Skip to main content
sharethis

อีกหนึ่งบทความโดย "ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช" กับเหตุผลอันรวบรัด ชัดเจนทางแง่กฎหมาย ทำไมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550

 

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

เหตุผลที่ไม่รับร่าง "รัดทำมะนูน 2550"

เเบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

 

ส่วนเเรก: เหตุผลทางรูปเเบบเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

            1.  กระบวนการได้มาซึ่งสสร. หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากคณะรัฐประหารมีอำนาจในการเเต่งตั้ง มิได้มาจากการประชาชน

            2. วิธีการคัดเลือกสมัชชาเเห่งชาติจำนวนไม่เกินสองพันคนนั้นไม่โปร่งใสเเละขาดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก

            3. ในส่วนของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวกำหนดให้คณะรัฐประหารเเต่งตั้งได้อีก 10 ท่าน

 

สรุป กระบวนการได้มาซึ่งสสร.เเละคณะกรรมาธิการยกร่างนั้นล้วนเเล้วให้บทบาทคณะรัฐประหารเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้นไม่มีความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเมื่อเทียบกับรับธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ เเล้วเเตกต่างอย่าสิ้นเชิง ผลก็คือสสร.ชุดนี้ขาดความชอบธรรม ไม่สง่างามเเละประชาชนอาจตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นอิสระของการทำงานของสสร.เเละคณะกรรมาธิการได้ แม้ว่าจะมีสสรหลายท่านออกมาชี้แจง อธิบายหรือแก้ตัวว่า การทำงานของสสร. นั้นเป็นอิสระไม่มีใครชี้นำได้ แต่ข้อแก้ตัวนี้ก็ฟังไม่ขึ้น โดยมารยาทแล้วสสร. ควรน้อมรับข้อวิจารณ์ในเรื่องที่มามากกว่าที่ออกมาโต้เถียง ความใกล้ชิดของผู้มีอำนาจย่อมส่งผลให้ประชาชนเคลือบแคลงถึงการทำงานของสสร. อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ส่วนที่สอง: เหตุผลทางเนื้อหา[1]

            1. ที่มาเเละอำนาจของวุฒิสภา

            การให้บทบาทสถาบันตุลาการทั้งสาม (คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา เเละตุลาการในศาลปกครองสูงสุด) เข้ามาดำรงตำเเหน่งเป็นองค์คณะกรรมการสรรหาสว.[2] เป็นการขัดต่อหลักการเเบ่งเเยกอำนาจ สถาบันตุลาการมีหน้าที่ในการใช้เเละตีความกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หาใช่มาเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไม่ อีกทั้งหากคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ใช้ดุลพินิจผิดพลาดสรรหาสว.ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ หรือประวัติด่างพร้อยเเล้ว  ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อสถาบันตุลาการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะว่า ตุลาการทั้งสามศาลที่ดำรงตำเเหน่งเป็นกรรมการสรรหานั้นย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่เป็นผลดีต่อสถาบันตุลาการในระยะยาว

            นอกจากนี้แล้ว สว. ยังมีอำนาจถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ[3] และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  รวมทั้งตุลาการ ผู้พิพากษาและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง (มาตรา ๒๗๐) ซึ่งย่อมไม่เหมาะสมเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนกัน เพราะเหตุว่าสว.ที่ได้รับการคัดเลือกอาจเกรงใจหรือเป็นหนี้บุญคุณต่อบุคคลที่ตนจะถอดถอนเพราะเป็นผู้สรรหาตนมา

 

            2. การตัดโทษประหารชีวิต

            การรับรัฐธรรมนูญจึงอาจมีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Death penalty) โดยปริยายหรืออาจนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็ได้ในอนาคต ซึ่งการยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก  ควรเป็นประเด็นที่จัดทำประชามติ แยกเป็นอีกประเด็นหนึ่งออกจากการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่เป็นกรณีที่สสร. เพียงไม่กี่คนซึ่งมิได้มาจากประชาชนด้วยถือโอกาสตัดโทษประหารชีวิตออกซึ่งโทษประหารชีวิตินี้เป็นที่รับรองในรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดและยังไม่ขัดต่อ ICCPR ด้วย เนื่องจาก ICCPR มาตรา 6 (1) รับรองว่า การลงโทษประหารชีวิตสามารถกระทำได้ในคดีอุกฉกรรจ์ และอนุมาตรา (4) รับรองว่าบุคคลใดที่ต้องคำพิพากษาโทษประหารชีวิต ย่อมมีสิทธิขออภัยโทษหรือลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งตามทางปฎิบัติของไทยก็เปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว อีกทั้งประเทศไทยได้ทำถ้อยแถลงประกอบการตีความในมาตรานี้อีกว่า จำเลยที่มีอายุเกิน 17 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี ศาลสามารถใช้ดุลพินิจลดโทษหรือมาก็ได้ รวมถึงโทษประหารชีวิต ส่วนข้ออ้างที่ว่า การลงโทษประหารชีวิตนั้นจะขัดกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ขัด หากการลงโทษประหารชีวิตนั้นใช้กับ "ความผิดอาญาอุกฉกรรจ์" (most serious crimes) และได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

            3. เเนวนโยบายเเห่งรัฐ

             3. 1 เปลี่ยนจาก "เเนวทาง" มาเป็น "เจตจำนง"

            เเต่เดิมนั้นรัฐธรรมนูญในอดีตรับรองว่า เเนวนโยบายเเห่งรัฐเป็นเเต่เพียง "เเนวทาง" (Guideline) ในการตรากฎหมายหรือการบริหารประเทศ เเละการไม่ปฎิบัติตามนโยบายเเห่งรัฐไม่ก่อให้เกิดสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้อง เเต่คราวนี้ร่าง 2550 เปลี่ยนจากคำว่า "เเนวทาง" มาเป็น "เจตจำนง" (Will) ซึ่งเเสดงนัยยะว่า พรรคการเมืองใดก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องปฎิบัติตามเเนวนโยบายเเห่งรัฐที่กำหนดไว้ การบังคับไว้เช่นนี้อาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฎิบัติ เนื่องจากเเนวนโยบายเเห่งรัฐมีมากถึง 10 เรื่องใหญ่ด้วยกัน  อีกทั้ง เป็นการบั่นทอนความหลากหลายหรือความโดดเด่นของนโยบายของพรรคการเมืองเเต่ละพรรค เเละจากโครงสร้างของร่าง 2550 เเละสภาพการเมืองปัจจุบัน เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลในอนาคตจะได้รัฐบาลผสม ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องมาประนีประนอมกันว่า "นโยบายของรัฐบาล" จะเป็นอย่างไร  ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อ "นโยบายของพรรคการเมือง" ตามที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้

 

            3.2 การให้ความสำคัญกับงบประมาณของการป้องกันประเทศของทหาร

            รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายเเห่งรัฐด้านความมั่นคงนั้นบัญญัติเเต่เพียงให้รัฐต้องจัดให้มีกำลังทาหรเท่านั้น เเต่ร่าง 2550 กลับเพิ่มข้อความว่า "ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ เเละเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็น เเละเพียงพอ" คำถามมีว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไรที่ต้องเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพมากขนาดนั้น เเละคำว่า "เพียงพอ" หมายความว่าอย่างไร ทำไมไม่ยอมปฎิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจ "พอเพียง" ซึ่งในร่าง 2550 ที่เกี่ยวกับเเนวนโยบายด้านการบริหารราชการเเผ่นดิน มาตรา 78 (1) บัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เป็นการขัดกันหรือ

 

            3.3 แนวนโยบายการต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น

                        1) วรรคแรก

            โดยหลักการถือว่าดีที่บัญญัติว่า รัฐต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี แต่มีข้อสังเกต 2 ประการคือ ประการแรก ทำไมต้องเขียนว่า ไทยต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญา ก็ในเมื่อมีหลักกฎหมายว่าประเทศว่าด้วยสนธิสัญญารับรองแล้วว่า รัฐภาคีต้องเคารพและปฏิบัติตามสัญญา ประการที่สอง มองว่าเป็นเจตนาที่ดีของผู้ร่างที่ต้องเน้นย้ำให้รัฐเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ก็เกิดปัญหาตามมาว่า บางมาตราของร่าง 2550 อาจขัดแย้งกับกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองเรื่อง Judicial review โดยมาตรา 14 (5) บัญญัติว่า " บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คระตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย" หมายความว่า บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการอุทธรณ์จากศาลที่สูงกว่า แต่มาตรา 278 บัญญัติให้ การตัดสินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นที่สุด อย่างนี้จะขัดต่อบทบัญญัติเรื่อง Judicial review  ของสนธิสัญญา ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีหรือไม่

            นอกจากนี้ มาตรา  239 ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งคำวินิจฉัยของกกต. นี้เป็นที่สุด แม้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะมิได้เป็นโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ก็มีปัญหามีว่าสมควรหรือไม่ที่กกต. จะมีอำนาจมากมายในลักษณะเชิงตุลาการด้วย และคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดด้วย อย่างนี้จะเป็นธรรมแก่ผู้ถูกตัดสิทธิหรือไม่

 

                        2) วรรคสอง

            ในเเนวนโยบายด้านการต่างประเทศมาตรา 82 วรรค 2 นั้นได้กล่าว 2 เรื่องซึ่งไม่เหมือนกัน คือเรื่อง การคุ้มครองคนไทยในต่างแดน (Diplomatic protection) กับ การดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดนซึ่งเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางกงสุล ที่เรียกว่า Consular assistance ส่วนที่เป็นปัญหาได้แก่เรื่องการคุ้มครองคนไทยในต่างแดน มาตรา 82 วรรค 2  ได้รับรองให้รัฐต้องให้ความคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ โดยหลักการถือว่าดี เเต่ผู้ร่างมาตรานี้ไม่ทราบว่า การให้ความคุ้มครองคนชาติของตนในต่างเเดนนั้น ใช้ในบริบทเรื่องความรับผิดชอบของรัฐในทางระหว่างประเทศ จึงมิได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายไทยอย่างเดียวเเต่ขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ที่คนไทย ไปอาศัยอยู่ด้วยซึ่งคนไทยผู้นั้นยังต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของกฎหมายประเทศนั้นอย่างถึงที่สุดก่อน ต่อเมื่อเกิดกรณีการปฎิเสธความยุติธรรม รัฐบาลไทยจึงจะมีสิทธิหรือใช้ดุลพินิจที่จะเรียกร้องในนามรัฐบาลไทยหรือไม่  การให้ความคุ้มครองคนชาติของตนในต่างประเทศที่เรียกว่า Diplomatic protection ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น มิใช่เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย (Legal duty) แต่เป็นดุลพินิจ (Discretion) หรือเป็นสิทธิ (Right)  ของรัฐที่รัฐเจ้าของสัญชาติ[4] จะใช้ดุลพินิจว่าจะให้ความคุ้มครองหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้โดยชั่งผลได้ผลเสียด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย การบัญญัติไว้ในเเนวนโยบายเเห่งรัฐ ให้รัฐต้องให้ความคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศนั้น สะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจในกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่อง Diplomatic protection เเละในทางปฎิบัติก็ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างเเท้จริงด้วยเพราะอาจติดขัดปัญหาต่างๆ เช่น งบประมาณ ปัญหาคนสองสัญชาติ หรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

 

            4. การกำหนดให้บำเหน็จบำนาญเเก่องคมนตรีเท่านั้น

            ทำไมจึงบำเหน็จบำนาญของนักการเมืองออกทั้ง ๆ ที่ รัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับรองเรื่องนี้ไว้ แต่ร่าง 2550 คงไว้เฉพาะบำเหน็จบำนาญแก่องคมนตรีเท่านั้น ทั้งๆ ที่องคมนตรีส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ บางท่านอาจได้บำเหน็จบำนาญในส่วนของข้าราชการอยู่แล้ว จะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่

 

            5. การให้ศาลเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

บทบัญญัตินี้ขัดต่อหลักการเเบ่งเเยกอำนาจอย่างชัดเจน เเม้ว่าร่าง 2550 จะจำกัดให้ศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอร่างกฎหมายได้เฉพาะพรบ.ประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม โดยปกติเเล้ว ระเบียบหรือข้อบังคับของกระบวนการวิธีพิจารณาความของศาลนั้นจะกระทำในรูปของ rules of court ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่ง rules of court ที่ออกมานั้น ที่ประชุมใหญ่ของศาลก็จะลงมติในการเห็นชอบ rules of court ดังกล่าวเเต่มิใช่ให้ศาลสามารถเสนอร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความได้เอง

 

            6.หมวดกิจการการต่างประเทศ

                        6.1 การทำสนธิสัญญา

            มีการจำกัดอำนาจการทำสนธิสัญญาของฝ่ายบริหารมากจนถึงกับมีผลเป็นการเปลี่ยนเเปลงหลักทำสนธิสัญญาซึ่งเเต่เดิมรับธรรมนูญที่มีมาในอดีตเเละเป็นที่รับรองในอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาว่าเป็นอำนาจหรือความรับผิดชอบของ "ฝ่ายบริหาร" กลายมาอยู่ที่ "ฝ่ายนิติบัญญติ" เเทน การให้ประชาชนมี Public hearing เป็นสิ่งดี แต่มาตรา 190 กลับใช้กับสนธิสัญญาที่ควรปกปิดเป็นความลับอย่างสนธิสัญญาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ต่อไปรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตแดนก็ต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนด้วย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็จะล่วงรู้ข้อมูลของฝ่ายไทยได้

                        6.2 การส่งทหารไทยออกนอกประเทศและการอนุญาตให้ทหารต่างประเทศมาประจำการในประเทศไทย

            2 เรื่องนี้ร่าง 2550 ควรจะมีแต่กลับไม่มี อีกทั้งคณะกรรมาธิการบางท่านอ้างว่า มาตรา 190 เรื่อง "สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" นั้นใช้ได้กับเรื่องการส่งทหารไทยไปต่างประเทศได้นั้น ก็ไม่ถูกต้องเนื่องจากการส่งทหารไทยไปต่างประเทศไม่เกี่ยวกับการสนธิสัญญาแต่ประการใดแต่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐที่เรียกว่า Unilateral act

           

7. การให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายเเละถอดถอนผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองได้ง่ายไป

            ประเด็นนี้สสร. ใช้เป็นข้ออ้างว่าร่าง 2550 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองแก่ประชาชนมากกว่า รธน. 2540 ด้วยการลดจำนวนประชาชนลงมา อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติ อาจมิได้บรรลุผลตามที่สสร. ตั้งใจไว้ก็ไว้ เช่น ร่างที่ประชาชนเสนอมาอาจถูกตีตกไปในชั้นของการพิจารณาก็ได้ หรืออีกแง่หนึ่ง การเปิดโอกาสให้เสนอร่างกฎหมายได้ง่ายมากขึ้น อาจเพิ่มภาระงานแก่สภามากจนขาดความรอบคอบในการพิจารณาร่างกฎหมายก็ได้  หรือในส่วนที่เกี่ยวกับการถอดถอน อาจเพิ่มภาระการทำงานของปปช. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากเกินไป ซึ่งปปช. ก็มีงานที่คั่งค้างมากอยู่แล้ว

           

8. บทเฉพาะกาล เเยกออกเป็นสามประเด็น

            ประเด็นเเรก ควรห้ามสสร.ทั้งหมดมิให้ลงรับสมัครสส.เเละดำรงตำเเหน่งสว. มิใช่จำกัดเฉพาะคณะกรรมาธิการยกร่างเท่านั้น เนื่องจากสสร.ก็ได้อภิปรายให้ความเห็นร่างที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการตั้งเเต่ฉบับรับฟังความคิดเห็นเเละร่างที่รับโดยสสร. ฉะนั้นสสร. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยและควรห้ามสนช. เป็นสส.เเละสว. ด้วย เพราะอาจเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจได้

           

ประเด็นที่สอง การให้ "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ" มาเป็น "ศาลรัฐธรรมนูญ" (มาตรา ๓๐๐) การกำหนดไว้เช่นนี้ผิดหลักการอย่างยิ่งที่ให้ "ตุลาการเฉพาะกิจ" อย่างตุลาการรัฐธรรมนูญมาเป็น สถาบันตุลาการถาวรอย่างศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในเเง่ของความเหมาะสมเเล้ว ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่ให้คณะตุลาการซึ่งเป็นผลพวงของการทำรัฐประหารมาทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยปกติเเล้ว ต้องได้รับการโปรดเกล้าจากพระมหากษัตริย์ เเต่เป็นที่ทราบกันดีว่า คณะตุลาการที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดียุบพรรคนั้น มิได้เป็นศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่ได้รับการโปรดเกล้าจากพระมหากษัตริย์ อีกทั้งมิได้วินิจฉัยคดีในพระปรมาภิไธยเเละมิได้สวมครุยขณะอ่านคำวินิจฉัยด้วย รวมถึงการถูกวิจารณ์ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ดังนั้น ความชอบธรรม ความสง่างามเเละการยอมรับในสายตาของประชาชนอาจมีปัญหาได้ เเม้มาตรา ๓๐๐ จะกำหนดให้เป็นศาลรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเเต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ก็ตามเเต่ก็ไม่ยังไม่เหมาะสมอยู่นั่นเอง

           

ประเด็นที่สาม เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม[5] ขัดกับ มาตรา4 ของรัฐธรรมนูญปี 2517 อย่างชัดเจนที่ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรม มาตรา 309 ของร่าง 2550 เเสดงให้เห็นถึงความหลงเหลือของความเป็นเผด็จการจากการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อหลักการนิรโทษกรรมอีกด้วยซึ่งโดยปกติเเล้ว การนิรโทษกรรมจะกระทำต่อเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเเละสิ้นสุดลงเเล้ว หาใช่เป็นการมุ่งใช้กับเหตุการณ์ในอนาคตด้วยไม่

 

ส่วนที่สาม: บรรยากาศของการรับร่างรัฐธรรมนูญ

เเม้เวลาจะลงประชามติใกล้เข้ามาทุกทีเเล้วก็ตาม เเต่ปัจจุบันกลับปรากฎว่า มีการคงกฎอัยการศึก 35 จังหวัด ซึ่งมีผลกระทบต่อการเเสดงความคิดเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง นอกจากนี้เเล้ว มีการเเสดงความเห็นของผู้มีอำนาจเป็นระยะๆว่า หากไม่รับร่างรับธรรมนูญนี้ ก็จะไม่มีการเลือกตั้งหรือจะเอารัฐธรรมนูญฉบับคมช. หรือ บรรยากาศเช่นนี้หากเทียบกับตอนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 จะถือว่าผิดกันมาก บรรยาศของการลงประชามติร่าง 2550 คราวนี้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงบรรยากาศของการข่มขู่ ต่อรอง หรือความมักง่ายที่บอกว่ารับๆไปก่อนเเล้วไปเเก้ทีหลัง บรรยากาศเเบบนี้ล้วนไม่เอื้อต่อการลงประชามติให้รับร่างรัฐธรรมนูญเเต่อย่างใดเลย

 

หากเปรียบเทียบร่าง 2550 เหมือนก้อนเค้กแล้ว เค้กชิ้นนี้ "หน้าเค้ก" สวยดีน่ากิน แต่ "เนื้อเค้ก" บูดเน่าเสียแล้ว เริ่มต้นด้วยการทำรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญ แต่ลงท้ายพยามยามทำให้ดูเหมือนเป็น "ประชาธิปไตย" ด้วยการทำประชามติ (จอมปลอม) ร่าง 2550 จึงมีลักษณะหัวมังกุฎท้ายมังกรเช่นนี้เเล….



[1] เนื่องด้วยระยะเวลาจำกัด ผู้เขียนจึงนำเสนอข้อมูลเฉพาะประเด็นที่ใหญ่ๆ

[2] โปรดดูมาตรา 113

[3] มาตรา ๒๐๙ วรรค ๖

[4] โปรดดู Draft articles on Diplomatic Protection, Text adopted by the International Law Commission in 2006, article 2

[5] ผู้เขียนได้เขียนเรื่องนิรโทษกรรมไว้ละเอียดเเล้วในบทความอื่น จึงไม่ขอกล่าวถึงโดยละเอียดอีกในที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net