Skip to main content
sharethis

การเมือง


อัยการถกออกหมายจับ'ทักษิณ-พจมาน' เบี้ยวนัดศาลฏีกานักการเมือง14ส.ค.


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวถึงการนัดพิจารณาคดีครั้งแรกคดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษกในวันที่ 14 ส.ค.นี้เวลา 13.30 น.ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฎว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ภริยา จำเลยที่ 1-2 ได้มอบหมายให้ทนายความมายื่นคำให้การโต้แย้งคำฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งกรณีดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน


 


ดังนั้นจึงต้องดูว่าเมื่อถึงเวลานัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 14 ส.ค. จำเลยทั้งสองจะเดินทางมาปรากฎตัวต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาฯหรือไม่ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่เดินทางมาแล้วอัยการโจทก์จะแถลงต่อศาลอย่างไร ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาฯ จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาต่อไปโดยตนไม่สามารถตอบได้ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร


 


ขณะที่นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ม.27 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยโดยศาลจะสอบถามว่าใช้จำเลยจริงหรือไม่ และศาลจะอ่านอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง พร้อมสอบคำให้การว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธอย่างไร ดังนั้นถ้าคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เดินทางมาศาลตามกำหนดนัด ก็ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราวหรือไม่อย่างไร


 


ด้านแหล่งข่าวอัยการรับผิดชอบคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ กล่าวว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่เดินทางมาศาลตามกำหนดนัดในวันที่ 14 ส.ค.ถือว่ามีเจตนาจงใจขัดหมายเรียกซึ่งจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.170 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท


 


ทั้งนี้ในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีนั้น หากจำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลตามขั้นตอนศาลจะสอบถามอัยการโจทก์ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานอัยการได้ประชุมหารือกันแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าน่าจะให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ในฐานะผู้ทำสำนวนการสอบสวน เข้าแถลงต่อศาลให้พิจารณาออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน


 


ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าเนื่องจากในกระบวนการติดตัวนั้นจะต้องดำเนินการโดยอัยการสูงสุดในฐานะเป็นผู้ประสานงานกลางตามข้อตกลงความร่วมมือทางคดีอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้ส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยอยู่แล้ว


 


ดังนั้นอัยการจะเป็นผู้แถลงขอให้ศาลอออกหมายจับเพื่อให้อัยการดำเนินการติดตามจับกุมตัวพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเอง เพราะหากอัยการมีหมายจับแล้วจะสามารถดำเนินการติดตามตัวจำเลยทั้งสองที่พักอยู่ต่างประเทศได้สะดวกและง่ายขึ้น


 


แหล่งข่าวอัยการระบุอีกว่า เมื่อขณะนี้ความเห็นของคณะทำงานอัยการยังไม่เป็นที่ยุติ ดังนั้นจะต้องนำความเห็นดังกล่าวเสนอเพื่อหารือกับนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เพื่อขอความเห็นชอบครั้งสุดท้ายในเช้าวันที่ 14 ส.ค.ว่าตกลงจะเลือกแนวทางใด แต่อย่างไรก็ตามอัยการจะได้ประสานไปยังคตส. ให้เข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 14 ส.ค.เพื่อเตรียมแถลงต่อศาลฎีกาด้วย


 


ผบ.ทร. เรียกร้องกลุ่มผู้คัดค้านไม่เห็นชอบร่าง รธน.ยุติการเคลื่อนไหว เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด


กรมประชาสัมพันธ์ - พลเรือเอกสถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร และหากมองในทางกลับกัน หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คมช.จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะจะต้องทำหน้าที่บริหารงานต่อไป จึงเรียกร้องขอให้กลุ่มที่คัดค้านยุติการเคลื่อนไหวและควรนำค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เก็บไว้ใช้ลงเล่นการเมือง เพื่อแข่งขันกันตามกติกาจะดีกว่า


 



สำหรับข่าวการยึดบัตรประจำตัวประชาชนไม่ให้ไปลงประชามตินั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ มั่นใจว่าในพื้นที่ของกองทัพเรือ ไม่มีปัญหาดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่มีความเข้าใจ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ห่วงคือประชาชนรากแก้วที่ไม่มีความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกชักจูงโน้มน้าวไปในทางคัดค้านได้ง่าย อย่างไรก็ดี ยังเชื่อมั่นว่าภาพรวมของประชาชนที่จะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะได้ถึงร้อยละ 90


 


 




ประธาน สนช.เห็นด้วยกับ กกต.ดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ


กรมประชาสัมพันธ์ -นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นตัวอย่างก่อนที่จะมีการลงประชามติ แต่ทั้งนี้ต้องดูที่กฎหมายประชามติที่ออกมาด้วย เพราะหากเป็นการรณรงค์แสดงความคิดเห็นให้เหตุผล เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ และไม่มีการแจกเงิน ส่วนกรณีการสั่งเก็บป้ายโฆษณาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตามรถโดยสารสาธารณะ ของกระทรวงคมนาคมนั้นสามารถทำได้ รวมถึงการติดสติ๊กเกอร์รถแท็กซี่ด้วย หากไม่ใช่เป็นการว่าจ้างก็สามารถทำได้ พร้อมกันนี้นายมีชัยเห็นว่า รัฐบาล สามารถเชิญชวนให้ประชาชนไปรับร่างรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน หากให้เหตุผลถึงผลดีในร่างรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ประธานสนช. ขอให้ทุกคนยึดถึงประโยชน์ของประเทศในการเคลื่อนไหว ซึ่งการตัดสินใจลงประชามติต้องมีเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์



 


ขบ.ระบุรถแท็กซี่ติดสติกเกอร์ไม่ขออนุญาต ผิด พ.ร.บ.โฆษณา


ผู้จัดการออนไลน์ -นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงกรณีที่รถแท็กซี่มิเตอร์สาธารณะติดสติกเกอร์มีข้อความว่า "รถคันนี้รับผู้โดยสาร แต่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ว่า จากการตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า รถดังกล่าวทำผิดกฎหมาย โดยเป็นการทำความผิดตามพระราชบัญญัติโฆษณาของกรมการขนส่งทางบก โดยกฎหมายระบุว่า แท็กซี่ไม่สามารถติดโฆษณาใด ๆ ได้ แต่ถ้าหากจะติดจะต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากกรมการขนส่งทางบกก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีรถแท็กซี่จำนวนหลายร้อยคันที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ติดสติกเกอร์ดังกล่าว ซึ่งถือว่ามีความผิด และกรมการขนส่งทางบกได้ประสานขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทันที โดยจะมีโทษปรับตั้งแต่ 500-1,000 บาท


 


 


"สุรยุทธ์" ยอมรับมีการยึดบัตรประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานจริง หลัง มทภ. 2 รายงาน ลั่น ต้องรอข้อมูลอีกครั้ง


เว็บไซต์แนวหน้า - พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคอีสาน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และนครพนม ถึงกรณีที่มีการยึดบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อไม่ให้ออกไปใช้สิทธิลงประชามิต ว่า ได้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 2 ยอมรับว่ามีเรื่องดังกล่าวแต่ไม่มาก คงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการลงประชามติ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่เท่านั้น



เมื่อถามว่า ประเมินหรือไม่ว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิลงประชามติมากน้อยเพียงใดนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า คงต้องรอข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่ได้มีการประเมินไว้เบื้องต้นว่าควรจะเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธออกเสียงลงประชามติ


 



เมื่อถามว่า มีความชัดเจนหรือไม่ว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากน้อยเพียงใด พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า คงต้องรอให้ถึงใกล้วันลงประชามติและจะมีการประเมินอีกครั้ง


 


 


ผอ.สำนักข่าวกรอง รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ใต้ ป้องกันเหตุก่อนลงประชามติ


เว็บไซต์แนวหน้า -นายศิระชัย โชติรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรายงานสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีภายหลังเดินทางกลับจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน ว่า เรื่องของการลงประชามติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการรายงานข่าวในพื้นที่ขณะนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะในทุกพื้นที่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ปกครอง ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงของวันลงประชามติ เนื่องจากกลุ่มก่อความไม่สงบออกมาตอบโต้การทำงานของรัฐที่ค่อนข้างเข้มงวด


 


 


ป.ป.ช. ยืนยันการพิจารณาคดีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ไม่มีการตั้งธง เพื่อที่จะเอาผิด หรือกลั่นแกล้ง


กรมประชาสัมพันธ์ - นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการส่งเสือโคร่งไปจีน โดยล่าสุดนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ตอบโต้ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัย ในเรื่องนี้ว่า ในการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วานนี้ (9 ส.ค.) เป็นการตีความในเรื่องอำนาจของอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ในการลงนามอนุมัติให้มีการส่งเสือตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะเจ้าของสวนเสือศรีราชา ไทเกอร์ ซู ก็เป็นหุ้นส่วนใหญ่ในสวนสัตว์ซอนย่า ประเทศจีน ส่วนกรณีที่นายปลอดประสพ อ้างว่าเป็นการร้องขอจากประธานาธิบดีจีนนั้น จากการตรวจสอบในชั้นคณะอนุกรรมการฯ ไม่พบว่ามีการทำเป็นหนังสือราชการจากรัฐบาลจีน มายังรัฐบาลไทย เพราะถ้ามีหลักฐานเรื่องก็จบ


 



กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายปลอดประสพ ไม่เคยระบุถึงประเด็นนี้ แต่หากจะมีการส่งหลักฐานหนังสือดังกล่าว มาให้ ป.ป.ช.ก็พร้อมพิจารณา แต่เนื้อหาอาจจะมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพราะในชั้นนี้ ป.ป.ช.ได้ลงมติชี้มูลความผิดไปแล้ว ขอยืนยันว่าการพิจารณาคดีนี้ ป.ป.ช.ไม่มีการตั้งธง เพื่อที่จะเอาผิด หรือกลั่นแกล้ง และไม่พิจารณาแบบสุกเอาเผากิน แต่ที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ตามเอกสาร หลักฐานและข้อกฎหมาย เพราะรู้ว่านายปลอดประสพเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่


 



ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อถูกชี้มูลแล้ว นายปลอดประสพ ต้องไปสู้ในชั้นศาล และยืนยันว่าได้พิจารณาตามกฎหมาย และกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ตามที่นายปลอดประสพโต้แย้งมา เมื่อถามว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถเอาผิดโทษทางวินัยร้ายแรงได้ เนื่องจากเกษียณอายุราชการแล้ว นายภักดี กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องทางวินัย แม้ว่าข้าราชการจะเกษียณไปแล้ว แต่ยังได้รับบำเหน็จบำนาญ ดังนั้น หากหน่วยงานต้นสังกัด ได้รับมติจาก ป.ป.ช. ก็ต้องดำเนินการที่จะลงโทษโดยการให้ออก ไล่ออก ซึ่งจะมีผลกระทบมาถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ดังกล่าว



 


โพลรัฐศาสตร์จุฬาฯ ชี้ ปชช.จะใช้สิทธิรับร่าง รธน.เกือบร้อยละ 80


ผู้จัดการออนไลน์ - นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนางสิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการสำรวจการรับรู้ข่าวสารและทิศทางการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากผลสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 19,441 คน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม-7 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนได้รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อศึกษาในรายละเอียดเกือบทุกชุมชนแล้ว โดยผลสำรวจพบว่า ประชาชนรับทราบว่าจะมีการออกเสียงลงประชามติร้อยละ 86.9 ส่วนที่ไม่ทราบมีร้อยละ 13.1 โดยประชาชนภาคเหนือรับรู้ว่าจะมีการลงประชามติมากกว่าภาคอื่น ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับรู้น้อยกว่าภาคอื่น


 


นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 68.5 จะออกมาใช้สิทธิลงประชามติ และมีประชาชนที่จะไม่ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 8.3 ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ตัดสินใจว่าจะออกไปใช้สิทธิหรือไม่ ร้อยละ 23.2 อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ประชาชนที่จะออกไปใช้สิทธิจะรับร่างรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ 77.9 และประชาชนร้อยละ 22.1 จะออกไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนร้อยละ 47.1 มีความพอใจสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ส่วนร้อยละ 17.2 ไม่พอใจ และมีประชาชนที่ไม่ทราบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญร้อยละ 35.7 ดังนั้น รัฐบาลควรกระตุ้นให้ประชาชนได้รับทราบเนื้อหาก่อนที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้มีความพึงพอใจร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด


 


นายจรัส กล่าวด้วยว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นไปตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคณะรัฐศาสตร์ โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการอำนวยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และขอยืนยันว่า แม้จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทางคณะทำงานก็ทำงานตามหลักวิชาการ ไม่ได้ชี้นำหรือเป็นการเอาใจใคร แต่เป็นการสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่ามีความสนใจเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร และเห็นว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนญ ไม่ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญมากนัก แต่เป็นการแสดงความเห็นของกลุ่มบุคคลทั้ง 2 กลุ่มมากกว่า และเห็นว่ารัฐบาลควรจัดเวทีดีเบตเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนมากขึ้น


 


 


โพลล์คาดประชาชนจะออกไปใช้สิทธิลงประชามติ 68.5%


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - ผลการสำรวจการรับรู้ข่าวสารและทิศทางการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย คณะกรรมการอำนวยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล


 


การลงประชามติครั้งแรกในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 มีแง่มุมหลายประการที่น่าสนใจและน่าที่จะทำการศึกษา ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งให้การศึกษา วิจัย และติดตาม ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง จึงได้มีการสำรวจผลการรับรู้ข่าวสารและทิศทางในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ เพื่อมุ่งหวังให้ข้อมูลพื้นฐานนี้ เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการทางการเมืองและสังคมไทยต่อไป


 


ผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 19,441 คน (ยกเว้นจังหวัดสกลนคร และเพชรบูรณ์ เนื่องจากความล่าช้าในการส่งกลับแบบสอบถาม) คณะผู้ศึกษาพบประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้


 


ประเด็นที่ 1 ประชาชนรับทราบว่าจะมีการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถึง 86.9% และมีผู้ไม่ทราบเพียง 13.1%


 


ประเด็นที่ 2 จากการสำรวจ คาดว่าประชาชนจะออกไปใช้สิทธิลงประชามติ 68.5% และเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิเพียง 8.3 ในขณะที่มีผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจสูงถึง 23.2% โดยเมื่อนำมาหาค่าความสัมพันธ์กับปัจจัยเรื่องระดับการศึกษา พบว่า ตัวเลขผู้ออกไปใช้สิทธิแปรผันตามระดับการศึกษา ดังนี้


 - ผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า คาดว่าจะออกไปใช้สิทธิ 58.6% ไม่ออกไปใช้สิทธิ 11.1% และยังไม่ตัดสินใจ 30.2%


 - ผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยม/ ปวช./ ปวส. คาดว่าจะออกไปใช้สิทธิ 66.8% ไม่ออกไปใช้สิทธิ 7.8% และยังไม่ตัดสินใจ 25.4%


 - ผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี คาดว่าจะออกไปใช้สิทธิ 76% ไม่ไปใช้สิทธิ 7.1% และยังไม่ตัดสินใจ 16.8%


 - ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี คาดว่าจะออกไปใช้สิทธิ 79.4% ไม่ออกไปใช้สิทธิ 7.5% และยังไม่ได้ตัดสินใจเพียง 13%


 


ประเด็นที่ 3 จากการศึกษาพบว่า 47.1% ของประชาชนพอใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่พอใจ 17.2% และมีประชาชนที่ไม่ทราบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากถึง 35.7%


 


โดยเมื่อนำมาหาค่าความสัมพันธ์กับปัจจัยเรื่องเพศ พบว่า 48.3% เพศชาย และ 46% ของเพศหญิง พอใจกับสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ 19.1% ของเพศชาย และ 15.4% ของเพศหญิง ไม่พอใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และมีเพศชาย 32.6% และเพศหญิง 38.6% ที่ไม่ทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย


 


ประเด็นที่ 4 ต่อคำถามที่ว่า ประชาชนจะใช้สิทธิรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือไม่ คณะผู้วิจัยพบว่า มีประชาชนถึง 77.9% ที่คาดว่าจะใช้สิทธิรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีประชาชน 22.1% ที่คาดว่าจะใช้สิทธิไม่รับร่างซึ่งหากหาค่าความสัมพันธ์ของผู้มาใช้สิทธิในแต่ละภาค พบว่า ประชาชนในเขตภาคใต้จะใช้สิทธิรับร่างสูงที่สุดถึง 89.2% ในขณะที่ประชาชนเขตภาคกลางจะใช้สิทธิรับร่าง 81% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 74.3% ภาคเหนือ 74% และกรุงเทพมหานคร 73.1% ตามลำดับ


 


 


ทรท.สัมมนารณรงค์ติวเข้มไม่รับร่าง รธน. มั่นใจคนอีสานคว่ำร่างฯ ถ้ารัก"ทักษิณ"


เว็บไซต์แนวหน้า - ที่อาคารไอเอฟซีที สถานที่ทำการกลุ่มไทยรักไทย ได้มีการจัดสัมมนาโครงการวิพากษ์รัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายอดิศร เพียงเกษ แกนนำกลุ่มไทยรักไทย ร่วมเป็นวิทยากร นอกจากนี้ยังมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พร้อมด้วยนายสมพล เกยุราพันธุ์ บิดา นายภิมุข สิมะโรจน์ และพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และแกนนำนปก. ร่วมด้วย โดยมีประชาชนในพื้นที่กทม.และปริมณฑลร่วมฟังประมาณ 500 คน


 



โดยนายอดิศรกล่าวว่า การสัมมนาของกลุ่มไทยรักไทยวันนี้หากจะมีสายลับของกลุ่มไหนมาฟังก็ตามก็ขอให้ไปบอกพรรคพวกของตัวเองให้ถูกต้อง และถ้าอยากฟังแบบเต็มรูปแบบก็ให้ไปฟังที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 15 ส.ค. รัฐธรรมนูญฉบับนี้คลอดออกมาจากมดลูกเผด็จการ จ้องทำลายพรรคการเมือง ฉะนั้นจะยุยงไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ 19 ส.ค. ขอให้ทุกคนที่ออกจากบ้านเน้นหนักไปทางช่องขวามือคือไม่รับ และมั่นใจว่าในเขตภาคอีสานจะไม่รับรัฐธรรมนูญกันมากมาย ขอให้ทุกคนคิดถึงคนที่อยู่ต่างประเทศให้มาก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะไม่ได้กลับประเทศ ฉะนั้นถ้าพี่น้องรักพ.ต.ท.ทักษิณต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ตอนนี้อย่าเพิ่งร้องไห้ ขอให้ร้องไห้ครั้งใหญ่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณกลับมา


 


 


ประธานคมช.เมินกระแสคว่ำร่างรธน.มั่นจาการลงพื้นที่ของกำลังพลพบประชาชนร้อยละ 70 หนุนรธน.ปี50


กรมประชาสัมพันธ์ - พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึง กระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในขณะนี้โดยยืนยันว่า คมช.ไม่กังวลใจ เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนเข้าใจ ประกอบกับจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของกองกำลังทั่วประเทศ พบว่า มีแนวโน้มประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยพบประชาชนจะไม่ไปลงใช้สิทธิลงประชามติเพียงร้อยละ 2- 3 ท่านั้น


 



นอกจากนี้ประธานคมช.ยังกล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองว่า ขณะนี้ยังไม่คิดลงเล่นการเมืองกับพรรครักชาติแต่ยอมรับว่าชื่นชอบพรรคนี้ เพราะเป็นผู้ที่รักชาติเช่นกัน ส่วนกรณีที่พลเอกวัลลภ ปิ่นมณี เข้าร่วมสังกัดพรรครักชาตินั้น ถือเป็นเหตุผลส่วนบุคคลและเป็นคนละส่วนกับการทำหน้าที่ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ส่วนกรณีที่มีการมองว่าพรรครักชาติ เป็นตัวแทนทหาร หรือ นอมินี นั้น พลเอกสนธิ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ พร้อมกันนี้ประธานคมช.ยังได้ชี้แจงการถึงลงพื้นที่พบมวลชนที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เป็นการหาเสียงแต่เป็นการพบปะเพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่กำลังพล และเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบเท่านั้น



 


พม.เตรียมร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนใหม่ ตัดอำนาจไม่ทับซ้อน อปท.


กรมประชาสัมพันธ์- นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งกลับมาที่คณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้กระทรวงได้รับร่างคืนมาแล้ว โดยวันที่ 14 สิงหาคมนี้ จะนัดหารือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน และวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จะหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสมาคมเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คาดว่าจะได้ข้อยุติก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งจะเป็นการร่างใหม่ทั้งหมด โดยนำร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.ที่จะเสนอเข้าสภาในวันที่ 15 สิงหาคม รวมทั้งข้อคิดเห็นจุดอ่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุ การรับฟังความเห็นของเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มร่าง และร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้หากผ่านประชามติ จะทำให้กฎหมายนี้สมบูรณ์มากขึ้น


 



รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวด้วยว่า ร่างใหม่จะไม่เน้นโครงสร้างสภา ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ.โดยไม่ใช้คำว่า สภาองค์กรชุมชน เพราะดูมีมิติทางการเมืองสูง ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาห่วงว่าจะทับซ้อนกับ อบต. ก็คงต้องตัดออกไป อย่างไรก็ตาม ร่างใหม่จะนำไปประกบกับร่างของ สนช. ซึ่งได้พูดคุยกับนายมีชัยแล้ว ซึ่งนายมีชัย พร้อมสนับสนุนให้มีกฎหมายนี้ และสมาชิกจำนวนหนึ่งใน สนช.ก็เห็นด้วย หากเสนอแล้วก็ออกกฎหมายได้เลย



 


เศรษฐกิจ


 "โฆสิต" ยันไม่จำเป็นเปลี่ยนนโยบายดูแลค่าเงินบาท


ผู้จัดการออนไลน์ - นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าไม่กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว รถยนต์เริ่มขายได้มากขึ้นและการนำเข้าสินค้าทุนก็เริ่มเป็นบวกแล้ว เพราะปกติผลกระทบค่าเงินบาทต่อเศรษฐกิจส่วนรวมจะถึงจุดที่ควรจะตกใจเมื่อมีผลต่อการส่งออก แต่ขณะนี้ไม่มีผลต่อการส่งออก โดยตัวเลขการส่งออกล่าสุดยังขยายตัวถึงร้อยละ 18 ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามีผลเฉพาะบางบริษัทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการดูแลผู้ประกอบการที่มีปัญหาบางเรื่อง เช่น การขาดสภาพคล่อง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรับตัว ความสามารถในการแข่งขันให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง


 


นายโฆสิต กล่าวถึงการบริหารค่าเงินบาท ว่า เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ส่วนกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อภิปรายถึงเหตุการณ์ค่าเงินบาทในอดีตช่วงเงินบาทแข็งค่าจนเป็นปัญหาต่อการส่งออก แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ทั้งนโยบายการเงินที่จะทำให้กลไกการไหลออกของเงินคล่องตัวขึ้น ซึ่งมีเพียงพออยู่แล้ว สำหรับมาตรการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่า 1-2 สัปดาห์จะมีผลสรุปชัดเจน และมาตรการดูแลการปรับตัวธุรกิจก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการปรับตัวธุรกิจรายสาขามาดูแล ขณะที่กลไกของการบริหารค่าเงินบาท วันที่ 20 สิงหาคมนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือถึงการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ


 


"เรื่องที่ สนช. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องทางเทคนิคที่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่เทคนิคจะหารือกัน ซึ่งเข้าใจว่า ธปท.มีเจ้าหน้าที่เทคนิคอยู่แล้ว และการแทรกแซงค่าเงินมีการทำในระดับสากล เพราะการแทรกแซงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการใช้ระบบค่าเงินแบบมีการบริหารจัดการ" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว


 นายโฆสิต ยืนยันว่า ประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนกลับไปใช้ค่าเงินบาทแบบคงที่เหมือนในอดีตแน่นอน และรัฐบาลได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับค่าเงินบาทมาแล้วหลายครั้งว่า ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวน ต้องการให้ค่าเงินบาทอยู่ในระนาบเดียวกันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้า ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ ธปท. ทำงานอยู่แล้ว


 


นายโฆสิต กล่าวถึงกรณีที่ สนช.ให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต้างด้าวว่า เรื่องดังกล่าว ทางกระทรวงพาณิชย์คงต้องไปทำความเข้าใจและขอความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หอการค้าต่างประเทศในไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ การจะแก้ไขใด ๆ ควรดำเนินการผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


 


เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เผย ความตกลงเจเทปป้าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้


กรมประชาสัมพันธ์ - นายสุวิทย์ สิมะสกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทยเป็นอย่างดี จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน แต่กลับเพิ่มการลงทุน เช่น บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มการจ้างงานได้ถึง 2,200 คน คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2551 ทั้งนี้เชื่อว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะไม่เป็นอุปสรรคการลงทุน นอกจากนี้ยอมรับว่าความตึงเครียดทางการเมืองของไทย ทำให้ชาวญี่ปุ่นสนใจและมีความกังวลอยู่บ้าง สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทปป้า หลังจากสภาไดเอะรับรองแล้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ระบุว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและญี่ปุ่น กำลังดำเนินการในรายละเอียด คาดว่าจะสามารถนำเรื่องทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะมีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตว่าจะเริ่มใช้ความตกลงเจเทปป้า ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว


 



นอกจากนี้เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความสนใจลงทุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจบันเทิง เช่น รายการโทรทัศน์ การ์ตูน และอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย



 


คุณภาพชีวิต


ก.ม.สื่อสาธารณะคืบกว่า 1 ใน 3 พร้อมเปิดเว็บรับความคิดเห็น ปชช.


ผู้จัดการออนไลน์ - นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.... เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมาก วันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยพิจารณาเบื้องต้นไปแล้วถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด และได้ลงรายละเอียดเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ ที่มาของกรรมการนโยบาย แม้จะยังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย แต่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า จำนวนกรรมการนโยบาย 9 คน น่าจะมีความเหมาะสมแล้ว แต่ควรมีองค์ประกอบให้ครอบคลุมด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน


 


นายสมเกียรติ กล่าวว่า สัดส่วนของกรรมการตามร่างฉบับของรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน จำนวน 2 คน ด้านบริหารจัดการองค์กร 3 คน ได้รับความเห็นชอบแล้ว ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนด้านอื่นๆ อีก 4 คนนั้น ที่ประชุมเสนอให้คณะทำงานไปพิจารณาทบทวนให้มีองค์ประกอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มจากเดิมที่ระบุด้านประชาธิปไตย การศึกษา การพัฒนาชุมชน และการส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส ส่วนที่เสนอเพิ่มเช่น ด้านสังคมและวัฒนธรรม และให้พิจารณาปรับปรุงให้มีจำนวนคณะกรรมการสรรหาให้มากขึ้น จากข้อเสนอเดิมจำนวน 11 คน และขยายรายละเอียดของขั้นตอนการสรรหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น มีข้อเสนอให้ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการนโยบายต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหา และเปิดโอกาสผู้สนใจ สามารถเสนอตัวเองเข้าสู่กระบวนการสรรหาได้ด้วย


 


โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวด้วยว่า การแลกเปลี่ยนความเห็นของกรรมาธิการฯ ซึ่งมีที่มาหลากหลายเป็นไปด้วยดี เป็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์และให้แง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎหมายให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้เปิดเว็บไซต์ http://tpbs.pdc.go.th เพื่อให้รายละเอียดความคืบหน้าของกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว


 


 


สภานายจ้างเสนอสปส.นำเงิน 4หมื่นล้านปล่อยกู้


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - ตัวแทนสภาองค์การนายจ้างธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติ จำนวน 5 คนนำโดยนายสุรชัย สุทธิวรชัย เลขาธิการสภาฯ เข้าพบนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน เพื่อยื่นข้อเสนอช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างในสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบัน โดยนายสุรชัย กล่าวว่า สภาฯมีบริษัทที่เป็นสมาชิกจำนวนกว่า 54 แห่ง ได้รับผล กระทบจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็งตัวที่เป็นอยู่ปัจจุบัน รวมถึงลูกจ้างก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย จึงอยากเสนอให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการเพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยให้กระทรวงแรงงานประสานกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.)นำเงิน บริหารกองทุนจำนวน 10%หรือ 40,000 ล้านบาทไปฝากไว้กับธนาคารเพื่อให้นายจ้างกู้ยืมเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินเงินในขณะนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่มีดอกเบี้ย และ ส่วนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ประสงค์ทำงานที่อื่น ต้องการ ประกอบอาชีพอิสระนั้น สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ต้องไม่เกินเงิน บำเหน็จบำนาญชราภาพที่ลูกจ้างคนนั้นมีอยู่ สูงสุดไม่เกินคนละ 93,600 บาท โดยใช้เงินบำนาญดังกล่าวเป็นตัวค้ำประกัน และเมื่อลูกจ้างนั้นไม่ให้คืน สปส.ก็สามารถหักเงินจากกองทุนของผู้กู้


 


"ตอนนี้หลายบริษัทได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ โดยฉพาะผู้ที่ส่งออก ลูกจ้างก็กระทบไปด้วยถูกเลิกจ้างกันหลายเป็นหมื่นคน เราจึงขอให้กระทรวงแรงงานที่ดูแล เงินกองทุนของลูกจ้าง นายจ้างกว่า 4 แสนล้านออกมาตรการให้เงินหุมนเวียน นายจ้างนั้น ไม่ใช่เป็นคนรวย เราก็ต้องใช้เงินหมุนไปเรื่อย โดยให้เงินกองทุนส่วนหนึ่ง มาให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ตรงนี้มันเป็นเงินของลูกจ้างนายจ้างอยู่แล้วรัฐไม่ได้เสียหายอะไร ทำในรูปแบบคล้ายสหกรณ์ปล่อยกู้ เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างและลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้"นายสุรชัย กล่าว


 


นายอภัย รมว.แรงงาน กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้ สปส.ไปศึกษารายละเอียดในข้อระเบียบข้อกฎหมาย หลังจากนั้นก็จะให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กรรมการประกันสังคม(บอร์ด)พิจารณาต่อไป เนื่องจากการบริหารเงินกองทุนนั้นเป็นระบบไตรภาคี นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล


 


 


ต่างประเทศ


ครม.ยุ่นจะไม่ไปคารวะศาลเจ้ายาสุคุนิในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กับคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะไม่ไปคารวะศาลเจ้ายาสุคุนิ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตย์ของดวงวิญญานผู้เสียชีวิตในสงครามต่างๆของญี่ปุ่น รวมทั้งผู้ถูกระบุเป็นอาชญากรสงครามเกรดเอ 14 คนของญี่ปุ่น ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบการยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นแต่นายอาเบะ ซึ่งกำลังถูกกดดันจากพวกลอบบี้ยิสต์อันทรงอิทธิพล ซึ่งสนับสนุนศาลเจ้าชินโตแห่งนี้ ปฏิเสธที่จะแถลงความตั้งใจนี้ต่อสาธารณชน


 


นายยูจิ นามาโมโต้ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นบอกกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า การไปเยือนศาลเจ้าแห่งนี้อย่างเป็นทางการ จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเอเชีย ขณะที่นายบันเมอิอิบูคิ รัฐมนตรีศึกษา ให้เหตุผลว่าเขาจะไม่ไปที่นั่น เพื่อให้ความสำคัญกับทุกศาสนาเท่าๆกัน ในฐานะที่เขาเป็นรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลกรมศาสนา ขณะที่นายเททซูโซะ ฟูยูชิบะ รัฐมนตรีคมนาคมไม่ไปเพราะเขาเป็นชาวพุทธ ส่วนนายยาสุฮิซะ ชิโอซากิ โฆษกรัฐบาลก็บอกว่าเขายึดหลักการ ที่จะไม่ไปที่นั่นอยู่แล้ว


 


กระทรวงกลาโหมอังกฤษจะเพิ่มมาตรการห้ามไม่ให้ทหารเผยแพร่ข้อมูลต่อสารธารณะ


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค-ไซมอน แมคโดเวล โฆษกกระทรวงกลาโหมอังกฤษให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนว่า จะได้มีการปรับเพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้ทหารเผยแพร่ข้อมูลใดๆของกองทัพต่อสาธารณะ อาทิ ห้ามไม่ไห้สัมภาษณ์ ,แถลงข่าว,สร้างกระทู้ ,ทำเว็บบล๊อกในอินเตอร์เน็ต หากไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากมาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไม่เข้มงวดและชัดเจนเพียงพอ แต่ไม่ได้มีการระบุว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับโทษร้ายแรงเพียงใด


 


สำหรับมาตรการล่าสุดที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษจะนำมาใช้นี้ มีขึ้นจากกรณีที่ ทหารอังกฤษ 15 นายถูกทางการอิหร่านจับตัวไปเมื่อหลายเดือนก่อนในข้อหารุกล้ำน่านน้ำ แต่หลังจากที่ถูกปล่อยตัวมีทหารบางนายนำเรื่องระหว่างที่ถูกควบคุมตัวมาเปิดเผย ซึ่งมีหลายฝ่ายได้ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net