Skip to main content
sharethis

จุลศักดิ์  แก้วกาญจน์ : เขียน


รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ : บรรณาธิการบทความ


 


 


เรียกว่าเป็นโชคดีหรือไม่นั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด กับปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดเรตติ้งสื่ออย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ภาคนโยบาย ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคนักวิชาการ ภาคผู้ผลิตสื่อ รวมไปถึงเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการ "วิพากษ์" ประเด็นการจัดเรตติ้งสื่ออย่างรอบด้านหลากหลาย


 


ทว่าคำถามอมตะนิรันดร์กาลอย่าง "เรตติ้งคืออะไร" ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนนัก เพราะคำตอบของคำถามยอดฮิตข้อนี้เกิดขึ้นจากฐานความรู้ มุมมอง รวมทั้งประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


 


"เรตติ้งคืออะไร" นับว่าเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการไขไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน หรืออย่างผู้ใหญ่ในรัฐบาลชอบเรียกกันว่า "สมานฉันท์" นั่นล่ะ


 


แม้แรงปรารถนาดีจากผู้ใหญ่ใจดีซึ่งเป็นภาคนโยบายจะออกมาตั้งธงว่า อย่างไรก็ตามจะต้องจัดเรตติ้งสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์และภาพยนตร์ เพื่อประโยชน์สุขแก่เด็กและเยาวชนตาดำๆ ที่ทุกคนมีทีวี และใช้เวลาอยู่กับมันมากยิ่งเสียกว่าคนในครอบครัว


 


แต่เหมือนว่าแรงปรารถนานั้นยังไม่ส่งอานิสงส์ให้เกิดขึ้นตามประสงค์ได้เต็มที่ เพราะความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของเรตติ้ง คือตัวเหตุสำคัญที่ทำให้การปักธงจัดระเบียบสื่อเพื่อการรับชมอย่างเป็นมิตรของเด็ก และเยาวชนยังไม่เป็นผล


 


ปัจจุบันนี้ท่าที่ของหลายส่วนที่มีเอี่ยวกับเรื่องของการจัดเรตติ้งนั้น ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเท่าที่ควร  การตั้งโต๊ะพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ และหาจุดกลางเพื่อการจัดระเบียบสื่อด้วยเรตติ้ง "น่าจะ" เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน


 


ย้อนไป เมื่อครั้งแรกที่จอโทรทัศน์ไทย มีการ "แปะฉลาก" บ่งบอกประเภทและรายการโทรทัศน์ให้ผู้ชมได้ "รับทราบ" กันครั้งแรกนั้น  โดยส่วนตัวนับว่าตื่นเต้นอยู่พอสมควรที่กระบวนการจัดระเบียบสื่อด้วยระบบเรตติ้งเริ่มมีรูปร่างหน้าตาเป็นรูปธรรมขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ "การรับรู้" หลังจากที่ได้ "รับทราบ" การจัดเรตติ้งเพื่อจำแนกรายการโทรทัศน์ ทำให้เด็กๆ ที่ตีจากหน้าจอโทรทัศน์มาในระยะเวลาพอสมควรแล้วตกใจอยู่ไม่น้อย ตรงที่โทรทัศน์ไทยมีรายการ ที่ต้องชมด้วย "การแนะนำ" มีมากเสียเหลือเกิน…มากจนทำให้รู้สึกว่าบ้านนี้เมืองนี้มี รายการโทรทัศน์ที่อาบยาพิษเต็มพรืดไปหมด


 


ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นผลสำเร็จหรือไม่กับความพยายามในการจัดเรตติ้งโทรทัศน์  แต่โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่ามันคือความอัปยศครั้งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์ต้องยอมจารึกเอาไว้ว่า โทรทัศน์ไทยมีเรื่องที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมทุกวัยน้อยเสียเหลือเกิน เรื่องนี้เป็นคำถามต่อไปว่า อะไรกันแน่ที่เราควรจะจัดระเบียบ การจำแนกให้ "รับทราบ" ว่าเป็นรายการที่ควรหรือไม่ควรรับชมสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเพียงพอแล้วหรือ?


 


ทุกๆ วัน เด็กๆ ดูโทรทัศน์วันละหลายๆ ชั่วโมงติดต่อกัน ก็นับเป็นเรื่องที่ชอกช้ำอยู่แล้ว  เนื้อหารายการที่นำเสนอ ไม่ได้สร้างคุณค่า ความฉลาด หรือพัฒนาสติปัญญาอะไรเลย  จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เด็กไทยจะมีพัฒนาการทางสมองต่ำ จนไอคิวเด็กไทยต่ำรั้งอันดับท้ายๆ ของโลก พอๆ กับสุขภาวะของเด็กไทยที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากสื่อโทรทัศน์ ทั้งที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและโภชนาการ  รวมไปถึงการที่เด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมที่เลียนแบบภาพต่างๆ ที่นำเสนอในโทรทัศน์ 


 


การที่สังคม "เรียกร้อง" ให้เด็กไทย เติบโตมาอย่างมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนต้องการ คือ เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุขอย่างพอเพียงนั้น เป็นเรื่องที่น่าขันที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมได้ฟังนับตั้งแต่ผมได้เติบโตขึ้นมาในสังคมไทย มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อสังคมนี้มีแต่รายการเพื่อความบันเทิง รายการตลก รายการเกมโชว์เปิดป้าย รายการข่าว Gossip ดารานักร้อง และรายการเพลงที่เปิดแต่มิวสิควีดีโอซ้ำไปซ้ำมา


 


จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อมีละครน้ำเน่าที่นิยมใช้ภาษาก้าวร้าวหยาบคาย จำแนกผู้คนในสังคมด้วยฐานะทางสังคมจนมองผ่านศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปเสียสิ้น  และมองผู้หญิงละครคือตัวแทนของการระบายความใคร่ รวมทั้งความรุนแรงระหว่างกันให้เสพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจรดเย็น โฆษณาก็มีแต่ชวนเชื่อให้บริโภคแต่ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม และชวนให้นิยมกับสร้างอัตลักษณ์ด้วยเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และความขาวใต้วงแขน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจารีตบังคับของวงการโทรทัศน์ที่ยัดเยียดให้คนดูเสพเสมอมา ปรากฏการณ์ที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังให้เด็ก และเยาวชนเติบโตมากับสังคมที่เต็มไปด้วยสื่อที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรเช่นนี้ แต่หวังให้พวกเขานั้นเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพนั่น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราเห็นคนไปทำบุญหยอดตู้บริจาควัดสิบบาท แต่อธิษฐานให้ตนถูกรางวัลที่ 1


แต่ในเรื่องร้ายยังมีสัญญาณที่ดีอยู่นั่นคือ การที่เด็ก และเยาวชนหลายกลุ่ม ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดการเอาใจใส่ในการจัดระบบสื่อที่มีคุณภาพ พร้อมกับการที่เด็กๆ กลุ่มนี้ เฝ้ามองความจริงใจของผู้ใหญ่ในการจัดการเรื่องนี้แบบเกาะติดทุกสถานการณ์


 


การจัดระเบียบสื่อ เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก และเยาวชนอย่างจริงจังนั้นเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง แต่เราก็คงต้องกลับมามองถึงยุทธศาตร์ที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกันอย่างแท้จริงของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อการทำเรตติ้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว โดยเฉพาะกับการให้ความรู้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการรับสื่อของผู้ชมอย่างยั่งยืน  กรุงเทพมหานครไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียวฉันใด การจัดและให้องค์ความรู้เรื่องเรตติ้งกับสังคมก็เป็นไปฉันนั้น ดั่งสุภาษิตโบราณที่ว่าไว้ว่า "ช้าๆได้พร้าสองเล่มงาม"


 


ปลายทางของการจัดระเบียบสื่อเพื่อเป็นแนวทางให้คนในสังคมสามารถตัดสินใจเลือกรับสื่อได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสมนั้น คงจะเป็นทางเลือกที่ดี ในสถานการณ์ที่สื่อกำลังโหมซัดเข้าสู่ผู้ชมอย่างเราๆตลอดเวลาอย่างสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การจัดระเบียบสื่อ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพลเมืองในประเทศนี้นั้นได้รับการยอมรับเสียทีบนระบบอุตสาหกรรมสื่อของบ้านเรา...


 


จุดเล็กๆ จากการจัดระบบสื่อที่เป็นมิตรต่อผู้ชมทุกวัยในฐานะของผู้รับสื่อนั้น กระเพื่อมไปสู่การสร้างความตระหนักในโครงสร้างสื่อที่จะทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานในการผลิตสื่อให้มีคุณภาพไปพร้อมๆ กับคุณค่า แต่มันก็เกิดเรื่องตลกร้ายซ้ำอีกตรงที่การจัดระเบียบสื่อให้เข้าระบบเพื่อการรับสื่ออย่างมีองค์ความรู้ความเข้าใจนั้น ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเพราะเป็นการเริ่มต้นจัดการสื่อในเรื่องที่ยังไม่น่าจะจัดการ ภาคนโยบายกำลังเดินไปจับประเด็นในเรื่องของการแปะฉลากบอกประเภทรายการเท่านั้น แต่สัดส่วนเนื้อหารายการขยะ ที่ออกอากาศทั้งวันทั้งคืนในโทรทัศน์ระบบฟรีทีวีทุกช่อง ซึ่งเป็นรายการที่เป็นอุปสรรคอย่างยอดต่อการพัฒนาสมองน้อยๆ ของชาติที่กำลังเติบโตนั้น กลับละเลยให้ออกอากาศกันอย่างไม่เป็นกังวล


 


ปรากฎการณ์ที่ "ดูเหมือนว่า" จะเป็นความหวังในการจัดระเบียบสื่อไทย กลับกลายเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นจุดหมายที่ปลายทางอีกครั้งเมื่อเรากำลังเกาไม่ตรงจุดที่แท้ของความคัน และสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่ได้มาหลังจากการลงแรงครั้งใหญ่นั้นมันคงไม่พ้นความว่างเปล่า...


 


และเราจะได้ยินเสียงหัวเราะเยาะเย้ยที่ดังหลอนใจเราทุกครั้งที่นั่งรายการดูโทรทัศน์ไทย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net