นส่วนตัวแก่กวีผู้มีผลงานเข้ารอบเช่นกัน เพราะกวีย่อมสร้างสรรค์ผลงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ความผิดหรือความไม่เหมาะสมใด ๆ ของกรรมการไม่ใช่ความผิดหรือข้อตำหนิของกวีแม้แต่น้อย 

 

"ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย"ขอเรียกร้องแก่สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหารางวัลซีไรต์  และพัฒนาวงการวรรณกรรมให้ดีขึ้น  ดังนี้ 

 

.สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ควรแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ขัดระเบียบของตัวเอง  แถมยังน่าเคลือบแคลงใจในความรู้  ความสามารถ  และความยุติธรรม 

 

.รางวัลใดๆ ก็ตามที่สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  เข้าไปเกี่ยวข้อง  ซึ่งมีผลกระทบต่อวงการวรรณกรรม และวงการการศึกษา การเรียนรู้ของสังคม  ควรเปิดโอกาสให้บุคคลในวงการวรรณกรรมมีส่วนร่วมในการคัดสรรคณะกรรมการ

 

.คณะกรรมการรางวัลใด ๆ ก็ตามที่สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  เข้าไปเกี่ยวข้อง  ซึ่งมีผลกระทบต่อวงการวรรณกรรม  และวงการการศึกษา  การเรียนรู้ของสังคม  ควรมีวาระการดำรงตำแหน่ง 

 

.คณะกรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับคณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ควรมีวาระการดำรงตำแหน่ง  เพื่อไม่ให้สะสมอำนาจจนเกินควร 

 

.สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ควรจัดประชุมหรือสัมมนาร่วมกัน  โดยมีบุคคลในวงการวรรณกรรม  เช่น  กวี  นักเขียน  นักวิจารณ์  นักวิชาการ  เป็นต้น  เข้าร่วม  เพื่อกำหนดหลักการและรายละเอียดในข้อ ๒.  ข้อ ๓.  และข้อ ๔. 

 

พร้อมกันนี้ ขอเรียนมายังกวี  นักเขียน  นักวิจารณ์  นักวิชาการ  นักอ่าน  ผู้จัดพิมพ์  ผู้จัดจำหน่าย  ตลอดจนสื่อมวลชน  ซึ่งปรารถนาให้วงการวรรณกรรมมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  กรุณาเสนอความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหารางวัลซีไรต์  โดยส่งเป็นจดหมายหรือไปรษณียบัตรไปยัง ศูนย์ประสานงานประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย  ๑๗๔  หมู่ ๑  .ตันหยงโป  .เมือง  .สตูล  ๙๑๐๐๐  หรือทางอีเมล์ prachakhom 123 @ yahoo. com ภายในวันที่  ๑๐  กันยายน  ๒๕๕๐  เพื่อประมวลความคิดเห็นของท่านเสนอเพิ่มเติมไปยังสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ต่อไป

 

ทั้งนี้ ในท้ายแถลงการณ์ ได้มีการลงรายนามกวี นักเขียน ในนาม  ประชาคมวรรณกรรมแห่งประเทศไทย ดังนี้

 

1.  วรภ  วรภา  .สตูล

2.  กานติ  ณ ศรัทธา  .นครศรีธรรมราช

3.  วิสุทธิ์  ขาวเนียม  .ตรัง

4.  กอนกูย  กรุงเทพฯ

5.  คำเมือง  เอกอ้อย  .นครพนม

6.  จเรวัฒน์  เจริญรูป  .ปัตตานี

7.  จิตฯ  คัมภีรภาพ  กรุงเทพฯ

8.  ไชยา  วรรณศรี  .สุรินทร์

9.  ชัชวาล  โคตรสงคราม  .ร้อยเอ็ด

10.  ดรุณี  เดชานุสรณ์  จ.ตรัง

11.  ดวงแก้ว  กัลยาณ์  .นครศรีธรรมราช

12.  ทวีสิทธิ์  ประคองศิลป์  .เพชรบุรี

13.  ธรรม  ทัพบูรพา  กรุงเทพฯ

14.  ธาร  ธรรมโฆษณ์  กรุงเทพฯ

15.  ปรเมศวร์  กาแก้ว  .สงขลา

16.  ปรัชชา  ทัศนา  .นครศรีธรรมราช

17.  ปะหล่อง  จ.เชียงราย

18.  ปัทมราษฎร์  เชื้อศูทร  .พัทลุง

19.  ไพชัฏ  ภูวเชษฐ์  .สตูล

20.  รมณา  โรชา  .นครศรีธรรมราช

21.  รุ่ง  ใจมา  จ.เชียงราย

22.  เริงวุฒิ  มิตรสุริยะ  กรุงเทพฯ

23.  วิโรจน์  วุฒิพงศ์  .สุราษฎร์ธานี

24.  วันรวี  รุ่งแสง  กรุงเทพฯ

25   สมบัติ  ตั้งก่อเกียรติ  กรุงเทพฯ

26.  สันธวัช  ศรีคำแท้  .สระบุรี

27.  สาทร  ดิษฐสุวรรณ  .สงขลา

28.  สิงหา  สัตยนนท์  .ศรีสะเกษ

29.  สิระพล  อักษรพันธุ์  .ตรัง

30.  สุขุมพจน์  คำสุขุม  .มหาสารคาม

31.  สุรชาติ  เกษประสิทธิ์  .ปัตตานี

32.  อนุสรณ์  มาราสา  .สตูล

33.  สุมาตร  ภูลายยาว   จ.เชียงใหม่

34.  ภราดร - ติภาพ   ภาคเหนือ

35.  ตะวัน  จันทรา    ภาคเหนือ

 

ตั้งแต่ลำดับที่  36  เป็นต้นไป เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องตั้งแต่ข้อ 2 - ข้อ 5 

 

36.  เวียง - วชิระ บัวสนธิ์      กรุงเทพฯ

37.สุทธิพงศ์  ธรรมวุฒิ    กรุงเทพฯ

38.ประกาย   ปรัชญา     จ. ชลบุรี

39.อธิคม   คุณาวุฒิ       กรุงเทพฯ

40.เสี้ยวจันทร์  แรมไพร  กรุงเทพฯ

41.ณัฐกานต์  ลิ่มสถาพร    กรุงเทพฯ

42.จารี จันทราภา          กรุงเทพฯ

43.  ธนิต  สุขเกษม      กรุงเทพฯ

44.  คมสัน  นันทจิต    กรุงเทพฯ

45.  เอก - วิชัย จงประสิทธิ์พร   กรุงเทพฯ 

46.  ภู  เชียงดาว   จ. เชียงใหม่

47.  คำ  พอวา   จ.เชียงใหม่

48.  แพร จารุ   จ.เชียงใหม่

49.  ถนอม  ไชยวงศ์แก้ว  จ.เชียงใหม่

 

 

ตั้งแต่ลำดับที่ 50  เป็นต้นไป  เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้อที่ 4 - ข้อที่ 5

 

50.  มหา  สุรารินทร์     กรุงเทพฯ

51.  อโศก  ศรีวิชัย   กรุงเทพฯ

52.  นนทวรรณ บุญวงศ์   กรุงเทพฯ

53.  ภาสกร วิเวกวรรณ   กรุงเทพฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท