Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ราวสองสามปีที่ผ่านมา อะไรก็ค่อยๆ พากันตายแล้วแทบทั้งสิ้น 

"พระเจ้าตายแล้ว" จาก นิทเช่ เป็นต้นแบบมากกว่าร้อยปี และเหล่าคนรุ่นหลังก็ยังประคองสติปัญญาหาวลีใหม่ๆ ไม่ได้สักที

ไม่สำคัญว่า อะไรจะตายหรือไม่ ล้วนไม่ขึ้นอยู่กับวลีและเจ้าของวลีเหล่านั้นเลย...

พ.ศ.2550 ในการประกวดวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ นั้น เมื่อผลคัดเลือกรอบสุดท้ายประกาศรายชื่อหนังสือและผู้ประพันธ์แล้ว กลุ่มที่เคยคาดหวังว่า กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ต้องยิ่งใหญ่สมเกียรติของรางวัลอันเก่าแก่  สมค่าทั้งผลงานและผู้ประพันธ์นั่นทีเดียว กลุ่มคนเหล่านี้ต่างพากันร้อนอยู่ในอก เหมือนอารมณ์ขัดแย้งเริ่มปะทุ แต่ไม่นานหรอก มันก็ค่อยมอดดับลงอย่างสนิท เพื่อรอฟังคำประกาศผลรอสุดท้าย รอดูใบหน้าของเหยื่อน้ำลายในวงเหล้า...และรอจนกว่าจะถึงรอบของสามปีข้างหน้า  ทำราวกับยอมปลงใจได้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามกรรม เช่นนั้นหรือ...

กับข้อขัดรสนิยมที่ว่า กวีหน้าใหม่เลหลังกันเข้ารอบ หรือ บทกวีฉันทลักษณ์ ประเภทกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ถูกสต๊าฟไว้ตามกระบะหนังสือขึ้นหิ้งลดเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ในงานตลาดนัดวรรณกรรม จนทำให้ดูเหมือนว่า เกิดอาการตายดับกันไปแล้วจริงๆ จริงหรือ...


กวีตายแล้วจริงหรือนี่...

ดูที่หน้านิตยสารรายสัปดาห์ หรือรายปักษ์  ก็มีบทกวีลงทุกฉบับ ไม่เคยขาด ใครจะรู้บ้างว่า ผู้คัดสรรต้องเลือกบทกวีจากกวีทั่วสารทิศที่ส่งมากองพะเนินอยู่ เลือกแล้ว คัดทิ้ง เพื่อให้ในหนึ่งฉบับมีบทกวีผ่านลงพิมพ์เผยแพร่เพียงหนึ่งบท

หากจะกล่าวถึงบทกวีอย่างเป็นธรรมแล้ว บทกวีต้องมีผลสะท้านใจผู้อ่าน แต่คงไม่ถึงกับบีบกระตุ้นให้ผู้อ่านต้องกระโดดขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกสังคมหรือแม้แต่ตัวเองในชั่วพริบตาหรอก เพราะแท้แล้ว บทกวีเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ ที่พร้อมจะหยั่งราก รอคอยจะแตกผลิยอดใบในพื้นเนื้อใจของผู้อ่านนั่นเอง  ครั้นแล้วเวลาจะล่วงผ่านไปเท่าใด  คงไม่มีมนุษย์ใดจะอธิบายเป็นทฤษฎีได้  เนื่องจากยังมีเหตุปัจจัยภายในสภาวะใจของผู้อ่านอีกมากมาย รวมทั้งปัจจัยภายนอกอีกด้วย ทั้งยังต้องพิจารณาจากพื้นเนื้อใจของผู้อ่านเป็นเหตุสำคัญด้วย  หากเนื้อใจนั้นอุดมไปด้วยธัญญาหารแห่งความดีงามแล้ว คงไม่ต้องอาศัยเวลามากมายเหมือนกับเนื้อใจที่แห้งกระด้าง ไร้คุณธรรมประจำตน

