Skip to main content
sharethis

หมายเหตุจากประชาไท : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี ชำแหละบทความ "โรฮิงญามหันตภัยแห่งมนุษย์ไร้อนาคต" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2550 ซึ่งเธอเห็นว่า บทความนี้เจือไปด้วยความไม่ชอบใจ/ไม่พอใจคนโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และสามารถสร้างความเกลียดชังถึงคนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น เธอจึงลงมือค้นคว้าเรื่องโรฮิงญาอย่าง 'อยู่เฉยไม่ได้' และพบข้อมูลหลายประการที่บทความละเลยที่จะพูดถึง และบุษยรัตน์ได้ทำเชิงอรรถไว้ด้านล่างบทความดังกล่าว เพื่อแสดงถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่งประกอบด้วยเช่นกัน


 


 


ชาวโรฮิงยาจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ลี้ภัยเข้าไปอาศัยในค่ายผู้อพยพในประเทศบังกลาเทศ


(ที่มาของภาพ : กรพ.)


 


ถึงผู้อ่านทุกท่านคะ


 


ในความเป็นมนุษย์ดิฉันจะรู้สึกเศร้าและทุกข์ระทมทุกครั้งที่ได้รับข่าวสาร ที่สามารถสร้างกระบวนการให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกลุ่มเป้าหมายที่ข่าวสารนั้นสื่อสาร/เล่าเรื่องราว/บอกกล่าวต่อผู้อ่าน


 


เมื่อสักครู่นี้คุณอดิศร เกิดมงคล เพื่อนชีวิตข้างกายได้ส่งเสียงมาทายทักว่าได้อ่านเรื่อง "โรฮิงญามหันตภัยแห่งมนุษย์ไร้อนาคต" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2550 คอลัมน์มองมุมยุทธศาสตร์หรือยัง? ขณะนั้นดิฉันกำลังจะเขียนบทความเรื่องอื่นอยู่ แต่ด้วยน้ำเสียงที่เจือถึงความกังวลแกมไม่สบายใจถึงสารที่สื่อออกมา ดิฉันจึงได้พักงานที่ตั้งใจไว้ชั่วขณะ และลงมืออ่านบทความร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆในสำนักงานอย่างจริงจัง


 


พวกเราทั้ง 3 คน พบว่าแม้ว่าผู้อ่านจะไม่รู้เลยว่า "โรฮิงญา" คือใคร? แต่จะรู้สึกได้ทันทีเลยว่า เนื้อหาบทความนี้เจือไปด้วยความไม่ชอบใจ/ไม่พอใจคนโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และสามารถสร้างความเกลียดชังถึงคนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น ความเกลียดชังนี้เองที่ทำให้ดิฉันกลัว และต้องลงมือค้นคว้าเรื่องโรฮิงญาอย่างอยู่เฉยไม่ได้ และพบข้อมูลหลายประการที่บทความละเลยที่จะพูดถึง


 


ในฐานะที่ดิฉันเลือกที่จะเป็นสะพานสื่อสารความเข้าใจที่เลือกข้าง ไม่เป็นกลาง ดิฉันจึงส่งบทความเรื่องดังกล่าวมายังผู้อ่านให้ทุกคนได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ดิฉันได้ทำเชิงอรรถไว้ด้านล่างบทความเพื่อแสดงถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่งประกอบด้วยเช่นกัน


 


ถ้าทุกท่านมีข้อมูลเรื่องโรฮิงญาเพิ่มเติม บอกกล่าวดิฉันบ้างนะคะ


 


ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นพลังสามัญชน


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


17.00 น. 6 สิงหาคม 2550


 


000


 


 







โรฮิงญามหันตภัยแห่งมนุษย์ไร้อนาคต [1]


 


เคยเห็นบุคคลลักษณะคล้ายแขกผิวดำปานกลาง ร่างกายสันทัด แต่งตัวขะมุกขะมอม หลับนอนริมสถานที่สาธารณะ หรือเดินท่อมอยู่ตามเมือง รับจ้างในสิ่งที่คนไทยทั่วไปไม่ทำกัน


 


เราอาจจะเข้าใจว่า พวกเขา คือ แรงงานต่างด้าว หรือพวกหลบหนีเข้าเมืองธรรมดา ไม่คิดไกลไปว่า พวกนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศชาติ ไม่ใช่แค่ภาระสังคม แต่เป็นความเป็นความตายที่เกี่ยวโยงกับการก่อเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย [2]  


 


เพิ่งกลับมาจากการเยี่ยมพื้นที่ตากและพิษณุโลกพบว่า ฝ่ายความมั่นคงที่นั่นกำลังให้ความวิตกต่อการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นพม่าประเภทหนึ่งโดยเรียกขาน (ไม่ได้สัญชาติพม่าเสียด้วยซ้ำ) แต่เป็นมุสลิมโดยศาสนา และเป็นอะไรก็ได้ตามแล้วแต่จะมีใครใช้ให้เป็น ประการหลังนี้น่าเป็นห่วงมาก 


 


กล่าวได้ว่าชาวโรฮิงญา คือพม่าหน้าแขก ที่มีเชื้อสายบังกลาเทศ มีถิ่นฐานอยู่ไกลถึงแคว้นยะไข่ที่ติดกับบังกลาเทศ ปกติดินแดนแถบนี้ก็แปลกแยกจากพม่าอยู่แล้ว ชาวมุสลิม 5 แสนคนที่นั่นยิ่งแปลกแยกจากชาวยะไข่ทั่วไปที่นับถือพุทธอีกด้วย โดยพวกเขามีชาติพันธุ์และหน้าตาเดียวกับแขกเบงกอลเพราะถูกอังกฤษลากให้เข้ามาอาศัยอยู่ในพม่า นับตั้งแต่ที่อังกฤษผนวกพม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดินิยมอินเดียเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และกลายเป็นลูกไล่ของแคว้นเบงกอลในห้วงเวลานั้น 


 


นโยบายแบ่งแยกและปกครองของฝรั่งเจ้าอาณานิคมสร้างความแตกแยกให้แก่ชนท้องถิ่นภายใต้อาณัติของตนมานานแล้ว และตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะแขกมุสลิมจากเบงกอลฟากตะวันออกนั้น เข้ามาแย่งพื้นที่และทรัพยากรของพม่ายะไข่ คนท้องถิ่นก็เกลียดชัง รัฐบาลพม่าทุกวันนี้ก็กดขี่ชนิดทำกันอย่างไม่ใช่คน


 


แต่ไหนแต่ไรผู้นำพม่านั้นเป็นพวกเกลียดชังชนเชื้อสายอื่นและศาสนาอื่น ความคิดแบบโบราณนี้มีส่วนทำให้ความสงบในดินแดนที่เต็มไปด้วยคนหลากชาติพันธุ์นั้นไม่เกิดขึ้น คนไร้รากแบบโรฮิงญานั้นเป็นที่ถูกเกลียดอย่างที่สุด จึงต้องโดนกดขี่ขนาดหนัก ไม่มีสัญชาติ ไม่มีการศึกษา ไม่มีงาน ไม่มีอนามัย ไม่มีทรัพย์สิน โดนกระทืบทำร้ายและถูกเกณฑ์แรงงานเป็นประจำ บีบกันชนิดถ้าไม่อยากตายก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ จึงมีโรฮิงญาเหลือในพม่าราวล้านคน แต่อพยพไปอยู่ในประเทศมุสลิมเอเชียอื่นราว 3 ล้าน[3]


 


โรฮิงญาหลบหนีเข้าไทยมานานแล้ว โดยปะปนกับแรงงานต่างด้าวอื่นๆ ชนิดดูหน้าก็นึกว่า ชาวปากีสถาน หรือบังกลาเทศ เดิมทีก็ไม่น่าอันตรายด้านความมั่นคงของสังคมมากไปกว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นที่ท่วมประเทศอยู่ในเวลานี้ เดินกันเต็มเมือง ชอนไชลึกซึ้งเข้าไปอยู่ถึงบ้านช่องห้องหอผู้ดีมีสกุล [4]


 


แต่การที่ปรากฏกระบวนการชักนำชาวโรฮิงญาให้เข้าสู่ไทยอย่างเป็นระบบเมื่อไม่นานมานี้และเกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้พวกเขาอยู่ในไทยอย่างถาวร จับได้ถึงความเกี่ยวข้องกับมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา 


 


การจับกุมและผลักดันกลับชาวโรฮิงญาแค่พันเศษในปีนี้เทียบไม่ได้เลยกับโรฮิงญาอีกราว 2 หมื่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งยอมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตัว โดยส่วนหนึ่งมีการติดต่อกับกลุ่มมุสลิมเคร่งจารีต ชักพาลงไปทำอะไรลึกลับบริเวญรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย


 


ชาวโรฮิงญากลุ่มคนพันธุ์พิเศษที่ยากต่อการจำแนก กำลังสร้างความปวดหัวให้กับทางการและหน่วยงานความมั่นคงของไทย ไม่รู้จะผลักดันกลับยังไงดี พม่าประเทศต้นทางก็ไม่ไยดีด้วย และเมื่อมีขบวนการสิทธิมนุษยชนกับขบวนการมุสลิมเคร่งจารีตมาเกี่ยวพันด้วย ความเครียดยิ่งทวีคูณ [5]


 


ชาวโรฮิงญามักพเนจรโดยเรือประมงมาลงยังระนอง การพยายามตรวจค้นผลักดันออกทางทะเลนั้นเป็นเรื่องยาก ทันที่ที่พวกนี้ขึ้นบก โอกาสที่พวกเขาจะได้ในสิ่งที่ปรารถนาก็มีมากพอๆ กับโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เพราะถ้าพวกนี้ไม่หร็อยต่อไปเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ลงไปทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่จะไปหางานทำในมาเลเซีย หรือกลายไปเป็นโจรรับจ้างแบบที่หน่วยงานความมั่นคงวิตกกัน พวกนี้ก็จะโดนทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้ามาดูแลเกือบจะในทันทีและบีบให้รัฐต้องจัดหาพื้นที่ให้ก่อนส่งกลับอีกด้วย


 


แน่นอนว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ไทยไม่สามารถถีบส่งพวกนี้ให้ร่อนเร่แบบโบ๊ทพีเพิลยุคเวียดนามแตก เราต้องทำอย่างที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติกับเอ็นจีโอเข้ามายุ่งเกี่ยว พวกนี้สนใจด้านมนุษยธรรมอย่างเดียวจริงๆ โดยไม่สนใจว่าประเทศเจ้าของพื้นที่จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ปัจจุบันชาวโรฮิงญาที่มีสัญชาติในประเทศตะวันตกกลุ่มหนึ่งมีการจัดตั้งสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยแล้วด้วย 


 


ปัญหาเริ่มหนักขึ้นเมื่อทางการไทยนำโรฮิงญาขึ้นเหนือไปผลักดันออกทางแม่สอด จ.ตาก พวกนี้ไปแล้วต้องกลับเข้ามาใหม่ เพราะถ้าไม่โดนกะเหรี่ยงพุทธที่เป็นเจ้าถิ่นฝั่งเมียวดีเอาไปใช้เป็นแรงงานทาสรบกับกะเหรี่ยงคริสต์ ก็ต้องนอนกลางดินกินแต่ทรายอดตายเป็นแน่ เลยย้อนกลับมาหางานทำในแม่สอด ทั้งยังกระจายออกไปในจังหวัดอื่นๆ แม้ล่าสุดฝ่ายไทยว่าจะไม่ผลักออกทางแม่สอด แต่จะไปส่งออกทางด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ แทน ก็มีหวังไปสร้างภาระให้ที่นั่นเป็นแน่แท้ [6]


 


สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับชาวแม่สอดคือ จ.ตาก มีชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่โตและเข้มแข็งมาก เป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปีที่พัฒนามาจากชนเชื้อสายบังกลาเทศ ซึ่งมีความใกล้เคียงทางสายเลือดกับชาวโรฮิงญาอย่างที่สุด ในหน้าฝนที่ผ่านมา ชุมชนนี้รับชาวโรฮิงญาที่กำลังจะหนาวตายให้อาศัยชั่วคราวในมัสยิด รอการผลักดันกลับออกไป มีหน่วยงานอิสระของทางโรฮิงญาสากล กับดาวะห์เผยแผ่ศาสนาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาปรากฏกายให้ความช่วยเหลือเลี้ยงดูและสอนแนวทางศาสนาอิสลามแบบเคร่งจารีตให้ชาวโรฮิงญา ที่ไม่รู้ชะตากรรมในอนาคตของตัว [7]


 


นอกเหนือจากปัญหาสังคมที่ชาวไทยในพื้นที่ชายแดนต้องประสบจากคนต่างด้าวเหล่านี้แล้ว จากข้อมูลข่าวสารที่ว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจพยายามชักจูงมุสลิมนอกพื้นที่ให้ไปก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โรฮิงญาถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นเป็นพิเศษเสียยิ่งกว่าชาวเขาที่ถูกล้างสมองทางเหนือหรือมุสลิมจามเสียอีก เพราะพวกไร้รากเหล่านี้ยอมทำทุกทางเพื่ออยู่รอด การเผยแพร่ลัทธิเพี้ยนและการจ่ายค่าแรงราคาถูกอาจกล่อมให้พวกนี้ลงไปรบเพื่อพระเจ้าและหาข้าวกินตามแต่คำสั่งของขบวนการลึกลับที่ทำกันเป็นกระบวนการ เท่าที่ทราบมีชาวโรฮิงญาที่เกี่ยวข้องไปแล้วกับการก่อการร้ายในย่างกุ้ง การฝึกอาวุธในอัฟกานิสถาน การค้ามนุษย์และปลอมแปลงเอกสาร


 


ทางออกของเรื่องนี้นอกจากจะหาทางสกัดกั้นและผลักดันออกในปลายทางที่ชัดเจนแล้วก็ไม่ควรให้มีการสร้างเพิงพักชั่วคราว เพราะจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้อพยพเข้ามาอีก และควรทำอย่างไรก็ได้ให้พวกต่างประเทศ เอ็นจีโอ หรือกลุ่มศาสนาเข้าถึงโรฮิงญาให้ยากหน่อย [8]


 


 


000


 


เชิงอรรถโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


 


เชิงอรรถด้านล่างตั้งแต่ข้อ 1 - 8 คือ ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกไม่ได้รายงานไว้ในเนื้อข่าวด้านบน


 


กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้วข่าวข้างต้นนั้นสามารถสร้างกระบวนการชักชวนให้ผู้อ่าน/ผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดต่อคนโรฮิงญาได้เป็นอย่างมาก


 


000


 


[1.] รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์มองมุมยุทธศาสตร์  วันที่ 29 กรกฎาคม 2550 และวันที่ 5 สิงหาคม 2550 http://www.komchadluek.net/2007/07/column/m006_129026.php?news_id=129026 และ http://www.komchadluek.net/2007/08/column/m006_129886.php?news_id=129886


 


[2.] จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่  20 กรกฎาคม 2550 หัวข่าวเรื่อง ผบ.สส.ไม่ฟันธง "มุสลิมโรฮิงยา" โยงกลุ่มป่วนใต้


 (http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000085009)


 


โดยพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการตรวจเยี่ยมชุมชนมุสลิมโรฮิงยา อ.แม่สอด จ.ตาก ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายว่า ชุมชนมุสลิมโรฮิงยามีจำนวน 116 คน มาจากทางตอนเหนือของประเทศพม่า ซึ่งมุสลิมโรฮิงยาที่เข้าประเทศไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากคนไทยที่ได้ผลประโยชน์จากการนำคนเหล่านี้เข้ามา มุสลิมกลุ่มดังกล่าวถูกประเทศเพื่อนบ้านผลักดันออกมา และไปอยู่ในหลายๆ ประเทศและมาอยู่ในประเทศไทยด้วย เพราะคนไทยเห็นแก่ประโยชน์ โดยส่วนหนึ่งที่เข้ามาทางทะเล ทางกองทัพเรือได้เพิ่มความเข้มในการดูแลในน่านน้ำมากขึ้น ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามุสลิมโรฮิงยาเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน


 


และจากข่าวสำนักข่าวไทย วันที่ 20 กรกฎาคม 2550 "พล.อ.บุญสร้าง"ตรวจเยี่ยมชุมชนมุสลิมอพยพที่แม่สอด (http://tna.mcot.net/i-content.php?news_id=qKGWoKY=)


 


โดยผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการตรวจเยี่ยมชุมชนมุสลิมโรฮิงยา อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ชุมชนดังกล่าวเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดฎหมาย ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านก็ผลักดันกลุ่มมุสลิมเหล่านี้ให้ออกนอกประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้ก็อพยพเข้ามาสู่ประเทศต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย สำหรับประเทศไทยเห็นว่ากลุ่มคนดังกล่าวซึ่งเป็นผู้อพยพโดยผิดกฎหมายเราก็อยากจะผลักดันออกไป จึงให้มารวมอยู่ที่ จ. ตาก ซึ่งต้องไปดูก่อนว่าจะทำอย่างไร 


 


เมื่อถามว่า ระบบการควบคุมดูแลจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเล็ดลอดออกไปจากศูนย์ได้หรือไม่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า คิดว่าเขาคงไม่พยายามที่จะออกไป บางทีน่าสงสารไปทางไหน ก็ไม่มีคนต้องการ ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ากลุ่มโรฮิงยาไปร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ก็เป็นอย่างนี้ ทุกฝ่ายจะระแวง ไปประเทศอื่นก็ระแวงทั้งที่บางทีเขาไม่มีพิษ ไม่มีภัย คนระแวงกลัว ดังนั้น เขาจะไปอยู่ที่ไหนก็เดือดร้อนมีคนต่อต้าน


 


"ผมไม่ได้ยืนยันว่าคนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคใต้ เพียงแต่สมมติว่าเขาไม่มีพิษ ไม่มีภัย ก็จะถูกระแวงอยู่ดี ไปไหนก็ยาก แต่ถ้ามีหลักฐานว่ามีพิษ มีภัยเขาก็ไม่ต้องการ จึงตกหนักอยู่กับเราขณะนี้ ซึ่งมีจำนวนพอสมควรที่ไปไหนไม่ได้เราต้องให้การดูแล และถ้าดูแลไม่ดีองค์กรต่าง ๆ จะว่าเราได้" พล.อ.บุญสร้าง กล่าว


 


[3.] โรฮิงญา เป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงยา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า


 


มักมีคนเข้าใจผิดว่าอาระกันกับโรฮิงญาคือคนกลุ่มเดียวกัน จริงๆแล้วชาวอาระกันและชาวโรฮินยาเป็นคนละกลุ่มกัน  ชาวอาระกันมาจากรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ของพม่า ส่วนชาวโรฮินยาหรือโรฮิงญามาจากเมืองจิดตะกองของบังกลาเทศ ทั้งสองกลุ่มเป็นพวกเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ต่างกันที่สัญชาติเพราะอยู่คนละประเทศ แต่นับถือศาสนาเดียวกันคือ อิสลาม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวโรฮิงญาแล้วจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอะรากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ  มากกว่าอาศัยอยู่ในบังคลาเทศ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw


 


ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นต้นมา ประเทศพม่ามองว่าพวกโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนต้องการสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอะรากันตอนเหนือ และผนวกเข้ากับปากีสถาน (Human Rights Watch 1996:10)


 


พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง และในปี พ.ศ. 2491 กองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างพวกนี้ หมู่บ้านหลายร้อยแห่ง "ถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลอพยพหนีไปยังบริเวณที่เป็นปากีสถานในขณะนั้น" (Yunus 1995:3) และนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามจะข่มขวัญและขับไล่พวกโรฮิงญาในครั้งต่อ ๆ มาอีก ทำให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานและต่อด้วยบังคลาเทศระลอกแล้วระลอกเล่า (Smith 1994a; 1994b; Ahmed 2004)


 


ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ทางการที่นั่นต้อนรับพวกโรฮิงญาในฐานะเป็นโมฮาเจียร์ (ผู้ลี้ภัยอิสลาม) และตามรายงานข่าวทางการได้วางแผนจะสร้างหมู่บ้านตัวอย่างที่เหมือนไร่นาสหกรณ์แบบรัสเซียให้กับคนพวกนี้ ("Chottograme"1949) แผนการนี้ไม่ได้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา และต่อมาอีกไม่นานโรฮิงญาก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นคนต่างด้าว


 


ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 250,000 คนอาศัยอยู่ในบังคลาเทศในค่ายที่สหประชาชาติดูแลอยู่ในแถบบริเวณชายแดน บางคนกลับไปพม่าในเวลาต่อมา บางคนหลอมรวมเข้ากับสังคมบังคลาเทศ และประมาณ 20,000 คน ยังอาศัยอยู่ในค่ายใกล้กับเท็คนาฟ อย่างน้อยอีก 100,000 คน อาศัยอยู่นอกค่าย และทางการบังคลาเทศพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2542 ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้อย่างน้อย 1,700 คน ติดคุกในบังคลาเทศด้วยข้อหาข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย (UNHCR 1997:254; "Twenty-five" 1999)


 


[4.] ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ยากจนไร้สัญชาติจำนวนมากจึงอพยพไปสู่เมืองใหญ่ในบังคลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน และเดินทางต่อไป ซึ่งประเทศแถบอ่าวเปอร์เชียที่ซึ่งเชื่อกันว่ามีคนกลุ่มนี้กว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในช่วงทศวรรษ 1990 (Lintner 1993; Human Rights Watch 2000) ชาวโรฮิงญาบางคนได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอิสลามต่าง ๆ และเข้าร่วมการต่อสู้ในอัฟกานิสถานโดยต้องทำหน้าที่เสี่ยงภัยที่สุดในสมรภูมิรบ กวาดล้างกับระเบิดและแบกสัมภาระ (Lintner 2002) ดังนั้นการที่ประเทศพม่าไม่ไว้ใจชุมชนชายแดนจึงนำไปสู่การพลัดถิ่นข้ามชาติอย่างรวดเร็วและทำให้ปัจจุบันมีชุมชนอินเตอร์เน็ต และแหล่งข่าวข่าวของโรฮิงญาเองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก


 


[5.] ดูรายละเอียดเพิ่มเติม โรฮิงยาส์ ประชาชนที่ถูกลืมในพม่า โดยปกป้อง เลาวัณย์ศิริ http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=334


 


[6.] จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 04 สิงหาคม 2550  (http://thainews.prd.go.th/previewnews.php?m_newsid=255008040052&tb=NEWS&news_headline=%b5%c1.%b5%d2%a1) รายงานว่าด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก ผลักดันคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา จำนวน 20 คน ที่ตกค้างอยู่ใน อ.แม่สอด ออกนอกราชอาณาจักร โดยส่งไปผลักดันด้านด่านชายแดนสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์


 


พ.ต.อ.ทัศวัฒน์ บุญญวัฒน์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก ประสานงานกับศูนย์สืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง นำกำลังพร้อมยานพาหนะ ไปรับตัวคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาจำนวน 20 คน ที่ตกค้างอยู่ที่สุเหร่าอัลซอร์ ในเขตเทศบาลเมืองแม่สอด เพื่อควบคุมตัวนำไปผลักดันออกนอกราชอาณาจักรด้านด่านชายแดนสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเป็นช่องทางที่ชาวโรฮิงญา จะสามารถเดินทางกลับถิ่นฐานได้ด้วยความปลอดภัย หลังจากชาวโรฮิงญาเหล่านี้ ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัวได้ที่ จ.ระนอง แล้วถูกส่งตัวมาผลักดันที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ไม่สามารถกลับถิ่นฐานเดิมได้ ทำให้มีการลักลอบกลับเข้ามาอยู่ใน อ.แม่สอดอีก และก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงขึ้นในพื้นที่ตามมา


 


[7.] จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 หัวข้อข่าว กก.อิสลามตากวอนรัฐไม่ผลักดันโรฮิงยาไปแม่สอด (http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/22/WW53_5301_news.php?newsid=72351)


 


รายงานว่า นายอดิศักดิ์ อัสมิมานะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะอนุกรรม การฝ่ายต่างประเทศ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอร้องไม่ให้ภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ทำการผลักดันราษฎรพม่า ที่มีเชื้อสายโรฮิงยา ไปยังพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจาก จะไปสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ เช่น ต้องเป็นภาระจ่ายเงินค่าอาหารและคนเหล่านี้ไปพักอาศัยตามที่สาธารณต่างๆในชุมชน ขณะที่หลายคนถูกผลักดันไปยังฝั่งประเทศพม่าแล้ว ต้องเดินทางกลับมาอีก เพราะไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ แม้กลับไปก็ไม่มีงานทำส่งผลให้ชาวโรฮิงยาต้องหาทางเข้ามาประเทศไทยทางด้านจังหวัดระนอง และเดินทางไปทางใต้ของประเทศไทยเพื่อไปขายแรงงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ทางการมาเลเซียจับได้ต้องผลักดันกลับมาประเทศไทยอีก และคนเหล่านี้ต้องถูกผลักดันไปที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอดทั้งที่ส่วนใหญ่พูดภาษาพม่าไม่ได้


 


นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีบัญชีของชาวโรฮิงยา จำนวน 60 คน และนอกบัญชีกว่า 100 คน ในอำเภอแม่สอด และยังทราบว่า ทางการยังคงส่งคนพวกนี้ไปที่อำเภอแม่สอดอีก "ผมดูสภาพจากชาวโรฮิงยา ไม่ใช่นักรบ ไม่ได้เป็นทหารอะไรอย่างที่เป็นข่าว แต่ละคนมีสภาพผอมโซ ซึ่งเป็นราษฎรพม่าที่ไม่มีงานทำ และต้องการหนีไปขายแรงงาน จึงตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ายางแห่งหนึ่งของ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาสมีชาวโรฮิงยาร่วม 100 คน อาศัยอยู่จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ"  อยากให้องค์กรมุสลิมโลกให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยา ในฐานะที่เป็นมุสลิมที่ตกทุกข์ได้ยากและปัญหานี้น่าจะให้มีการพูดคุยกันระหว่างประเทศ


 


[8.] จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2548 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หน้า 16 รายงานว่า ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 พวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐระไข่ห์ ตอนเหนือ ซึ่งยังคงต้องขออนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากหมู่บ้าน เรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการค้าขายและแสวงหางานทำ นอกจากนั้นพวกเขามักจะถูกบังคับให้เป็นแรงงานอีกด้วย ชายชาวโรฮิงยาจากทางเหนือของเมืองมังเดา (Maungdaw) รายงานว่าชาวบ้านจาก 9 ตำบลต้องสร้างถนนให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์


 


และคณะผู้เชี่ยวชาญสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) แถลงที่เจนีวาเมื่อ 2 เม.ย.50 เรียกร้องให้พม่ายุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงยาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีสถานภาพเป็นประชาชนพม่าตามกฎหมาย ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาถูกจำกัดสิทธิพลเมืองหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส  ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคซับซ้อน


(ดูสำนักข่าวกรองแห่งชาติ http://www.nia.go.th/nia/content/showsubdetail.asp?fdcode=,,,,3116212167111211&dsc=&ifmid=0010006501015002%2F500404%2D00008 )


 


สถานการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่บีบบังคับให้โรฮิงญาต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไม่ขาดสาย


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net