Skip to main content
sharethis

 โดย รวงข้าว

          รัฐธรรมนูญถาวรแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกประกาศใช้ 10 ธันวาคม 2475 หลังการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชถูกเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ถูกเปลี่ยนมาเป็นของสามัญชน เมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475


ร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดการลงประชามติวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมนี้ ถ้าผ่าน และมีผลบังคับใช้ จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 19 เป็นฉบับแรกที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจากประชาชน หากก็มีที่มาจากคณะรัฐประหาร ผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยปากกระบอกปืน รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิก คำสั่งของ คปค.เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ


            บทเริ่มต้นการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้รับดอกไม้และความชื่นชอบ มีการถ่ายรูปร่วมกับทหารและรถถัง ด้วยความโล่งใจว่าวิกฤติทางการเมืองของความขัดแย้งเผชิญหน้ากันระหว่างระบอบทักษิณกับกลุ่มผู้ต่อต้านที่อาจนำไปสู่การปะทะสูญเสียเกิดขึ้น ได้ยุติลง ผู้รักเสรีภาพบางส่วนยอมทำใจเพราะว่ารัฐประหารได้เกิดขึ้นจริงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และไม่เหมือนการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนแปลงองค์อำนาจสูงสุดมาเป็นของสามัญชน


            รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ครองอำนาจเหนือราชการ โดยเฉพาะกองทัพและมหาดไทย รวมทั้งกลุ่มขุนนางผู้มีบารมีเดิม นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงนำมาให้ราชการปฏิบัติตามได้


            แทนที่ผู้ถือครองอำนาจโดยฉันทานุมัติของประชาชนจะใช้อำนาจที่มีอยู่บริหารประเทศให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจถูกใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เครือญาติ และพวกพ้อง มีการทุจริตเชิงนโยบายผลประโยชน์ของประเทศถูกทับซ้อนด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มตน


            มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ศาลเตี้ยถูกใช้แทนศาลยุติธรรมเพื่อสร้างความนิยมจากนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติด อำนาจทำให้คนยึดติดเชื่อมั่นอำนาจตนเองจนไม่เกรงเทวดาฟ้าดินและผู้มีบารมีทั้งหลาย การปกครองประเทศด้วยระบบราชการเปลี่ยนเป็นการควบคุมแบบบริษัทเอกชนโดยมีทักษิณเป็นซีอีโอใหญ่


            19 กันยายน 2549 นอกจากทักษิณจะสูญเสียอำนาจแล้ว ประชาชนทั้งประเทศยังสูญเสียอำนาจของตัวให้แก่ระบบราชการและผู้ที่ดีกว่าไปด้วย


            คณะรัฐประหารสัญญาว่าจะทำเพื่อประชาชนและไม่สืบทอดอำนาจ ประชาธิปไตยจะกลับคืนมาภายในเวลา 1 ปี คปค. เปลี่ยนมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2549 ได้ประกาศใช้


            เกือบครบปีแล้วที่ความขัดแย้งและปํญหาไม่ได้ลดลง


            ธรรมชาติของผู้ถือครองอำนาจไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีเรื่องความไม่โปร่งใสออกมาเป็นระยะ นับแต่กลุ่มนายทหารเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก การขอบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดักฟังเพื่อความมั่นคงจาก บมจ.ทีโอทีจำนวน 800 ล้านบาท การซื้อรถถังล้อยางหุ้มเกราะจากยูเครน กระทั่งการจ้างพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติแจกจ่ายประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่โปร่งใส หรืออาการกร่างและสถาปนาตัวเองเป็นวีรบุรุษของชาติ ไม่สามารถตรวจสอบหรือแตะต้องได้ของผู้ร่วมคณะรัฐประหารบางคน


            ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรถูกร่างจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างมีที่มาจากคณะรัฐประหารเป็นหลัก ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน ร่างเสร็จแล้วจึงไปรับฟังความคิดเห็นชี้แจงจากประชาชน และให้ลงประชามติเห็นชอบเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม ชึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารที่ผ่านมา กล่าวกันว่าเป็นข้อเสนอของนิติบริกรใหญ่ที่เป็นหมายเลขหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติในขณะนี้ เป็นหลักให้ลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ


            ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ รัฐสภาและพรรคการเมืองอ่อนแอ ราชการเข้มแข็ง รัฐบาล การบริหารประเทศและการดำเนินการการทางการเมืองจะถูกชี้นำโดยราชการและผู้ที่ดีกว่า (ยกเว้นผู้ยึดอำนาจจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลเอง) โดยให้ ส.ว. 76 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนเท่ากันไม่ว่าจังหวัดเล็กที่มีประชากรไม่กี่แสนคน หรือจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรหลายล้านคน ส.ว.อีก 74 คนมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคนซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ดีกว่าประชาชนทั้งประเทศ เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.74 คนนี้จะขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสุดในการปฎิบัตหน้าที่ เคลื่อนไหว ลงมติ กำหนดทิศทางของวุฒิสภาเพราะมีอำนาจเต็มเช่นเดียวกับ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่จะยึดโยงกับผู้สรรหาและผู้มีอำนาจปัจจุบัน


            การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ จะตัดความเชื่อมโยงกับประชาชนให้น้อยลงแต่ ส.ส. จะไปเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมากขึ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 80 คน จาก 8 เขตเลือกตั้งจะถูกใช้เทคนิคการแบ่งเขต ให้เป็นประโยชน์ กับผู้สมัครที่ผู้มีอำนาจปัจจุบันสนับสนุน


            แม้สิทธิของประชาชนถูกรับรองไว้ในมาตรา 32 (ชีวิตและร่างกาย) มาตรา 33 (ที่อยู่อาศัย) มาตรา 36 (การติดต่อสื่อสาร) มาตรา 63 (การชุมนุม) แต่ทุกมาตราถูกจำกัดได้ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สนช.ได้บรรจุวาระการพิจารณา พ...การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่ง พล...อิสรพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาและคณะเป็นผู้เสนอ (คุมม็อบทุกจังหวัด สลายได้ไม่ต้องรับผิด)


            มีการยืนยันให้การรัฐประหารและการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งถูกต้อง ในมาตรา 309 "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยกฏหมาย" แม้แต่ ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ในยุคสมัยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยังแสดงความเห็นไว้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 50 เกี่ยวกับมาตรา 309 ที่พูดถึงการนิรโทษกรรม


         "แค่มาตรานี้มาตราเดียวก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เสียทั้งฉบับ ไม่รู้ว่ามีเจตนาอะไรที่มีการนิรโทษกรรมการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้นิรโทษกรรม คมช.เอาไว้แล้ว ในอดีตทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ จะมีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตรากฎหมาย ถ้าเราทำผิดแล้วเขียนกฎหมายยกโทษให้ตัวเอง มันขัดหลักสากล แล้วถ้าคนที่มาเป็นรัฐบาลทีหลังไม่เห็นด้วย หากจะเอาผิดกันย้อนหลัง ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะคดีมีอายุความถึง 20 ปี"


            แต่การเอาผิดคณะรัฐประหารย้อนหลังยังไม่เคยปรากฎในแผ่นดินไทย


            การลงประชามติ เป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยต้องอยู่ในบรรยากาศเสรี แต่ 35 จังหวัดทั้งสี่ภาคของประเทศไทยยังอยู่ใต้กฎอัยการศึกทั้งที่ไม่มีการสู้รบหรืออยู่ในภาวะสงครามยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา


            การรณรงค์ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมรัฐและหน่วยราชการต้องเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบรณรงค์ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรีเท่าเทียมกันและเคารพสิทธิกันทั้งสองฝ่าย รัฐต้องวางตนเป็นกลางมีหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิ แต่ไม่ถูกต้องที่จะนำเงินของประชาชนไปรณรงค์ชี้นำให้ประชนลงมติให้ความเห็นชอบ โดยผ่านกลไกและบุคลากรทางราชการไม่ว่าจะเป็นมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย องค์กรส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผ่าน อสม. กลาโหมผ่านทหารและทหารเกณฑ์ปลดประจำการ ตลอดจนหน่วยราชการอื่นๆ รวมทั้งการชี้นำผ่านสื่อมวลชนต่างๆ แต่กีดกันการเคลื่อนไหวของฝ่ายไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นับเป็นความไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบกันเป็นอย่างมาก


            ผู้ดำเนินการจัดลงประชามติต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการตัดสิน แต่ กกต. สองในห้าคนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยท่านหนึ่งเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วการดำเนินการลงประชามติจะเป็นกลางและเป็นธรรมได้อย่างไร


            ผู้ออกเสียงลงประชามติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550 ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สนับสนุนทักษิณ และผู้ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องสนับสนุนการรัฐประหาร ทว่าผลการลงประชามติจะมีผลต่อคณะรัฐประหารและผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความชอบธรรมของการยึดอำนาจและการฉีกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการสืบทอดอำนาจ หรือทำให้กล้าที่จะสถาปนาอำนาจเหนือรัฐผ่านพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว


            เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีที่มาจากความต้องการการปฎิรูปการเมืองของประชาชนต่อจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผู้ร่างมาจากขบวนการเชื่อมโยงของประชาชนทั้งประเทศ แม้จะไม่ได้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ตาม มีการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนก่อนทำการร่าง โดยมีบทบัญญัติ แก้ไขความอ่อนแอของรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ให้มีความเข้มแข็งนำนโยบายที่เสนอต่อประชาชนมาให้ข้าราชการปฎิบัติตามได้


            เชื่อกันว่าทักษิณมีอำนาจลดลงไปมากตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร และวันนี้ ศาลออกหมายจับแล้ว ไม่สามารถกลับมาครองอำนาจได้แน่นอน แค่เอาตัวรอดจากความผิดหลายการกระทำที่ผ่านมา ให้ตัวเองและครอบครัวกลับมาอยู่เมืองไทยได้โดยไม่ติดคุกก็ดูจะลำบาก


            ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริงไม่ใช่มีสิทธิเสรีภาพในฐานะผู้อ่อนแอ ที่จะอยู่รอดได้ต่อเมื่อต้องอยู่ภายใต้การปกครองอุปถัมภ์ดูแลของผู้ที่ถือตัวว่าดีมีอำนาจเหนือกว่าไม่สามรถถูกตรวจสอบได้ หลักการเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงประชามติต้องการให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ ราชการเข้มแข็ง


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net