Skip to main content
sharethis

สมชาย หอมลออ


เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 
 
 
 


ข้อสังเกตบางประการ


เกี่ยวกับ


ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... 


1.ความเป็นมา               


      เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ แล้วได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไข ก่อนที่จะส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป


      ประเทศไทยมีและเคยมีกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของประเทศหลายฉบับ ได้แก่  


      (1)บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 หมวด 2 ในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ของรัฐในราชอาณาจักร ซึ่งในสมัยของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้มีการเพิ่มเติมให้มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายไว้ในลักษณะ 1/1 มาตรา 135/1 - 135/4 ที่กำหนดให้การใช้กำลังประทุษร้าย การก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการคมนาคมและสื่อสาร การทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ฯลฯ เพื่อขู่เข็ญบังคับรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหรือสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ถือเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย รวมทั้งได้กำหนดให้การเตรียมการ การสนับสนุนการก่อการร้าย และการเป็นสมาชิกขององค์การก่อการร้ายเป็นความผิดด้วย 


      (2)พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้อำนาจฝ่ายทหารในการประกาศกฎอัยการศึกได้ทั่วราชอาณาจักรหรือเป็นการเฉพาะที่ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย จากภัยที่มาทั้งจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน สามารถใช้อำนาจและกำลังในการรักษาความมั่นคงได้อย่างเต็มที่ โดยให้มีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามความจำเป็นเพื่อการยุทธ์หรือรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น การประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน การตรวจค้น จับกุมและกักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ห้ามชุมนุม ตรวจข่าวสาร ตรวจการสื่อสาร เข้ายึดหรือทำลายสิ่งของหรืออาคารสถานที่ รวมทั้งการเกณฑ์แรงงานและการบังคับให้มีการอพยพโยกย้ายราษฎรได 


      สำหรับการตรวจสอบและเยียวยาโดยฝ่ายตุลาการนั้น ผู้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติการตามกฎอัยการศึกของเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้ นอกจากนั้น ผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกยังมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาบางประเภทแทนศาลยุติธรรมได้ด้วย 


      (3)พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งได้ประกาศใช้โดยยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นใช้แทน เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พ.ร.ก. ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร หรือในบางท้องที่เป็นระยะไม่เกินคราวละ 3 เดือน เพื่อให้เจ้าหน้าที่พลเรือนมีอำนาจตามที่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามความจำเป็นเพื่อระงับเหตุร้ายแรง เช่น การตรวจค้น จับกุม และคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล การห้ามออกนอกเคหสถาน การตรวจข่าวสารและการสื่อสาร เข้ายึดสิ่งของหรืออาคารสถานที่ และมีคำสั่งให้ใช้เจ้าหน้าที่ทหารช่วยเจ้าหน้าที่พลเรือนเพื่อการดังกล่าวได้  


 สำหรับการตรวจสอบและเยียวยาโดยฝ่ายตุลาการนั้น ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการพิจารณาตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนด และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับความเสียหายอาจเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของทางราชการได้ 


      (4)ในอดีต ประเทศไทยเคยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ซึ่งได้มีการแก้ไขหลายครั้ง แต่ถูกยกเลิกไปแล้วในสมัยรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหมดไป   ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่คล้ายคลึงกับอำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมทั้งได้ขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ยาวนานกว่าที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งได้ยกเว้นไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ หากมีการตายในเขตปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ 


 เพื่อให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ขึ้น ให้ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยราชการทุกแห่งเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ มีผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปเป็นหัวหน้า โดยมีการจัดตั้ง ผอ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ระดับภาคและจังหวัดด้วย  


 


 เมื่อมีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ฯ ทำให้ กอ.รมน. ลดบทบาทและหน้าที่ลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงได้เสนอให้มีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายในโดยใช้ต้นแบบจากกฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) ของประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ได้มีความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่เมื่อมีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ฯ เรื่อยมา รวมทั้งในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ แต่ก็ถูกคัดค้านจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน จนต้องระงับไป 


 สำหรับ กอ.รมน. นั้น แต่เดิมนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการ แต่หลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็น ผู้อำนวยการ 


2.ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... 


สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ คือ 


      (1)ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน กรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในของ สมช. หรือ ครม. (มาตรา 6)  


      (2)ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กน.รมน.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการอำนวยการและประสานงานในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าวข้างต้น (มาตรา 10) โดยให้ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผอ. รมน. และเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการ กอ. รมน. โดยตำแหน่ง (มาตรา 9 และมาตรา 13) 


      (3)มีการจัดตั้ง กอ.รมน.ภาค ตามการแบ่งภาคของกองทัพ คือ 4 ภาค มีแม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค ให้มี กอ.รมน.จังหวัด และ กอ.รมน.กทม. มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ผู้อำนวยการ (หมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5) ทำหน้าที่คล้ายกับ กอ.รมน. (ระดับชาติ) สำหรับพื้นที่รับผิดชอบของตน 


      (4)อำนาจของ กอ.รมน. และ ผอ.รมน. หรือผู้บัญชาการทหารบก  


เมื่อปรากฏว่ามี "การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร


      1.ให้ กอ.รมน.มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเพื่อระงับหรือลดภัยต่อความมั่นคง (มาตรา 24) 


      2.ให้ ผอ.รมน. มีอำนาจออกข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในลักษณะคล้ายคลึงกับอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามชุมนุม ห้ามโฆษณา ห้ามบุคคลใดๆออกนอกเคหสถาน ยึด อายัดสิ่งของ เรียกบุคคลมาสอบถาม ฯลฯ ค้นในเคหสถาน ทั้งมีอำนาจออกประกาศให้อำนาจเจ้าพนักงานในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงสามารถกระทำได้โดยการขออนุญาตจากศาล (มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27) โดยข้อกำหนดดังกล่าว จะกำหนดระยะเวลา หรือ พื้นที่ก็ได้ 


      3.ผอ.รมน. มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงาน และให้พนักงานร่วมฟังการสอบสวนผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนในคดีอาญาใดๆ ก็ได้ หรือเรียกสำนวนการสอบสวนมาตรวจดูได้ (มาตรา 30) 


      4.ผอ.รมน. มีอำนาจสั่งให้ระงับการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาที่หลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ (มาตรา 31) 


      5.ผอ.รมน.มีอำนาจย้ายข้าราการใดๆที่เป็นภัยต่อความมั่นคงออกนอกพื้นที่ได้ (มาตรา 34) 


      6.ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการพิจาณาตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (มาตรา 36) 


      7.เจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา และวินัย หากกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ (มาตรา 37) 


จากรายงานข่าว ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าในสถานการณ์ที่การก่อการร้ายเป็นภัยต่อความมั่นคงเช่นในปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องมีการตรา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ โดยใช้แนวคิดมาจาก Home Land Security Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะให้สามารถเอาชนะการก่อการร้ายได้ 


3.ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น 


      1.ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ทั้งในส่วนที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น สิทธิเสรีภาพในร่างกายที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขัง สิทธิในทางการเมือง เช่นการโฆษณา แสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ สิทธิในความเป็นส่วนตัว เช่น สิทธิในเคหสถาน และสิทธิในการที่จะเข้าถึงและได้รับการเยียวยาโดยศาลสถิตยุติธรรม การจำกัดสิทธิดังกล่าวข้างต้นนั้นตามกฏหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะกระทำได้เฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นไม่ได้ (รธน.2540 มาตรา 29) 


      2.คำนิยามของคำว่า "การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร" ในมาตรา 3 มีความหมายที่กว้างและคลุมเครือเกินไป โดยมิได้หมายถึงเฉพาะการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่รวมถึง การกระทำอื่นๆเช่นการบ่อนทำลาย การโฆษณาชวนเชื่อ การยุยง การปลุกปั่น เพื่อไม่ให้เกิดความสวบสุขในชีวิตของประชาชน คำนิยามที่กว้างเกินไปดังกล่าวอาจทำให้การกระทำใดๆ ถูกตีความโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เช่นการตีพิพม์บทความหรือ บทสัมภาษณ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือฝ่ายทหาร เป็นต้น จึงมีโอกาสที่ผอ.รมน.จะออกข้อกำหนดหรือประกาศจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรา 25 และเจ้าพนักงานจะใช้อำนาจไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชนตามมาตรา 26 ข้างต้นอย่างกว้างขวางได้โดยง่าย  


      3.คำนิยามของคำว่า "การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" ตามมาตรา 3 ก็มีความหมายที่กว้างและคลุมเครือเช่นเดียวกัน เช่น หมายถึงการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผนดินไทย ฯลฯ หรือการป้องกันและปราบปรามเพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์อันเกิดจากการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงให้กลับสู่ภาวะปกติ จึงเท่ากับเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการใดๆก็ได้อย่างกว้างขวางเพื่อ "รักษาความมั่นคงในราชอาราจักร" และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปโดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว เจ้าพนักงานก็ไม่ต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา และในทางวินัย ดังที่ยกเว้นไว้ในมาตรา 37 บทบัญญัติข้างต้นเป็นการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบอำนาจนิยมและอภิสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชน ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และเป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและในการพัฒนาประเทศอยู่แล้ว 


      4.การใช้อำนาจของ ผอ.รมน. และการกระทำของเจ้าพนักงาน ไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบของศาล ไม่วาจะเป็นการตรวจสอบข้อกำหนดและประกาศของ ผอ.รมน. หรือเจ้าหน้าที่โดยศาลปกครอง ตามมาตรา 36 หรือการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนโดยศาลยุติธรรม ตามาตรา 37 ทำให้ขาดการถ่วงดุลยและขาดความโปร่งใส เป็นการขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือหลักนิติรัฐเป็นพื้นฐาน  


      5.เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายทหารเหนือฝ่ายพลเรือน เนื่องจากการที่ให้ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผอ.รมน.โดยตำแหน่ง และการที่ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ ผอ.รมน มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการและหน่วยงานต่างๆของรัฐ (มาตรา 9) มีอำนาจในการออกข้อกำหนดต่างๆ ตามมาตรา 25 และออกประกาศให้อำนาจเจ้าพนักงานในการดำเนินการต่างๆ ตามมาตรา 26 ได้โดยลำพัง โดยที่ไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเสียก่อนนั้น ย่อมขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เนื่องจากในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น กองทัพจักต้องขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เดินตามแนว Home Land Security Act ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากตามกฎหมายฉบับดังกล่าวของสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายทหารมากมายเช่นนี้และฝ่ายทหารจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน การปฏิบัติการของฝ่ายทหาร ยังคงต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล และสั่งการโดยฝ่ายพลเรือนโดยเคร่งครัด เช่นเดียวกับกฎหมายความมั่นคงภายในของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบและสั่งการโดยตรง ทั้งกฏหมายดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ใช้บังคับเอากับพลเมืองอเมริกัน แต่ใช้กับชาวต่างชาติที่สหรัฐถือว่าเป็นศัตรูของชาติเท่านั้น รวมทั้งไม่ได้ลด จำกัด หรือลิดรอนอำนาจของศาลในการตรวจสอบฝ่ายบริหารและการเยียวยาประชาชนแต่อย่างใด  สายการบังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้เกิดความสับสนในการบริหารราชการแผ่นดิน มีผลทำให้ข้าราชการประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพมีอำนาจซ้อนหรือเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดรัฐซ้อนรัฐ อันอาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการทหารได้โดยง่าย 


      การให้อำนาจต่อ ผบ.ทบ. หรือ ผอ. รมน. ให้สามารถออกข้อกำหนดหรือประกาศได้อย่างกว้างขวางในลักษณะเดียวกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่ากับเป็นการให้อำนาจ ผบ.ทบ. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาล 


      6.เนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก ทั้งมิใช่เป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งกฎหมายที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็น่าจะเพียงพอต่อการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่หาก สมช. ยังยืนยันว่ามีความจำเป็นที่จะให้มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่ควรที่จะจัดทำและตราขึ้นโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ควรรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่จัดตั้งขึ้นเสียก่อน


  การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและเป็นการสถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้นได้       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net