รายงานจากห้องเรียนประชาไทน้อย : ท่าที นศ. ต่อ รธน. 2550

ประชาไท - 15 ส.ค.50 เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับเว็บไซต์ประชาไทน้อย และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน "ห้องเรียนประชาไทน้อย วิชาสัมมนาการเมืองไทย (สมท.101) ตอน อนาคตการเมืองไทยหลังประชามติ" ตั้งแต่เวลา 13.30-16.00 น. (ฟังเสียงการถ่ายทอดเสียงย้อนหลังได้ที่ http://multimedia.prachatai.com/audio/prachatainoi-20070815f.mp3 - ขนาด: 35MB)

 

ณภัค - คำพร - ตฤณ - อดิศักดิ์ - ทศพล - ภูริ

 

บรรยากาศงานประชาไทน้อย

 

'เด็กหลังห้อง' อ.พิชญ์' และ 'อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง' ในงานประชาไทน้อย

 

ผู้ร่วมสัมมนาซึ่งเป็นนักศึกษา ได้แก่ คำพร ธุระเจน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และแฟนพันธุ์แท้ 2004 เลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม., ตฤณ ไอยะรา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย และอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ, ภูริ ฟูวงศ์เจริญ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ., อดิศักดิ์ สุขเกษม จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.นครปฐม และกรรมการบริหาร สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ดำเนินรายการโดย ณภัค เสรีรักษ์ ประชาไทน้อยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

อย่างไรก็ตาม ในกำหนดการจะมีชาติชาย แสงสุข นายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครสวรรค์ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฝ่ายเยาวชน แต่ชาติชายได้แจ้งว่าป่วยไม่สามารถมาร่วมเสวนาได้

 

ชี้ลงประชามติให้ รธน. ผ่านไปก่อน ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง

วงเสวนาเริ่มต้นที่ผู้ร่วมเสวนาคนแรกคือ ตฤณ ไอยะรา นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่ากล่าวว่าหากรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติ การเมืองไทยจะเป็นแบบที่ระบบข้าราชการเป็นใหญ่อีกครั้ง พรรคการเมืองจะมีความเข้มแข็งน้อยลง ไม่มีเสถียรภาพ ออกนโยบายไม่ได้ ดังนั้นการเสนอว่าลงประชามติผ่านไปก่อนให้การเมืองมีเสถียรภาพ จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไหร่

 

สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของระบบทุนนิยมโลกมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยซึ่งเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าลดลง มีโรงงานถูกปิดไปมาก เพราะมีคำสั่งการผลิตลดลง มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยผูกติดกับทุนนิยมโลก เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพหรือไม่ อยู่ที่การเมืองไทยเป็นสำคัญ ถ้านักลงทุนไม่เชื่อมั่น ต่อให้ประชามติผ่าน เศรษฐกิจไทยก็จะไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นมากนัก เพราะวิกฤตฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกายังมีอยู่และคงมีผลยาวไปถึงสิ้นปีนี้

 

"ส่วนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญปี 2550 มีมาตราที่กำหนดเรื่องสิทธิหลายอย่าง เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่มาตราเหล่านี้จะเกิดอยู่ที่กฎหมายลูกที่จะออกมา ขอยกกรณีที่อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง "ปิดเขื่อนปากมูน โง่กันทั้ง ครม. หรือ" คือรัฐบาลปิดเขื่อนปากมูนโดยไม่ฟังเสียงประชาชน รัฐธรรมนูญเสนอให้ประชาชนสามารถจัดสรรทรัพยากรได้เอง แต่ ผอ.กอ.รมน. กลับแทรกแซงชาวบ้าน ขนาด พรบ.ความมั่นคงยังไม่ออก ชาวบ้านสิทธิชาวบ้านยังถูกลิดรอนขนาดนี้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มันจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้" นายตฤณกล่าว

 

 

แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทยชี้ข้อเสีย รธน.50

นายทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย และอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 การให้ ส.ส.ย้ายพรรคเสรี จะทำให้ระบบพรรคการเมืองมีปัญหา ในระยะยาวถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติและไม่ถูกแก้ เราจะไม่เหลือสถาบันการเมืองไหนมาแก้วิกฤตอย่างชอบธรรมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการดึงสถาบันที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมือง มาเกี่ยวข้องโดยตรง คือสถาบันศาล โดยให้ศาลเสนอกฎหมายโดยตรงต่อรัฐสภาได้ การให้ศาลเสนอกฎหมายโดยตรงได้ ทำให้ คณะรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงเลย

 

ดังนั้นถ้าศาลเสนอกฎหมายเข้าสภา ถ้ากฎหมายนั้นมีผลต่อฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารอาจส่งซิกให้สภาคว่ำกฎหมายฉบับนี้ ถ้ากฎหมายไม่ผ่านแล้วศาลโวย รัฐบาลก็สามารถบอกได้ว่าผมไม่รับผิดชอบ นั่นเป็นเรื่องของสภา นี่คือการดึงสภาบันที่เหลืออยู่เพียงสถาบันเดียวที่จะแก้วิกฤตชาติได้ในอนาคตลงมาในการเมือง

 

แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทยผู้นี้ ยังพูดต่อไปว่า เสรีภาพในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ซ้ำยังลดลงอีกด้วย ซ้ำยังโอนอำนาจทุกอย่างให้ฝ่ายตุลาการหมด นอกจากนี้เขายังมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีกรณีนิรโทษกรรมล่วงหน้า ใน ม.309 ถือว่าอันตราย เพราะเขียนว่าการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

"ดังนั้นหาก ร่าง พรบ.ความมั่นคงแห่งชาติ ถือว่าเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารนะครับ ผ่าน สนช.เมื่อไหร่ วันหน้ามีคนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกเพราะบอกว่า พรบ.นี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว จะส่งมาตีความอะไรอีก"

 

จะเห็นว่า สถาบันการเมือง รัฐบาลอ่อนแอ ศาลถูกลากเข้าไปในการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน และสุดท้ายเราจะไม่เหลือสถาบันอะไรเลยที่เป็นที่พึ่ง บางคนบอกว่าเหลือแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นความจริง แต่ในหลายกรณีที่ผ่านมา การให้การเมืองเผชิญหน้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงเป็นเรื่องที่อันตราย

 

 

รธน.50 จะสร้างคนบางพวกให้กลายเป็น "เทวดา"

ทศพล สรุปว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งที่จะเกิดก็คือ เราจะสร้างคนบางกลุ่มบางพวกให้กลายเป็นเทวดา ซึ่งสังคมไทยชอบทำ และคนกลุ่มนี้มันตรวจสอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาล องค์กรอิสระทั้งหมดและข้าราชการประจำ รัฐธรรมนูญ 2550 ให้นักการเมืองเปิดเผยทรัพย์สินทั้งหมด แต่ผมอยากรู้ว่า ประธานศาลฎีกาว่ามีเท่าไหร่ ประธาน กกต. ที่ให้ใบเหลืองใบแดงนักการเมือง มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแค่ไหน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ให้เปิดเผย เพียงแค่ให้ส่งรายงานเข้า ปปช. แล้วเก็บเข้าลิ้นชัก รัฐธรรมนูญ 2550 มีการห้ามรัฐมนตรีและคู่สมรสถือหุ้นในบริษัท แต่ข้าราชการระดับสูงไม่ห้าม ซ้ำคนใน คมช. บางคนมีหุ้นในบริษัท และมีผลต่อการต่อสัญญาสัมปทานที่ดินการรถไฟด้วย

 

ประธานศาลฎีกาก็สามารถทุจริตได้ ทำไมจึงไม่ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินออกมา เวลาตุลาการทุจริต เขาให้หลังบ้านทำ ให้ภรรยาทำ ถ้าไม่ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แบบนี้ จะคาดหวังให้ตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างไร เพราะต้นทางคือหลังบ้านของเขาไม่เคยถูกตรวจสอบเลย นี่จึงเป็นการสร้างคนบางกลุ่มบางพวกให้กลายเป็นเทวดา กลายเป็นพระอรหันต์ หมวดจริยธรรมในรัฐธรรมนูญเป็นแค่ตัวหนังสือ เราต้องดูที่พฤติกรรมของคน ว่าจะเป็นแบบอย่างต่อไปให้ลูกหลานได้หรือไม่

