Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 18 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการสัมมนาเรื่อง "วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง" จัดโดย ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


งานดังกล่าว มุ่งไปที่กฎหมายสื่อฉบับใหม่ๆ หลายฉบับ ที่ถูกผลักดันผ่านคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และสภาแต่งตั้ง โดยเน้นที่กฎหมาย 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ... ร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ... และ ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ...


 


ทั้งนี้ การออกกฎหมายเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะพยายามควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมากขึ้น เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และ ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ก็มีการควบคุมมากขึ้นผ่านศาลและกระทรวงวัฒนธรรม ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ แม้จะดูมีมิติที่ผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้กับธุรกิจและทุนใหญ่มากกว่า



 


พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550



สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นำเสนอสาระสำคัญในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ว่า กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ หลักการไม่ชัดตั้งแต่แรก และมุ่งจะมาควบคุมอินเตอร์เน็ต เกิดความสับสนว่ามันจะคุ้มครองอาชญากรรมหรือมุ่งไล่ปิดเว็บไซต์


 


ความน่ากลัวในกฎหมายฉบับนี้ คือการเขียนกฎหมายให้คลุมเครือ เช่น ในมาตรา 14 มีเลือกใช้ถ้อยคำ เช่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แก่ประชาชน ซึ่งถ้อยคำเช่นนี้ จะเกิดปัญหาการตีความได้


 


สุภิญญากล่าวว่า ความคลุมเครือในเรื่องความผิดทางคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใหญ่ และเสรีภาพถูกทำให้คลุมเครือไปกับอาชญากรรม คลุมเครือไปกับการกระทำแบบแฮกเกอร์ ทั้งที่เสรีภาพมิใช่อาชญากรรม


 


ทั้งนี้ การสื่อสารในอินเตอร์เน็ต ไม่ได้เสรีตามที่เข้าใจกัน แต่ขั้นตอนต่างๆ ทำให้ต้องผ่านโครงข่าย ไม่ได้เป็นอิสระในตัวเอง คนคลุมโครงสร้าง ในที่สุดก็คือคนคุมเรา เหมือนแบบที่เป็นในประเทศจีนและสิงคโปร์ แล้วกฎหมายฉบับนี้ ก็จะให้อำนาจรัฐในการขอข้อมูลโดยไม่ต้องบอกเรา


 


"ถ้ารัฐจะออกกฎหมายควบคุม ก็ต้องออกกฎหมายมาเพื่อคุ้มครองด้วยไหม" สุภิญญาตั้งคำถาม


 


นอกจากนี้ ที่มาและอำนาจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน โดยสุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นไปจากแนวโน้มที่รัฐคิดว่าจะออกกฎหมายมาปกป้องประชาชน แต่กฎหมายปกป้องนั้นมองอีกด้านหนึ่งก็คือดาบ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลต่อการเซ็นเซอร์ตัวเองในการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแน่นอน


 


สำหรับข้อเสนอแนะและทางเลือกเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ สุภิญญากล่าวว่า ทำอย่างไรที่จะทำคำจำกัดความความผิดทางคอมพิวเตอร์ให้ชัดกว่านี้ แยกประเด็นเรื่องเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตออกมาจากความผิด สร้างข้อจำกัดทางความผิดให้น้อยที่สุด เช่น ระบุความผิดให้ชัดเรื่องโป๊เปลือยเด็ก ลดการให้อำนาจรัฐควบคุมให้น้อยลง สร้างกลไกทางสังคมขึ้นมาทดแทน และทำยังไงที่จะเปิดให้เวทีบล็อกเกอร์ หรือให้พลเมืองออนไลน์ร่วมกำหนดชะตากรรมสื่อออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น


 


พิชญ์  พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความคาดหวังที่สุภิญญากล่าวไปนั้น ราวกับเปรียบประเทศไทยเป็นประเทศแถบยุโรป แต่น่าสนใจว่า หากดูในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ประเทศไทยแตกต่างหรือใกล้เคียงกับประเทศไหนหรือไม่ และเรากำลังลดระดับการบินของเราให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่


 


เขากล่าวว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่ห้ามใช้โทรโข่งในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้น สื่อต่างๆ ต่างหากที่ต้องทำตัวเป็นโทรโข่งให้ประชาชน


 


