Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - วานนี้ (15 ส.ค.50) ที่สนามหลวง เวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ได้ประกาศงดการปราศรัย เปิดทางให้กับกลุ่มไทยรักไทย 1 วัน บนเวทีมีข้อความขนาดใหญ่ว่า "19 สิงหา กาไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ" โดยมีบรรดาแกนนำและอดีต ส.ส.เข้าร่วมกว่า 100 คน นำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายเนวิน ชิดชอบ นายอดิศร เพียงเกษ นายสุธรรม แสงประทุม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อแดง We Vote No อย่างพร้อมเพรียง และมีประชาชนร่วมฟังการปราศรัยกว่า 50,000 คน



 


 


ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายรักษาความเรียบร้อยโดยรอบสนามหลวง มีการวางรั้วเหลืองกั้นบริเวณกลางสนามหลวงสำหรับประชาชนเข้าออกมาทางเดียว เพื่อตรวจกระเป๋าและใช้เครื่องสแกนวัตถุระเบิดอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุไม่สงบ


 


เวลาประมาณ 17.00 น. สมาชิกไทยรักไทยได้ผลัดกันขึ้นปราศรัย อาทิ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง นายสุธรรม แสงประทุม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายจาตุรนต์ ฉายแสง


 

 



 


 


นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ขึ้นปราศรัยว่า กลุ่มไทยรักไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่างๆ กับประชาชน โดยเฉพาะการชี้ถึงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์


 


"ผมได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ ปรากฏว่าต้องแต่งตัวเก้อ เพราะพอถึงเวลาเจ้าของรายการโทรมาบอกว่า รมต. สั่งให้ยุติรายการในวันนั้นไปแล้ว เมื่อเช้ารายการเสวนากับสถาบันพระปกเกล้า ในหนังสือเชิญบอกจะถ่ายทอดช่อง 11 ตลอดรายการ แต่ตอนที่คุณอุทัย พิมพ์ใจชน กำลังพูด ยังพูดไม่เสร็จ พูดดี หมัดตรงทั้งนั้น หันไปถามคนจัดบอกว่ากำลังถ่ายทอดใช่ไหม เขาบอกไม่ได้ถ่ายทอดแล้ว เมื่อเช้าทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ขอเวลาให้ไปถ่ายทอดงานของ สนช. และช่อง 11 เลยตัดสินใจไปถ่ายทอดอันนั้นแทน รายการที่จะอภิปรายให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญก็เลยไม่ได้ออก ถามมากๆ เข้าเขาบอกว่าจะเอาเทป (รายการที่สถาบันพระปกเกล้า) มาออกวันที่ 17 ส.ค. นี้ขอให้ประชาชนติดตามให้ดี อาจมีการออกทีวีเฉพาะฝ่ายสนับสนุนข้างเดียวอีก"


 


 



"พวกเราออกโทรทัศน์ไม่ได้ ลงโฆษณาใน นสพ.ก็ไม่ได้ เอาเอกสารไปแจก ทหารก็จับ เอาซีดีไปแจกก็ยึดเอาไป ฉะนั้น เราจำเป็นต้องหาช่องทางพูดกับพี่น้องประชาชนโดยตรง จึงต้องจัดเวทีปราศรัยวันนี้ วันนี้ไม่ได้แสดงพลังอะไร การลงประชามติต้องใช้คนหลายสิบล้าน คนแสนคนในที่นี้จึงไม่ใช่พลังมากมาย เราต้องการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล และหวังว่าสื่อมวลชนจะเผยแพร่ออกไป การขึ้นเวทีวันนี้ไม่มีประเด็น คมช.ออกไป พี่น้องจะว่ากันต่อผมก็ไม่ขัดข้อง แต่เราไม่ได้เรียกร้องให้ใครออก ให้ใครมา เราต้องการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ"


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อปี 2548 มีการมาชุมนุมกันที่นี่ มีคนเป็นแสนคนไล่เลี่ยกันกับคราวนี้ ประชาชนมาชุมนุมเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องนโยบายต้องการแบบไหน ต้องการให้พัฒนาประเทศแบบใด แล้วทำไมวันนี้จึงต้องมาพูดเรื่องรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ทำไมถอยหลังแบบนี้ พร้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ได้แก้ปัญหาการเมืองไทยเดิมๆ โดยกำหนดให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และมีการนำนโยบายที่หาเสียงไปปฏิบัติจริง แต่มีคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวที่สนามหลวงบอกว่ารัฐบาลทุจริต ประชานิยม เอาใจคนชนบทมากเกินไป จนมีการนำไปสู้การเรียกร้องรัฐประหารในที่สุด


 


"เขาบอกเขายอมไม่ได้ แม้เขาจะเป็นคนไม่กี่คน จะมีการเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์กันเขาก็ไม่เชื่อถือ ต้องล้มการเลือกตั้งไป บอกให้แก้ไขตามรัฐธรรมนูญ หาทางตรวจสอบการทุจริต เขาก็ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น บอกให้เลือกตั้งก่อนแล้วแก้รัฐธรรมนูญเขาก็ไม่เอา แต่ให้มีนายกฯ พระราชทาน การเสนอว่ายังไงก็ได้ให้เอานายกฯ ออกไป ไม่ว่าประเทศจะเสียหายแค่ไหน ในที่สุดก็นำไปสู่การยึดอำนาจ คนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตอนนี้ก็ลืมไปหมดว่าตัวเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมา แต่กลับนำประเทศไปสู่การปกครองที่ล้าหลัง นำการปกครองที่มีกำลังอาวุธกลับคืนมา ไม่ต้องมีสติปัญญาอะไรมากมาย ไม่ต้องมีความสามารถ ประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชน เพียงสามารถใช้งบประมาณแบ่งปันกันเองโดยไม่ต้องทะเลาะกันเอง เพียงเท่านั้น เอามาปกครองประเทศ"


 


นายจาตุรนต์ ยังกล่าวโจมตี คมช.และรัฐบาลว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกได้จริง โดยมองความเห็นแตกต่างกลายเป็นความแตกแยก การมองเช่นนี้ทำให้ยิ่งแตกแยกกว่าเดิม และมีแต่การจ้องจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว นอกจากนี้การแก้ปัญหาภาคใต้ก็ล้มเหลวสิ้นเชิง รวมทั้งองค์กรอิสระก็ไม่ได้เป็นอิสระมากขึ้น


 


"ที่ผ่านมาบอกว่าองค์กรอิสระขึ้นกับนักการเมือง ทำไมศาลปกครองถึงคุ้มครองชั่วคราวบอกให้ยุติการเลือกตั้ง เดี๋ยวจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ส่งสมัครพรรคเดียว ทำไมศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำไมศาลปกครองบอกว่ากฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลออกเป็นโมฆะ ถ้ารัฐบาลควบคุมได้ ทำไมศาลถึงไม่ทำให้ตรงความต้องการของรัฐบาลในขณะนั้น"


 


"แล้ว 11 เดือนมานี้เป็นอย่างไร คตส. ใครตั้งและตั้งใคร ตั้งคนที่จ้องจะเอาเรื่องกับรัฐบาลที่แล้วทั้งนั้นมาเป็น  การตรวจสอบทุจริตดีขึ้นไหม ที่ ป.ป.ช.มีเรื่องค้างอยู่ทั้งหมดประมาณ 20,000 เรื่อง เขายุติเรื่องไปแล้วประมาณ 8,000 เรื่อง ทำไม่ทันบ้าง หมดอายุความบ้าง ไม่เป็นประเด็นบ้าง ที่ทำสำเร็จ 300 กว่าเรื่อง เหลืออีกประมาณ 9,000 เรื่อง เวลานี้ไม่มีรู้ว่าคิวจะเป็นยังไง จะเอาเรื่องไหนขึ้นมาก่อน เรื่องไหนจะหายไป แล้วจะบอกว่าการตรวจสอบการทุจริตดีขึ้นไหม"


 


 


 


นายจาตุรนต์ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญด้วยว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องแก้ปัญหาว่าคนจะมาบริหารประเทศต้องมาจากประชาชน คนจะมาออกกฎหมายก็ต้องมาจากประชาชน คนจะมาตรวจสอบการทำงานของข้าราชการก็ต้องมาจากประชาชน ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้จะทำให้ ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ ไปตรวจสอบกำกับการทำงานของข้าราชการประจำไม่ได้ แม้แต่รัฐมนตรีก็ห้ามก้าวก่ายและเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายกับข้าราชการประจำ 


 


"ตกลงจะเลือก ส.ส. เลือกรัฐมนตรีไปทำอะไรกันไม่ทราบ"


 


ด้านนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหลายข้อเขียนไว้ จนใครมาเป็นรัฐบาลก็กำหนดนโยบายแตกต่างไม่ได้ ใครอยากจะทำอะไรก็ถูกกำหนดไว้ในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหมดแล้ว ถ้าไม่พอใจต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญเท่านั้น  ทำให้พรรคการเมืองทำอะไรไม่ได้มาก อ่อนแอในหลายด้าน ส.ส.ก็ไม่ต้องทำตามมติพรรค ในอนาคตจึงจะไม่มีการแข่งขันกันนำเสนอนโยบายต่อประชาชนอย่างเข้มข้นเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป


 


"ส่วน ส.ว. มีคน 74 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ได้รับการสรรหาจากคน 7 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลย สามารถถอดถอนนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจากคนหลายสิบล้านได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังบอกว่า คน 7 คนเท่านั้นที่มีสิทธิมีเสียงเหนือกว่าประชาชนทั้งประเทศ มีกรรมการที่ คมช.แต่งตั้งไว้หลายคณะจะอยู่ต่อไปจนครบวาระ 7 ปี 9 ปีบ้าง ป.ป.ช. ก.ก.ต. จะอยู่จนครบวาระ พวกนี้จะร่วมกันกับข้าราชการประจำ กับตุลาการ แล้วไปเลือก ส.ว. ไปเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ก็เลือกกันไปมา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ประชาชนจะไปตรวจสอบองค์กรเหล่านี้อย่างไร"


 


"ที่สำคัญมีการนิรโทษกรรมตนเอง เป็นการรับรองการยึดอำนาจรัฐประหาร เป็นการบอกว่า ประชาชนไม่สามารถจะไปร้องศาลที่ไหน ไม่สามารถเข้ากระบวนการยุติธรรมที่ไหนถ้าหากว่าองค์กรที่มาจากประกาศของ คปค.ทำผิดกฎหมาย เพราะเขาถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปหมดแล้ว"


 


 


นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากความอคติกับพรรคการเมือง นักการเมือง เห็นว่านักการเมืองเป็นคนเลว การเมืองเป็นสิ่งเลว นอกจากนั้นแล้วยังเห็นว่าประชาชนคือคนโง่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดูถูกประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด รัฐธรรมนูญแบบนี้เสริมเข้ามาช่วย พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ ให้อำนาจ ผบ.ทบ.ล้นฟ้า ฝ่ายความมั่นคงคุมทุกจังหวัด งบประมาณกองทัพพุ่ง  และจนกระทั่งจะเลือกตั้งแล้ว ยังไม่มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่ต่างประเทศ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง 18 เดือน มีพรรคการเมืองต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนเรียนรู้ว่าเขามีนโยบายอย่างไร


 


"ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เขากำลังอาศัยรัฐธรรมนูญร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ สืบทอดระบบเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นการปกครองที่ล้าหลัง เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าเราเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็จะอ้างว่าประชาชนสนับสนุนเขาแล้ว เขาจะอ้างว่าคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนแล้ว แต่ถ้าเราไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรากำลังบอกกับเขาว่า ประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมให้มีการปกครองระบอบเผด็จการอีกต่อไป ไม่ยอมให้คนมีอาวุธแต่ขาดสติปัญญาความรู้ มุ่งแต่แสวงหาอำนาจมาปกครองประชาชน"


 


---------------


รูปโดย คิม ไชยสุขประเสริฐ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net