Skip to main content
sharethis


รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ขวา)


 


ประชาไท - 6 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มโดมรวมใจ กลุ่มเพื่อน 14 ตุลา กลุ่มเพื่อนสุราษฎร์ พัทลุง ตรัง สตูล และกลุ่มเพื่อนอีสานใต้ ได้จัดเสวนาเรื่อง "ท่าทีคนเดือนตุลา ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550" โดยมีอดีตคนเดือนตุลาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม


 


นายจาตุรนต์ คชสีห์ กล่าวปาฐกถาเปิดว่า แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติหรือไม่ผ่าน ประเทศชาติย่อมประสบปัญหา เนื่องจากขณะนี้มีกลุ่มบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยให้โหวตรับรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายที่ 2 เป็นฝ่ายที่เห็นควรให้โหวตไม่เห็นด้วย ซึ่งการลงประชามติครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการต่อสู้ของบุคคล 2 กลุ่ม ไม่ใช่ทางออกของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนที่เป็นประโยชน์หลักของประชาชนยังคงถูกละเลยเหมือนเดิม ดังนั้นเชื่อว่า 2 ฝ่ายที่ดำเนินการอยู่ล้วนเป็นศัตรูต่อคนเดือนตุลาที่ลุกต่อสู้ทุกครั้งเพื่อประชาธิปไตยที่เน้นเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก


 


"ผมมองว่า การทำรัฐประหารในอดีตมักมีการวางแผนการสืบทอดอำนาจ การรัฐประหารวันที่ 19 กันยาเป็นการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มอีกฝ่าย ที่เป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การดำเนินการลงประชามติเป็นแค่คน 2 กลุ่มที่ต้องการเอาชนะกัน ที่สุดแล้วการลงประชามติผลจะออกมาเพียงว่า เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่ทุกคนที่มารวมกันที่เป็นคนเดือนตุลา เชื่อว่า อุดมการณ์เดิมในอดีตที่เคยต่อต้านเผด็จการ คงต้องโหวตไม่รับเพื่อให้รู้ว่า คนเดือนตุลามีจุดยืนเช่นไรกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง " นายจาตุรนต์ กล่าว


 


ด้าน รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ และหนึ่งในอดีตคนเดือนตุลา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก การลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับที่ 18 หากผ่านการลงประชามติรับรองย่อมจะทำให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามวิธีทางประชาธิปไตย แต่ทางออกของประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ปัญหาย่อมมีขึ้นตามมาอีกมากมาย เนื่องจากรัฐธรรมฉบับใหม่เขียนไว้เพื่อให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับฟื้นคืนมา หากประชาชนลงมติยอมรับเท่ากับว่า เอาอำนาจของตัวเองไปให้กลุ่มอดีตข้าราชการที่เกษียณราชการ


 


ในส่วนของที่มากระบวนการรัฐธรรมนูญรวมไปถึงเนื้อหาก็ไม่ถูกต้อง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าร่วมแก้ไข การเปิดโอกาสให้ลงประชามติแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อกระบวนการที่มาไม่ชอบย่อมไม่สามารถที่จะโหวตรับได้ ดังนั้นต้องโหวตโนไม่รับรัฐธรรมนูญ


 


"รัฐธรรมนูญปี 50 เอาอำนาจของประชาชนไปให้กับเหล่าอดีตข้าราชการที่เกษียณราชการ กระบวนการที่มาของรัฐธรรมนูญก็มีปัญหา ขณะที่ปัญหาที่เคยเกิดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ไม่ได้นำมาแก้ไขจริงจัง จุดอ่อนที่สำคัญของรัฐธรรมนูญปี 50 เฉพาะเนื้อหาที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่มาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระที่กำหนดให้สรรหา 76 คนแต่งตั้ง 74 คน ย่อมเห็นได้ชัดว่า บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้จะเป็นอดีตข้าราชการ ศาล และศาลที่เกษียณราชการ ที่หลายคนเรียกว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย ด้วยการเอาอำนาจประชาชนไปให้อดีตข้าราชการใช้ตัดสินใจแทนตัดสิทธิของประชาชนแบบชัดเจน "


จากนั้นจึงเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันในบรรดาคนเดือนตุลาที่มาร่วม ท้ายท่สุด รศ.ดร. สุธาชัย รับหน้าที่ในการสรุปความเห็นทั้งหมดต่อวงสนทนาว่า อยากสรุปว่าคนเดือนตุลาส่วนใหญ่ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีความเห็นรับรัฐธรรมนูญนี้เพียงคนเดียว ถือเป็นเสียงข้างน้อยจริงๆของคนเดือนตุลาส่วนใหญ่


จิตวิญญาณคนเดือนตุลาคือมีประชาธิปไตยอยู่ในจิตใจ แม้ว่าตอนนี้มีเพื่อนบางไปคนทำงานกับรัฐบาลนี้ แต่ลึกๆแล้วคงตะกิดตะขวงใจแต่ระยะยาวคนที่อยู่ข้างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะน้อยลงไปและท้ายสุดก็จะเหลือไม่กี่คน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งคือไม่ว่ารัฐบาลทักษิณจะดีหรือเลวก็ต้องยืนยันว่าต้องแก้ด้วยวิธีประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้รถถังยึดอำนาจซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง


"คนเดือนตุลายอมรับอย่างนี้ไม่ได้เด็ดขาด การรับหรือไม่รับเป็นการเล่นตามเกมของเขา เคยคิดว่าจะมีทางอื่นหรือไม่ คือทำให้คนไม่ไปลงประชามติดีกว่าหรือไม่ แต่เมื่อคุยกับหลายฝ่ายแล้วเห็นว่าไม่ดี เพราะมันไม่ได้บอกว่าเป็นการต้าน คมช. ดังนั้นแม้จะเป็นตามกติกาของเขาแต่มันจะส่งผลมากที่สุด"


รศ.ดร. สุธาชัย กล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดของประชาชนคือประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านและไม่เชื่อว่าถ้าประชามติผ่านจะทำให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้ดีขึ้น แต่มันจะหมายถึงการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุธาชัย เชื่อว่า สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญ 2550 น่าจะผ่านประชามติ ดังนั้นทางเลือกก็ต้องทำให้ผ่านแบบเฉียดฉิว ซึ่งจะส่งผลกระเทือนที่จะทำให้พวกเขาระวังว่าทำอะไรได้ไม่ง่าย ภาระของคนเดือนตุลาคือการรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ


ถึงวันนี้ภาระกิจรักษาและฟื้นฟูประชาธิปไตย ไม่ใช่การต่อต้านทักษิณ แต่คือการเอาประชาธิปไตยคืนมา การรัฐประหารคือเอาปืนมาจี้หรือมาปล้นบ้าน การโหวตโนเป็นโอกาสสำคัญบอกว่าการที่เอาปืนมาปล้นบ้านกูนั้น กูเกลียดมึง


แต่ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ก็จะไปรับรองการรัฐประหาร แล้วอย่าไปอ้างว่าไปแก้ได้ในอนาคต เนื่องจากผ่านประชามติที่ประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญนี้ไปแล้วจะไปแก้ทำไม ดังนั้นคือการโหวตโนคือการไม่ยอมรับเผด็จการ การยึดอำนาจ และการฉีกรัฐธรรมนูญแบบนี้ได้ การนำรถถังมาจี้มันคนละเรื่องกับว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีหรือไม่ดี  ไม่มีที่ไหนในโลกแก้รัฐธรมนูญแบบนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net