ประมวลบทวิเคราะห์ ไทย-เทศ : หลังประชามติ สิ่งที่เห็นชัดคือการแตกแยกแบ่งฝ่าย?

พงศ์เลิศ พงศ์วนานต์

 

ในการลงประชามติครั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่ทางคมช. รัฐบาล และฝ่ายสนับสนุนยกมาอ้างเพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และดูเหมือนหลายๆ คนก็เชื่อตามด้วย คือ รับๆ ไปก่อนเพื่อให้ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจบๆ ไป จะได้มีเลือกตั้ง บ้านเมืองจะได้สงบเสียที 

 

แต่เมื่อผลปรากฏออกมาอย่างที่เห็น ว่าภาคอีสานออกเสียงไม่รับอย่างท่วมท้น ภาคเหนือรับ-ไม่รับสูสีหายใจรดต้นคอ  ส่วนภาคใต้ คะแนนรับทิ้งห่างหลายช่วงตัว  ถึงแม้คะแนนรวมจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า เกือบหนึ่งปีของการบดขยี้ทักษิณของฝ่ายรัฐประหารนั้น ยังห่างไกลจากเป้าหมายนัก  ยิ่งเมื่อคำนึงว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างในมือและใช้กำลังภายในผลักดันอย่างเต็มที่ ก็ยังทำได้เท่านี้  ลองนึกดูว่าหากเป็นการลงประชามติในบรรยากาศที่ "แฟร์" กว่านี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

 

แดเนียล เทน เคท จากเอเชีย เซนทิเนล มองว่า ผลประชามติแสดงถึงรอยแตกลึกในการเมืองไทย  ในสมัยทักษิณ รัฐธรรมนูญถูกใช้ประโยชน์ องค์กรอิสระไม่ทำงาน  แต่คมช.ก็ทำอย่างเดียวกัน  รัฐธรรมนูญ 50 ถูกเขียนขึ้นมาให้อำนาจกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ศาล ทหารและฝ่ายนิยมเจ้า    

 

องค์กรอิสระในยุคคมช.และรัฐธรรมนูญ 50 ก็คือ กกต.ที่เพิ่งดูแลการลงประชามติ โดยที่กรรมการสองจากห้าคนของกกต.เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย และจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกหกปีตามรัฐธรรมนูญ  ส่วนปปช.ก็ต้องรับบทบาทเป็นพระรองของคตส. ที่คมช.ตั้งขึ้นมาและอายัดทรัพย์ของทักษิณไปโดยอ้างกฎหมายแบบแปลกๆ  ส่วนสว.ประมาณครึ่งหนึ่งจะได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยศาลเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็จะไปดูแลเรื่ององค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง

 

ที่น่าเป็นห่วงคือศาล ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเป็นต้นมา คำวินิจฉัยในคดีใหญ่ๆ เกือบทุกครั้งจะมีนัยทางการเมืองมาตลอด มีลักษณะเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองไปทีละเปลาะๆ มากกว่าที่จะวางอยู่บนหลักความยุติธรรม ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายต้องฉงนฉงายกับความเป็นอิสระของศาล  ยิ่งรัฐธรรมนูญใหม่ให้ศาลมีบทบาทในการสรรหาองค์กรอิสระด้วยแล้ว  อำนาจที่เพิ่มมาภายนอกห้องพิจารณาคดีจะเป็นตัวสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของศาล 

 

หลังประชามติ นักการเมืองก็เริ่มมีการขานรับกันแล้วเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือไทยรักไทย เพราะนักการเมืองเหมือนถูกตัดแขนตัดขา และอำนาจไปอยู่ที่ข้าราชการ ทหารและศาล  แต่ว่าจะผลักดันกันไปได้สักแค่ไหนกับผู้กุมอำนาจใหม่นั้นต้องรอดูกันต่อไป

 

ส่วนอีโคโนมิสต์จั่วหัวเลยว่า ไทยเห็นชอบรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่อง  คำโปรยคือ จะมีการเลือกตั้งตามมา แต่ไม่แน่ว่ากองทัพจะยอมรับคนชนะหรือเปล่า

 

พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลินบอกว่าทหาร "พอใจกับการรับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน"  แต่ก็คงพอใจไม่มากนัก เพราะคนออกมาใช้สิทธิไม่มากนักเมื่อเทียบกับระดับ 70-80% ที่ทางกกต.ได้ตั้งเป้าไว้  ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นชัยชนะที่ฉิวเฉียด เมื่อเทียบกับการทุ่มสุดตัวของฝ่ายรัฐบาล-ทหารที่พยายามชักจูงให้ประชาชนรับร่างฯ และปิดปากคนที่ไม่รับ  ยกตัวอย่าง กระทั่งสติกเกอร์ไม่รับร่างฯ ที่ถูกติดอยู่ตามรถแท็กซีก็ยังเป็นประเด็นถึงกับต้องงัดเอากฎระเบียบการโฆษณาหยุมหยิมที่ปกติไม่เคยมีใครเห็นเป็นปัญหา(หรือกระทั่งรู้ว่ามีกฎระเบียบนี้อยู่) มาใช้ข่มขู่คนขับแท็กซี 

 

บทบัญญัติหลายๆ ข้อในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ดูจะตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อกันไม่ให้มีพรรคใหญ่อย่างไทยรักไทยเกิดขึ้นมาได้อีก  การกลับไปหารัฐบาลผสมที่อ่อนแอก็จะทำให้ข้าราชการและทหารเคลื่อนไหวอยู่หลังฉากได้ง่าย อย่างที่เคยเป็นในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา

 

ข้อน่ากังวลสำหรับคมช.ก็คือ พรรคของทักษิณอาจจะกลับมาใหม่ได้  ถ้าพรรคพลังประชาชนชนะ ทักษิณก็มีโอกาสหลุดจากคดีต่างๆ ได้  และมาตราที่ให้มีการนิรโทษกรรมก็อาจถูกแก้ไข และมีการเช็คบิลคมช.  แน่นอนว่าคมช.ไม่มีทางที่จะปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นแน่

 

เซ็ธ ไมดานส์ จากอินเตอร์เนชันแนล เฮรัลด์ ทรีบูน ขึ้นหัวเรื่องแบบเดียวกับเอเชียเซ็นทิเนล คือ การลงประชามติแสดงให้เห็นถึงความแบ่งแยกอย่างลึกซึ้งในสังคมไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกตั้งปลายปีนี้และแบ่งแยกผู้คนเป็นฝักฝ่ายต่อไปอีกนาน

 

บทความอ้างถึงสุรินทร์ พิศสุวรรณที่กล่าวว่า ประเทศจะต้องก้าวต่อไป แต่ความแตกแยกจะยังคงอยู่ และจะเป็นเรื่องยากที่จะสมานด้วยการแข่งขันในทางการเมือง  มีแนวโน้มว่าต่อไปจะเป็นช่วงที่การเมืองไร้เสถียรภาพ

 

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า เมื่อประชาธิปไตยกลับคืนมา ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่นำไปสู่การรัฐประหารก็จะหวนกลับมา โดยเสียงของคนชนบทจะมีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้นกว่าในอดีต  การลงประชามติครั้งนี้เป็นการวัดว่าประชาชนยอมรับการรัฐประหารหรือทักษิณ มากกว่าที่จะเป็นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ  จำนวนผู้มาออกเสียงและส่วนต่างของคะแนนรับ-ไม่รับนั้นต่ำกว่าที่คมช.และรัฐบาลได้ตั้งความหวังไว้

 

การเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้อาจจะไม่ทำให้การเมืองหวนกลับคืนสู่สภาพปกติอย่างที่ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหวัง

 

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ผลการลงประชามติแสดงให้เห็นว่าพลังที่ถูกปลดปล่อยในยุคทักษิณกำลังมีเสียงดังมากขึ้นทุกที  พวกเขาจะไม่หายไปไหน  การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะปรากฏผลคล้ายกัน คือ การแบ่งแยก

 

คนไทยประมาณหนึ่งในสามจาก 65 ล้านคนอาศัยอยู่ในภาคอีสาน ที่ถูกทอดทิ้งมาตลอดในการเมืองระดับชาติ  การรัฐประหาร 19 กันยาได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นสูงและคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ  ฐิตินันนท์บอกว่า เราจะเห็นความขัดแย้งที่รอมชอมกันไม่ได้ระหว่างคนอีสาน คนเหนือที่สนับสนุนทักษิณ กับชนชั้นกลางและผู้นิยมพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้

 

พรรคไทยรักไทยถูกยุบไป แต่ก็กำลังรวมตัวกันใหม่  ผลการลงประชามติแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีฐานเสียงที่เข้มแข็ง 

 

คริส เบเกอร์ นักวิชาการชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยบอกว่า ถ้าให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ  พรรคที่สนับสนุนทักษิณอาจจะได้เสียงข้างมากในสภา  แต่เขาเกรงว่าจะมีความพยายามกำหนดผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก  ถ้าประชาชนรู้สึกว่าผลการเลือกตั้งไม่ซื่อตรง ก็จะเกิดแรงต้านมหาศาล

 

ในอีกด้านหนึ่ง เขาบอกว่า ก็เป็นไปได้ว่าทักษิณก็อาจจะทุ่มเงินมหาศาลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น  เพราะหนทางเดียวที่จะสู้กับคดีต่างๆ ที่กระหน่ำครอบครัวเขาอยู่เวลานี้ก็คือการมีอำนาจต่อรองทางการเมือง  เพราะฉะนั้นเขาต้องทุ่มกับการเลือกตั้งครั้งนี้ 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง :

http://www.iht.com/articles/2007/08/20/asia/thai.php
http://www.economist.com/daily/news/PrinterFriendly.cfm?story_id=9675592
http://www.asiasentinel.com/index.php?option=com_content&task=view&id=650&Itemid=31

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท