แถลงการณ์ "ประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 กับอนาคตสังคมไทย"

หมายเหตุ : "เมธา มาสขาว" ส่งแถลงการณ์ในนามศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย มาให้กับ "ประชาไท" โดยเนื้อหาดังกล่าว มาจากการนำเสนอในเวทีเสวนา "รัฐธรรมนูญ 2550 และการลงประชามติกับอนาคตประเทศไทย" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 50

 

ใจความสำคัญ เป็นการมองสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน ตลอดจนวิจารณ์เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถ่ายโอนอธิปไตยของปวงชนชาวไทยสู่ระบอบ "รัฐข้าราชการ" โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการมากเกินไป

 

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ มองสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นว่า "สถานการณ์สู้รบช่วงที่ผ่านมา เราได้สร้างพลังการเคลื่อนไหวของประชาสังคมอย่างครึกโครมในประเทศไทยและประสบการณ์การเคลื่อนไหวกับพันธมิตรและแนวร่วมทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการตื่นตัวทางสังคม แต่ในด้านที่เสียนอกจากการช่วงชิงของมิตรร่วมรบชั่วคราวหลายฝ่าย เรายังได้สูญวัฒนธรรมและวาทกรรมของฝ่ายสังคมนิยม-ประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการผสมพันธุ์ของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา คอมมิวนิสต์ นายทุนและขุนศึก ศักดินา มั่วไปหมด"

 

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ได้เสนอให้ภาคประชาชนมายืนในที่ที่เราควรยืน เพื่อสร้าง "สังคมนิยม-ประชาธิปไตย" (Social-Democracy) และ เปลี่ยนผ่านเผด็จการทหาร ต่อต้านเผด็จการนายทุน

 

 

 





 

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.)

ประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 กับอนาคตสังคมไทย

 

สถานการณ์สังคมการเมืองไทย

15 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผ่านมา แม้หลายคนจะคาดหวังว่าการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองจะเดินไปข้างหน้า แต่สังคมไทยก็ยังคงตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางอำนาจของชนชั้นนำเหมือนเดิม ที่ซึ่งเมื่อชนชั้นนำตกลงผลประโยชน์กันไม่ได้ก็ฉีกเครื่องมือในการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจคือ "รัฐธรรมนูญ" กันเหมือนเดิม ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวถึงสังคมไทยว่า "เมื่อชนชั้นนำตกลงผลประโยชน์กันไม่ได้ หญ้าแพรกก็แหลกราญ"... นั่นหมายถึงประชาชนตกเป็นผู้ถูกกระทำเสมอไป ทั้งยังเป็นผู้ถูกหยิบอ้างด้วย

            เสมือนว่าการปฏิรูปการเมืองจะยังคงย่ำวนอยู่กับที่ หากคำตอบมิได้อยู่กับประชาชนฐานล่างทางสังคมซึ่งไม่เคยได้อะไรจากความขัดแย้งและการรัฐประหารหรือรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำทางอำนาจแต่อย่างใด ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ภาคประชาชนยังถูกแบ่งแยกหลวมๆ เป็น 2 ฝ่าย ไม่นิยมระบอบทักษิณหรือประชาธิปไตยเสรีนิยม ก็ซมซบอยู่กับเผด็จการทหาร ส่งผลมาถึงแนวทางรับและไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย โดยปราศจากพื้นที่หรือทางเลือกอื่นใดในการต่อสู้ นั่นเพราะเราไม่มีพลังในการต่อรองทางอำนาจมากเพียงพอ ที่จะปฏิเสธทั้งระบอบทักษิณและคัดค้านการรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางอำนาจของชนชั้นนำ ภาคประชาชนจึงยังไม่สามารถเสนอชุดอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้ นอกจากการคัดค้าน ติดตามตรวจสอบ การเรียกร้องแก้ไขเนื้อหา และหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำแต่เพียงเท่านั้น

            ปัญหาวิกฤติการเมืองไทยที่ผ่านมานั้น ปัญหาหลักมาจากสถานการณ์การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำ ซึ่งยังทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในประเทศไทยในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศแบบทุนนิยมเสรีที่ขึ้นต่อกลไกตลาดและกระแสโลกาภิวัตน์เต็มที่นี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างสูง และเป็นปัญหาทางโครงสร้างหลักของความยากจนในสังคมไทยที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลของทหารและนายทุนก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้าง โดยเฉพาะการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกันการว่างงาน หรือกระทั่ง การยึดคืนสัมปทานของเอกชนที่เป็นสมบัติสาธารณะทางสังคมมาจัดการเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เช่น โทรคมนาคม น้ำมันและพลังงาน เป็นต้น

            ดังนั้น แม้จะเปลี่ยนผลัดอำนาจโดยการรัฐประหารของกองทัพ สังคมก็ยังคงจ่อมจมกับปัญหาเหล่านี้ต่อไป ท่ามกลางเงื่อนไขทางสิทธิเสรีภาพที่มีมากขึ้น ความคาดหวังในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างใหม่ที่ตั้งคำถามกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแต่ให้ความสำคัญ "เศรษฐศาสตร์สังคม" มากขึ้น โดยการลดทอนช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ปฏิเสธเผด็จการทุนนิยมเสรีเบ็ดเสร็จที่ไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ จึงยังไม่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใด แม้ในรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ หรือรัฐบาลหน้าก็ตาม ตราบใดที่ภาคพลเมืองยังไม่เข้มแข็งและรวมตัวกันในการต่อรองทางอำนาจ

            การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าว ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน ซึ่งมีที่มาสำคัญจากวัฒนธรรมทางการเมือง และกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยได้ จะด้วยการปฏิรูปกฏหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางชนชั้นแห่งอำนาจทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้

            เราจึงไม่เห็นว่า ผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 17-21 พฤษภาคม 2535 ทำไมไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ, ญาติผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ - นายทนงค์ โพธิ์อ่าน - 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ - ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำไมไม่ได้รับความยุติธรรมในปัจจุบัน เหตุใดผู้ใช้นโยบายก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรม คงมิพักต้องกล่าวถึงย้อนหลังประวัติศาสตร์อีกมากมาย ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนรัชต์, ถนอม กิตติขจร หรือกระทั่งยุค "ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้" ในสมัยเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีการกระทำป่าเถื่อนมากมาย โดยเฉพาะการอุ้มฆ่า 4 รัฐมนตรี และจนบัดนี้ไม่เคยมีใครรับผิดชอบ

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2550 และการประชามติ

            ตัวแปรสำคัญทางการเมืองในขณะนี้คือ "รัฐธรรมนูญ" และกลุ่มพลังอำนาจทางการเมืองต่างกำลังใช้ฐานะการลงประชามติเป็นความหมายแห่งวาระการต่อรองกันขั้นสุดท้ายก่อนมีการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งเดิมพันโดยการแบ่งสังกัดขั้วทางการเมืองอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจของระบอบทักษิณเดิม กับกลุ่มอำนาจที่ได้มาใหม่ของกองทัพและรัฐบาลเฉพาะกาล

            ฐานะของประชาชนในอดีต เราได้เพียงเคยคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญจะจัดวางพื้นที่ให้ คือสิทธิพลเมืองและชุมชน บวกกับพื้นที่สิทธิทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาถูกเลือกปฏิบัติในการหยิบใช้ ซึ่งนั่นทำให้เราต้องทบทวนว่า เราไม่อาจหวังให้รัฐธรรมนูญของชนชั้นนำมาปฏิรูปการเมืองไทยได้ เพราะเขาจะไม่ยอมปฏิรูปตนเอง ยิ่งการเมืองแตกเป็นสองขั้ว ฝ่ายใดช่วงชิงได้มากกว่าก็เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มุ่งทำลายประสบการณ์ "เผด็จการนายทุน" ในนาม "ระบอบทักษิณ" โดยขั้วทางการเมืองฝ่ายทหารในนาม "อมาตยาธิปไตย" และภาคประชาชนส่วนหนึ่งที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่จะสังกัดขั้วทางการเมือง (politicize)

            ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อฐานะดังกล่าว ภาคพลเมืองจะหยิบใช้และต่อสู้อย่างไรเพื่อฐานะของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อขบวนการภาคประชาชนไทย ที่จะหยิบใช้สถานการณ์อย่างไร

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ทางอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะยึดโยงว่า "อธิปไตยเป็นของปวงชน" (ซึ่งหมายถึงเรา) ทั้งในนิยามแห่งอำนาจและการปฏิบัติการทางอำนาจนั้น เรากลับพบว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมีหลายมาตราที่ก้าวหน้าและดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบบางมาตราของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเฉพาะในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่ที่ล้าหลังไปมากกว่าเก่าในนิยามแห่งอำนาจที่กล่าวมานั้น และไม่อาจยอมรับได้ก็คือ

 

            1.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ่ายโอนอธิปไตยของปวงชนชาวไทยสู่ระบอบ "รัฐข้าราชการ" โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการมากเกินไป ในนาม "อำนาจทางการเมือง" ทั้งที่ฝ่ายตุลาการควรมีอำนาจทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น จนพื้นที่ทางอำนาจของประชาชนแทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในรัฐธรรมนูญ หากนับการถ่ายโอนอำนาจของประชาชนแก่ผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) บางส่วนเท่านั้น เนื่องเพราะมีการทำลายความสมดุลย์ของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่ง (ม.111) โดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการ ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจไขว้กันไปมาและตัดทอนอธิปไตยของปวงชนอย่างชัดเจน

            การให้มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 76 คน อีก 74 คนมาจากการแต่งตั้งซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งนั้น จะไม่เป็นปัญหามากหากอำนาจของวุฒิสภา(ส.ว.) ไม่มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือมีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวกันกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวนมาก รวมทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่น ซึ่งทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีบทบาทสำคัญสูงในการกำหนดโครงสร้าง ดังที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ สรุปว่า กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยจะสามารถมากำหนดกฎเกณฑ์ กำกับ ตรวจสอบ และควบคุมสังคมการเมืองไทยได้

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ยังให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการสรรหาของฝ่ายตุลาการเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังต้องผ่านความเห็นชอบหรือกลั่นกรองจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน (กกต. ม.231, ผู้ตรวจการฯ ม.243, ป.ป.ช. ม.246, กสม. ม.256) ซึ่งทำให้ขัดแย้งหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามมาตรา 3 เพราะตัดขาดการยึดโยงอำนาจของประชาชน นำพาระบอบประชาธิปไตยรับใช้ "รัฐข้าราชการ" เต็มที่โดยกฏหมายรัฐธรรมนูญ

 อย่าลืมว่า ฐานะของภาคประชาชน เราไม่อาจปฏิรูปการเมือง โดยไม่ "ปฏิรูปการเมืองเชิงโครงสร้าง" -แห่งอำนาจ ที่จะมองเห็นฐานะภาคประชาชนพลเมืองเป็นเจ้าของอธิปไตยได้ในระบบรัฐ และการเมืองบนท้องถนนก็เป็นส่วนกดดันที่จะเติมเต็มฐานะนี้ สังคมไทยถึงจะมี "ประชาธิปไตยทางการเมือง และระบบเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ" ได้อย่างแท้จริง

            โดยสรุป มีการบิดเบือนอำนาจอธิปไตยของประชาชน ทั้งในนิยามแห่งอำนาจและการปฏิบัติการทางอำนาจ โดยยึดเอา อธิปไตยของประชาชนส่วนหนึ่งที่ยึดโยงกับนักการเมืองผ่านการเลือกตั้งมาให้แก่ข้าราชการตุลาการ โดยการตีความมุมแคบจากประสบการณ์ทางสังคมที่พบว่านักการเมืองเป็นข้าทาสของนายทุนและใช้อำนาจรัฐซึ่งต้องควบคุมเต็มที่ แต่ไม่ได้ตระหนักว่า นักการเมืองคือฐานะหนึ่งของผู้แทนอธิปไตยของประชาชน และไม่ยอมตีความว่า "ศาลก็คืออำนาจรัฐหนึ่ง" ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด จึงนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่สรุปได้ว่า "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจข้าราชการ" ที่อยู่ของภาคประชาชนคือการให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้นแต่มีเงื่อนไขหากมีกฏหมายและพระราชบัญญัติลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมา

 

2.การนิรโทษกรรมตามมาตรา 309 โดยให้บรรดาการใดๆ ที่รับรองตามรัฐธรรมนูญ 2549 ชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้งการกระทำเกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนและหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งอาจทำให้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับทับซ้อนทางอำนาจกัน และทำให้อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 2549 ยังคงอยู่ รวมทั้งประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฯ (คปค.) (ตามม.36-37, รธน.2549) ยังมีผลทางอำนาจอยู่ โดยตุลาการศาลฎีกาไม่สามารถนำมาตีความหรือวินิจฉัยตามหลักนิติธรรมได้อีกต่อไปเพราะไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นการนิรโทษกรรมตนเองสืบเนื่องเพราะคณะรัฐประหารและผู้ใช้อำนาจสืบเนื่องกลัวการถูก "เอาคืน" ทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 จะนิรโทษกรรมให้แล้วก็ตาม แต่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ นอกจากสะท้อนว่าการเมืองไทยจะไม่มีความสงบอีกพักใหญ่และจะนำพาสังคมสู่บรรยากาศแห่งการแตกแยกอีกระยะหนึ่งแล้ว อันตรายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำลายกระบวนการยุติธรรมไทยในอนาคต และทำลายการพยายามจะสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองไทยให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถนำมาวินิจฉัยในกระบวนการยุติธรรมได้

           

            ทบทวน - สิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมี

            1.ประชาธิปไตยทางการเมือง โดยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง" รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ(ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน (หมายรวมถึงต้องยกเลิกบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะวุฒิการศึกษา)

            2.รัฐธรรมนูญต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และปฏิรูปการเมืองเชิงโครงสร้างแห่งอำนาจ ความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันทางการเมืองโดยยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนและตรวจสอบได้ รวมถึงองค์กรอิสระและสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาอำนาจท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะการกระจายอำนาจที่ผ่านมามีความลักลั่นและทับซ้อนกัน

            3. รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อเหมือนเดิมเพื่อพัฒนาการเมืองไทย เพราะการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองและพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนจากกลุ่มชนชั้นทางผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้ ต้องแบ่งสัดส่วนตามคะแนนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงโดยไม่มีอัตราขั้นต่ำเพื่อกีดกันพรรคเล็กเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540

4. รัฐธรรมนูญจะต้องมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และบัญญัติให้มีการเก็บภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า

รวมถึงนโยบายอื่นที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของสังคมและประชาชน เช่น การจำกัดการถือครองที่ดิน รวมถึงพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคใดต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการศึกษา การสาธารณสุข การประกันการว่างงานและสวัสดิการแรงงาน โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

 

            ประชามติ "ติ่ง"

            ขณะที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาว่า 19 สิงหาคม 2550 ผลประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาเช่นไรนั้น ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของหลายฝ่ายก็แสดงออกตามสังกัดขั้วทางการเมือง (politicize) ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาจจะไม่ได้อ่านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ไม่มากก็น้อยเป็นความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตามเหตุผลหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีการโฆษณาการขึ้น ส่วนสังคมอีกส่วนหนึ่งยังสับสนทั้งหลักการและข้อเท็จจริง

            หากการโฆษณาการกล่าวว่า "รับ" ถือว่าสนับสนุนเผด็จการทหาร มุมกลับกัน "ไม่รับ" ก็ถือเป็นการสนับสนุนเผด็จการนายทุนในนาม "ระบอบทักษิณ" ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งนั่น อาจไม่ใช่เป็นสิ่งต้องเลือกว่าเราจะต่อสู้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือจักต้องเอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอไป เพราะโจทย์นี้เรียวแคบเกินไปและนำมาซึ่งการเลือกฝ่ายชิงชัง แต่เราต้องตั้งฐานะของเราว่า ในฐานะพลเมือง ในโครงสร้างแบบนี้เราจะต่อสู้ต่อเผด็จการทหารและเผด็จการนายทุนอย่างไร เพื่อสถาปนาฐานะฝ่ายประชาชนขึ้น

            ในสถานการณ์ที่การประชามติครั้งแรกของประเทศไทยนี้ เป็นการประชามติภายใต้บรรยากาศทหาร ที่มีการควบคุมโดยกำลังอาวุธและกลไกรัฐ มีการประกาศกฏอัยการศึกใน 35 จังหวัดที่เป็นชายแดนและไม่ใช่ชายแดนแต่เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการทางทหาร เสมือนประเทศไทยเป็นรัฐทหารมานานมากแล้ว มากกว่านั้นมีการปฏิบัติการโดยอ้างอำนาจตามประกาศกฏอัยการศึก เพื่อการคุกคาม หรือกีดกันการรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบานปลายในหลายจังหวัดภาคเหนือและภาคอิสาน ท่ามกลาง "งบลับ" มหาศาลของกองทัพที่ไม่เคยถูกเปิดเผยและอาจเกี่ยวเนื่องกับการค้าอาวุธหรือความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งเหล่านี้ก็คือ บรรยากาศการลงประชามติ ภายใต้กระบอกปืนของกองทัพนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประชามติในครั้งนี้ให้ "จอมปลอม" มากยิ่งขึ้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ประชามติ "ติ่ง"

            อย่างไรก็ตาม "จุดยืน" ของเราก็คือว่า ทำอย่างไรให้การลงประชามติครั้งแรกทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แม้เป็นประชามติภายใต้บรรยากาศเผด็จการทหาร แต่เราต้องประครองให้ประชามติมีความหมายให้มากที่สุดให้ได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานว่าต่อไป รัฐไทยต้องสร้างประชาธิปไตยทางตรงโดยการประชามติ สอบถามการตกลงปลงใจของประชาชนต่อเรื่องต่างๆ

            และความหมายที่ดีที่สุดเพื่อฐานะของภาคประชาชนดังที่ได้กล่าวถึงเหตุผลมาแล้ว เราต้องไปลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ด้วยเหตุผลทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐทหาร และข้าราชการในนาม "อมาตยาธิปไตย" ซึ่งใช้กลไกรัฐทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรมการปกครอง หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน/ชุมชน (อสม.) ปฏิบัติการทางมวลชน แม้ว่าขณะเดียวกันที่เสียง "ระบอบทักษิณ" ก็สนธิกำลังแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พรรคไทยรักไทยหลายร้อยคน โหมโรงต้านรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการรัฐประหารในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน แต่ "ฐานะ" ของภาคพลเมืองไทยยังคงจำเป็นต้องมองที่ความขัดแย้งทางโครงสร้างหลักทางการเมืองและต่อสู้กับ "อำนาจรัฐ" ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่

            และก้าวไปไกลกว่า "การลงประชามติ รัฐธรรมนูญ" ผ่านไม่ผ่านก็ต้องมี "การเลือกตั้ง" โดยเร็วที่สุด และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องไม่ลืมว่า 19 กันยายน 2550 ครบรอบ 1 ปีที่กองทัพให้สัญญาว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน

 

 

อนาคตสังคมไทย ก้าวต่อไปของภาคพลเมือง

ก้าวให้พ้นเสรีนิยมประชาธิปไตย มุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยสังคมนิยม(Social-Democracy)     

            ขณะที่กลุ่มการเมืองของชนชั้นนำแตกสาขาไปเป็นกลุ่มพรรคต่างๆ หลายกลุ่ม นอกจากซีกหนึ่งคือกลุ่มพลังเดิมของ"ประชาธิปัตย์และชาติไทย" อีกซีกหนึ่งคือ "พรรคพลังประชาชน" ตัวแทนของระบอบทักษิณ ยังมีกลุ่ม "รักชาติ" ภายใต้การนำของ ร.อ.ขจิต หัพนานนท์ ซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นตัวแทนของการสืบทอดอำนาจของสายทหาร ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่รอผสมประโยชน์กับ 3 กลุ่มข้างต้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดทางการเมือง เช่น กลุ่มมัชฌิมา กลุ่มรวมใจไทย หรือกลุ่มสมานฉันท์ เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นพรรคของชนชั้นนายทุนและทหารแทบทั้งสิ้น

            อย่างไรก็ตาม แม้ภาคพลเมืองจะไม่มีพรรคตัวแทนทางชนชั้นในระบบรัฐสภา แต่หลังจากการประชามติ "เรา" จะร่วมกันต่อสู้อย่างไรดี ที่จะสร้างเอกภาพและน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภาคประชาชน ประสานการต่อสู้เพื่อก้าวพ้นเสรีนิยมประชาธิปไตย รวมพลังเพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยสังคมนิยม(Social-Democracy) ในอนาคต

            ร่วมกันต่อรองทางอำนาจและกดดันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ภายใน 19 กันยายน 2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย อย่าซ้ำร้อยกรณีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ที่พยายามสืบทอดอำนาจจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองไทยอีกครั้งว่า ประชาชนไม่ต้องการให้ "ใคร" โดยเฉพาะกองทัพยึดเอาอำนาจของประชาชนไปเป็นของตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งบรรทัดฐานนี้ผ่านการยืนยันอย่างหนักแน่นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพราะฉะนั้น รัฐบาลเฉพาะกาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ไม่อาจเยียวยาได้โดยปฏิเสธการคืนอำนาจนี้

 

 

เงื่อนไขอำนาจ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ และกฏหมายอื่นๆ

            สิ่งที่ตามมาหลังจากการประชามติ และพลเมืองไทยจะต้องรวมพลังกันคัดค้านก็คือ อันตรายจากกฏหมายต่างๆ ที่รัฐบาลเฉพาะกาลและกองทัพพยายามผลักดันออกมาเพื่อให้อำนาจตนเอง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กฤษฎีกา และเตรียมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในเร็วๆ นี้ โดยการผลักดันของทหาร ตามที่ขณะนี้แม้ว่านายกรัฐมนตรีและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) จะเสมือนหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลการประชามติรัฐธรรมนูญ แต่ในระดับผู้บัญชาการภาคยังเคลื่อนไหวกดดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ สนับสนุนกฏหมายดังกล่าว

             แม้ว่ารัฐบาลอาจจะแก้ไขอำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(ผอ.รมน.) จากผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่อำนาจข้ออื่นๆ ก็ยังเป็นปัญหา เพราะยังให้อำนาจ "ผอ.รมน.ภาค" ซึ่งก็คือผู้บัญชาการภาคมีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค และมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ ซึ่งเท่ากับว่าให้ ผบ.ภ.มีอำนาจเหนือกระทรวงมหาดไทยสั่งการข้าราชการได้!!! ซึ่งก็คือ "รัฐทหารผสมพลเรือน" ในอนาคต หรือการพยายามสถาปนารัฐทหารในระยะยาวนั่นเอง ยังไม่ต้องพูดถึงว่า กฏหมายดังกล่าว ไม่ต้องขึ้นต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและการพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นกฏหมายหลักของระบบนิติรัฐ ซึ่งราชการและหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม หรือผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาอีกด้วย

            นั่นหมายความว่า แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดี แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ย่อมอยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งสามารถจะละเมิดสิทธิเสรีภาพพลเมืองใดๆ ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ "รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" ไม่มีความหมายใดๆ

            และนี่คือการสร้าง "ระบอบกองทัพ" ขึ้นมาใหม่แทน "ระบอบทักษิณ"

            นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกฏหมายเพื่อ "เพิ่มอำนาจข้าราชการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพพลเมือง" อีกมากมาย อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมทั้งกฏหมายที่รอเวลาคลอดคือ ร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ...., ร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ...., ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.. และร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นต้น

            โดยเฉพาะ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ศ... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้วและกำลังรอพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีเนื้อหาเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรอบสอง หรือการขายชาติรอบใหม่โดยการผลักดันของกลุ่มทุนเก่าอย่างน่าเกลียดที่สุดนั่นเอง ทั้งที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ชุดปัจจุบัน ไม่ควรผ่านกฏหมายใดๆ ทั้งสิ้นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือผลประโยชน์สาธารณะของชาติ

 

 

ก้าวต่อไปของฝ่ายประชาชน บนสงครามสองฝ่าย

            สถานการณ์สู้รบช่วงที่ผ่านมา เราได้สร้างพลังการเคลื่อนไหวของประชาสังคมอย่างครึกโครมในประเทศไทยและประสบการณ์การเคลื่อนไหวกับพันธมิตรและแนวร่วมทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการตื่นตัวทางสังคม แต่ในด้านที่เสียนอกจากการช่วงชิงของมิตรร่วมรบชั่วคราวหลายฝ่าย เรายังได้สูญวัฒนธรรมและวาทกรรมของฝ่ายสังคมนิยม-ประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการผสมพันธุ์ของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา คอมมิวนิสต์ นายทุนและขุนศึก ศักดินา มั่วไปหมด

            แต่เราแทบไม่มีพลังฝ่ายประชาชน ขบวนการและหรือพรรคการเมืองที่เข้มแข็งของเรา..

            (แนวรบ เพื่อการต่อสู้อย่างครึกโครม, งานวิชาการของฝ่ายก้าวหน้าของขบวน, การรณรงค์และสร้างวัฒนธรรมความคิดสังคมนิยม-ประชาธิปไตย, การจัดตั้งครั้งใหญ่ ขยายงานมวลชนและแนวร่วม, การผสานขบวนการกรรมกร-ชาวนา, คนหนุ่มสาวในขบวนการต่างๆ คือเป้าหมายร่วมสมัย ฯลฯ)

            เพื่อ เปลี่ยนผ่านเผด็จการทหาร ต่อต้านเผด็จการนายทุน…

            กลับมายืนในที่ที่เราควรยืน เพื่อสร้าง "สังคมนิยม-ประชาธิปไตย" (Social-Democracy) ร่วมกันดีกว่า...

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท