เสวนา: บทบาทผู้หญิงมุสลิม ในฐานะ "พลังของการเปลี่ยนแปลงในสังคม"

ประชาไท - 16 ส.ค.2550 โครงการตะวันออกกลางศึกษา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จัดงานแถลงข่าวเรื่อง ผู้หญิงมุสลิม: พลังของการเปลี่ยนแปลงในสังคม เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2550 ที่อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและค้นคว้ารวบรวมข่าวสารข้อมูล ว่าด้วยเรื่องของ "การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมอิสลามในตะวันออกกลาง" ทั้งยังกล่าวถึงภาพรวมของสตรีชาวมุสลิมที่ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย

 

ผู้เข้าร่วมในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ได้แก่ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง, นายอนุช อาภาภิรม, ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์, อารย์มัรยัม สาเมาะ และนางแวซีตี ฮายะแซะบากอ

 

จากการศึกษารวมรวมข้อมูลข่าวสารทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากแหล่งข้อมูลในประเทศและต่างประเทศ นายอนุช อาภาภิรม หัวหน้าโครงการตะวันออกกลางศึกษา กล่าวถึงประเด็นสำคัญในหัวข้อ สตรีนิยมอิสลาม: ขบวนการแห่งอนาคต โดยระบุว่า ขบวนการสตรีนิยมอิสลาม เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง

 

นายอนุชกล่าวถึงการเคลื่อนไหวสตรีนิยมซึ่งเกิดขึ้นในแถบประเทศตะวันตกเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยที่หลักการด้านสิทธิสตรี หรือ Feminism มีจุดประสงค์เพื่อลดความแตกต่างในเรื่องเพศภาวะระหว่างชายกับหญิง ซึ่งขบวนการสตรีนิยมในตะวันตก เป็นการต่อสู้ของสตรีที่มีลักษณะเป็นขบวนการ มีการนำ และมีการสืบทอดชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่า ขบวนการเช่นนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่ระบบทุนพัฒนาไปพอสมควรแล้ว จนกลายเป็นกระบวนการทั่วทั้งสังคม สตรีที่ได้รับความไม่เท่าเทียมจะปรับตัวหรือต่อสู้เพื่อให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป

 

ทว่า ภาพลักษณ์ของสตรีในประเทศมุสลิมมักปรากฏตามสื่อต่างๆ ในแง่ลบ โดยเฉพาะสื่อตะวันตกซึ่งมองว่าสตรีมุสลิมถูกกดขี่และกีดกันไม่ให้มีสิทธิเท่าเทียมกันกับเพศชาย ซ้ำยังถูกทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี ถูกสังหารเพื่อเกียรติ (Honor Killing) ถูกกีดกันทางหน้าที่การงาน อัตราการไม่รู้หนังสือสูง ถูกบังคับให้ยอมจำนน เช่น ต้องสวมผ้าคลุมหัวและปิดหน้า เป็นต้น

 

จนกระทั่งมีการประชุมโลกว่าด้วยสตรี ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนกันยายน 2538 ขบวนการสตรีนิยมอิสลาม จึงปรากฏชัดเจนขึ้น หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปแนวคิดต่างๆ ในแวดวงสตรีมุสลิมเมื่อครั้งที่มีการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 มาก่อนหน้านี้แล้ว

 

ความเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยมอิสลามเกิดขึ้นจากหลายแหล่งหลายประเทศ แต่ขบวนการสตรีนิยมอิสลามที่อิหร่านเป็นขบวนใหญ่ และเป็นต้นทางของคำว่า "สตรีนิยมอิสลาม" หรือ Islamic Feminism ซึ่งเหตุผลที่สตรีนิยมอิสลามก่อรากฐานในอิหร่าน ได้แก่ปัจจัย 7 ประการ คือ

 

1) อิหร่านมีชนชั้นกลางขนาดใหญ่ มีการศึกษาสูง อัตราการรู้หนังสือสูง มีประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาเศรษฐกิจและการทำประเทศให้ทันสมัย

 

2) การปฏิวัติอิหร่านหรือการปฏิวัติอิสลามทำให้เกิดการตื่นตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วด้าน

 

3) สงครามยาวนานกับอิรัก เปิดทางให้สตรีที่มีการศึกษา ได้เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

4) สตรีอิหร่านได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง เช่น ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

5) สตรีอิหร่านมีงานทำนอกบ้านเป็นจำนวนมาก แม้ว่าถูกกีดกันแต่ก็ยังคงต่อสู้

 

6) การวางแผนครอบครัวให้มีคุณภาพดีและขนาดเล็ก ทำให้ภาระสตรีในการคลอดและเลี้ยงดูเด็กลดลง

 

7) การดำเนินการต่อสู้อย่างแข็งขันของสตรีอิหร่านจากหลากหลายวงการ ทั้งในภาคอำนาจรัฐ เช่นเป็นนักการเมือง และนอกอำนาจรัฐ เช่น นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์

 

 

ผู้นำสตรีนิยมอิสลามคนสำคัญๆ ได้แก่ ฟาติมา เมอร์นิซซี (Fatema Mernissi) ชาวโมร็อกโก เป็นนักคิดนักเขียนที่ตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรม "ฮาเร็ม" และเป็นผู้คัดง้างกับแนวคิดลัทธิชาตินิยมในอาหรับ, ซาห์ลา เชอร์กาต (Shahla Sherkat) ชาวอิหร่าน นักหนังสือพิมพ์และผู้ก่อตั้งนิตยสาร "ซานาน" ซึ่งทรงอิทธิพลในหมู่สตรีชาวอิหร่านที่ได้รับการศึกษาระดับสูง และ อะซิซาห์ อัล-ฮีบรี (Azizah al-Hibri) ชาวอเมริกัน-เลบานอน เป็นนักกฎหมาย ผู้ตีความในพระคัมภีร์กุรอ่านและวัตรของท่านมูฮัมหมัด (Hadith) ด้วยการรื้อสร้างแนวคิดเดิมซึ่งตีความเข้าข้างเพศชายเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างนักเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยมจากอิรักและอัฟกานิสถาน เช่น กลุ่มนักปฏิวัติแห่งสตรีอัฟกานิสถาน (The Revolutionary of the Women of Afghanistan) เป็นตัวแทนของสตรีในประเทศที่ถูกยึดครองโดยต่างชาติ แต่ขบวนการสตรีนิยมเหล่านี้ที่ประกาศว่าการเรียกร้องหา "ประชาธิปไตย" ภายใต้การชี้นำของต่างชาติ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสตรีแต่อย่างใดเลย

 

ทั้งนี้ นายอนุชได้แบ่งลักษณะเด่นๆ ของขบวนการสตรีนิยมอิสลามโดยจำแนกตามวิธีการที่ใช้, วาทกรรมในการตีความพระคัมภีร์ และความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวของขบวนการ โดยวิธีการที่สตรีนิยมอิสลามใช้ส่วนใหญ่คือ "การเจรจาสนทนา" ในหมู่ชาวอิสลาม ทั้งชายและหญิง รวมถึงผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาอิสลาม นักการเมือง ผู้นำประเทศ และบุคคลที่ไม่ได้ถืออิสลามด้วย

 

ในแง่ของวาทกรรมของสตรีในพระคัมภีร์กุรอ่าน มีการตีความเรื่องของสิทธิหรือหน้าที่ ซึ่งคำตอบความในพระคัมภีร์เกือบทั้งหมดเกี่ยวกับสิทธิของสตรีและหน้าที่ของชายมีความเท่าเทียมกัน ยกเว้น 2 บทได้แก่ 4: 34 และ 24:31 ที่มีคำแนะนำ (Prescription) เกี่ยวกับความประพฤติสตรี

 

อย่างไรก็ดี ขบวนการสตรีนิยมอิสลามมีลักษณะเคลื่อนไหวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism) ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อหักล้างหรือแตกหักทางความคิด ขบวนการยังมีแนวคิดเรื่องครอบครัวในอุดมคติ จึงค่อยๆ แก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมีประเด็นต่อสู้ที่สำคัญๆ ได้แก่ สิทธิเสมอภาคของสตรี, สิทธิในการหมั้นและการแต่งงาน, สิทธิในการประกอบอาชีพ, สิทธิในมรดก, สิทธิในการหย่าและดูแลเด็ก, ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ที่สามีทุบตีภรรยาได้, สิทธิการเป็นผู้นำทางศาสนา, การฆ่าเพื่อเกียรติและอื่นๆ

 

นายอนุช กล่าวโดยสรุปว่า ขบวนการสตรีนิยมอิสลามเป็นขบวนการใหญ่ที่น่าจับตา นับตั้งแต่มาเลเซีย ไปจนถึงโมรอกโก ประกอบด้วยบุคคล ทัศนะ และการเคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัติจำนวนมาก จึงควรศึกษาเรียนรู้จากกลุ่มสตรีเหล่านี้ต่อไป

 

ทางด้าน ศ.ดร.อมรา พงศ์ศาพิชญ์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีปัญหาภาคใต้ของไทย ทำให้มีขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีมุสลิมเกิดขึ้นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากเป้าหมายที่ต้องการสงเคราะห์ช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และค่อยๆ พัฒนามาเป็นขบวนการส่งเสริมที่มุ่งเน้นให้ผู้ประสบปัญหาช่วยเหลือตัวเองได้ จากนั้นจึงพัฒนำไปสู่การรณรงค์เพื่อขยายขอบเขตให้ผู้ประสบปัญหาที่ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง

 

ศ.ดร.อมราให้ความเห็นว่า หากเป็นไปได้ น่าจะมีการเปิดโอกาสให้ขบวนการผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ณ เขตจังหวัดชายแดนใต้ เพราะน่าจะเป็นไปอย่างนุ่มนวลมากกว่าการนำโดยผู้ชายที่มักดำเนินไปอย่างเด็ดขาดรุนแรง

 

ความคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดย อาจารย์มัรยัม สาเมาะ ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน จ.ปัตตานี กล่าวถึงบทบาทหนึ่งที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินการในฐานะสตรีชาวอิสลาม ได้แก่ การช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน ซึ่งเป็นการรวมตัวและร่วมกันทำของกลุ่มผู้หญิงโดยเริ่มจากก้าวแรกที่มีเด็กในการดูแลเพียง 2 คน ปัจจุบันมีเด็กในการดูแลรวม 110 คน และเปิดโอกาสในระดับประถมศึกษาสำหรับเด็กในชุมชนด้วย

 

อาจารย์มัรยัมได้กล่าวถึง "เงินซากาต" และเงินบริจาค ซึ่งนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการศูนย์เด็กกำพร้า โดยระบุว่านสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ได้ส่งผลกระทบถึงโครงการของตนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเงินบริจาคโดยมากมาจากผู้ใจบุญจากประเทศมาเลเซีย เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงและการแบ่งฝักฝ่ายเกิดขึ้น ทำให้การบริจาคเงินดังกล่าวขาดช่วงไป

 

นางแวซีตี ฮายะแซะบากอ ประธานกลุ่มสตรีปูยุต จ.ปัตตานี กล่าวเสริมด้วยว่า การมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. ทำให้ผู้หญิงในชุมชนมุสลิมรวมกลุ่มกัน เพื่อใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริมเป็นการทำขนมโรตี ซึ่งทำตลาดได้ดีมาก แต่สตรีในชุมชนส่วนใหญ่ตกลงกันว่าจะทำเป็นอาชีพเสริม เพื่อที่จะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการดูแลครอบครัวและลูกหลาน

 

นางแวซีตีระบุว่าการที่ผู้หญิงมุสลิมออกมาทำงาน ไม่ได้ขัดหลักศาสนาแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันการทำงานของผู้หญิงก็ได้รับการเห็นชอบและการสนับสนุนจากผู้ชาย (หรือสามี) ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างผู้ชายและผู้หญิงจึงเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่คอยเกื้อกูลกัน

 

การแถลงข่าวครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวสรุปว่า ภาพใหญ่ที่เห็นเมื่อมองออกไปนอกประเทศไทย คือการเคลื่อนไหวของขบวนการสตรีอิสลามซึ่งปรากฏชัดเจนในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนจากพื้นที่ภาคใต้ของไทยด้วยว่า ผู้หญิงมุสลิมเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายด้าน และเป็นเรื่องดีงามที่ไม่ได้ขัดหลักศาสนาแต่อย่างไร บทบาทเหล่านี้จึงดำเนินไปได้ด้วยดี แต่หลายบทบาทก็ควรที่จะได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท