Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 


หลังการรัฐประหารปี 2549 โครงการ อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย (อสพป.) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย(ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง) ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลขิงเหี่ยว ที่มี คมช. เป็นเบื้องหลัง ให้ดำเนินการกล่อมเกลาประชาชนให้มีจิตสำนึกในเรื่อง "พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"


 


มีการจัดตั้งคอร์สการอบรมโดยใช้วิทยากรระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ และเขต ซึ่งใช้วิทยากรที่เรียกว่าวิทยากร "แม่ไก่" เข้าหาประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนเกิด "ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตระหนัก และรับผิดชอบต่อการเลือกคนดีไปเป็นนักการ เมือง เกิดอัตลักษณ์ทางการเมืองใหม่ที่ ถูกต้อง เป็นธรรม เป็นไทย การสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติมีวิถีชีวิตประชาธิปไตยและจะดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์"


 


ทั้งนี้ มีการจัดตั้ง "อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย" เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ให้เกิดเป็นรูปธรรมตามโครงสร้างการทำงานดังนี้


 



โครงสร้างของโครงการ อสพป. (ที่มา : http://www.democracythailand.com)


 


 


โดยหน้าที่ของ อสพป. ดังที่ผู้จัดตั้งได้กล่าวอ้างไว้ และวิทยากรสิ่งที่วิทยากรแม่ไก่จะต้องไปกล่อมเกลาลูกไก่ก็คือ 


 


สร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ให้แก่ประชาชนทุกรากฐาน, พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับเพื่อคัดคน ดีไปเป็นตัวแทนของประขาขน , สนับสนุนและร่วมมือในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ, สนับสนุนส่งเสริมและมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับอย่างมีเหตุผลและสอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาธิปไตย, สร้างเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ถูกต้อง เป็นธรรมเป็นไทย, ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ รณรงค์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่จะดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, เผยแพร่วิถีชีวิตประชาธิปไตยและรับสมัครสมาชิกอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย อย่างต่อเนื่อง, สนับสนุนและร่วมมือในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมืองและดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาการเมืองดังกล่าว, ปฏิบัติหน้าที่ต่อพลเมืองที่ดีต่อสังคม, ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามขุมชน [1]


 


แต่ที่รู้ๆ กันก็คือ โครงการ อสพป. นี้เป็นเพียงยุทธศาสตร์ในการระดมคนไปลงรับประชามติผ่านร่าง รธน. 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม ที่จะถึงนี้เท่านั้น


 


0 0 0


 


ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลคนหนึ่ง จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) แห่งหนึ่งในภาคเหนือ โดยเจ้าหน้าที่คนนี้ได้เปิดเผยว่าในส่วน อปท. ที่ทำงานอยู่นั้น ได้มีหนังสือจากอำเภอให้ทาง อปท. ให้สมาชิก อสพป. มาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. โดยในระยะแรกเริ่มมีเป้าหมายให้ได้จำนวนสมาชิก 10% ของจำนวนประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ (ตำบล,เทศบาล)


 


จากนั้นวันที่ 30 ก.ค. มีหนังสือฉบับใหม่มา โดยปรับเปลี่ยนจำนวนสมาชิกให้เป็นการรวมกันทั้งอำเภอ โดยให้ได้จำนวนสมาชิก อสพป. 25% ของทั้งอำเภอ [2]


 


โดยเจ้าหน้าที่ท่านนี้ได้เปิดเผยว่า จำนวนสมาชิกของ อสพป. มีช่องทางได้มาจาก


 


1. การมาสมัครด้วยความสมัครใจ


2. การล่ารายชื่อจากกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงคนที่ฝ่ายปกครองจัดตั้งมา


3. การนำข้อมูลชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ของ อปท.แต่ละที่ รวมถึงอำเภอ แล้วก็นำมากรอกแบบฟอร์มส่งทางอินเตอร์เน็ต


 


โดยที่มาตามข้อ 1 และ 2 นั้น จะมีหลักฐานเอกสารการกรอกและลายเซ็นยินยอมของเจ้าตัว ซึ่งในข้อที่ 1 นั้นแทบจะไม่มีใครเดินมาที่ อปท. เพื่อขอสมัครเลย ส่วนในข้อที่ 2 นั้นมีจำนวนประปราย


 


แต่ที่มาตามข้อ 3 นั้น เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลของ อปท. คนนี้ได้กล่าวว่ามีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการนำรายชื่อนั้นมาใช้โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้ กรอกข้อมูลลงใบสมัครและในเว็บของ อสพป.


 


โดยเจ้าหน้าที่คนนี้กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องใช้วิธีที่ 3 นี้เนื่องจาก เป็นคำสั่งเร่งด่วนเกินไป ไม่มีงบประมาณให้(ในบางพื้นที่) รวมถึงการประชาสัมพันธ์นั้นแทบจะมีเพียงในแค่อินเตอร์เน็ต หรือเป็นแค่จดหมายจากทางราชการ ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ว่า อสพป. คืออะไร? และสามารถไปเป็นได้อย่างไร?


 


นอกจากนี้ในบางพื้นที่ที่มีรายชื่อสมาชิก อสพป. อยู่ในพื้นที่ กลับยังไม่เคยมีการลงมาอบรมจากวิทยากรแม่ไก่ที่ทางอำเภอส่งมา


 


ประเด็นที่น่าสังเกตการสมัครทางอินเตอร์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนของ อปท. หรือทางอำเภอที่นำข้อมูลไปกรอกใบสมัครลงเว็บ อสพป. เสียเอง


 


จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ของ อปท. คนนี้ สอดคล้องกับจำนวนตัวเลขจำนวนสมาชิก อสพป. ที่ปรากฏในเว็บ อสพป. พบว่ายอดการสมัครออนไลน์นั้นเข้ามาก่อนใบสมัคร (ที่จะรับประกันได้อย่างไรว่าใบสมัครนั้นมีลายเซ็นของเจ้าตัวทั้งหมด?) รวมถึงในเขตจังหวัดที่ห่างไกล ที่ไม่น่าจะมีจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตสูง และการประชาสัมพันธ์มีแค่การกระจุกอยู่แถวเขตที่ว่าการอำเภอ หรือส่วนราชการในตัวจังหวัด กลับมียอดผู้สมัครออนไลน์มากกว่ากรุงเทพมหานคร [3]


 


อีกตัวอย่างในกรณีสมาชิกของ อสพป. ในจังหวัดเชียงใหม่ [4] พบว่าทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถบรรลุผลที่ได้ตั้งเป้าไว้แล้วคืออำเภอละ 25% จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยยืนยันได้จากทั้งยอดเอกสารการสมัครและการลงทะเบียนออนไลน์


 


แต่ในความเป็นจริงแล้วมันจะเป็นไปได้ไหม ที่ระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่อึดใจเช่นนี้ โครงการ อสพป. ที่พึ่งตั้งมาไม่กี่เดือน จะสามารถช่วงชิงมวลชนของอดีตพรรคไทยรักไทยในฐานที่มั่นที่เข้มแข็งที่สุดอย่างจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จรวดเร็วเช่นนี้


 


และสิ่งที่มันชวนให้สงสัยและน่าให้คิดต่อก็คือ


 


ก. ในรายชื่อ อสพป. นั้นมีการยินยอมพร้อมใจของผู้ที่ถูกนำชื่อไปลงสมัครไว้ทั้งหมดหรือไม่ ? และถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้น มีการเอารายชื่อประชาชนไปทำอะไรโดยเจ้าตัวไม่รู้ตัว ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือ ?


 


ข. จำนวนสมาชิก อสพป. จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการประเมินจำนวนคนที่จะไปลงรับประชามติผ่านร่าง รธน. 50 ได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่?


 


ซึ่งจากข้อ ข. ทั้งทาง คมช. และรัฐบาลขิงเหี่ยว อาจกำลังถูกกลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐ (อำเภอ , อปท. ต่างๆ) เล่นงานเสียเอง ถูกตัมตุ๋นจากตัวเลขให้เชื่อว่า รธน.ฉบับนี้จะผ่านฉลุยง่ายดาย


 


โดยไม่คำนึงถึงตัวแปรที่สำคัญอีกอันหนึ่ง ก็คือมวลชนเหล่านี้เป็นมวลชนทับซ้อนกับมวลชนของอดีตพรรคไทยรักไทย


 


พรรคไทยรักไทยสร้างมวลชนมามากกว่า 6 ปี แต่โครงการนี้พึ่งเริ่มสร้างไม่กี่เดือน การโน้มน้าวความรู้สึกนึกคิด รวมถึงความโหยหาทุนกับการรำลึกถึงจริยธรรมทางการเมือง อะไรจะมีพลังกว่ากัน?


ดังนั้นถ้าคิดว่าจากยอดจำนวน อสพป. ทั่วประเทศทั้งหมด จากใบสมัคร 7,447,153 คน (แต่ลงทะเบียนออนไลน์ไว้ 8,882,067 คน ) [5] พวกเขาเหล่านี้พร้อมญาติพี่น้องจะไปลงรับ รธน. 50 ทั้งหมด คงอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้


เพราะหลายๆ รายชื่อยังเป็นมวลชนซ้อนทับกับมวลชนของพรรคไทยรักไทย รวมถึง จำนวนมวลชนเหล่านี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพียงมวลชน "ลม" เนื่องจากขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิก อสพป. เป็นเพียงการบันทึกข้อมูลจาก อปท. และอำเภอ โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้ว่าเขามีรายชื่ออยู่ใน 8 ล้านกว่าคนนั้น


และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืองบประมาณในการจัดตั้งโครงการ อสพป. นี้ มันคุ้มกับค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นเงินภาษีของประชาชนแค่ไหน? เพราะหลังการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้ โครงการนี้จะเป็นอย่างไรต่อ --- เพราะในหลายที่ได้บรรลุผลด้านตัวเลขสมาชิกไปแล้ว


 


ประเด็นสุดท้ายนี่แหละสำคัญที่สุด ... เงินภาษีของเรา กำลังถูกนำไปใช้ทำอะไรครับ ท่านๆ ทั้งหลาย ;-P


 


...........................


 


[1] อำนาจและหน้าที่ อสพป. (เข้าดูเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550)


 


[2] ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเป้าหมายของโครงการ อสพป. ที่เผยแพร่ในเวบ http://www.democracythailand.com (เข้าดูเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550)


 


[3] รายงานผลการดำเนินงานการขยายผลอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย(อสพป.) รายจังหวัด (เข้าดูเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550)


 


[4] รายงานผลการดำเนินงานการขยายผลอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย(อสพป.) ศพป.จ.   เชียงใหม่   (เข้าดูเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550)


 


[5] รายงานผลการดำเนินงานการขยายผลอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย(อสพป.) รายจังหวัด (เข้าดูเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net