พิชญ์กล่าวว่า เราอาจจะเคยเรียนมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แท้จริงแล้วเป็นเพียงหนึ่งในชุดกฎหมาย ร่างรธน.นี้จัดเตรียมเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า เรามีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายอื่น นั่นคือ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงหนึ่งในชุดกฎหมายที่ต้องดูรวมกฎหมายอื่นๆ ด้วย


 


เขาเล่าว่า ในต่างประเทศนั้น เรื่อง internet censorship เป็นเรื่องเชยแล้ว แต่เขาใช้วิธี Content Management นั่นคือ การละเมิดสิทธิจะไม่มาให้เห็นอย่างดิบเปลือยอีกต่อไป แต่มาด้วยวิธีการที่แนบเนียนกว่านั้น เช่น การทำให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตต้องกรองตัวเอง หรือมีวิธีกรองข่าวสารด้วยวิธีการต่างๆ แต่วิธีการเขียนกฎหมายฉบับนี้เน้นเอาผิดก่อนเลย


 


พิชญ์เห็นว่า สังคมในโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการกรองข่าวสาร แต่มันต้องมีขอบเขตชัดเจน ทว่าสิ่งที่เป็นวิธีคิดในกฎหมาย คือให้ "ฉัน" ผู้เดียวเป็นคนตัดสิน


 


พิชญ์ตั้งประเด็นต่อไปว่า แล้วทำไมอินเตอร์เน็ตกับการเมืองถึงสัมพันธ์กัน ทำไมบทบาทของอินเตอร์เน็ตกับการเมืองไทยจึงสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กรณีม็อบสนธิ ก็เห็นได้ว่า การเมืองออนไลน์ นำไปสู่การเมืองออฟไลน์ได้ อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามในเรื่องการสอดส่องดูแล การครอบงำ ควบคุม ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการเซ็นเซอร์อีก


 


ประชากรอินเตอร์เน็ตมีประมาณ 8 ล้านได้ก้าวกระโดดขึ้นมาพร้อมๆ กับบรรยากาศรัฐธรรมนูญประชาชนเมื่อปี 2540 โดยความสนใจทางอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องของเทคโนโลยี การค้า และเซ็กส์ แต่สิ่งสำคัญของประเทศไทยคือ "เว็บบอร์ด" พิชญ์กล่าวว่า เว็บไซต์ต่างๆ ของไทยไม่ได้แยกขาดจากสื่อกระแสหลัก แต่มีความเชื่อมโยงกับสื่อสิ่งพิมพ์ ข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า บรรดาเว็บไซต์ที่ติดอันคับต้นๆ นั้น จำนวนมากเป็นเว็บท่า แต่ถัดจากนั้น เป็นเรื่องการเมือง


 


"ก็สะท้อนว่าการเมืองไทยเรา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์สุดๆ" พิชญ์กล่าว


 


พิชญ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เราพูดกันน้อยในการทำรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการครอบงำสื่อ แต่ทำให้การปฏิรูปสื่อมันช้า ทำให้เว็บข่าวบางอย่างที่เสนอข่าวแตกต่าง มันกลายเป็นเพียงทางเลือก รัฐยังคุมสื่อ ไม่ปล่อยสื่อ แล้วทุนยังแทรกแซงสื่อ ดังนั้น ในช่วงการปฏิรูปการเมือง 10 ปี การปฏิรูปสื่อทั้งระบบยังช้า


 


ทั้งนี้ สูตรสำเร็จของการเมืองกับเว็บคือ ขายของได้ด้วย แล้วต้องเอนเตอร์เทนท์ มีสีสัน แล้วสื่อซึ่งทำให้การเมืองเอนเตอร์เทนได้ก็ทำให้คนเชื่อ เพราะสื่อของรัฐช่วงหนึ่งขาดความน่าเชื่อถือ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์สนธิ และเว็บสีเหลือง


 


กรณีเว็บไซต์ผู้จัดการพบว่า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังรัฐประการ จำนวนคนอ่านก็ยังคงคงที่ นั่นแปลว่าถ้าสามารถทำให้สื่อนั้นๆ สามารถอยู่ต่อเนื่องกับได้ มันเป็นเรื่องสำคัญ จำนวนคนอ่านจากกราฟที่ชี้จำนวนแสนกว่าสามารถเอาชนะคนสิบล้านได้ด้วยวิธีการทางสื่อมวลชนที่ร่ำเรียนกันมา เทคโนโลยีการสื่อสารสามารถดำรง critical mass ได้


 


พิชญ์กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเซ็นเซอร์สื่อหนักๆ รัฐไม่ได้บอกว่าปิดเพราะอะไร กลายเป็นว่าเรื่องโป๊กับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ประเด็นสำคัญคือ เมื่อคุณรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เสี่ยง ก็ใช้วิธีไปโพสต์เรื่องเหล่านี้ จนทำให้ผู้ดูแลเว็บต้องคอยไปปิดกระทู้ พิชญ์ชี้ว่าที่ผ่านมา สื่อทางเน็ตมันนำไปสู่การแตกขั้วจับกลุ่มทางความคิดเห็น แต่ไม่ได้นำไปสู่การเข้าใจทางความคิด


 


สื่อปัจจุบันถูกซื้อและครอบด้วยกฎหมาย ที่น่าสนใจคือ แคมฟร็อกได้กลายมาเป็นพื้นที่แสดงความเห็นทางการเมือง


 


กฎหมายคอมพิวเตอร์นี้ เริ่มจากความพยายามปฏิรูปกฎหมายไซเบอร์ชุดใหญ่ประมาณ 5-6 ฉบับ แต่มันไม่ผ่าน มันผ่านแค่ 2 ฉบับ คือ เรื่องธุรกรรม และความผิดคอมพิวเตอร์ แต่ฉบับที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลบุคคลนั้นไม่ผ่าน ไม่ถูกดึงขึ้นมาพูด ประเด็นคือ กฎหมายปกป้องรัฐ ผ่านไปแล้ว แต่กฎหมายปกป้องประชาชนไม่ถูกนำมาพูด และความสำคัญคือ รัฐปกป้องตัวเองในนามปกป้องส่วนร่วม


 


พิชญ์กล่าวว่า รัฐใช้กรอบแบบคิดแทนเรา ถ้าเราไม่มีบรรยากาศในการต่อรองและต่อสู้กับรัฐนั้น รัฐจะพยายามเข้มแข็งกว่าและมาดูแลเรา แทนที่จะปกป้องเรา กลับปกป้องตัวเองก่อน รัฐต้องการควบคุมเรา แจกโน่นนี่ให้เรา แต่ไม่ยอมให้เราดูแลตัวเอง


 


ไพบูลย์  อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ปัญหาที่มีในกฎหมายฉบับนี้ คือ เรื่องความไม่ชัดเจนของกฎหมาย และเรื่องการบังคับใช้ในโทษทางอาญา


 


ส่วนข้อดีคือ กฎหมายฉบับนี้ได้ระบุฐานความผิดต่างๆ จับเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่นในมาตรา 5 มาตรา 7 นั้น มองหลักทั่วไป อาจมองเรื่องแฮกเกอร์อย่างเดียว แต่ไม่ใช่ เพราะยังรวมถึงเรื่องการใช้สิทธิเกินส่วนด้วย เช่น นายจ้างเข้ามาดูข้อมูลลูกจ้าง ก็มีโทษจำคุก กฎหมายนี้จึงเป็นการพิทักษ์สิทธิ์


 


ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องการบล็อกเว็บไซต์นั้น ทันทีที่กฎหมายออก ก็ประกาศยกเลิกคปค. 5 แล้ว นี่เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่จะบล็อกเว็บได้ โดยในมาตรา 20 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ กำหนดให้มีการกลั่นกรอง 3 ชั้น ชั้นแรกคือ ไซเบอร์คอป หรือตำรวจอินเตอร์เน็ต มาตรวจตราเรื่องความมั่นคงและศีลธรรมอันดี ซึ่งมีการติงว่า เรื่องนี้ทำให้ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะบล็อกเว็บได้ ดังนั้น กฎหมายนี้จึงระบุว่า จะบล็อกได้เฉพาะกรณีตามกฎหมายอาญาลักษณะ 1 หรือ 1/1 คือ เป็นส่วนที่เป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เรื่องก่อการร้าย และเรื่องลามกอนาจาร เกินจากเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะใช้มาตรา 20 ได้ ดังนั้น ยืนยันว่าการบล็อกเว็บทางการเมือง ทำไม่ได้


 


ขั้นถัดมาถัดจากการตรวจตราของตำรวจอินเตอร์เน็ต คือการเสนอต่อรมต.ไอซีที ซึ่งรมต.ต้องส่งเรื่องไปยังขั้นสาม คือศาล เจตนารมณ์คือ มีด่านสามชั้นในการใช้อำนาจ และการบล็อกเว็บไซต์นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย


 


ไพบูลย์กล่าวว่า กฎหมายนี้มีแนวความคิดที่ดี แต่มีปัญหาในการตีความ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจที่เจตนารมณ์ของกฎหมายให้ชัดเจน


 


จีรนุช  เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท (Prachatai.com) กล่าวว่า ฐานคิดในการออกกฎหมายยังมีทัศนคติที่ว่าอินเทอร์เนตเป็นเรื่องเลวร้าย ตั้งแต่ชื่อของกฎหมาย โดยทำหน้าที่มาควบคุมให้เดินอยู่ในร่องในรอย ภายใต้การมีไม้เรียวรอหวดอยู่ ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยการควบคุมตนเอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่เกิดในยุครัฐบาลจากรัฐประหาร เป็นระเบียบวิธีคิดแบบของทหาร


 


นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่มีสิทธ์ปกป้องตัวเอง เช่น ในกรณีการขอดูข้อมูลที่ไม่ต้องผ่านศาลนั้น ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดของแนวการปฏิบัติ ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจงเหตุผล หรือประชาชนจะมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองที่จะไม่ส่งเอกสาร กฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ให้ประชาชนปกป้องคุ้มครองตัวเอง


 


กฎหมายหลายฉบับที่เกิดในช่วงนี้ที่อาจจะสั่นคลอนสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องนอกพานรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายพ่วงที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้หรือฉบับอื่นน่าเป็นห่วง จึงไม่สามารถมองเป็นกฎหมายเดี่ยวๆ แต่มองภายใต้บรรยากาศสังคม บรรยากาศรวม


 


อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งเข้าร่วมฟังการอภิปราย แสดงความเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบัน ที่เรียได้ว่าเป็น Neo Conservative ด้วยกระบวนการเสื้อเหลืองบ้าง ด้วยสนับสุนนกฎหมายที่มีความสำคัญในระดับที่จะเป็น source power ในอนาคต


 


เขาชี้เรื่องจริงขึ้นมาเป็นตัวอย่างของสภาอนุรักษ์นิยมใหม่ว่า เดิมนั้นกฎหมายอีกฉบับที่จะจ่อคิวเข้าสภาเป็นบับแรก คือเรื่องตำแหน่งพระสังฆราช อย่างไรก็ดี กฎหมายคอมพิวเตอร์ ออกโดยรัฐมนตรีที่ชอบคาบซิการ์ ยิงปืนทุกเช้า สนิทกับสายเหยี่ยว และไม่ใช้อีเมล แต่ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่บุคคล กลับอยู่ที่สังคมไทยที่มีแนวโน้มจะเป็นนีโอคอนเซอร์เวทีฟ มันจึงมีเหลือง เขียว และแดงเล็กๆ แต่สังคมไทยไม่มีขาว มีแต่สีที่ถูกเลือกข้างแล้ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์


 


 


ร่าง พรบ. ภาพยนตร์ 2473-2550



สุภิญญา นำเสนอประเด็นในร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ที่เดิมใช้ฉบับปี 2473 และกำลังจะเกิดใหม่ ในปี 2550 ว่า เนื้อหาอยู่ในอาการหนักที่สุด คือ ควบคุมสิทธิเสรีภาพมาก มีการตั้งคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ที่ให้รัฐเป็นกรรมการดูแล มีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กลาโหม พิจารณาว่าอะไรที่ขัดต่อศีลธรรมและความมั่นคง


 


ทั้งนี้ หลายประเทศมีแนวทางที่ดี มีกรรมการเป็นองค์กรของรัฐ เป็นเงินทุนจากกลุ่มบริษัทหนัง สร้างกติกากัน มีการดูแลกำกับกันเอง ให้เอกชนมีมาตรการกำกับกันเอง เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายภาพยนตร์ของไทยแล้ว พัฒนาการช้ามาก ยังคงอยู่ในอำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่ล้าหลังอยู่


 


พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การทำภาพยนตร์ที่ผ่านมา ก่อนจะฉายต้องส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณา ที่ผ่านมาก็มีคำถามว่า มาตรฐานของผู้พิจารณาอยู่ตรงไหน


 