 

"ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาทางด้านจริยธรรมอย่างสูง ผมฟังเขาอภิปรายพอดีว่าจะลงประชามติเมื่อไหร่ ทุกคนอภิปรายทางเดียวกันว่าต้อง 19 สิงหาเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลประกาศแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสม ประชามติครั้งนี้จึงมีปัญหา หนึ่งให้เวลา 19 วันในการอ่านรัฐธรรมนูญ สองกีฬ่ามหาวิทยาลัยโลกเพิ่งจบวันที่ 18 ส.ค. จะทำให้เจ้าหน้าที่จัดงานหลายพันคนไม่มีเวลาอ่าน กฎหมายระบุไม่ให้ลงประชามติเร็วกว่า 15 วัน แต่ไม่ให้ช้ากว่า 30 วัน ส.ร.ร.เลยใช้ 30 วัน

 

"ดังนั้นการลงประชามติแบบนี้จึงต่างอะไรจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชิงกำหนดวันเลือกตั้งหลังยุบสภาเพียง 37 วัน ทั้งที่กฎหมายกำหนดอย่างช้า 60 วัน ส.ส.ร. อ้างว่ากำหนดวันลงประชามติว่าถูกกฎหมาย ข้ออ้างนี้คุ้นๆ เหมือนนายกฯ ทักษิณเคยพูด เพราะฉะนั้นถ้าไปกล่าวหาว่าทักษิณไร้คุณธรรม จริยธรรม แต่คนร่างรัฐธรรมนูญถึงขั้นกำหนดหมวดคุณธรรม จริยธรรมในรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากอดีตนายกฯ ทักษิณมากสักเท่าไหร่ คำถามคือ แล้วในอนาคตสังคมไทยจะคาดหวังให้สังคมไทยมีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไร"

 

นายทศพล สรุปสภาพประชาชนหลังการลงประชามติว่า "ประเทศไทยในวันข้างหน้า พวกเราจะต้องเหนื่อย ทำงานหนักอย่างแสนสาหัส ในการพาให้ประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤติกาล"

 

 

กรรมการ อมธ. ชวนรับรัฐธรรมนูญ"50 แต่แก้ทีหลัง ให้บ้านเมืองสงบ

นายคำพร ธุระเจน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และแฟนพันธุ์แท้ 2004 เลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม., กล่าวว่า การจะรับหรือไม่รับเป็นสิทธิของคุณ ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ดี มันห่วย หายนะ ก็ไม่ต้องไปรับ หรือไม่ไปลงประชามติ แต่ถ้าเห็นว่ามันดีกว่าหรือมีเหตุผลพอที่จะรับ ก็รับ

นายคำพรเห็นว่าการลงประชามติเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนหนึ่ง และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

 

แต่กรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้ามองว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม มันก็ไม่มีวันได้เกิดเพราะมันมาจากการปฏิวัติ ซึ่งนายคำพร ยกคำพูดของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ เลขาธิการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่พูดกับเขาว่า "ถ้า คมช. เป็นพ่อ สสร. เป็นลูก รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหลาน ถ้าพ่อทำผิดทำไมโยนผิดให้ลูกกับหลาน"

 

มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทักษิณใช้ช่องโหว่จาก รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้มีปัญหาจนเกิดปฏิวัติ ดังนั้น สรร. จึงร่างรัฐธรรมนูญปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาทักษิณ แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ว่าถ้าเราไม่รับ มันไม่จบ รับเพื่อให้ค่อยๆ แก้ไปทีละจุดได้หรือไม่ คือถ้ารัฐธรรมนูญมันไม่ผ่าน คมช. เอาอย่างอื่นมาต่อ แล้วเราไม่เห็นด้วย เราก็แข็งไปแข็งมามันก็ไม่จบ ดังนั้นก็รับไปก่อน เหตุผลค่อยว่ากัน แล้วเราค่อยไปแก้

 

นายคำรณเสนออีกว่าให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่สัญญาว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง

 

"มีคนเปรียบให้ผมฟังว่า รัฐบาลที่แล้วเป็นเผด็จการรัฐสภา รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการทหาร ดูเลวร้ายกว่า เพราะเผด็จการรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง แต่ผมขอถามกลับว่ากระบวนการเลือกตั้งมันบริสุทธิ์ยุติธรรมขนาดไหน การปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเท่าไหร่ แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจะให้ทำไง ให้เรากลับไปแก้ไหม คือคนมันนานาจิตตัง คนนู่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่เอาจะให้เอาอะไร"

 

นายคำพรเห็นว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ สสร. หลายคนก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆ จากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ทำไมเนื้อหามันออกมาไม่ดีขึ้น เช่น เรื่อง ส.ว.ที่บอกว่ามาจากการสรรหาครึ่งหนึ่ง มันไม่ค่อย Work เท่าไหร่ หลังประชามติและหลังการเลือกตั้ง น่าจะดีกว่านี้

 

"อยากให้ช่วยกันมาอยู่ตรงกลางๆ ช่วยๆ กันไปทีละจุด แล้วเราไปรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธินะคับ" คำพรกล่าววิงวอนก่อนสรุปว่า

 

"เรื่องเนื้อหาไม่ดีผมก็เห็นด้วยหลายเรื่อง เช่นเรื่ององค์กรอิสระ อย่างที่คุณทศพลเสนอว่าเอาองค์กรศาลมาทำไม แต่ลองคิดกันดิครับ ว่าถ้ารับร่างแล้วมันจบ และมีการร่างใหม่โดยภาคประชาชน มันน่าจะคุยกันได้ ถ้ารัฐบาลใหม่มีคำมั่นสัญญา คือเราต้องคุยกันหลายฝ่าย ไม่ใช่ว่าคุยคนนี้แล้วจบ คุยคนนี้แล้วจบ มันไม่จบ คนมันต้องรวมกัน คนมันเยอะมาก และทุกคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง"

 

 

"ภูริ" ตั้งคำถามประชามติจะเป็นจุดเปลี่ยนจริงหรือ?

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าได้ฟังคุณคำพรแล้วเหมือนมาจากมูลนิธิรัฐบุรุษเน้นความสมานฉันท์ ได้ฟังคุณทศพลพูดเหมือนกับกำลังหาเสียงเลือกตั้งแข่งกับคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี

 

โดยภูริตั้งคำถามว่าสังคมไทยหลังการลงประชามติมันจะเป็นจุดเปลี่ยนขนาดนั้นเชียวหรือ ผมก็นึกขึ้นได้ว่าสังคมการเมืองไทยมันจะเปลี่ยนกี่รอบ เพราะมีการจัดเสวนาเรื่อง การเมืองไทยหลังรัฐประหาร การเมืองไทยหลังคดียุบพรรค การเมืองไทยหลังคุณทักษิณหลังซื้อแมนซิตี้ และที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ก็เพิ่งจัดการเมืองไทยหลังอายัดทรัพย์ แล้ววันนี้เราก็มาจัดการเมืองไทยหลังการลงประชามติ ผมคิดว่า ชิบหายแล้วทีนี้ สังคมไทย การเมืองไทย เปลี่ยนไปทุกเดือนเลย อนาคตต่อไปก็จะมีการจัด การเมืองไทยหลังรับประชามติ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง

 

"ผมถามจริงๆ ว่าอันไหนเป็นจุดเปลี่ยน การลงประชามติเป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ หรือ ชีวิตใครเปลี่ยนไปบ้างหลังประชามติ ผมไม่รู้ว่าชีวิตผมจะเปลี่ยนหรือเปล่า ไม่แน่ว่าถ้าผมตื่นขึ้นมาอาจเป็นโดมอนแมน เป็นนายแบบก็ได้ ผมได้ทำการสำรวจอย่างหยาบๆ ไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านการล้างจานประจำบ้าน คือแม่บ้านที่บ้าน ชื่อยรรยวง ป้าบอกว่าไม่เคยไปเลือกตั้ง ป้าบ่นว่าเสียเวลา วันอาทิตย์แกอยากไปทำความสะอาดบ้าน เมื่อคืนห้าทุ่มผมได้มีโอกาสโทรศัพท์คุยกับเด็กที่เรียนคณะบัญชี ที่ธรรมศาสตร์ ที่สวยมาก ผมก็ถามในประเด็นโรแมนติกว่า ขอโทษครับ คุณผู้หญิงอ่านรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง เขาบอกว่าไม่มีเวลาอ่าน ผมถามว่าจะไปลงไหม เขาบอกว่า ไปลง แน่นอน และเพราะเขาเป็นเด็กบัญชี เขาจึงตอบว่า ไปลง เดี๋ยวเศรษฐกิจจะไปไม่ได้"

 

คือหลายคนมีเหตุผลแต่มันไม่มีเหตุผลที่เป็นการเมืองสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ผมจึงงงว่า ประชามติมันเป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ มันเป็นประเด็นได้หรือ

 

 

รัฐธรรมนูญเป็นแค่บทสรุปสัมพันธภาพทางอำนาจ

ภูริชวนผู้ร่วมเสวนา มองรัฐธรรมนูญอย่างพ้นไปจากกรอบนิติศาสตร์ โดยเขาชวนมองว่า "รัฐธรรมนูญไทยเป็นบทสรุปของสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมการเมืองไทย" รัฐธรรมนูญเป็นบทสรุป ไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย รัฐธรรมนูญเคยเป็นที่มาของอำนาจ รัฐธรรมนูญไม่เคยกระแดะมาจัดระเบียบสังคมการเมืองไทย คือสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญก็เพียงแต่เอามาเขียนเป็นบทสรุป คือมันจัดระเบียบกันเรียบร้อยแล้ว กฎหมายไม่จำเป็นต้องจัดระเบียบ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน ทหารอยู่ตรงไหน ประชาชนอยู่ตรงไหน เขาก็เอาตามสภาพความจริงที่มันมีอยู่มาเขียน

 

"เวลาที่คุณเขียนกฎหมาย คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงความเป็นจริง จะเขียนว่าต่อไปนี้ประเทศไทยไม่ต้องมีสถาบันทหาร ถามจริงว่าถ้ารัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้จะผ่านประชามติไปได้หรือ หรือถ้ารัฐธรรมนูญเขียนนี้ขึ้นมาแต่สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้หรือ ก็อยู่ไม่ได้ ทหารก็ต้องออกมาตบเท้าตีกบาลคุณ เวลามองรัฐธรรมนูญผมจึงมองแค่นี่เป็นเพียงบทสรุปของสังคมไทย

 

"ผมอยากบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มันมาจากการแบ่งเค้ก แบ่งปันอำนาจในสังคมไทย เวลามีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้อำนาจไปโดยทหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้าราชการแย่งอำนาจไปจากประชาชน ผมอยากถามจริงๆ ว่าข้าราชการ ทหาร แม่ง ไม่ใช่ประชาชนหรือครับ พูดอย่างกับว่าทหารเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ประชาชนเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง มันแยกกันไม่ได้ เอาเข้าจริงทหารก็เป็นประชาชน ข้าราชการก็เป็นประชาชน นักธุรกิจก็เป็นประชาชน เราจะมาบอกว่ามันมีกลุ่มทหารนะ กลุ่มข้าราชการนะ กลุ่มนักธุรกิจนะ เอาเข้าจริงมันเป็นประชาชนทั้งหมด มันเป็นอำมาตยาธิปไตย ทุนธิปไตย เป็นอะไรท้ายสุดมันก็เป็นประชาชน แต่เราไปพูดเหมือนมันแยกขั้ว

 

"ผมอยากให้ดูรูปนี้ครับ (ชี้ไปที่ภาพบนกระดานที่เขาวาด) สมมติว่ากล่องนี้คืออำนาจทั้งหมดในการเมืองไทย สมมติว่าประชาชนมี 100 คน ในนั้นมีข้าราชการมี 30 ทหาร 20 นักธุรกิจ 10 ถ้าข้าราชการเป็นพวกที่มีมากที่สุดในสังคมไทยทำไมเขาจะมีอำนาจมากที่สุดไม่ได้ ทหารไม่ใช่สิ่งที่แยกออกไป แต่อยู่ในสิ่งที่เรียกว่าประชาชน 100 คน สมมติว่าถ้าข้าราชการมีอยู่ 30 ในบรรดาประชาชนที่มีอยู่ 100 คน ถ้าข้าราชการเป็นส่วนที่มากที่สุดแล้วได้อำนาจมากที่สุด มันก็เป็นความเป็นจริงในสังคมไทยมิใช่หรือ"

 

 

บอกว่า รธน.50 แย่งอำนาจประชาชนให้ทหาร เป็นการ "เพ้อเจ้อ"

เพราะฉะนั้นเวลาพูดว่า รัฐธรรมนูญ (2550) แย่งอำนาจจากประชาชนไปอยู่ที่ทหาร ผมคิดว่าเป็นการเพ้อเจ้อ ว่าทหารไม่ใช่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้าราชการได้อำนาจมากสุด มันก็คือสภาพความเป็นจริง เพราะเมื่อวานผมดูสถิติ กพร. พบว่าข้าราชการมีถึง 1.31 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และคุณอย่าลืมว่าในกลุ่มข้าราชการ 1.3 ล้านคนนั้น บางกลุ่มก็มีผลประโยชน์ร่วม เขามีครอบครัว เมียเขาอาจอยู่ในกลุ่มทหาร ลูกเขาอาจเป็นนักธุรกิจ ท้ายสุดมันเกิดการเชื่อมโยงของผลประโยชน์ทั้งนั้น ทหาร ข้าราชการพลเรือน นักธุรกิจมันจัดองค์กรดีมาก มันจึงประสานประโยชน์ดีมาก การต่อรองเขาดีกว่าแน่นอน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงสื่อถึงสัมพันธภาพทางอำนาจที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย

 

การลงประชามติครั้งนี้มันก็แค่การคอนเฟิร์มสิ่งที่มีในสังคมไทย ถ้ากากบาทรับคือ ถูกต้องนะครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้สื่อตามสัมพันธภาพทางอำนาจที่มีอยู่จริง

 

และผมอยากจะบอกว่าเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญไม่ใช่ลูกแก้ววิเศษ เช่นบัญญัติให้ทุกคนมีแฟนแล้วทุกคนจะมีแฟน ขนาดหมวกกันน็อกบัญญัติเป็นกฎหมายยังไม่ได้เลย คือสังคมการเมืองมันมีอะไรมากกว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าคนออกไปรับก็เป็นการคอนเฟิร์มสิ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยทุกวัน แต่ถ้าคนมันไม่รับ ก็เป็นเรื่องน่าคิด แสดงว่าวัฒนธรรมการเมืองไทยเกิดเปลี่ยนกระทันหัน เช่น ทหารจู่ๆ เกิดหมดอำนาจ กระทันหันคนลงประชามติไม่รัย หรืออาจมีการซื้อเสียง หรือชนชั้นนำเช่นนักธุรกิจบอกว่าผมต้องได้อำนาจ 40 รัฐธรรมนูญให้อำนาจเพียง 20 เลยเกณฑ์คนไปล้ม สังคมไทยจะเปลี่ยนไม่ใช่การลงประชามติ มันไม่มีความหมาย ตื่นเช้ามาทุกคนมีขันติธรรม รักในสิทธิมนุษยชนมันเป็นไปไม่ได้

 

วัฒนธรรมการเมืองมีอยู่จริงในสังคมไทย ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องมันก็ล้ม แน่ใจหรือว่ารัฐธรรมนูญจะผ่าน รัฐธรรมนูญเป็นผลมาจากการเปลี่ยนของวัฒนธรรมการเมือง การเมืองภาคประชาชนที่เติบโตได้สิทธิจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ไปไม่ถึงไหน ถ้าสังคมไทยจะเปลี่ยนจึงต้องไปเปลี่ยนอย่างอื่น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่สำคัญ แต่มีอะไรที่สำคัญกว่ารัฐธรรมนูญถ้าจะพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ภูริสรุป

 

 

หลายโจทย์ที่ รธน. 2550 ไม่ตอบ และความลักลั่นของ "เพียงพอ" กับ "พอเพียง"

อดิศักดิ์ สุขเกษม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.นครปฐม และกรรมการบริหาร สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)  กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อถกเถียงมากมาย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ยอมตอบโจทย์ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมาย มีการลอยแพคนงาน มีการไม่จ่ายค่าจ้างโดยอ้างเศรษฐกิจไม่ดี สภาพเศรษฐกิจแย่ คนไม่มีจะกิน คนตกงาน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับระบุรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง อยากถามว่าเศรษฐกิจพอเพียงในนิยามของรัฐคืออะไร ถ้าชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน และจะจัดสรรที่ดินทำกินอย่างไร ในพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในรัฐธรรมนูญกลับไม่พูดเรื่องนี้ชัด

 

แล้วในรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด ตกลงแล้วรัฐจะเอาอะไรเป็นหลัก จะเอาอะไรเป็นรอง รัฐพยายามบอกว่าสนับสนุนเศรษฐกิจตลาด แต่มันจะนำไปสู่การแข่งขัน และคนธรรมดาได้รับผลกระทบเสมอ

 

กรรมการบริหารกลาง สนนท. ผู้นี้ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ยอมตอบโจทย์เรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นสงครามกลางเมือง เพราะในภาคใต้ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ชาวบ้านออกไปเก็บผลผลิตทางการเกษตรตอนเช้ามืดไม่ได้เพราะกลัวเคอร์ฟิว ซ้ำยังมีปัญหาที่ทหารที่ไปเดินลาดตระเวนผ่านที่ของชาวบ้าน แล้วไปเก็บผลไม้ชาวบ้านมากิน ชาวบ้านจึงเห็นว่าไม่เป็นธรรม

 

อดิศักดิ์ กล่าวถึงมาตรา 77 ที่ระบุว่าให้ทหารมีอาวุธอย่าง "เพียงพอ" ผมอยากให้ชวนพิจารณา งบทหารเพียงพอ แต่เรียกร้องให้ประชาชนกินอยู่อย่าง "พอเพียง" คำว่า "เพียงพอ" กับ "พอเพียง" ของรัฐนั้น ของตั้งคำถามว่า ในการแก้ปัญหาความยากจน กับปัฐหาความมั่นคงอันไหนที่รัฐจะเร่งกระทำ เขาจึงเห็นว่าถ้าไม่พูดกันเรื่องงบประมาณทหาร ต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจจะมีปัญหา

 

"ดูดีเบตผ่านทีวีช่อง 11 ระหว่างฝ่าย ส.ส.ร. กับ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ได้ยิน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองบอกว่าไม่เห็นด้วย 30 มาตราในรัฐธรรมนูญ 2550 เขาจึงเห็นว่าข้าวในกล่องที่อาจารย์กำลังจะกิน มีข้าวบูดอยู่ส่วนหนึ่งแล้วยังจะฝืนกินเข้าไป ไม่รู้ว่าจบด็อกเตอร์มาจากไหน"

 

การเชิญชวนประชาชนว่าต้องไปลงประชามติรับเท่านั้น ถึงจะมีการเลือกตั้ง เป็นการดิสเครดิตประชาชน เพราะจริงๆ แล้วในหลักการไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะผ่านหรือไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 32 กำหนด เขาจึงเสนอให้ประชาชนกดดัน คมช. ด้วยการไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อเป็นการปฏิเสธการทำรัฐประหาร

 

อดิศักดิ์ ยังเป็นห่วงว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้กำหนดในประเด็นเรื่องพระราชอำนาจเอาไว้อย่างชัดเจน จึงเกรงว่าในระยะยาวข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีกัน แบบที่ทักษิณโดนกล่าวหา แต่ก็ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดว่าทักษิณหมิ่นอย่างไร

 

 

ประชาชนถูกครอบด้วยวัฒนธรรมการเมืองจึงยอมให้คนอื่นมีอำนาจเหนือตน

ในช่วงแลกเปลี่ยนความเห็น ภูริกล่าวในประเด็นที่เขาเสนอว่า เพราะคนติดอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าๆ สังคมจึงยอมให้มีอภิสิทธิของข้าราชการ รัฐธรรมนูญอาจเขียนให้คนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่จะมีชาวนาตาดำๆ คนไหนคิดว่าฉันกับนายกฯ ไม่ต่างกันบ้าง มันไม่มีครับ มันเป็น interblood ในสายเลือด ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ถูกครอบด้วยวัฒนธรรมการเมือง ให้คนกลุ่มอื่นมีอำนาจมากกว่ากลุ่มตัวเอง

 

ณภัค เสรีรักษ์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามว่า จะเปลี่ยนจารีตนี้เป็นไปได้ไหม และจะเปลี่ยนอย่างไร ภูริ จึงกล่าวว่า มันปัญหาโลกแตก วัฒนธรรมไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน มันคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ภูริยังแซวผู้ดำเนินรายการว่า "ปัญหาโคตรยากเลย ใครถามมานะ" ก่อนที่จะตอบคำถามต่อไปว่าเขาเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของวัฒนธรรมการเมืองไทย แต่มันอาจไปอย่างช้าๆ มันมีกลุ่มคนที่เริ่มไม่เอาวัฒนธรรมนายกับบ่าว มันเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น เดินไปข้างหน้า แต่อาจไปด้วยสปีดที่ช้ากว่า อย่างน้อยถ้าวัฒนธรรมไม่ไปข้างหน้า เราคงเสวนากันแบบนี้ไม่ได้ คือถ้าจัดเสวนาเรื่องนี้ในช่วง พ.ศ. 2500 เลิกเสวนาคงต้องไปกินข้าวกันที่บางขวาง

 

ทศพลเสนอรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งต้องคุมทหาร

ทศพล กล่าวว่า ที่กล่าวว่าทหารเป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็อาจจะใช่ แต่ทหารเป็นอาชีพที่ฆ่าคนตายแล้วได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษใช่หรือไม่ แต่ถ้าประชาชนไปฆ่าคนตาย ไม่ติดคุกก็ประหารชีวิต ถ้าบอกว่าทหารคือประชาชน แล้วประชาชนซื้อ F16 ได้ไหม ประชาชนขับรถถังมาวิ่งแถวจุฬาได้ไหม..ไม่ได้ แต่ทหารทำได้ คำถามคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับทหารควรเป็นอย่างไร เสนอว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจเหนือทหาร ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารมีอำนาจเหนือกว่า และ รัฐธรรมนูญก็ไม่ควรไปรับรองความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้

 

 

19 กันยา เตือนฝ่ายเป็นกลางระวังแจกเอกสารหมกเม็ดแอบ "หนุน" รับร่าง

โชติศักดิ์ อ่อนสูง จากเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร กล่าวว่าเป็นคนสามัญธรรมดา ไม่ชอบหน้าทักษิณ แต่ไม่มีรถถัง ไม่มีปืน และไม่มีลูกน้องที่สามารถไปทำรัฐประหารทักษิณได้ การที่บางคนทำได้ บางคนทำไม่ได้ จึงเป็นความต่างอย่างแน่นอน มีความต่างทางอำนาจของคนสองกลุ่มและคนหลายกลุ่มแน่นอน

 

โชติศักดิ์ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อองค์กรนักศึกษาต่างๆ ว่า เขาเห็นว่ามีการอัดเงินลงมาในองค์การนักศึกษาให้รณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เห็นสิ่งที่เบี่ยงเบนคือ เอกสารที่ระบุให้ไปลงประชามติเป็นเอกสารรณรงค์ไฟเขียวแปลว่าให้รับ หน่วยเลือกตั้งข้างบ้าน กกต. มีการติดโบรชัวร์ที่มีรูปไฟเขียวนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ฝ่ายสนับสนุนไม่ยอมพูดถึงเช่น การเพิ่มงบประมาณทางทหาร การมีมาตรา 309 การที่ ส.ว.มาจากแต่งตั้ง นี่ไม่ใช่สาระสำคัญใช่หรือไม่ บอกสาระสำคัญหมดหรือเปล่า จึงขอให้บรรดาพวกไปรณรงค์ให้ไปลงประชามติถามตัวเองกันดีๆ

 

ด้าน คำพร ธุระเจน กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า "ทาง อมธ. ขอสนับสนุนไปทุกคนไปลงประชามติ ร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศให้ดีขึ้น แค่นี้แหละครับ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท