Skip to main content
sharethis


ประชาไท - เมื่อวันที่ 3 ส.ค.50 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีดีเบต (การประชันความคิด) จุดเด่น-ข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ณ หอประชุม บ้านมนังคศิลา โดยได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดสด ผ่านทางเนชั่นแชนแนล และเว็บไซต์ประชาไท


 


เวทีครั้งนี้ มีตัวแทนเข้าร่วมการประชันความคิดจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประกาศว่า "รับร่าง" รัฐธรรมนูญ และจากฝ่ายนักวิชาการ ตัวแทนนักการเมือง ที่ประกาศ "ไม่รับร่าง" โดยแบ่งการประชันความคิดออกเป็นคู่ๆ ดังนี้


 


คู่ที่ 1: นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กับ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


คู่ที่ 2: นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกและประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


 


คู่ที่ 3: คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ส.ส.ร.และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร จากเนชั่นแชนแนล และสมชัย ศรีสุทธิยากร เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต)


 


รายการทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1-3 ให้แต่ละคู่อภิปรายคนละ 20 นาที จากนั้นให้ตอบคำถามคนละ 5 นาที และในช่วงสุดท้าย เป็นช่วงสรุปประเด็น คนละ 5 นาที ซึ่งฝ่าย ส.ส.ร.มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นตัวแทน และฝ่ายนักวิชาการ มีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทน


 


ก่อนจะเริ่มการอภิปรายในแต่ละคู่ มีการจับฉลากว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อน ซึ่งฝ่ายที่อภิปรายก่อนจะได้สิทธิตอบคำถามทีหลัง ทั้งนี้เมื่อผลการจับฉลากออกมา ปรากฏว่าในทั้ง 3 คู่ ฝ่าย ส...เป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อนทั้งสิ้น


 


"ประชาไท" ขอเก็บเนื้อความทุกคำ ทุกประโยคมาเผยแพร่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน


 


0 0 0


 











 



 



 


"สภาจะไม่ใช่สภาที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะผู้ทรงเกียรติเท่านั้น ประชาชนก็ทรงเกียรติ สามารถที่จะเข้ายืนไปชี้แจงในสภา และในกรรมาธิการที่บัญญัติกฎหมาย ได้บัญญัติไว้ว่า อย่างน้อยหนึ่งในสามของกรรมาธิการจะต้องมาจากประชาชนผู้เสนอกฎหมาย แสดงว่าประชาชนสามารถจะไปนั่งในที่คล้ายๆ รัฐมนตรี แล้วขึ้นชี้แจงในสภา"


 


                เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง


 


"ถามว่าใครคือผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าบอกว่าผู้แทนก็ไม่มีอำนาจ ครม.ก็ไม่มีอำนาจ...


ผู้มีอำนาจมี 3 กลุ่มใหญ่ หนึ่งคือ คมช. และกลไกกับบุคคลที่ ตั้งขึ้น สอง คือ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งบวกกับศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย และสาม คือข้าราชการหรือระบบราชการ"


 


                 จาตุรนต์ ฉายแสง


 


  


0 0 0


 


รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ


 


เวลาที่จะพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เชื่อว่าในใจคงคิดอยู่สามส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จะช่วยประเทศในอนาคตได้อย่างไร สองกระบวนการจัดทำ เป็นอย่างไร คิดเอาเองหรือได้รับฟังความเห็นของประชาชนกว้างขวางแค่ไหน และสาม ที่มาของการร่าง ว่ามาจากการรัฐประหาร หรือมาจากกระบวนการอย่างไร ทั้งสามส่วนเป็นสิ่งที่ท่านกำลังคิดที่จะให้น้ำหนัก สำหรับผู้ที่ให้น้ำหนักเรื่องที่มาว่า เป็นการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเขียนเนื้อหาดีอย่างไร กระบวนการมาจากประชาชนดีอย่างไรก็ตาม ก็ไม่รับ มันคือการให้น้ำหนัก


 


ถามผม ถ้าถอยหลังได้ ก็จะให้น้ำหนักกับที่มา แต่เมื่อวันนี้ย้อนถอยหลังไม่ได้ เมืองไทยมีรัฐประหารอยู่แล้ว และต้องเดินหน้ากันต่อไป การให้น้ำหนักที่มา จึงลดลงจากเดิม เพราะเงื่อนไขไม่เหมือนเดิม ตอนนี้ผมให้ความสำคัญกับเนื้อหา 50 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการจัดทำ 35 เปอร์เซ็นต์ และให้ที่มา 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเชื่อว่าท่านที่พูดก่อนและหลังผม คงมีการให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน


 


เมื่อพูดถึงน้ำหนักแล้ว ผมจะพูดในส่วนเนื้อหา ทำไมรัฐธรรมนูญปี 50 ถึงคิดว่าดีกว่า ดีจริงหรือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น เคยไปช่วยสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 40 ซึ่งมีท่านอุทัย (พิมพ์ใจชน) เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ท่านอานันท์ (ปันยารชุน) เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ไปช่วยเดินสายรับฟังความคิดเห็น ตอนแรกที่บอกว่าจะมีงบประมาณให้ แต่ในที่สุดก็ไม่มี ผมเสียไปสิบล้าน ก็ไม่เคยพูดอะไร แต่เมื่อเทียบกับปี 50 ผมเป็นกรรมาธิการประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ พูดได้อย่างเต็มปากว่าในปี 50 มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นกว้างขวางกว่าปี 40 และมีกรรมาธิการประจำจังหวัดทุกจังหวัด แตกย่อยไปรับฟังความเห็นทุกอำเภอ


 


รัฐธรรมนูญปี 40 ที่บางคนเรียกร้องถวิลหา ต้องยอมรับว่ามีของดีเยอะ และของดีปี 40 ต้องคงไว้ แล้วปี 50 ก็เอาของดีปี 40 ทั้งหมดมารวมไว้ ยอมรับว่าความบกพร่องมันมี สิ่งที่ถูกปิดเบือนจากศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองบางพรรค ทำให้รัฐธรรมนูญปี 40 ถูกบิดเบือนไปหลายมาตรา ดังนั้นสิ่งที่บกพร่องต้องแก้ไข และคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ได้มีการแก้ไขสิ่งที่บกพร่องนั้น


 


จากการได้ร่วมสัมมนาในครั้งแรกที่ได้เป็น ส.ส.ร. ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พูดในที่สัมมนาว่า รัฐธรรมนูญต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ผมได้เข้าไปอยู่ในสภาและพยายามบอกเพื่อนสมาชิกว่า แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้อง ในที่สุดจึงได้รัฐธรรมนูญที่พยายามจะลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ดังนั้นจึงคิดว่า ถ้ากลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 40 จะมีปัญหาอย่างมากมาย ผมจะลงรายละเอียด ซึ่งอาจกระทบใจพรรคการเมืองบางพรรค ก็ต้องขอโทษก่อน เพราะการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วจะไปกระทบกับความชอบของบางท่านนั้นช่วยไม่ได้


 


ประการแรก ท่านอาจารย์จรัญ ได้บอกไว้แล้วว่า ได้เพิ่มการตรวจสอบในสภาให้มากขึ้น ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายตรวจสอบมีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ถ้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ได้มีการลดจำนวนการยื่นชื่อ ส.ส.ลง จากเดิม 200 เสียง หรือ 2 ใน 5 เหลือเพียง 1 ใน 5 หรือ 96 เสียง ลดจำนวนการจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเหลือเพียง 80 เสียง หรือ 1 ใน 6 ของจำนวน ส.ส. และถ้าครึ่งเทอมแล้วยังไม่มีการตรวจสอบ ก็จะอนุญาตให้คะแนนเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านเพียงแค่ครึ่งเดียว สามารถยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้


 


(เกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ไมโครโฟนไม่สามารถใช้การได้ ทำให้การอภิปรายขาดช่วงไปประมาณ 2 นาทีซึ่งผู้ดำเนินรายการได้บอกทดเวลาให้ตามประมาณเวลาที่ขาดหายไป)


 


พรรคการเมือง เคยสัญญากับประชาชนว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในสภา จะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้นักการเมืองยุบพรรคแล้วไปควบรวมกับพรรคอื่น หรือเรียกได้ว่า ไม่มีการห้ามไม่ให้ยกขบวนไปอยู่กับพรรคหนึ่งพรรคใด ทำให้เกิดปัญหา ตอนเลือกตั้งบอกประชาชนว่ามีพรรคนี้ อยู่พรรคนี้ มีนโยบายอย่างนี้ แล้วก็ไปขายยกเข่ง จึงมีปัญหาตามมา ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงห้ามไม่ให้ควบรวมพรรคการเมืองหรือที่เรียกว่าซื้อยกเข่ง


 


ขณะเดียวกันปัญหาทุจริตเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นจากคนทั่วไปว่า พรรคการเมืองทุกพรรคมี ส.ส.ซื้อเสียง และเมื่อถามนักการเมืองก็จะบอกว่า ถ้าไม่ซื้อ คนอื่นก็ซื้อ ดังนั้นก็จะไม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงช่วยทุกพรรค โดยหากเห็นว่ามีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดทำการทุจริต ซื้อเสียง ให้เป็นเหตุให้ศาลสั่งยุบพรรคได้ และหากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรครู้การทุจริต ซื้อเสียง แต่ไม่แก้ไข ก็เป็นเหตุให้ศาลสั่งยุติบทบาททางการเมือง 5 ปี


 


เรื่องหมวดจริยธรรม อยากเติมจากท่านอาจารย์จรัญว่า ครั้งนี้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องแจงบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยสู่สาธารณะ คุณสมบัติของ ส.ว. ได้มีการเพิ่มเติมมากขึ้น กล่าวคือ พ่อแม่ บุตร สามีภรรยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สามารถเป็น ส.ว. ได้ เพื่อป้องกันสภาผัวเมีย ดังที่เคยมีข้อถกถียงกัน และผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ต้องพ้นการเมือง พ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้ว 5 ปี ขณะเดียวกันจะต้องไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญได้พยายามยกระดับวุฒิสภา (ส.ว.) ให้เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มมากขึ้น


 


หากว่าต้องการตัวแทน ก็จะมี ส.ส.เป็นตัวแทนในระดับสัดส่วนของประชาชน เช่น สองแสนคนต่อตัวแทน 1 คนหรือ ส.ส. 1 คน เพราะฉะนั้น ส.ว. จึงเปลี่ยนความคิดใหม่ให้เป็นคัวแทนของคนระดับจังหวัด ไม่ว่าจังหวัดใหญ่หรือจังหวัดเล็กก็ต้องมี 1 คน และถ้าประชาชนอยากไปบอกกล่าวปัญหา ท่านจะมีตัวแทนคือ ส.ส. ก็จะมีตัวแทน คือ อบต. ส.ท. และอบจ. อยู่แล้ว ยกวุฒิออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่งเอาไว้กลั่นกรองกฎหมาย


 


โดยอยากให้ ส.ว. มาจากคนตัวเล็กตัวน้อย มาจากคนที่มีหลากหลายอาชีพ เพราะรู้ว่า ถ้ามาจากการเลือกตั้งเฉยๆ จังหวัดละ 1 คน เป็นไปได้ว่า อาจไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนของคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่มีหลากหลายอาชีพ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกัน 74 คนไว้ให้บุคคลเหล่านี้ รวมไปถึงบุคคลที่อาจเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น คนพิการ เกษตรกร และผู้หญิง


 


เรื่องการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คนที่เคยถูกครอบงำจะรู้ดี เพราะตอนทำหน้าที่ ส.ว.ผมเป็นคนตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยืนยันกับท่านได้ว่า ผมตรวจสอบทุกองค์กร ผมเห็นความไม่ชอบมาพากลและความเจ็บปวดมากของคณะกรรมการสรรหา เพราะฉะนั้นเที่ยวนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ทำการปรับเปลี่ยนจากปี 40 เพราะหากยังเป็นเหมือนเดิม ก็จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงจนองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถจะตรวจสอบได้


 


องค์กรอิสระเป็นกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่ตรวจสอบถอดถอนทำนองกึ่งตุลาการ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็น บางคนอาจเรียกว่า ไปเพิ่มอำนาจให้อำมาตยาธิปไตย เป็นการพูดคลุมๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ


 


ผมเคยแสดงความคิดเห็นด้วยความเป็นห่วง ถ้าตุลาการมีอำนาจมากเกินไปอาจมีปัญหา แต่เราได้ฟังความเห็นจากประชาชน ไม่ว่าจังหวัดไหนก็อยากให้ตุลาการเข้ามามีส่วนในช่วยเหลือบ้านเมืองมากขึ้น ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีการตกแต่งให้มีตุลาการ 3 ฝ่าย 3 คน ที่เหลือยังมีประธานรัฐสภา มีผู้นำฝ่ายค้าน และมีคนอื่นๆ ที่เข้ามาผสมผสานเป็นกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาองค์กรอิสระ เช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐซึ่งได้พูดไปแล้วในส่วนหนึ่ง หรือลดอำนาจรัฐโดยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติตรวจสอบให้มากขึ้น


 


มาถึงเรื่องการเพิ่มอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นว่า ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเพียงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้วเลิก ประชาชนไม่ใช่ผู้นั่งดูอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคนที่จะร่วมทำงานการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่กับตัวแทนที่เขาเลือก เพราะฉะนั้นเมื่อตัวแทนของเขามีสิทธิที่จะเสนอกฎหมาย ประชาชนก็ย่อมจะมีสิทธิที่จะนำเสนอกฎหมาย จึงมีการลดจำนวนรายชื่อจาก 50,000 รายชื่อเดิมที่มีความยากลำบากแสนเข็ญ เหลือเพียงแค่ 10,000 รายชื่อ และผู้ที่เสนอกฎหมายมีสิทธิเข้าไปชี้แจงได้ในสภา


 


สภาจะไม่ใช่สภาที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะผู้ทรงเกียรติเท่านั้น ประชาชนก็ทรงเกียรติ สามารถที่จะเข้ายืนไปชี้แจงในสภา และในกรรมาธิการที่บัญญัติกฎหมาย ได้บัญญัติไว้ว่าอย่างน้อยหนึ่งในสามของกรรมาธิการจะต้องมาจากประชาชนผู้เสนอกฎหมาย แสดงว่าประชาชนสามารถจะไปนั่งในที่คล้ายๆ รัฐมนตรีอยู่ฝากกรรมาธิการ แล้วขึ้นชี้แจงในสภา สภาจะได้เป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง


 


50,000 รายชื่อ ปี 40 ที่ใช้ในการถอดถอน ลดเหลือเพียงแค่ 20,000 รายชื่อ ทำไมไม่ใช้ระบบรีคอลหรือถอนออกมาอย่างที่อาจารย์นิธิต้องการ เคยชอบ แต่หลังจากฝังความคิดเห็นจากประชาชนที่กล่าวว่า ถ้าให้ประชาชนเข้าชื่อและถอดถอนได้ทันที มันจะเกิดการถอดถอนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแน่ๆ เพราะไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ถ้าไม่พอใจแล้วร่วมชื่อกันถอดถอน ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ อาจมีการกลั่นแกล้งกันได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 คือเมื่อได้รับรายชื่อครบต้องส่งให้ ปปช.ตรวจสอบมูลความผิด แล้วจึงกลับมาให้สมาชิกวุฒิสภาถอดถอน


 


การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดตั้งแต่ฉบับที่ 1-18 ที่ให้ประชาชนมีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เที่ยวนี้ประชาชนมีโอกาสเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา


 


ท่านผู้มีเกียรติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจทุกมาตราได้ ผมก็ไม่ได้พอใจทุกมาตรา แต่ได้เปิดให้มีการแก้ไขง่าย ส.ส.หนึ่งในสี่ ก็ขอแก้ไขได้ ขณะเดียวกันประชาชน 50,000 รายชื่อ ก็ขอแก้ไขได้ ในกระบวนการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ที่จะต้องล่ารายชื่อ ต้องร่วมประชุม ต้องเดินทาง กับบรรดาส.ส.และ ส.ว. จึงได้มีการก่อตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคประชาชนขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนไม่ยากลำบากในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง


 


นอกจากนั้นโครงการใหญ่ๆ ในบ้านเมืองที่มีผลกระทบ จะไม่ได้ประเมินเพียงแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงนก หนู ปู ปลา อากาศ ดิน น้ำ แต่เที่ยวนี้โครงการใหญ่ๆ ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพด้วย ผมไปรับฟังความเห็นของพี่น้องจังหวัดระยอง ไปนั่งอยู่ที่โรงเรียนร้างที่มาบตาพุด ชาวบ้านหนีไปทั้งโรงเรียน ผมนั่งอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง น้ำตาไหลพราก คอแห้ง แล้วก็มีปัญหาเรื่อสุขภาพอย่างยิ่ง แถวมาบตาพุด ต่อไปนี้จะต้องมีการประเมินผลกระทบสุขภาพต่อชีวิตมนุษย์ ชีวิตชาวบ้าน ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญปี 40 ให้มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ แต่ว่าไม่เคยเกิด แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้คุ้มครองผู้บริโภคโดยกำหนดให้เกิดใน 1 ปี ให้เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง และรัฐต้องจัดงบประมาณให้พอเพียงด้วย


 


ท่านคงเคยเจ็บปวดกับการซื้อของแล้วไม่ได้ของอย่างที่ใจ ไม่ได้ของอย่างที่โฆษณาบางที่ ซื้อของอย่างไปพ่วงซื้อของอีกอย่างหนึ่งด้วย เป็นการเอาเปรียบของนักธุรกิจ นายทุนผูกขาด เพราะฉะนั้น ครั้งนี้องค์กรธุรกิจผู้บริโภคอิสระ คงจะเกิดขึ้นได้ภายใน 1 ปี และคงต้องเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคน ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่ส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรในรูปแบบสภาเกษตรกร ไม่ใช่สภาข้าราชการเกษตร และไม่ใช่สภาของพ่อค้าเกษตร แต่เป็นสภาของเกษตรกรอย่างแท้จริง


 


หลายคนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วได้เอื้อประโยชน์ในเรื่องการเรียนหนังสือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งส่วนดี ให้เด็กเรียนฟรีตั้งแต่ ม.1 - ม.6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และเที่ยวนี้เน้นไปใส่อยู่ในเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า การเก็บยิบเก็บย่อยค่ากีฬา ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าอะไรพิเศษ ทำไม่ได้ และถ้าหน่วยงานของรัฐได้กระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้


 


คนจน รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รักษาฟรี 30 บาทก็ไม่ต้องเสีย การเจรจาการค้าเอฟทีเอ แต่ก่อนที่ผ่านมาเราต้องเจ็บปวดมาก เพราะฝ่ายบริหารไปเจรจากับประเทศโน้นประเทศนี้เอาผลประโยชน์ไปแลกกัน บางคนได้ประโยชน์ เพราะการค้าเสรีย่อมมีคนได้ประโยชน์และมีคนเสียผลประโยชน์ หอม กระเทียม ผลไม้ นม พินาศ เพราะต่างชาติแห่ขนเข้ามา ฉะนั้นฝ่ายบริหารก่อนที่จะไปเจรจากับประเทศใดก็จะต้องมาขอความเห็นจากรัฐสภา และขั้นสุดท้าย ต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และจะต้องเปิดข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนได้เห็น และมีการแสดงความเห็นประชาพิจารณ์


 


ผมมีเวลาแค่นี้ สุดท้ายผมยังมีอีก แต่ไปถูกขัดจังหวะสักนิดหนึ่งตอนนั้นนะครับ (ตอนไมค์ไม่ดัง-ประชาไท) ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มี 309 มาตรา ถามผมว่า ผมชอบทุกมาตราไหม ผมไม่ชอบอยู่ประมาณ 30 กว่ามาตรา แต่ถามว่า ผมจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไหม วันที่ 19 สิงหาคม ผมจะไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ถูกใจคนทุกมาตรา แต่ต้องดูภาพองค์รวม แล้วดูว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต ขอบพระคุณครับ


 


 


0 0 0


 




จาตุรนต์ ฉายแสง


อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


 


ในหลายเดือนมานี้ เรามักจะได้ฟังผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองอธิบายว่า รัฐธรรมนูญนี้ดีอย่างไร การไปลงประชามติก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะไปลงให้ผ่าน เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแล้ว ทุกอย่างก็จะดีไปหมด แต่เราไม่ค่อยมีโอกาสเห็นผู้ที่มีความเห็นแตกต่างหรือมีความเห็นคัดค้านมีโอกาสเสนอความเห็นบ้างเท่าไหร่เลย มาวันนี้ค่อยดีหน่อยได้มีโอกาสพูดบ้างคนละเล็กคนละน้อย ก็ต้องใช้เวลานิดน้อยนี้เต็มที่


 


เมื่อเราจะพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง เราจะพิจารณาอย่างไรว่า ควรจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตั้งแต่ 70 กว่าปีที่ประเทศเราปกครองกันมา ถ้าพูดไปแล้ว ส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการปกครอง หรือไม่มีอำนาจ บ้านเมืองเป็นเรื่องของระบบข้าราชการ หลายๆ ช่วง ประชาชนไม่มีแม้แต่ตัวแทนของตัวเอง การบริหารบ้านเมืองเป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ที่ยึดอำนาจ


 


พอพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ในช่วงระยะ 9-10 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งเห็นปัญหาในระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญในความหมายที่ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญจริงๆ คือมีคนบางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ใช้อำนาจได้ทุกอย่างหมด คนกลุ่มเล็กๆ กลับมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอะไรก็ได้ที่ทุกคนต้องฟังหมด กลุ่มนี้สร้างระบบขึ้นมาบริหารจัดการประเทศไปโดยประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง เสรีภาพหลายอย่างถูกริดรอนหมด ประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบการปกครองบ้านเมืองทั้งฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ นี่คือสภาพที่เจอกันมา 10 เดือนนี้ และนี่คือสภาพการปกครองส่วนใหญ่ที่เป็นในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา


 


การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งจะต้องตอบปัญหา บางท่านบอกว่า จะต้องตอบปัญหาการแก้ปัญหาบ้านเมือง นั่นก็ถูก แต่ผมเห็นว่าในรัฐธรมนูญต้องตอบปัญหาสำคัญว่า จะเป็นกฎหมายหลักหรือจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนั้นหรือไม่ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือไม่ และประชาชนจะใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้อย่างไร


 


มันจึงไม่ใช่เรื่องของระบบราชการทำกันไป การใช้อำนาจต้องมีการแบ่งแยกกันพอสมควร ไม่ใช่ก้าวก่ายแทรกแซงกันสับสนไปหมด ที่สำคัญในการตรวจสอบต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในทางที่จะกำหนดการปกครองหรือการบริหารบ้านเมืองได้ นี่เป็นสาระสำคัญที่จะวัดว่า เราจะได้รัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ หรือเราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย


 


ผมและเพื่อนๆ หลายคนไม่ได้ตั้งแง่ตั้งแต่ต้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคณะที่ยึดอำนาจมา เพราะฉะนั้นเราต้องไม่รับรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่ไก่โห่ ถึงแม้ว่าจะเชื่อเหมือนกันว่า การร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารนั้นย่อมไม่มีทางทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้เลย


 


แต่เวลาจะไปลงประชามติ เราจะมาพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เราก็ต้องมาดูที่เนื้อหาสาระ ก็ไปทำการบ้านกันมาตลอดเหมือนกัน ทั้งฟังจากอาจารย์ นักวิชาการ และศึกษาด้วยตนเอง บอกตามตรง ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษา มองเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และมีปัญหาร้ายแรงมากถึงขั้นว่าไม่น่าเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้ด้วยซ้ำ เพราะขาดหลักการสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าผ่านประชามติก็ต้องเรียกว่ารัฐธรรมนูญ เราอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศ ก็ต้องเรียกว่ารัฐธรรมนูญไปด้วย


 


ถามว่า เรามองเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร ต้องตอบว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างเสริมความมั่นคงของระบอบเผด็จการและระบอบอมาตายธิปไตยอย่างชัดเจน


 


ทำไมจึงพูดอย่างนั้น หนึ่ง ในเรื่องสิทธิเสรีภาพมีการเน้นมากขึ้นก็จริง แต่ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ นักวิชาการบางท่านวันนี้ก็พูดเรื่องนี้มาแล้ว บางท่านก็อาจจะพูดเพิ่มเติมอีก แต่สิทธิเสรีภาพทางตรงที่บางท่านได้พูดไปว่ามีมากขึ้นในหลายๆ ด้าน ยอมรับว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วก็ส่งเสริมและมักจะมีผลในทางภาคปฏิบัติ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ประชาธิปไตยทางตรงกลับขาดเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ควรจะมีแต่ไม่มี คือสิทธิเสรีภาพในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง การกำหนดการบริหารการปกครองของบ้านเมือง และการตรวจสอบการบริหารปกครองของบ้านเมือง โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กลับไม่ให้  ทำไมจึงพูดอย่างนั้น


 


ที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กก็เห็นว่า เมื่อมีเรื่องก็ไม่รู้ร้องหาใคร เนื่องจากไม่มีผู้แทน ก็บอกว่าต้องมีเลือกตั้ง พอมีการเลือกตั้งก็มีผู้แทนมาเป็นปากเป็นเสียงให้ ผู้แทนก็ไปเลือกรัฐบาล รัฐบาลก็มาบริหารประเทศ จนกระทั่งหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้เพิ่มการตรวจสอบให้มากขึ้น และตรวจสอบรัฐบาลได้เข้มข้นขึ้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผู้แทนราษฎรจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นประโชน์ต่อปวงชนชาวไทยได้ หรือจะทำได้น้อยมาก ทั้งการรับฟังปัญหาและการแก้ไขปัญหาก็จะแย่ลง เพราะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ย้อนกลับไปสมัยที่ผมเริ่มเล่นการเมืองใหม่ๆ


 


บางท่านบอกว่า ไปฟังความเห็นประชาชนมาแล้ว แต่ผมติดตามการทำโพลของหน่วยราชการและขององค์กรเอกชนต่างๆ ทั้งหมด พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการให้เลือกตั้งแบบเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และถ้าบอกเอาทั้งระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อด้วย ประชาชนกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วย ตรงนี้มาจากการทำโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยบอกว่าให้เอาแบบปี 2540 จึงไม่แน่ใจว่า ส.ส.ร. ไปฟังประชาชนที่ไหนมา


 


การตรวจสอบหน่วยราชการก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้บอกว่า ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ ซึ่งเรื่องไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเข้าใจและมีในรัฐธรรมนูญก่อน แต่ครั้งนี้การเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของราชการประจำก็ทำไม่ได้ด้วย


ถามว่าเวลาเดือดร้อนประชาชนมักจะมาหาผู้แทน ผู้แทนก็ไปประสานหน่วยราชการ แต่หน่วยราชการอาจจะบอกว่า ก้าวก่ายแทรกแซง ก็จะถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลยตามกฎหมายนี้


 


ความเป็นผู้แทนของประชาชนเนื่องจากระบบแบ่งเขตก็จะน้อยลง เพราะอิทธิพลของเงิน อิทธิพลของผู้มีอิทธิพล อิทธิพลของระบบราชการ อีกทั้งมีกลไกราชการที่เตรียมซักซ้อมกันไว้แล้วตั้งแต่ทำประชามติ ความเป็นผู้แทนราษฎรก็มีได้น้อยลงด้วย นอกจากนั้นประชาชนจะไปอาศัยพรรคการเมืองก็ทำยาก เพราะพรรคการเมืองอ่อนแอลงไปมาก เสนอนโยบายอะไรก็ไม่ได้ เพราะนโยบายส่วนใหญ่กำหนดไว้หมดแล้วในแนวนโยบายแห่งรัฐ ใครไปทำผิดสักคนหนึ่งก็สามารถโยงไปโยงมาแล้วบอกว่า ทั้งพรรคต้องยุบไปเลยได้ ใช้การตัดสินโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนและไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย ระบบพรรคการเมืองจะอ่อนแอ ระบบบัญชีรายชื่อก็จะทำให้การเลือกตั้งมุ่งนโยบายน้อยลง เพราะจะทำให้คนเลือกเป็นภูมิภาคมากขึ้น เลือกจากบุคคลมากขึ้น แทนที่จะเลือกที่นโยบาย เพราะฉะนั้นจากรัฐธรรมนุญในแง่นี้ ผู้แทนราษฎรมีบทบาทน้อยมาก


 


ที่นี้มาดูเรื่องข้อดี รัฐธรรมนูญนี้ยังรักษาเรื่องนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. ไว้ แต่นายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. จะมี ครม.ที่เป็น ส.ส. บ้าง ไม่เป็นบ้าง  และพบว่าไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรเท่าไหร่เลย จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดที่เราจะมาพูดว่าเป็นประชาธิปไตย แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจอะไรเท่าไหร่ เพราะกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ละเอียดมากในรัฐธรรมนูญ มีทั้งแผนต่างๆ สารพัด มีทั้งสร้างองค์กรต่างๆ เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดยิบไปหมด บางท่านอาจจะบอกว่าดี แต่ถ้าวันข้างหน้าไม่ดีจะแก้ไขผ่านการเลือกตั้งไม่ได้ ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น รัฐบาลจึงทำอะไรมากไม่ได้ มีนโยบายที่แตกต่างกันมากไม่ได้ ห้ามก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการและการดำเนินการของข้าราชการประจำก็เอามาบัญญัติไว้กับคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น ต่อไปนี้คณะรัฐมนนตรีจะไปทำอย่างไรได้ เพราะความอ่อนแอที่เกิดจากรัฐบาลผสมนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนตามรัฐธรมนูญนี้


 


อีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่ก็คือ รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะทำอะไร ก้าวก่ายแทรกแซงการบริหารของระบบราชการไม่ได้ และคราวนี้ที่หนักกว่านั้นคือ บริหารบุคคลแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 266 มาตรา 267 ไม่ได้ด้วย และรัฐมนตรียังห้ามมีปัญหา ใครฝ่าฝืนต้องพ้นตำแหน่ง


 


นอกจากนี้ยังให้มีองค์กรอิสระปฏิรูปกฎหมายเกิดขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระ เช่นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จะมีองค์กรอิสระทำ แล้ว ครม.ทำอะไร ทั้งที่ประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาล แต่กลับมีองค์กรอิสระตั้งกันไว้หมดแล้ว สร้างกันมาโดย ส.ส.ร. การจัดงบประมาณต้องเพียงพอสำหรับรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นบทบังคับ มีคณะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มากำหนดวินัยทางการเงินการคลัง และตรวจสอบหมดว่า การใช้เงินถูกต้องตามวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ตามปกติทั่วโลกเขาถือว่าถ้าเสียภาษี ต้องมีผู้แทนราษฎรเข้าไปควบคุม แต่เวลานี้บอกว่า เสียภาษีแล้วการจะใช้เงิน ต้องมีองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับประชาชนเลยมาควบคุม นี่คือความผิดหลักการของรัฐธรรมนูญในเรื่องของรัฐบาล


  


นอกจากนั้นปัญหาของรัฐบาลที่จะไม่มีอำนาจคือ การอ่อนแอ การถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจหรือระบบที่มีอำนาจมากกว่า และยังจะมีเงื่อนไขแวดล้อมอีก ถามว่าใครคือผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าบอกว่าผู้แทนก็ไม่มีอำนาจ ครม.ก็ไม่มีอำนาจ


 


ผู้มีอำนาจมี 3 กลุ่มใหญ่ หนึ่งคือ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ) และกลไกกับบุคคลที่ คมช.ตั้งขึ้น สอง คือ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งบวกกับศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย และสาม คือข้าราชการหรือระบบราชการ ทั้ง 3 กลุ่มใหญ่นี้คือผู้มีอำนาจอันแท้จริงในรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ประชาชน…ทำไมจึงพูดอย่างนั้น


 


เพราะ คมช. ตั้ง ส.ส.ร.มา แล้ว ส.ส.ร.ก็มากำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และสร้างองค์กรต่างๆ ขึ้นมาอีกมาก มากำหนดแผนต่างๆ ส่วน คมช. ได้เตรียมตัวไปรอแล้วว่าจะลงเล่นการเมืองแน่ ส่วน ส.ว.ที่มาจากการสรรหาจะมีอำนาจถอดถอนบุคคลสำคัญ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ครม. และ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะเป็นเสียงข้างมากในการสรรหา ส.ว. อำนาจจึงอยู่ที่ตรงนี้


 


นอกจากนั้นตามรัฐธรรมนูญ ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่สรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย


 


ในอดีตการสรรหา เขาส่งเรื่องไปที่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้ลงมติกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ส่งไป ส.ว.แม้ ส.ว.ไม่เห็นด้วย แต่หากเขายืนยันก็มีผลตามนั้น ซึ่งก็คือการสรรหาทั้งหมดไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนเลย แต่เอามามีอำนาจมากกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ตัดสินว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมหรือไม่ โดยใช้อำนาจทั้งหมดผ่าน กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) หรือศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ หรือสามารถวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ก็ได้ มีอำนาจต่างๆเหล่านี้เต็มไปหมดโดยไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชน


 


ส่วนข้าราชการ แน่นอนว่าจะทำตามแผนต่างๆ โดยไม่ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะอาจถือว่ารัฐบาลก้าวก่ายแทรกแซง


 


ในเรื่องการตรวจสอบนี้ก็จะมีปัญหามาก เราบอกว่าต้องเน้นการตรวจสอบ ซึ่งรัฐธรรมนูญคราวที่แล้วออกมามีข้อบกพร่องหรือไม่...มี  และต้องปรับ แต่ครั้งนี้มีหลายเรื่องที่มันเกินกว่าการปรับ มันทำจนเปลี่ยนสาระสำคัญไปหมด ดังนั้นการตรวจสอบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


ท่านคิดดูว่า ส.ว.มาจากไหน ก็มาจากศาลกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.สรรหาครึ่งหนึ่งไปรวมกับใครอีกนิดหน่อยก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นแล้ว จะสามารถไปถอดถอนประธานศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อ ส.ว. มาจากศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  ระหว่างนั้นอีก 3 ปี ก็สรรหาใหม่ และก็มาเป็นใหม่ก็ได้ อย่างนี้การตรวจสอบกันจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจมันไขว้ไปไขว้มาและก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจกันมากไปด้วย การทำอย่างนี้เห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ ที่บอกว่า จะเป็นผลเสียต่อศาลในระยะยาว เพราะเอามาเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป


 


เราเข้าใจผิดว่า การจะแก้ปัญหาประเทศในเรื่องการตรวจสอบต้องเอาผู้ที่ปลอดจากการเมืองมาดูแล จริงๆแล้วต้องถามว่าที่ปลอดจากการเมืองนั้น ปลอดจากประชาชนด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าปลอดจากประชาชนก็ขาดความชอบธรรมที่จะมากำกับตรวจสอบ หลักของประชาธิปไตย คือประชาชนต้องมากำหนดผู้บริหารประเทศ และต้องตรวจสอบการปกครองของประเทศ


 


อีกบทหนึ่งที่มีปัญหามากคือเรื่องนิรโทษกรรม ได้ยินมาแล้วว่า การไปนิรโทษตัวเองของ คปค. การปฏิบัติตามคำสั่งของ คปค. เป็นเรื่องเสียหายมาก แต่เมื่อทำอะไรผิดกฎหมายไว้ก็ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และนิรโทษอย่างนี้เท่ากับเป็นการรับรอง ยอมรับการรัฐประหาร


 


โดยสรุปเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาคือไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจ ซึ่งอำนาจจะไปอยู่ที่ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การปกครองแบบนี้ประชาชนจะไม่มีทางเสนอความต้องการและไม่มีใครมารับเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ปัญหาประเทศ ยิ่งวิกฤติจะยิ่งลำบากเพราะว่ากลไกที่บริหารปกครองประเทศไม่ต้องฟังประชาชน ทั้งนี้การฟังคนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนคือเรื่องใหญ่มาก


 


ส่วนที่ว่าเงื่อนไขแวดล้อมที่ยิ่งทำให้เราไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ มีการเตรียมการมาพร้อมเป็นลำดับ หนึ่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงจะเกิดขึ้น ผบ.ทบ.จะมีอำนาจมหาศาล ตามอำนาจนี้ ห้ามสื่อเสนอข้อมูลข่าวสารตามใจชอบ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาลหรือของพนักงานไต่สวนได้ ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เปิดช่องให้ พ.ร.บ.ความมั่นคงสวมไปได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อยกเว้นห้ามเลย


 


นอกจากนี้ยังมีการทำลายพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คมช. มาเป็นลำดับ บีบให้นักการเมืองที่ไม่สนับสนุน คมช. ไปรวมอยู่ในที่แคบ มีการถ่วงเวลาในการที่ประชาชนจะตั้งพรรคการเมือง จนถึงบัดนี้ก็ยังตั้งไม่ได้ เรื่องนี้รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มพวกผมอย่างเดียว แต่มีการเตรียมสร้างพรรคการเมืองเพื่อให้ผู้มีอำนาจใน คมช. เข้ามาสู่อำนาจได้ด้วย


 


โดยรวมแล้วร่างรัฐธรมนูญนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอีกหลายอย่างที่จะสร้างเสริมทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบเผด็จการ ระบอบอมาตยาธิปไตย ก็คือข้าราชการหรือผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


  


 





คำ ถ า ม ถึ ง   จ า ตุ ร น ต์   ฉ า ย แ ส ง


 


สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนได้หรือไม่ แล้วค่อยให้ ส.ส. ไปแก้ไขมาตราที่เราไม่พอใจในภายหลัง


จาตุรนต์ : เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากว่า รับไปก่อนแล้วจะดี ไปหลงเชื่อผู้มีอำนาจที่พูดว่า รับไปก่อนแล้วจะมีเลือกตั้ง แต่เมื่อรับไปแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งนั้นจะไม่มีอะไรที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ บริหารประเทศก็ไม่ได้ อยู่ใต้กรงเล็บหรืออุ้งมือของผู้มีอำนาจอื่นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหากมีเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ ถ้าถามว่า หาทางอื่นดีกว่าหรือไม่ คิดว่าหาทางอื่นดีกว่า


 


ประชามติครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ เป็นการเข้ามาถามว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่ เหมือนเขาทั้งหลายปรุงอาหารแล้วมาถามประชาชน ถ้าประชาชนบอกว่าไม่อร่อยก็ไม่ได้ เพราะเขาบอกห้ามตอบ ต้องตอบว่าอร่อยอย่างเดียว อย่างนี้จะเป็นประชามติที่ถูกต้องได้อย่างไร


 


ถ้าเห็นชอบกันไปโดยเข้าใจผิดคิดว่า ต้องมีหน้าที่ไปเห็นชอบเท่านั้น ถ้าไม่เห็นชอบแล้วไม่มีเลือกตั้ง บ้านเมืองจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด แต่ถ้าเราไปเห็นชอบก็เท่ากับเรายอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะนำมาซึ่งการปกครองหรือการบริหารประเทศที่ล้าหลังอย่างมาก เพราะเมื่อรับไปแล้ว เขาจะอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นชอบแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญนี้จึงถูกต้องกับระบอบการปกครองที่ล้าหลัง


 


เราต้องใช้โอกาสจากประชามติครั้งแรกของประเทศให้เป็นประโยชน์ เป็นอย่างไร เวลายึดอำนาจทีไร แม้มีคนนำดอกไม้ไปให้ แต่คนส่วนใหญ่อยู่บ้านแล้วไม่เห็นด้วยก็ด่าพึมพำอยู่ ดูโทรทัศน์ก็ขว้างโทรทัศน์ แต่การรัฐประหารครั้งนี้มีประชามติ คือให้ประชาชนทั้งประเทศไปบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐประหารแบบนี้ เพราะฉะนั้นจึงควรจะใช้การลงประชามติครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดในการพิทัษ์รักษาประชาธิปไตย โดยบอกกับผู้มีอำนาจ ผู้ยึดอำนาจว่า ทีหลังอย่าทำ ทีหลังยอมให้ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ควรผ่านแบบขอไปที ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันใช้เวลาในการที่จะหาทางแก้ปัญหาของบ้านเมืองต่อไป


 


 


ในฐานะที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550 หากรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านการลงประชามติ ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้


จาตุรนต์ : เวลานี้ก็พูดกันมามากแล้ว หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็พูดตรงกันว่า ต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก รัฐธรรมนูญ 2540 ยอมรับว่ามีหลายเรื่องต้องแก้ไข แต่ที่มีปัญหามากที่สุด คือการที่รัฐธรรมนุญไม่อนุญาตให้ใครที่อยากจะเปลี่ยนรัฐบาลมาใช้รถถังเปลี่ยน เขาเลยต้องฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงถึงขั้นจะโละทิ้งหมดแล้วทำใหม่แบบตรงกันข้ามอย่างที่ทำอยู่นี้


 


ฉะนั้น ถ้าไม่รับก็เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ จะต้องมีบทเฉพาะกาลอะไรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกิดการเลือกตั้งไปได้ ไม่ต้องมีเรื่อง 90 วันมาล็อค ส.ส. เพื่อให้การดำเนินการทางการเมืองต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้ และไม่ได้เสียเวลามาก มีแบบนี้ไม่กี่มาตรา ใช้เนติบริกรบ้าง นักนิติศาสตร์บ้าง นักกฎหมายมหาชนที่ดีๆ ช่วยกันคิด เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ แล้วก็มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องที่จะมาหลอกลวงกันว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วจะเสียเวลาอีกหรือไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญ


 


ถามว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีผู้มีอำนาจมากล้าบอกประชาชนว่า ต่อไปนี้จะไม่ให้ประเทศไทยเลือกตั้งอีกแล้วหรือ ถึงตอนนั้นเขาไม่กล้าแล้ว และก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายอะไร เพราะนี่คือกระบวนการที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมชอบเรียกว่า ธรรมนูญการปกครองด้วยซ้ำ ซึ่งเขียนบอกไว้แล้วว่า ถ้าประชามติไม่ผ่าน มีกระบวนการให้ทำอะไรต่อไปเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเข้าใจผิดหมดว่าให้รับผ่านๆ ไปที ไม่ใช่อย่างนั้นเลย


 


การรับเอารัฐธรรมนุญปี 2540 มาใช้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แล้วค่อยไปแก้กันอีกทีโดยองค์กรและผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญร่างกันมาโดยผู้ที่มาจาก คมช. เป็นหลักอย่างที่ทำอยู่นี้


 


 


 







คำ ถ า ม ถึ ง   เ จิ ม ศั ก ดิ์   ปิ่ น ท อ ง




 


 


ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง สรรหา จะดีกว่า ส.ว.มาจากการเลือกตั้งได้อย่างไร การที่ท่านมาจากการเลือกตั้ง ส.ว. จะเป็นการดีกว่าไม่ใช่หรือ การสรรหา ส.ว. จะทำให้ คมช. และรัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถสรรหาคนของตัวเองเข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมือง ในประเด็นนี้จะแก้ไขได้อย่างไร


เจิมศักดิ์ : ผมเป็น ส.ว. รุ่นแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และท่านทั้งหลายคงเห็นบทบาท ส.ว. ของผมตลอดมา เห็นความเป็นอิสระที่อยู่ท่ามกลางความเจ็บปวดทั้งหมด เป็นเสียงข้างน้อยตลอดกาลใน ส.ว. แต่กาลเวลาที่ผ่านมา ผลงานที่ทำได้พิสูจน์ว่าเราได้ทำอะไร


 


อยากจะชี้ให้เห็นว่า ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งย่อมได้ทั้งคนดีและไม่ดี แต่ว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็มีบางคนมีปัญหามากมาย ท่านคงรู้ดีว่า รุ่นพวกผมสร้างวิบากกรรมอะไรไว้ให้กับประเทศ ไปเลือกองค์กรอิสระเป็นอย่างไร ไปทำให้การตรวจสอบรัฐบาลมีปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นผมบอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ผมชอบทุกมาตรา


 


ผมเองได้แปรญัตติว่า ควรจะมีสภาเดียว เพราะถ้า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็จะมีคุณสมบัติหรือมีคุณภาพไม่ต่างจาก ส.ส. ไม่ได้บอกว่า ส.ส. ไม่ดี แต่เราจะมี 2 สภาไปทำไม ควรจะมีสภาเดียวแล้วเราจะประหยัดเงินได้อีกเป็นพันล้านบาทต่อปีที่ใช้สำหรับวุฒิสภา ดังนั้นจึงคิดว่าไม่ควรมีสภาบนหรือวุฒิสภาเลย


 


แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่า วุฒิสภายังมีประโยชน์เลยปลี่ยนแนวคิดใหม่หมด เพราะว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต่างอะไรกับสภาล่าง จึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้สภาบนแตกต่างกับสภาล่างเลย อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าคุณสมบัติต่างกันอย่างไรบ้าง ยิ่งกว่านั้น การได้มาก็ต่างกัน เพราะต้องการให้ได้คนที่เป็นตัวแทนของจังหวัดละคน ไม่ใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนกี่หมื่นกี่แสนคนเลือกมา 1 คน


 


แล้วเนื่องจากหลายคนก็บอกว่าวุฒิสภาควรจะต่างจากสภาผู้แทน เพระต้องการให้คนหลากหลายอาชีพได้มีโอกาส เพราะฉะนั้นก็เลยจะให้กลุ่มอาชีพต่างๆ เลือกกันเองจำนวนหนึ่งเข้ามาเป็น ส.ว.อีก 74 คน คนด้อยโอกาสจะได้มีโอกาสเข้ามาด้วย ก็เป็นแนวคิดที่ต่างกันเท่านั้นเอง


 


 


มาตรา 309 เขียนยกโทษซึ่งหมายถึงนิโทษกรรมคณะรัฐประหารที่ทำให้คณะรัฐประหารที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมาย และถ้ากระทำอีก ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้ ก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ อย่างนี้แสดงถึงการหมกเม็ดและต้องการให้ คมช.เสวยอำนาจ สามารถทำรัฐประหารได้อีกโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นความเข้าที่ถูกต้องหรือไม่


เจิมศักดิ์ : ผมคิดว่าคำถามนี้จะให้อาจารย์สมคิด ตอบ เพราะคงจะตอบได้ดีกว่าในมาตรา 309 แต่ผมอยากจะขอใช้เวลาตรงนี้ที่จะเพิ่มเติมสักนิด เพราะกติกาบอกว่า เมื่อผมพูดก่อน ผมก็มีสิทธิพูดภายในกติกา


 


คุณจาตุรนต์บอกว่าไปเลือกตั้งก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอยู่ในอุ้งมืออำนาจ คิดว่าคุณจาตุรนต์เผลอๆ อาจจะไม่ได้เลือกตั้งครั้งนี้ แต่ว่าคุณจาตุรนต์ก็ไม่ควรปิดกั้น มีสิทธิที่จะให้คน...


 


(มีเสียงท้วงจากผู้ฟัง จึงหยุดพูดต่อ)


 


เจิมศักดิ์ : ท่านประธานกำหนดคุณต้องรู้จักกติกาก่อน (พูดกับคนข้างล่าง) เขาบอกว่าคนที่พูดทีหลังจะได้โอกาส เพราะผมพูดก่อนตลอดเลย ไม่มีโอกาสที่จะได้ตอบโต้อะไรเลย เพราะฉะนั้นคนที่พูดทีหลังจะตอบคำถาม แล้วก็จะไปตอบด้วยก็ได้ กติกาเขาบอกผมอย่างนั้น...บรรยากาศอย่างนี้คิดว่าไม่ค่อยจะสร้างสรรค์


 


ผู้ดำเนินรายการ : ขอความกรุณาจากผู้ฟัง และยืนยันว่าเป็นสิทธิตามกติกาของผู้อภิปราย


 


เจิมศักดิ์ : เอาเป็นว่ายกมาตรา 309 ให้อาจารย์สมคิดตอบ...ผมพอแค่นี้


 


 

 







ดูวิดีโอคลิปดีเบตได้ที่  http://www.prachatai.com/live/20070803


 


 


 


............................


เกี่ยวข้อง


บทคัดย่อ "ดีเบต" รธน.40 VS รธน. 50 : จรัญ-เจิมศักดิ์-สมคิด VS นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์


คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : จรัญ ภักดีธนากุล vs นิธิ เอียวศรีวงศ์



คำต่อคำ ดีเบตประวัติศาสตร์ "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : สมคิด เลิศไพฑูรย์ VS วรเจตน์ ภาคีรัตน์


คำต่อคำ ดีเบต "รับ ไม่รับ" รธน.50 : บทสรุปสองฝ่าย โดย "วรเจตน์" และ "จรัญ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net