เครือข่ายภาคประชาชน รวมตัวหยุดกฏหมายขายรัฐวิสาหกิจไทย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนสาระสำคัญเกี่ยวกับ ร่าง พรบ. ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... เพื่อหยุดยั้งกฎหมายขายชาติ ขายรัฐวิสาหกิจไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 50 ณ ห้องประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กล่าวเปิดการประชุม พร้อมทั้งชี้แจงถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าขณะนี้ได้อยู่ในขั้นตอนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน สรส. ทางเครือข่ายได้คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด และกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดการแปลงสภาพได้ง่ายขึ้นและจะมีการคัดค้านในเรื่องนี้ทุกวันอังคารอย่างต่อเนื่อง

 

ด้ายนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานศูนย์ประสานงานกรรมกรกล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า ประชาชนต้องมองให้ออกเป็นกฎหมายขายชาติ ขายสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นในอนาคต เป็นเครื่องมือของระบบทุน แม้กระทั่ง TDRI เป็นเครื่องมือของ World Bank เพราะเชื่อเรื่องแนวคิดของทุนนิยมเสรี ทำให้รัฐเล็กลง มีความรับผิดชอบน้อยลง เพิ่มขนาดของตลาดหุ้น ให้กลไกตลาดทำงาน และจุดอ่อนในกฎหมายมีมากมาย เช่น คณะกรรมการนโยบาย เป็นตัวแทนจาก มีอำนาจเดียวจากฝ่ายบริหารเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนบทเฉพาะกาลนั้น อะไรที่แปลงมาแล้วก็อยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ดำเนินการต่อเนื่องได้เลย

 

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้ความเห็นว่าสิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลนี้ คือการทำให้ระบบราชการเติบโต และขยายเครือข่ายของตนเอง เช่น (ร่าง) กฎหมายความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (ร่าง)กฎหมายที่ต้องการจัดการกับผู้ชุมนุม

 

กฎหมายแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ฉบับนี้ ไม่เห็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการดำเนินการ เช่น ในอดีตการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดภาระหนี้สินของรัฐ และคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไข IMF อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ชัดเจน ว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่ออะไร พยายามที่จะแก้ปัญหาอะไรที่แปลงสภาพไม่ได้ อะไรแปลงได้ เช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อทำให้ตลาดหุ้นโต เพื่อแก้ประสิทธิภาพการบริหารงาน คำตอบของคนไทยควรจะเป็นอะไร ไม่ต้องการให้เช็คเปล่า กับคนที่มีอำนาจ

 

ด้านการศึกษาผลกระทบ หลังจากการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน แล้วให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ ดังนั้นบริษัทที่ปรึกษาก็จะเสนอให้มีการแปลงสภาพ ในระหว่างการศึกษาไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชนเลย

 

"อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือกฎหมายฉบับนี้ แก้ปัญหาเรื่องเอาอำนาจมหาชนไปให้เอกชน การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ๆ ที่การปฏิรูปทำได้หลายรูปแบบ ส่วนในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นมีการพูดถึงแต่ในวัตถุประสงค์ แต่ในโครงสร้างไม่มีตัวแทนในระดับใด ๆ สนช.เองก็ไม่มีความชอบธรรมในการออกกฎหมายฉบับนี้ แม้แต่คุณทักษิณก็ถูกจัดการจากเรื่องนี้ เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นมากมาย ไม่อยากให้กรรมาธิการเป็นแบบเดียวกับคุณทักษิณ" ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าว

 

ด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เป้าหมายที่รัฐอ้างว่าไม่ต้องการให้เช็คเปล่าให้กับนักการเมืองในกิจการที่ไม่มีการแข่งขัน เช่น สายส่งไฟฟ้า อีกทั้งคณะกรรมการในแต่ละขั้นตอบรับใช้การดำเนินการเพื่อการแปลงสภาพ รวมถึงสาระสำคัญเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การมีระยะเว้นวรรคเรื่องเกี่ยวข้องผลประโยชน์ แต่ไม่มีบทลงโทษ อย่าง มาตรา 40 การแบ่งการกระจายหุ้น ยังมีการกระจายให้กับผู้มีอุปการคุณ ซึ่งไม่มีขั้นการการผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภา แต่อาศัยการใช้กลการตรวจสอบโดยวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งมาตรา ๓๐ ที่อ้างว่าต้องตรากฎหมาย แต่อาจจะไม่ต้องผ่านรัฐสภาก็ได้

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐบาลต้องตอบคำถามก่อนว่า ต้องการแปรรูปเพื่ออะไร รัฐบาลถังแตก หรือเพียงเพื่อต้องการเพิ่มขนาดของตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลกับประชาชนมีจุดยืนที่มีความแตกต่างกัน เช่น เราต้องการให้รัฐวิสาหกิจมีกำไร มีประสิทธิภาพ และนำเงินเหล่านั้นมาจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชน

 

แต่รัฐบาลอ้างว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องการตอบคำถามเรื่องกระบวนการแปลงสภาพ แก้ปัญหาจุดอ่อนปี ๒๕๔๒ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ

 

หรือแม้แต่การตรวจสอบทรัพย์สิน เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืนเป็นของรัฐ แต่รัฐก็ให้เช่าในราคาที่ถูกมาก เช่นเขื่อนปากมูลในกรณีการไฟฟ้าให้เช่าเพียง ๔ ล้านบาททั้งที่การลงทุนสร้างเขื่อนใช้เงินมากถึง ๔,๐๐๐ ล้านบาท การกำหนดราคาเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อมูลค่าของทรัพย์สินนั้นจริง

 

จักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า จะทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญการมี Strategic partner และการถือหุ้นรายย่อยในกรณีเอกชนต่างชาติ การที่รัฐจะสร้างเงื่อนไขการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมจะไม่สามารถทำได้ ถึงแม้ว่า เราจะมีข้อจำกัดของกฎหมายภายในก็ทำไม่ได้ เพราะอาจจะมีการฟ้องร้อง และรัฐจะต้องชดใช้ เป็นไปตามสัญญากรุงเวียนนา

 

ขณะนี้ หลายส่วนอาจจะกังวลว่า เราจะเอาเงินภาษีไปซื้อคืนปตท.กลับมาทำไม เพราะต้องใช้เงินในการซื้อคืนถึงประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่โดยความเห็นคิดว่า คุ้มเพราะสามารถคืนได้ภายใน 10 ปี และโดยราคาที่ซื้อไม่จำเป็น ต้องมีมูลค่าตามนั้น เนื่องจากรัฐจะต้องหักมูลค่าที่แท้จริงของ กรณีปตท. ซึ่งจะต้องดำเนินการแยกท่อกาซออกมาอยู่แล้ว ตามที่ประกาศไว้ในหนังสือชี้ชวน

 

จากการวิเคราะห์ การดึงปตท.กลับออกมา ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 10 % และจากการได้ศึกษาผลกระทบของตลาดหลักทรัพย์ ต่อระบบเศรษฐกิจภาคการผลิต ไม่มีผลต่อการจ้างงาน ผลต่อการลงทุน ดรรชนีตลาดหลักทรัพย์ตกประมาณ 25% และการตรวจสอบภายใต้ระบบทุน มีความจำกัดอย่างยิ่งในการดำเนินการ โดยเฉพาะการตรวจสอบจากตลาดหลักทรัพย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท