ภาคประชาชนค้านเปิดทดลองจีเอ็มโอภาคสนาม ชี้กฎหมายไม่พร้อม กรณีปนเปื้อนเก่ายังค้าง

ประชาไท - 17 ส.ค.50 วานนี้ (16 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักธุรกิจ ข้าราชการอาวุโส นักวิชาการ เครือข่ายเกษตรกร และนักพัฒนาแถลงข่าวสรุปเนื้อหาการแถลงข่าวคัดค้านการปลูกพืชจีเอ็มโอทดลองในไร่นา ทั้งนี้ เนื่องมาจาก นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่า ภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว ทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้เริ่มวิจัยพืชตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ในระดับไร่นา โดยเตรียมจัดทำแผนงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์

 

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การการหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปลายปี 2547 ไม่มีการสรุปจากกระทรวงเกษตรเลยว่าทำไมจึงหลุดออกมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เองก็เป็นประธานชุดสอบสวนการแพร่ระบาดมะละกอจีเอ็มโอในขณะนั้นก็ได้ข้อสรุปว่ามีการหลุดรอดออกไปจริง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าเพราะสาเหตุใด ดังนั้น การไปยกต้นแบบมาตรการควบคุมของการทดลองจีเอ็มโอในไร่นาใหม่มาก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะไม่สามารถหาสาเหตุของการหลุดรอดได้

 

นอกจากนี้หากจะมีการทบทวนมติครม. 3 เมษายน 2544 ที่ไม่อนุญาตให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา แล้ว ครม.มีมติออกมาว่าให้ทดลองจีเอ็มโอต่อ คำถามคือจะทดลองอย่างไร หากมีการทดลองเชิงไร่นาจะนำไปสู่การพืชจีเอ็มโอปลูกเชิงพาณิชย์ จะต้องมีพื้นที่ที่เขตกันชนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนได้ แล้วเรามีมาตรการอะไรที่จะรับรองว่าจะไม่มีการหลุดรอดออกมา เพราะในปัจจุบันพื้นที่ปลูกพืชชนิดต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ข้าว ข้าวโพด ก็ไม่สามารถจัดโซนนิ่งได้เพราะแปลงการเพาะปลูกของเกษตรกรบ้านเราเป็นแปลงขนาด ดังนั้น หากจะทดลองในระบบไร่นา ต้องมีต้นทุนจำนวนมากกับระบบการตรวจสอบว่ามีการหลุดรอดหรือไม่ จะต้องมีระบบการติดฉลาก ซึ่งเป็นต้นทุนที่มากมาย

 

บัณฑูร กล่าวถึงข้อเสนอ ว่า ประการแรก ถ้าหากมีการทดลองต่อไป ต้องทำสิ่งที่ ครม.สัญญากับประชาชนว่าจะทำกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีร่างกฎหมายแล้ว มี 103 มาตรา แต่กระทรวงเกษตรกลับดองกฎหมายไว้ เพราะในกฎหมายต้องมีผู้รับผิดชอบ และเก็บเงินเข้ากองทุน หากมีปัญหาการหลุดรอดเกิดขึ้น ซึ่งบริษัทที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นคนที่ไม่อยากให้กฎหมายผ่าน

 

ประการที่สอง วันนี้สรุปให้ได้ว่าฝ้ายและมะละกอ หลุดรอดออกมาได้อย่างไร สอบสวนออกมาให้ได้ว่าสาเหตุคืออะไร ประการที่สาม ขอให้รอการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสร็จก่อน เพราะตอนที่กรรมการสิทธิไปตรวจสอบพบว่ามีการหลุดรอดอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรก็ไม่ได้เข้ามาดำเนินการอย่างไรเลย จึงมีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาญากับสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นว่า ละเลยในการติดตามทำลายมะละกอตัดแต่พันธุกรรม ล่าสุดได้รับจดหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าได้สอบสวนและทำสำนวนเสร็จแล้ว ได้ยื่นเรื่องส่งคำร้องให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ไปแล้ว และป.ป.ช. รับเรื่องไว้แล้ว เมื่อ 49 ซึ่งเรื่องอยู่ในระหว่างการสอบสวนอยู่ จึงให้รอการสอบสวนให้เสร็จก่อน ค่อยทบทวนมติ ครม. อีกครั้ง

 

วิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนายการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ได้ติดตามจีเอ็มโอมา ตั้งแต่มีการหลุดรอดของฝ้าย ซึ่งเชื่อว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย บริษัทข้ามชาติ ด้วย การขับเคลื่อนเรื่องจีเอ็มโอ ก็มีบริษัทมอนซานโต ผลักดันอย่างเข้มแข็งมากเพราะเป็นบริษัทที่ควบคุมเมล็ดพันธ์จีเอ็มโอ และได้มีการทำวิจัยเรื่องมะละกอจีเอ็มโอ และมอนซานโต้ ผลักดันให้จัดตั้งองค์กรขึ้นมา ชื่อไอซ่า ซึ่งมีสาขาในประเทศไทยด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับประเทศไทยคือไทยได้นำมะละกอไปตัดต่อพันธุกรรมที่คอแนลแล้วนำกลับมาประเทศไทย ดังนั้นกระทรวงเกษตรทำการวิจัยจีเอ็มโอภายใต้การตกลงที่ทำร่วมกับคอแนลโดยมีมอนซานโต้เป็นบริษัทแม่

 

นอกจากนี้มอนซานโต้ร่วมกับไอซ่า ได้จัดตั้งสมาคมขึ้นมาในไทย โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการมาจากบริษัทข้ามชาติที่ทำจีเอ็มในประเทศไทยหลายบริษัท ส่วนที่เหลือก็คือกลุ่มนักวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ ซึ่งการทดลองเรื่องจีเอ็มโอมีการเชื่อมโยงกับมติ ครม. 3 เมษายน 2544 และมติ ครม. 20 สิงหาคม 2547 ซึ่งนายกรัฐมนตรีทักษิณ ได้ออกมาประกาศว่า จะต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวิภาพขึ้นก่อน ในการร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้ก็จะมีตัวแทนจากบริษัทและกระทรวงเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์เข้ามา ซึ่งกฎหมายที่คิดว่าจะปกป้องเกษตรกรก็ตาม ก็อาจจะมีหลายอย่างที่ซ่อนอะไรไว้บ้าง ทำให้ยังไม่มีการส่งเข้าครม. เพื่อพิจารณา เป็นต้น

 

วิฑูรย์กล่าวอีกว่า สิทธิบัตรการวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ ที่ผ่านมาไม่ใช่เป็นของกระทรวงเกษตร แต่เป็นของคอแนลและบริษัทมอนซานโต้ และคอแนลก็ได้จดสิทธิบัตรเรื่องไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของไทย ทั้งๆ ทีมีการเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรคัดค้านการจดสิทธิบัตรของไทย

 

วิทูรย์ ยังกล่าวต่อว่าได้ติดตามเรื่องจีเอ็มโอนี้มากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่มีการนำจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศ โดยลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการปลูกทดลองจีเอ็มโอ ดังนี้


  • 19 ตุลาคม 2538 กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้(ไทยแลนด์)จำกัด นำเข้าเมล็ดฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบในประเทศ

  • 15 พฤษภาคม 2540 กรมวิชาการเกษตร นำเข้าต้นกล้าและเนื้อเยื่อมะละกอจีเอ็มโอจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลเข้ามาทดลองในประเทศไทย

  • 22-27 กันยายน 2542 ไบโอไทยและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกพบการระบาดของฝ้ายจีเอ็มโอที่จ.เลย

  • 30 พฤศจิกายน 2542 คณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรฯยืนยันพบการปนเปื้อนฝ้ายจีเอ็มโอจริง กรมวิชาการเกษตรพยายามสร้างหลักฐานว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ทำให้เกิดการปนเปื้อน

  • 3 เมษายน 2544 รัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของสมัชชาคนจนให้ยุติการทดลองจีเอ็มโอระดับไร่นาชั่วคราวและให้มีการ่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

  • 27 กรกฎาคม 2547 กรีนพีซพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในเมล็ดพันธุ์และแปลงเกษตรกร แต่กระทรวงเกษตรไม่ยอมรับ และกล่าวหากรีนพีซว่าทำให้เกิดการปนเปื้อนเอง

  • 20 สิงหาคม 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงมติคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่จะอนุญาตให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย

  • 31 สิงหาคม 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสั่งถอนวาระการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอจากวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

  • 22 ตุลาคม 2547 คณะกรรมการตรวจสอบที่ตั้งโดยกระทรวงเกษตรฯยอมรับการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอและสรุปว่ามีคนภายในเกี่ยวข้องด้วย

  • 10 สิงหาคม 2550 นายธีระ สูตะบุตร เตรียมการเสนอครม.เพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอ

 

วิฑูรย์กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ ขอขอประกาศจุดยืนร่วมกันในการคัดค้านจีเอ็มโอว่า เราไม่เห็นด้วยที่จะมีการปลูกหรือทดลองจีเอ็มโอในสภาพเปิดหรือในระดับไร่นา หรือระดับเกษตรกร พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยืนยันมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 เมษายน 2544 ที่ไม่อนุญาตให้ทดลองในระดับไร่นา จนกว่าจะมีกฎหมายและมาตรการที่เข้มงวดและควบคุมการปนเปื้อนของจีเอ็มโอให้ได้ก่อน

 

สุรวิทย์ วรรณไกรโรจน์ อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐซึ่งผลักดันการทดลองในไร่นา พยายามอ้างอยู่อย่างต่อเนื่องโดยมีองค์กรภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนด้วยว่าหากไม่มีการทดลองจีเอ็มโอในไร่นาแล้วจะทำให้ประเทศไทยล้าหลังทางด้านเทคโนโลยี ในการศึกษาทดลองจีเอ็มโอก็ยังมีการศึกษาอยู่มากมายแต่มีการทดลองในโรงเรือนปิด หรือห้องปฏิบัติการ ซึ่งก็มีการทดลองเหมือนเดิม และต้องยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ยังไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เพราะงบประมาณในด้านการวิจัยน้อย ซึ่งการวิจัยยังมีการทำอยู่

 

"จำเป็นหรือไม่ที่ต้องลงไปทำการทดลองภาคสนาม การทดลองจีเอ็มโอสามารถทำการศึกษาทดลองในโรงเรือนปิดก็เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะขณะที่พืชอยู่ในสภาพโรงเรือนปิด พืชจะแสดงลักษณะทีไม่พึงประสงค์มาก ดังนั้นการศึกษาผลเสียของจีเอ็มโอจะได้ผลดีกว่าออกไปศึกษาในภาคสนามด้วยซ้ำ ดังนั้นคำกล่าวอ้างจึงไม่เป็นความจริงที่ต้องออกไปศึกษาในภาคสนาม ความจำเป็นในการศึกษาภาคสนามคือ เรื่องของการเกษตรว่าพันธุ์ที่ได้ออกมาใหม่ปลูกแล้วเป็นอย่างไร ให้ผลผลิตดีหรือไม่ เพราะในสภาพโรงเรือนปิดการปฏิบัติไม่เหมือนเกษตรกรปฏิบัติ การให้ผลผลิตจึงไม่เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีโดยไม่ต้องทดลองในภาคสนาม" สุรวิทย์กล่าว

 

สุรวิทย์กล่าวถึงประเด็นต่อมาว่า ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พยายามร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเนื่องจากการตัดแต่งทางพันธุกรรม โดยมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถึงปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ การร่างกฎหมายได้หยุดลงด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ แล้วจู่ๆ ก็มีแนวทางที่จะให้มีการทดลองในไร่นาต่อไป คำถามจึงมีว่าการทดลองในไร่นาจะมีอะไรรับรองว่าจะไม่มีการปนเปื้อนหลุดรอดออกมาอีก ซึ่งจุดยืนของเราคือเราไม่เห็นด้วยกับการทดลองถ้าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีกฎหมาย ไม่มีการเยียวยา ไม่มีการชดเชย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีขึ้นมาก่อน 

 

สุนทร ศรีทวี อุปนายกการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และตัวแทนจากบริษัทริเวอร์แคว กล่าวว่า สินค้าอินทรีย์ โดยมาตรฐานคือห้ามปนเปื้อนจีเอ็มโอโดยสิ้นเชิง ดังนั้นเมื่อไรที่ปล่อยให้จีเอ็มโอออกมานอกห้องทดลองจะมีผลกระทบต่อทุกอย่าง ประเทศคู่ค้าที่จะไม่เอาด้วย โดยเฉพาะยุโรป ภาพรวมของเกษตรอินทรีย์มีความเจริญเติบโตอยู่ตลอดร้อยละ 15 - 25 นอกจากนี้ในการทำการค้ากับประเทศคู่ค้า เช่น เทสโก้ จะมีการประเมินความเสี่ยงทางด้านจีเอ็มโออยู่ และมีการจัดกลุ่มระดับความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าอยู่ ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในประเทศที่เป็นความเสี่ยงต่ำอยู่ ซึ่งจะส่งผลถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบจีเอ็มโอ ซึ่งหากปล่อยให้จีเอ็มโอออกมานอกโรงเรือน

 

"ในแง่ธุรกิจเกษตร คนที่สนับสนุนจะมองว่าเราขายข้าวสู้คู่แข่งอย่างเวียดนามซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ แต่ไม่ใช่ เพราะการแข่งขันมีหลายมุมในการต่อสู้กัน เช่นการต่อสู้เรื่องสินค้าอินทรีย์เราก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากเรามีการทดลองข้าวจีเอ็มโอขึ้น จะทำให้ข้าวไทยแพ้เวียดนามทันที ซึ่งจีเอ็มโอไม่ได้มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจเกษตร แต่จะเป็นฝันร้ายของธุรกิจเกษตร" สุนทรกล่าว

 

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ตนทำงานกับเกษตรกรในภาคอีสานซึ่งเชื่อว่าจีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่นำไปสู่การผูกขาดการเกษตรซึ่งจะต้องใช้คู่กับกฎหมายสิทธิบัตร และจะทำลายเกษตรกรรายย่อย ตนเองได้ไปร่วมประชุมกับชาวนาที่อาเจนติน่า ซึ่งมีปัญหาที่ต้องรวมตัวกันเหมือนสมัชชาคนจน เรื่องการยึดที่ดินดังนั้นพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง มอนซาโต้ คาร์กิล

 

"กระทรวงเกษตรไม่มีการติดตามตรวจสอบโครงการที่มีปัญหาเรื่องการทุจริต แต่กลับมีโครงการใหม่ๆ ร่วมกับบริษัทการเกษตรเสมอ และนำเรื่องจีเอ็มโอซึ่งทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงบริษัท ขณะที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ส่งออกมากกว่าพันตันมาจากครอบครัวของชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ แต่กระทรวงเกษตรก็ไม่กล้านำสิ่งนี้มาเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรรายย่อยของประเทศไทยว่าเราสามารถสร้างการผลิตที่เกษตรกรพึ่งตนเองของเกษตรกรรายย่อย" อุบลกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท