Skip to main content
sharethis

วันนี้ (16ส.ค.50) ที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้าน ต.สะเอียบ จาก 4 หมู่บ้านคือ บ้านดอนชัย หมู่ 1 บ้านแม่เต้น หมู่ 5 บ้านดอนแก้ว หมู่ 6 และบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ร่วมกับคณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์ป่าสักทองธรรมชาติ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จำนวนกว่า 1,000 คน นำโดยนายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ,นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลสะเอียบ,นายภิญโญ ชมภูมิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ร่วมกับเครือข่ายเขื่อนสมัชชาคนจน ได้รวมตัวเดินขบวนประท้วงคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีการกล่าวโจมตีนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสหกรณ์ และ นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกมาผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อีกครั้ง


 


ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านหนังสือเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยระบุว่า ตามที่นายสามารถ  โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าขณะนี้กรมชลประทานได้ทำการสำรวจ และได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ และเห็นด้วยประมาณ 80 %แล้ว และยังเปิดเผยว่า ถ้าลงพื้นที่อีกครั้งความขัดแย้งไม่มี ก็จะกราบบังคมทูลขอพระราชทานอนุญาตทำเป็นโครงการพระราชดำริที่ประชาชนในพื้นที่เสียสละให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถวายในหลวงเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเลย ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลการยอมรับของคนในพื้นที่มาจากไหน ถือว่าเป็นการโกหกคนทั้งประเทศและโกหกสถาบันเบื้องสูง การผลักดันเรื่องเข้าสู่มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 เพื่อเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการละเมิดมติ ครม. 29 เมษายน 2540 ที่มีมติร่วมกับสมัชชาคนจน และยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอีกด้วย


 


หนังสือระบุอีกว่า เรายังยืนยันที่จะคัดค้านต่อสู้ พิทักษ์ผืนป่าสักทองอันเป็นสมบัติของประเทศ เพื่อสนองพระราชดำรัสพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 และจะถวายการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน โดยไม่ให้มีการสร้างเขื่อน และทำลายป่าอีกต่อไป ขณะนี้ชาวตำบลสะเอียบ ชาวอำเภอเชียงม่วน และประชาชนหลายพื้นที่ยังมีการคัดค้านอย่าง 100%  และจะคัดค้านทุกวิถีทางจนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


           


ทั้งนี้ ชาวตำบลสะเอียบได้มีมติที่ประชุมว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ประสานงานไปยังอธิบดีกรมชลประทานเพื่อแจ้งให้ทราบ  โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มารับหนังสือจากชาวตำบลสะเอียบ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2550 เวลา 09.00น.ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ไม่มารับหนังสือตามวันเวลาดังกล่าว ชาวตำบลสะเอียบประกาศชัดเจนว่า "จะไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้อย่างแน่นอน " 


           


ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว ได้แนบสำเนาหนังสือพิมพ์เหนือแพร่ ประจำวันที่ 21 - 31 กรกฎาคม 2550 (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2550) และสำเนาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2550 แนบมาด้วย


 


ในขณะที่ นายอุดม ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการ 4 หมู่บ้าน ได้ให้สัมภาษณ์กับ "สำนักข่าวประชาธรรม" ว่า การชุมนุมของชาวบ้าน ต.สะเอียบในวันนี้เป็นการตอบโต้คำพูดของนายสามารถ โชคคนาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ให้ข่าวสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางฉบับในวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยระบุว่า กรมชลประทานได้ทำการสำรวจและทำความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่จนได้รับการยอมรับประมาณ 80% แล้วที่ยินดีที่จะให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นใน จ.แพร่ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง


 


"ชาวบ้าน ต.สะเอียบยืนยันเหมือนเดิมว่าจะคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างถึงที่สุด การต่อสู้ที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้นเราให้ความร่วมมือที่ดีกับเจ้าหน้าที่จากส่วนต่างๆที่เข้ามาในพื้นที่มาโดยตลอด แต่ระยะหลังมานี้มักมีการกล่าวอ้างข้อมูลต่างๆขึ้นมาลอยๆเพื่อที่จะสร้างโครงการขึ้นมาให้ได้ อย่างล่าสุดก็จากนายสามารถ ที่อ้างว่าชาวบ้าน 80%เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย" นายอุดม กล่าว


 


นายอุดม กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นชาว ต.สะเอียบ จึงเห็นร่วมกันว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะไม่ยอมให้หน่วยงานใดเข้ามาในพื้นที่เพื่อที่จะผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกต่อไป ชาวบ้านจะไม่เจรจาด้วยเพราะมีบทเรียนความเจ็บปวดจากหน่วยงานต่างๆเหล่านั้นมาเยอะแล้ว และที่สำคัญให้นายสามารถมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านด้วยว่า กรณีชาวบ้าน 80% เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นนายสามารถเอาข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน


 


รายงานแจ้งว่า หลังจากที่ชาวบ้านประกาศว่า ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ไม่มารับหนังสือตามวันเวลาดังกล่าว ชาวตำบลสะเอียบประกาศชัดเจนว่าจะไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค.นี้นั้น ต่อมา ทางจังหวัดได้ส่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ลงมารับหนังสือ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ชาวบ้านจะแยกย้ายการชุมนุมได้มีการร่วมรุมประชาทัณฑ์หุ่นนายสามารถ โชคคนาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกมาปลุกให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ครั้งล่าสุด.


 


 






 


จดหมายเปิดผนึก


ถึง พี่น้องประชาชนทุกท่าน


เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


และแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วม


 


 


 


 


            ทุกฤดูแล้ง ทุกฤดูฝน ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องออกมาต่อต้าน คัดค้าน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานนับสิบปี เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่รัฐบาล และกรมชลประทาน ได้โอกาสในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ทั้งที่มีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ อาทิ


1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์


2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน


3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก


4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ


5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่


8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น


            พื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จะกระทบต่อผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีไม้สักทองขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น กว่า 40,000 ไร่ ริมแม่น้ำยม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม   จ.แพร่ โดยกรมชลประทานอ้างว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีสภาพป่าแล้ว ขณะที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบต้องเชิญชวนสื่อมวลชนไปพิสูจน์สภาพป่าสักทองเป็นประจำทุกปี


            พิธี บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จัดเป็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าสักทองและขอขมาต่อแม่น้ำยม อีกทั้งเป็นการประกาศจุดยืนในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด        หากแต่ป่าสักทองธรรมชาติผืนนี้ กลับเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักแสวงประโยชน์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากงบประมาณที่จะมาพร้อมกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 12,000 ล้านบาท ยังมีไม้สักทองอีกกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเสมือนผีที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาตลอดทุกยุคทุกสมัย


 


แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


การจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก


1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน


2. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ


3. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด


4. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม


5. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก


6. การซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน


7. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น


8. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น


ทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน


 


ขอแสดงความนับถือ


คณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์ป่าสักทองธรรมชาติ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net