นอกจากนี้ ปัญหาที่ผ่านมาคือ การส่งให้คณะกรรมการพิจารณานั้น มักผ่านระบบค่ายหนัง ซึ่งกระบวนการนั้นจะเจออุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่สายสัมพันธ์และการคอร์รัปชั่นด้วย นั่นคือ มาตรฐานของกฎหมายภาพยนตร์ฉบับเดิม เอื้อให้อำนาจรัฐ และเอื้อให้มีกลไกสายสัมพันธ์


 


พิมผกากล่าวว่า แวดวงคนทำภาพยนตร์ก็หวังว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเรื่องเหล่านี้ ระบบเรตติ้งน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ปรากฏว่า กฎหมายภาพยนตร์ฉบับใหม่ ทำให้อำนาจตำรวจ ย้ายไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม แล้วร่างฉบับใหม่ก็ไม่ได้ทำให้เห็นความชัดเจนของเนื้อหาเลย แต่กลับผ่านคณะรัฐมนตรีไปโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว


 


พิมผกากล่าวว่า ภาครัฐมักอ้างว่า การมีพ.ร.บ.นี้ เขาทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ปกครอง มีพ่อแม่มาคุม "ดิฉันไม่เข้าใจว่า แล้วสถาบันครอบครัวมีปัญหาอะไร"


 


"รัฐใช้อำนาจที่จะบอกว่า ฉันดูแลพวกคุณ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่พวกคุณในการดูแล" พิมผกากล่าว


 


พิมผกากล่าวว่า ที่สำคัญคือเรารู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น เราไม่เคยทำความเข้าใจจริงๆ ว่ากฎหมายมันเกี่ยวข้องกับชีวิตเรายังไง และในสังคมในระบอบประชาธิปไตย เราจะให้กฎหมายเป็นกระบอกเสียงแทนเราได้ไหม ทำไมไม่สามารถให้ประชาชนธรรมดาดูแลกันเอง แล้วคิดเองว่าสิ่งที่ไม่ดีไม่งามคืออะไร


 


 


รศ.รักศานต์  วิวัฒน์สินอุดม หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ขาดหายไปในพ.ร.บ.นี้ คือเรื่องการพัฒนากิจการภาพยนตร์ ซึ่งไม่ได้พูดถึงเลยว่า จะพยายามทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตได้อย่างไร มีแต่การควบคุม


 


นอกจากนี้ ยังเห็นว่าหลักเกณฑ์เรื่องเรตติ้ง ไม่ควรระบุเอาไว้ในพ.ร.บ. แต่ควรไปกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งหากจะปรับแก้ก็ทำได้ง่ายกว่า


 


 


ชลิดา  เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามของคำว่าภาพยนตร์ไม่เท่ากัน และด้วยเทคโนโลยีในทุกวันนี้ มีเพียงมือถือก็สามารถถ่ายหนังได้แล้ว ใครๆ ก็ทำหนังได้ แต่หากจะออกฉาย กลับต้องผ่านกระบวนการซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง


 


ชลิดาตั้งข้อสังเกตในเรื่องเรตติ้งว่า แม้จะอ้างว่าเป็นความปกป้องเยาวชน แต่ช่วงอายุที่ใช้ในการจัดเรท จัดช่วงเอาไว้ที่อายุ 0-15 ปี เป็นกลุ่มเดียวกัน ประหนึ่งว่าเด็กจะไม่มีพัฒนาการการเติบโตเลย


 


นอกจากนี้ หากจะมีระบบเรทติ้งแล้ว ก็ไม่ควรต้องมีการแทรกแซง ด้วยการตัด หรือสั่งห้ามฉาย


 


อีกประเด็นคือ คณะกรรมการที่จะมาทำหน้าที่พิจารณา ก็ไม่ควรเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น องค์กรพระ องค์กรหมอ ที่ต่างก็มาพิจารณาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แต่คณะกรรมการฯ ต้องเป็นตัวแทนของคนดู ซึ่งก็แปลก เพราะที่ผ่านมา แม้มีภาพยนตร์ที่มีฉากเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย แต่ก็ไม่เห็นจะมีการเชิญคนกลุ่มน้อยมาดูเลย


 


 


พรบ. การพิมพ์ 2484 ถึง ร่างพรบ.จดแจ้งการพิมพ์



สุภิญญา นำเสนอเกี่ยวกับพ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ อันจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ว่า ที่ผ่านมา มีพ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 โดยปัญหาหลักๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ คือการถูกฟ้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท ทั้งโทษทางแพ่งและอาญา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั่งห้ามจำหน่ายหนังสือ ตัวอย่างกรณีที่ผ่านมาคือห้ามขายหนังสือฟ้าเดียวกัน ปัญหาที่เป็นอยู่ คือเรื่องการฟ้องร้องและสั่งระงับหนังสือ ด้วยข้อหาเรื่องความมั่นคงของชาติและกษัตริย์ และเป็นเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งปรากฏทั้งในพ.ร.บ.ฉบับเก่าและฉบับใหม่


 


สุภิญญาเสนอว่า แม้เนื้อหาของพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะไม่แย่นัก แต่ควรมีการทบทวนเรื่องโทษว่าควรเป็นโทษทางอาญาไหม ควรทบทวนเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท และควรลดอำนาจรัฐ เพิ่มกระบวนการดูแลกันเอง


 


 


ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ...



อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์กฎหมายฉบับนี้ว่า ไม่มีหลักส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเท่าที่ควร เป็นกฎหมายที่เอื้อให้กลุ่มทุน คือ เป็น  a law for the rich หรือ a law for the capitalist


 


อุบลรัตน์อธิบายว่า ในมาตรา 5 ของกฎหมาย เปิดช่องให้กรมประชาสัมพันธ์อยู่นอกระบบ สามารถที่จะไม่ต้องขอใบอนุญาต แล้วก็ยังสามารถขยายจำนวนคลื่นได้อีกด้วย ไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร ไม่ต้องรับผิดชอบกับประชาชน


 


"แม้พ.ศ.นี้ รัฐก็มีความคิดที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการ" อุบลรัตน์กล่าว


 


นักวิชาการจากภาคสื่อสารมวลชนยังกล่าวว่า กฎหมายทั้งฉบับไม่ได้พูดอะไรถึงทหาร ทั้งที่ทหารคือ stakeholder ใหญ่เช่นเดียวกัน ทหารจะขออยู่นอกระบบ ใช้สิทธิ์นอกระบบ แล้วภาคใหม่ที่จะเข้ามาได้ใบอนุญาตก็คือภาคธุรกิจ


 


นอกจากนี้ ยังไม่มีการเขียนแยกหมวดตามเทคโนโลยีการประกอบการ แต่เป็นการกำกับกิจการตามประเภทธุรกิจ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับธุรกิจ แล้วก็เอื้อธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังยอมให้มีการคงสัมปทานเดิมที่มีอยู่แล้วเอาไว้ โดยกลุ่มเหล่านี้ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ ได้กำไรมาสามสิบปี ก็ไม่ต้องขอใหม่ ให้ได้กำไรต่อไป


 


อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องจรรยาบรรณกับการพัฒนารายการที่ใส่ในกฎหมายนี้ ดูเหมือนจะดี แต่ยกให้มีกรรมการซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใคร มาดูแลกฎหมายนี้ อย่างไรก็ดี กรรมการที่มาดูแลไม่มีสัดส่วนของนักวิชาชีพ  แต่มีสัดส่วนที่รัฐเข้ามาควบคุม นี่เท่ากับรัฐเข้ามาคุมเข้มมากขึ้น เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายที่รัฐดูแล


 


อุบลรัตน์กล่าวว่า เนื้อหากฎหมาย ไม่ได้กำหนดวิธีการจัดสรรย่านความถี่ เหมือนเรื่องที่ดินที่ต้องมีวิธีการแบ่งสรร แต่เรื่องคลื่นนี้ ยังไม่มี เป็นเรื่องเดากันไปว่าเขาจะให้หรือไม่ให้อะไร นี่เป็นเรื่องไม่ทันสมัย และไม่ตอบโจทย์สถานกาณ์ปัจจุบัน


 


ความคุลมเครือเรื่องค่าใบอนุญาต เรื่องภาษี กฎหมายไม่ได้ให้ความชัดเจน มีแต่เรื่องบทลงโทษ เรื่องค่าปรับ แต่ไม่มีการพูดเรื่องค่าใบอนุญาต ซึ่งเมื่อกฎหมายเน้นเอื้อทุนแล้ว ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องพูดเรื่องสตางค์ อาจจะให้อยู่ในภาคผนวกก็ได้ ถ้าไม่พูดเลยดูจะเป็นเรื่องที่เอาไปซ่อนเร้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net