Skip to main content
sharethis

1. เพื่อต่อท่ออำนาจของคณะรัฐประหาร


ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ หลายมาตรากำหนดการสืบทอดการดำเนินการขององค์กรที่คณะรัฐประหารรับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บุคคลในองค์กรอิสระดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระ ทั้งๆ ที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ความชอบธรรมของบุคคลเหล่านี้น่าจะหมดสิ้นไป นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดห้าม ส.ส.ร. (ซึ่งมิได้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) สมัคร ส.ส. หรือ ส.ว. อีกด้วย นี่ยังไม่รวมการเตรียมตั้งพรรคการเมืองของคณะนายทหารจำนวนหนึ่ง หรือการเลี่ยงที่จะประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการต่อท่ออำนาจของคณะรัฐประหาร


 


2.เพื่อสืบทอดกฎหมายเผด็จการ


ในมาตรา 308 ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีของคณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเป็นองค์กรอิสระ ภายใน 90 วัน แล้วยังเร่งรัดอีกว่ากรรมการชุดนี้ต้องจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อปฏิรูปกฎหมายให้เสร็จภายใน 1 ปีด้วย โดยไม่มีการอธิบายใดๆ จากผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าจำเป็นเร่งด่วนเพียงใดที่ต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันดำเนินการ นี่จึงเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่จะมีต่อไปอย่างยาวนาน และแนบเนียนกว่าเผด็จการในอดีตที่เป็นเพียง "ประกาศคณะปฏิวัติ"


 


3.เพื่อทำสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นถูก


มาตรา 309 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าการกระทำใด ๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2549 ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการ "ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ" แล้วยังนิรโทษกรรมล่วงหน้าแก่คณะรัฐประหารดังข้อความที่ว่า "ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2550" ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า มาตรานี้มีไว้เพื่อรองรับการกระทำที่ถือว่าชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2549 เท่านั้นก็ไม่จริง เพราะถ้าชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนรับรองไว้เช่นนี้


 


4.เพื่อดึงตุลาการมาเล่นการเมือง


ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ความสำคัญและเพิ่มบทบาทแก่องค์กรตุลาการมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด เข้าไปเป็นกรรมการสรรหาจำนวนมาก โดยที่ไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าบุคคลที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรที่กล่าวมานี้จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผลเสียจากการที่ตุลาการมา "เล่น" การเมืองนั้นจะทำให้ความเชื่อถือในเรื่องความเป็นกลางในการตัดสินข้อขัดแย้งหมดสิ้นไป นี่ยังไม่รวมถึงการขยายเวลาเกษียณของผู้พิพากษาอีก 10 ปี ทั้งๆ ที่ควรจะไปตราไว้ในกฎหมายเฉพาะไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 306 วรรค 2) ก็เป็นประโยชน์ต่อบรรดาตุลาการทั้งหลายเช่นกัน


 


5.เพื่อความชอบธรรมในการเพิ่มงบประมาณทหาร


เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่ารัฐ "ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ" นี่ไม่ใช่ข้อความที่เขียนขึ้นลอย ๆ แต่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทหารถึง 57,064 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 66.40 % และเมื่อพิจารณาจากงบประมาณปี 2551 ก็จะพบว่า ยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงได้รับการจัดสรร 219,690.3 ล้านบาท แต่ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขความยากจนได้รับเพียง 59,833.3 ล้านบาท


 


6.เพื่อรองรับกฎหมายความมั่นคง


สิทธิเสรีภาพที่สภาร่างรัฐธรรมนูญมักจะนำมาอวดอ้างนักหนาว่าเป็นจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งมักจะอ้างมาตรา 27 ว่าสิทธิที่บัญญัติไว้แล้วย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันก็มีข้อยกเว้นเต็มไปหมด เช่น ให้อำนาจรัฐล้วงความลับของประชาชน (มาตรา 36) หรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (มาตรา 45) ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับ ร่างกฎหมายรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่จะให้อำนาจผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.รมน. มีอำนาจเข้าไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเหนือชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน


 


7.เพื่อกีดกัน ส.ส.หน้าใหม่ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ


การกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งแบบเดิมที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้รองรับ ส.ส. 3 คน นอกจากเป็นอุปสรรคสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ที่ต้องหาเสียงยากขึ้นแล้ว ยังทำลายหลักการ หนึ่งคนหนึ่งเสียง ที่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนานลงไปอีกด้วย เพราะบางเขตเลือกตั้งอาจเลือกได้ 1 คนหรือ 2 คนหรือ 3 คนแล้วแต่กรณี ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง



ในแต่ละเขต ผลประการต่อมาที่หลีกเลียงไม่ได้คือการเป็น "เบี้ยหัวแตก" ของ ส.ส. ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและส่งผลกระทบต่อไปถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล อันเป็นปัญหาที่ระบบการเมืองไทยประสบมายาวนานและพยายามหลีกเลี่ยง


 


8.เพื่อลดความสำคัญของนโยบายพรรคการเมือง


เหตุผลของการมี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คนของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งคือการส่งเสริมให้พรรคการเมืองใช้นโยบายในการหาเสียง ซึ่งด้านหนึ่งก็ประสบผลสำเร็จดังที่หลายคนยอมรับว่าการเมืองไทยหลังเลือกตั้งปี 2544 นโยบายเป็นส่วนสำคัญในการเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ มี ส.ส.ระบบสัดส่วนจำนวน 80 คน โดยแบ่งจาก 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 คนซึ่งเป็นการทำลายข้อดีของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยไม่มีเหตุผลในทางวิชาการรองรับ นอกจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญหวาดกลัวพรรคการเมืองใหญ่ในอดีตที่เคยเข้ายึดครองที่นั่งของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก และมีการอ้างตัวเลขคะแนนเสียงที่ประชาชนสนับสนุน เท่านั้น


 


9.เพื่อการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย


แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะคงอำนาจวุฒิสมาชิกไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นกรองร่างกฎหมาย การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แต่กลับกำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 150 คนโดยครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและที่เหลือให้มาจากการสรรหาของคณะบุคคล 7 คน ซึ่งมาจากฝ่ายตุลาการและข้าราชการระดับสูง นี่มิใช่อะไรอื่นนอกจากมอบอำนาจกลับไปยังระบอบอำมาตยาธิปไตยอีกครั้ง โดยที่คนเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นให้คุณค่าแก่บรรดาอภิชนมากกว่าการยอมรับอำนาจการตัดสินใจของประชาชน


 


10.เพื่อรองรับการรัฐประหารในอนาคต?


ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 จะเขียนไว้เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" แต่ประสบการณ์การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าลำพังการเขียนลงบนกระดาษนั้นไม่เพียงพอ การต่อต้านรัฐประหารที่เป็นจริงนั้นต้องอาศัยพลังทางสังคมเท่านั้น เพื่อให้การต่อต้านรัฐประหารเป็นจริง การ "โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร" เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าการทำลายอำนาจการตัดสินใจของประชาชนด้วยการรัฐประหารจะต้องไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net