ดังนั้น วลีประเภท กวีตายแล้ว หรือ บทกวีฉันทลักษณ์ตายแล้ว ฯลฯ ล้วนเป็นเพียงคำโฆษณาที่ไร้คุณค่า ซึ่งมักออกอากาศในช่วงละครหลังข่าวเท่านั้นเอง หนำซ้ำยังอุตส่าห์คาดหวังว่า ผลตอบรับจากผู้ฟังจะทำให้ยอดขายในฝัน ขยับขึ้นมาจนพ้นจุดขาดทุนทางใจ

 

ทำไมบทกวีขายไม่ได้ (แถมบางกวียังไม่อยากง้อขายด้วย)

จะโทษตัวกวีเองก็พอทำได้บ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะในเมื่อสื่อฯไม่เคยคิดนำเสนอกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกวีนิพนธ์เลย ทั้งหน้าจอโทรทัศน์ และหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ดูจะมุ่งหาแต่กำไรขายข่าวฉาวโฉ่ นองเลือดเป็นที่ครึกครื้นอย่างเดียว  เคยเห็นไหมในในประเทศนี้ ที่ข่าวหนังสือพิมพ์จะพาดหัวด้วยบทกวีแทนภาพข่าวระเบิดกลางตลาด ทหารขาขาดกระจุย เลือดทิ้งรอยโศกนาฏกรรมเป็นคราบแดงฉาน นั่นก็ถือเป็นการปิดประตูของสื่อผู้ทรงอิทธิพลในประเทศที่หลงคิดไปว่า บทกวีขายไม่ได้สักกระผีกเดียว


หรือบทกวีต้องขึ้นหิ้งเท่านั้น

ถ้าเป็นหิ้งในใจผู้อ่าน ก็ต้องถือเป็นจุดหมายสูงสุดของกวีหลายคน แต่ถ้าหิ้งหนังสือเขรอะฝุ่นนั่งคงต้องพิจารณาว่า บทกวีจำเป็นต่อสภาพชีวิตประจำวันของผู้คนมากน้อยเพียงใด  นั่นจึงต้องถามว่า  แล้วอะไรกันหนอที่สถิตอยู่ในบทกวี? กวีเขียนถึงอะไรกันหรือ?

ประการนี้เองจึงสมควรจะกล่าวหาว่า ที่บทกวีขายไม่ได้นั้น ต้องโยนบาปให้ตัวกวีเอง..


แล้ว กวีเขียนถึงอะไรหนอ...

เขียนถึงปรัชญาง่ายงาม ปรัชญาตะวันตก ตะวันออก ความทุกข์ สถานการณ์บ้านเมือง หรือเขียนถึงธรรมชาติ  ซึ่งก็ล้วนแต่เขียนตามๆ กัน  ทั้งท่วงทำนอง ลีลาจังหวะการจัดวางคำ ยกตัวอย่าง กลอน ที่นิยมใช้ลักษณะการซ้ำคำ เพื่อเน้นให้ผู้อ่านเห็นภูมิปัญญาของกวีที่สามารถใช้คำได้อย่างมีมิติหลากหลาย  หรือนิยมลงท้ายวรรคด้วยคำเสียงเอก หรือคำตาย เหล่านี้ล้วนจะพบเจอได้จนเอียน นี่เป็นลักษณะการทำงานเขียนบทกวีประเภทหนึ่ง เห็นพยายามเขียนตามกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไร้ศักดิ์ศรี เป็นงานของกวีที่ไม่คิดแม้แต่จะฝึกหัด  อาจเพราะกวีไม่มีเวลามากพอให้ฝึกหรือครุ่นคิด เขาต้องทำงานเช้ายันค่ำ ดึกดื่นโน่นค่อยขยับอารมณ์กวี เขียนส่งหน้านิตยสาร เพื่อรอจังหวะสามปีรวมเล่มส่งประกวดรางวัลซีไรต์

เพราะกวีไม่ใช่อาชีพที่จะหาเงินประคองชีวิตได้  กวีไหนหรือจะกล้าเสี่ยงลมหายใจกับการงานอันเป็นที่รัก

มี มีแน่นอน แต่ก็น้อยเหลือเกิน น้อยเกินไป 

โดยมากแล้ว มนุษย์เรา หากได้เขียนบทกวีอย่างทุ่มเทจริงจังแล้ว มักจะไม่เหลือพลังชีวิตเผื่อให้การงานอื่นได้ไม่มากนัก หรือใครจะว่าเขียนบทกวีไม่เหนื่อย..

ดังนั้นแล้ว งานกวีเป็นดั่งการงานอันเป็นที่รักยิ่ง ไม่ใช่แค่ทำเพื่อเติมเต็มให้ชีวิตที่ขาดหาย


กวีเขียนถึงทรรศนะใด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดปรัชญาตะวันตกได้หลอมรวมอยู่ในกระบวนคิดของคนในสังคมไปแล้ว รวมทั้งกลุ่มนักเขียน กวี ที่นิยมเรียกตัวเองว่า กลุ่มสร้างงานสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ เนื้อหาในบทกวีร่วมสมัยต่างสะท้อนถึงทรรศนะ จากมุมมองของคนที่ไม่ได้ศึกษา หรือไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเองอย่างแท้จริง แต่ก็พยายามยิ่งที่จะเขียนอย่างคนที่เข้าใจโลกชีวิตและยังดันทุรังจะโน้มน้าวผู้อ่านให้มองเห็นความสำคัญของรากเหง้า หรือธรรมชาติอีกด้วย ยกตัวอย่าง บทกวีที่บรรยายถึงความงดงามของชีวิตในชนบท ชี้นำผู้อ่านให้กลับไปสู่บ้านเกิด ขณะตัวกวียังย่ำวนอยู่ในเมืองกรุง

เมื่อไม่ลึกซึ้งกับรากเหง้า  ไม่จริงใจกับทรรศนะของตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าของบทกวีอย่างแท้จริงแล้ว  กวีจะคาดหวังอะไรจากผู้อ่าน ...

 ในส่วนที่กล่าวว่า "คนเขียนบทกวีไม่สำนึกในคุณค่าของบทกวีอย่างแท้จริงแล้ว" ผลที่ตามมาก็คือ บทกวีจึงเป็นเพียงสนามประลองน้ำลายในนักข่าวสายวรรณกรรมเล่นสนุกปาก ไม่ว่าจะเป็น กวีตายแล้ว หรือเสี่ยงหวยซีไรต์ 

จุดด้อยอันไม่น่าให้อภัยนี้เอง ที่เป็นตัวลดคุณค่าของบทกวี ทำให้บทกวีขายไม่ได้ คนไม่สนใจอ่าน และพร้อมจะตกเป็นขี้ปากของนักข่าวตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิ่งเต้นระหว่างกรรมการรอบคัดเลือกกับกวีที่ส่งผลงานเข้าประกวด หรือการแอบซุ่มริษยากันเอง นี่เองที่เปิดช่องให้คนในวงวรรณกรรมบางกลุ่มกระโดดเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ที่เรียกว่าบังหน้าว่าสร้างสรรค์

ฉะนั้น วลีจำพวก "กวีตายแล้ว หรือบทกวีฉันทลักษณ์ตายแล้ว" เพราะไม่สามารถเติมเต็มอารมณ์ร่วมสมัยได้นั้น เป็นเพียงวลีมักง่าย ของคนไร้การศึกษา อันมีสันดานชอบฉวยโอกาส แอบดึงผลประโยชน์แฝงเร้นเข้าหาตัวเองอย่างคนประเภทสิ้นศักดิ์ศรี.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net