คนแม่กลองร่วมใจ ต้านโครงการไฟฟ้าถ่านหิน

 

 

 

 

 

ประชาไท - 7 ส.ค. 50 วานนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้าน ต.บางแก้ว ต.ลาดใหญ่ และตำบลใกล้เคียง ใน อ.เมือง จ.สมุทรสาครร่วมพันคน รวมตัวกันในนามเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลอง เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านที่หน้าหอประชุมศูนย์วัฒนธรรม อ.เมืองสมุทรสงคราม ตามเอกสารของบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แบ็บค็อก แอนด์ บราวน์ จำกัด เจ้าของโครงการศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน กำลังการผลิตขนาด 800 - 1600 เมกะวัตต์ และระบบสาธารณูปโภคชายฝั่ง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ที่ได้แจ้งว่าจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับอำเภอในวันที่ 6 ส.ค. 2550

 

จากเอกสารประชาสัมพันธ์ ชุดที่ 1 ของโครงการศึกษาโรงไฟฟ้าฯ ตามนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการร่วมผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) เพื่อสนองต่อความต้องการและรักษาเสถียรภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศตามแผนในอนาคต ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในขั้นตอน ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดการศึกษาในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน 2550 จากนั้นจะมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อจะนำผลไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกโรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน

 

เอกสารระบุโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ที่อ้างว่ามีเถ้าและกำมะถันต่ำ อีกทั้งในการสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีสาธารณูปโภคชายฝั่งรองรับคือ ท่าเรือความยาว 6 กิโลเมตร และระบบลำเลียงเชื้อเพลิงแบบระบบปิด ซึ่งหากโครงการได้รับการคัดเลือกและประกาศผลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในปี 2550-2552 จากนั้นจะทำการก่อสร้างภายในระยะเวลา 5 ปี และเปิดดำเนินการจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2557

 

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลองกล่าวว่าทางบริษัทได้จัดการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาชาวบ้านต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งยังจัดเป็นเวทีย่อยๆ ถึง 3 เวที 3 ช่วงเวลา ภายในวันเดียว ซึ่งแสดงถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์ อีกทั้งการประชุมที่อำเภอครั้งล่าสุดที่อำเภอก็ไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า ชาวบ้านหลายคนพึ่งทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 5 ส.ค. และได้รวบรวมรายชื่อคัดค้านกันมาได้ 2,000 กว่ารายชื่อ ซึ่งได้นำมารวบรวมต่อในวันนี้

 

"คนรักแม่กลอง รัก ไม่ใช่แค่รักษา แต่รักที่นี่เพราะเสาบ้านเราอยู่ที่นี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นนี้ร้ายแรงยิ่งกว่ายาเสพติด ยิ่งกว่าเอดส์ เพราะโรคพวกนั้นถ้าเราไม่ไปยุ่งเกี่ยวก็ไม่ติด แต่สารซัลเฟอร์จากถ่านหินมันจะอยู่กับเราทั้งยามหลับและยามตื่น อยู่ในน้ำพริก ต้มจืด ไม่เอาก็ไม่ได้ นอกจากเราไม่หายใจ หรือต้องย้ายหนี" ตัวแทนเครือข่ายกล่าว

 

ชาวบ้านบางแก้วหมู่ 6 กลุ่มหนึ่งกล่าวว่าที่มาร่วมชุมนุมเพราะชาวบ้านหากินทางทะเลโดยตรงทั้งประมงชายฝั่งและทำนาเกลือ จะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งผลกระทบจากฝุ่นละออง เสียง กลิ่น และมลภาวะเป็นพิษต่างๆ อีกทั้งตอนนี้ชาวบ้านมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่ง มีการปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลจึงเป็นห่วงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังกล่าวถึงการทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านที่ผ่านมาว่าชาวบ้านคัดค้าน แต่ส่วนที่เห็นด้วยนั้นเป็นเพราะต้องการจะขายที่ดิน

กว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ชาวบ้านเริ่มทยอยกันมาหนาตามากขึ้นและต่างมาเข้าร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการ แต่ทางตัวแทนบริษัทเจ้าของโครงการกลับยังมาไม่ถึงที่นัดหมาย เมื่อชาวบ้านได้ไปสอบถามผู้ดูแลสถานที่พบว่าทางบริษัทของงดใช้สถานที่ไปไม่มีกำหนดตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่กลับไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า ชาวบ้านที่มาร่วมคัดค้านจึงได้ถือโอกาสใช้สถานที่เพื่อทำประชาพิจารณ์ด้วยตัวเอง โดยมีตัวแทนชาวบ้านชาวบ้าน นักเคลื่อนไหวจากสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค นายแพทย์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  นายประกอบแสงจันทร์ นายยกอบต.บางแก้ว และนายจักรพงศ์ เปี่ยมเมตตา นายอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ร่วมพูดคุยเสนอความคิดเห็น

 

หลังการพูดคุยได้มีการสรุปข้อคิดเห็นเป็นจดหมายเพื่อเดินเท้ามอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ยังศาลากลางจังหวัด โดยจดหมายมีใจความว่า เครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลอง อันเกิดจากการรวมตัวของผู้ที่จะได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากโครงการศึกษาโรงไฟฟ้าฯ ได้รวมตัวกันเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินโครงการ และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้วพบคำถามมากมายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการศึกษาดังกล่าวหลายประการ โดยทางบริษัทไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้ จึงขอคัดค้านกระบวนการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

 

โดยเสนอ 8 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.ขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการจำกัดของเขตเฉพาะ ต. บางแก้ว และ ต.ลาดใหญ่ ซึ่งไม่คลอบคลุมพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ ดังนั้นกระบวนการศึกษาฯ จึงควรรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ทั้ง จ.สมุทรสงครามไปจนถึง จ.สมุทรสาครบางส่วน ข้อ 2.การก่อสร้างสะพานเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินยาว 6 ก.ม. จะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารพิษที่สะสมอยู่ใต้พื้นทะเล และกีดขวางการจราจรของเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งไม่มีคำชีแจงในเรื่องของการก่อสร้างและการชดเชยความสูญเสีย

 

ข้อ 3.พื้นที่ ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดที่ได้รับการประการให้เป็นพื้นที่ชุ่มนำอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 1099 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำโลกที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯ นี้ถือเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.โครงการดังกล่าวหากดำเนินการจะส่งผลต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดนเฉพาะต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ สภาพแวดล้อม ทรัพยากร ผลกระทบต่อสังคม และสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อประเมินผลอย่างถ้วนถี่รอบด้าน เพื่อประกอบการตดสินใจในการอนุมัติโครงการ แต่ทางบริษัทไม่สามารถชี้แจงได้

 

ข้อ 5 บทเรียนจากการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งขณะนี้ยังไม่อาจแก้ไขได้ และบางแห่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของประชาชนต่อโรงไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่กว้างขวางของโครงการ ประกอบกับก่อให้เกิดความความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ ข้อ 6.กรณีการให้ข้อมูลของบริษัทเรื่องการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯ รัศมี 5 ก.ม. โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นผู้สมทบเงินกองทุนดังกล่าว ทั้งที่ความจริงแล้วตามมติคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติได้มีมติให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเป็นคนจ่ายเข้ากองทุนในค่า Ft [อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร: Fuel Adjustment Charge  (at the given time)] การนำเสนอข้อมูลข้างต้นเป็นการสร้างความเข้าใจผิดและสร้างความแตกแยกในชุมชน

 

ข้อ 7.ตามยุทธศาสตร์ของ จ.สมุทรสงคราม ที่มุ่งเน้นให้สมุทรสงครามเป็นเมืองแห่งอาหารทะเลและผลไม้ปลอดสารพิษ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางลำครองระดับชาติ เป็นเมืองแห่งประชาชนรักถิ่นกำเนิด และดำรงระบบนิเวศน์สามน้ำ นอกจากนี้กำลงมุ่งสู่เมืองต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่โรงไฟฟ้านั้นขัดต่อยุทธศาสตร์จังหวัดและทำลายเศรษฐกิจชุมชนที่มีมูลค่ามาศาลในอนาคตอย่างสิ้นเชิง และข้อ 8.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจและชี้แจงข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมมติของการร่วมลงความคิดในวันนี้ และหากมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัทในเรื่องดังกล่าวในครั้งต่อไป ขอให้ส่วนราชการได้แจ้งให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 15 วัน

 

พร้อมการส่งจดหมายชาวบ้านได้แนบรายชื่อผู้คัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนฯ ต่อนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งท่านพ่อเมืองได้รับปากในการที่จะปฏิบัติตามความต้องการของประชาชนโดยกล่าวว่าในฐานะข้าราชการไม่มีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง ขึ้นอยู่กับประชาชนหากระชาชนไม่รับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนฯ ผู้ว่าก็ไม่มีสิทธิที่จะรับได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท