Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


 


 


ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) มาตรฐานหนังสือพิมพ์ "คุณภาพ" กระแสหลักดูจะตกต่ำลงไปอย่างมิน่าเชื่อ (นี่ไม่รวมสื่อหัวสีอย่างหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น ไทยรัฐ หรือ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ที่เรียก 9 แกนนำ นปก. ว่า "9 หัวโจก"[1]) เพราะหลากหลายฉบับได้ฟันธงลงไปแล้วว่า ฝ่าย นปก. เป็นผู้ริเริ่มใช้ความรุนแรงกับตำรวจก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดอันใด




 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบทบรรณาธิการ 3 ชิ้น เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้ บทบรรณาธิการอันแรกเป็นของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พาดหัวเป็นภาษาอังกฤษว่า "Political violence not an option" ในบทบรรณาธิการนี้ ซึ่งย่อหน้าแรกได้พูดฟันธงไปแล้วว่า ผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายที่ท้าทายให้เกิดความรุนแรง และไม่ควรได้รับความเห็นใจจากสาธารณะ


 


"ผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการซึ่งได้ท้าทายให้เกิดความรุนแรงและปะทะกับตำรวจปราบจราจลบนท้องถนนเมื่อวันอาทิตย์ ไม่ควรได้รับความเห็นใจ พวกเขาได้ยอมจำนนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง เมื่อพวกเขาเลือกที่จะใช้วิธีการไม่สันติในการผลักดันเป้าหมายทางการเมืองให้บรรลุซึ่งเป็นเป้าหมายที่อย่างน้อยที่สุดต้องกล่าวว่าน่าเคลือบแคลงสงสัย" 


 


"Those calling themselves lovers of democracy and anti-dictatorship protesters who provoked violence and engaged anti-riot police in a series of street battles on Sunday deserve little sympathy. They surrendered their own rights to freedom of expression and political assembly when they chose to resort to non-peaceful means to advance their political agenda, which remains dubious at best."


 


ปัญหาของย่อหน้าแรกข้างต้นของบทบรรณาธิการก็คือว่า หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นพิสูจน์ได้แล้วหรือว่า ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มหรือต้องการความุรนแรงจึงได้ฟันธงไปเช่นนั้น และถึงแม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด บทบรรณาธิการนี้ก็ได้กล่าวฟันธงต่อไปในย่อหน้าที่ 5 ว่า


 


"มีความเคลือบแคลงสงสัยอย่างกว้างขวางว่าผู้นำการชุมนุมบางคนต้องการท้าทายให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะให้สาธารณะหันมาต่อต้าน คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์"


 


ที่น่าช็อคก็คือว่ามาถึงย่อหน้าที่ 7 ของบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า "สาธารณะสงสัยว่า ผู้นำประท้วงต้องการที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ความ "ชอบธรรม" ของเผด็จการทหาร"  ผู้เขียนขอถามว่า เผด็จการทหารที่ก่อรัฐประหารมีความชอบธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ และหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นไปให้ความชอบธรรมแก่คนกลุ่มนั้นแล้วเหรอและทำไม


 


ลองหันมาดูบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ดู ซี่งมีหัวข้อบทความว่า "Fair warning for UDD leaders" ย่อหน้าที่ 4 ของบทความกล่าวว่า "ความรุนแรงในวันอาทิตย์สามารถหลีกเลี่ยงได้หากผู้นำ นปก.ชุมนุมอยู่เฉพาะที่สนามหลวง" ผู้เขียนขอถามว่า การมองอย่างนี้ไม่ให้สิทธิผู้ชุมนุมในการ "เดิน" ขบวนหรือ แล้วทำไมไม่มองว่าตำรวจและทหารละเมิดสิทธิในการเดินขบวนและชุมนุมในหลายพื้นที่บ้างล่ะ แม้ผู้เขียนอาจไม่เห็นด้วยกับจุดยืนบางเรื่องของกลุ่ม นปก. แต่ขอยืนยันว่า พวกเขามีสิทธิชุมนุมและเดินขบวนอย่างสงบ ไม่ว่าจะไปหน้าบ้านป๋าหรือหน้าบ้านใคร ในย่อหน้าเดียวกันนี้ บางกอกโพสต์ยังยืนยันเป็นตุเป็นตะโดยไม่มีหลักฐานว่า


 


"ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ นปก. กล่าวอ้างว่า ตำรวจเป็นผู้ท้าทายให้เกิดความรุนแรง โดยการโจมตีผู้ชุมนุมก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามากนั้นมีความอดทนและอะลุ่มอะล่วยอย่างสูง ยกเว้นการถือโล่พลาสติก พวกเขาไม่ได้ถือแม้กระทั่งตะบอง"


 


"Contrary to the UDD's claim that it was the police who first provoked the unrest by attacking protesters, the outnumbered police were very patient and lenient. Except for the plastic shields, they did not even carry batons."


 


 


ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าหากตำรวจอะลุ่มอะล่วยจริง ทำไมต้องบุกไปตีถึง 4 ครั้งเพื่อพยายามจับตัวแกนนำ สมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ เคยมีการบุกไปจับตัวแกนนำพันธมิตรไหมขอให้ลองคิดดู และอีกอย่าง โล่ที่บางกอกโพสต์อ้างว่าเป็นพลาสติกนั้น แท้จริงแล้วน่าจะเป็นโล่ไฟเบอร์กลาสซึ่งมีความแข็งมากและสามารถใช้ทำร้ายผู้คนได้ด้วย แถมในคำให้การของผู้ชุมนุมและภาพการต่อสู้บางภาพก็จะเห็นได้ว่าตำรวจใช้ตะบอง อย่างน้อยในการบุกครั้งที่ 3 และ 4 และสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นข้อพิสูจน์ที่บอกว่าตำรวจไม่ได้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน


 


ย่อหน้าถัดหน้ามาคือย่อหน้าที่ 8 บทบรรณาธิการได้กล่าวต่อไปว่า "ความเสแสร้งใดๆ ว่าพวกคนเหล่านั้นเป็นผู้พิทักษ์รักษาประชาธิปไตยหรือศัตรูของเผด็จการซึ่ง นปก. ได้พยายามวาดภาพตัวเองไว้เช่นนั้น กลับมลายไปหมดสิ้น เมื่อผู้นำบางคนตะโกนว่า ดันเข้าไป (Charge!) ในการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมฝ่าด่านตำรวจเพื่อไปถึงยังบ้านพัก พล..เปรม ความประพฤติที่น่ารังเกียจนี้ช่างขัดกับสิ่งที่พวกเขาอ้างเรื่องสันติวิธี" ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนมีการดันฝ่าด่านจริงๆ แต่มิได้เป็นการดันเพื่อทุบตีหรือทำร้ายตำรวจ เพียงแต่เป็นการดันเพื่อต้องการเคลื่อนไปยังจุดที่ผู้ชุมนุมต้องการไปปักหลักซึ่งก็คือหน้าบ้านสี่เสาที่พำนักของป๋าเปรม ผู้ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา หากยอมให้ตำรวจตัดสินได้ว่าประชาชนมีสิทธิชุมนุมแค่ที่โน่นที่นี่ก็ถือเป็นการจำกัดสิทธิผู้ชุมนุมเดินขบวน ไม่เหมือนครั้งสมัยพันธมิตร ผู้ชุมนุมก็เดินเคลื่อนที่ไปได้สารพัดจุด


 


ในตอนท้าย 3 ย่อหน้าสุดท้ายของบทบรรณาธิการได้มีการกล่าวตำหนินายจรัล ดิษฐาอภิชัยว่า ไม่ควรไปอยู่ในที่ชุมนุมหรือเป็นผู้นำชุมนุมเพราะว่าไม่เป็นกลาง และจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสียความน่านับถือและควรลาออกจากตำแหน่งรักษาการกรรมการสิทธิฯ ผู้เขียนขอถามว่า ความเป็นกลางอยู่ตรงไหนระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย การที่ทหารยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวางนั้นเป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรเพิกเฉยเช่นนั้นหรือ


 


บทบรรณาธิการเรียกคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าเป็นองค์กรที่น่านับถือ ในขณะที่ผู้เขียนเคยเรียกร้องหลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ควรลาออกทั้งชุดเพื่อแสดงสปิริตและเพื่อส่งสัญญาณบอกสังคมว่า สิทธิมนุษยชนได้ถูกละเมิดอย่างรุนแรงโดยการก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว แต่คณะกรรมการสิทธิฯ รวมถึงนายจรัลก็มิได้ยอมลาออก รวมถึงที่ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อย่าง อ.เสน่ห์ จามริก กลับเคยพูดยอมรับรัฐประหารและตอนนี้ก็พูดยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550 ขอถามว่า พวกเขาเป็นกลาง และควรเป็นกลางหรือไม่ อย่างไร


 


ล่าสุด พวกสภาโจ๊ก หรือ สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดยทหารกว่า 90 คน ก็ได้เซ็นต์ชื่อเพื่อขอให้มีญัตติถกเรื่องการถอดถอนนายจรัล ทั้งที่สภานี้ไม่มีแม้กระทั่งความชอบธรรมและความละอายที่ว่าคนเหล่านี้กว่า 200 คน ร่วมมือกับทหารหลังรัฐประหารโดยการไปรับตำแหน่งที่ทหารแต่งตั้งให้ ดูเหมือนความเข้าใจของคนไทยเรื่อง "ความชอบธรรม" จะเปรอะเลอะเทอะมากขึ้นทุกที


 


บทบรรณาธิการฉบับสุดท้ายที่ขอให้ผู้อ่านช่วยพิจารณาได้แก่ของหนังสือโพสต์ทูเดย์ ณ วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม ที่พาดหัวว่า "ขอปฏิเสธอนาธิปไตย" และโปรยหัวว่า "ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด แกนนำ นปก. จึงควรรับไปเต็มๆ เพราะเราปฏิเสธวิธีการของอนาธิปไตยที่ไม่อาจแผ้วผางทางไปสู่สังคมอารยะได้"  ปัญหาคือว่า พวกเขาสรุปได้อย่างไรในเมื่อยังไม่รู้ความจริงแน่ชัด และหากตำรวจเป็นฝ่ายเริ่มความรุนแรงก่อนล่ะ ตำรวจและทหารควรรับไป "เต็มๆ" ด้วยหรือไม่ ย่อหน้าที่ 2 และ 3 ของบทบรรณาธิการ กล่าวบอกว่า ม็อบพันธมิตรกับม็อบ นปก. ต่างกันตรงที่ ม็อบ นปก. "ขาดอุดมการณ์เพียงพอที่จะเรียกตัวว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองขับไล่เผด็จการ แต่เป็นม็อบจัดตั้งรวมกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมให้ พ...ทักษิณ มากกว่ารังเกียจเผด็จการทหาร"  ผู้เขียนซึ่งมิได้เห็นด้วยกับม็อบ นปก. ในหลายเรื่องขอย้ำว่า หากมีผู้คนที่เชื่อว่า ทักษิณชอบธรรมหรือเหมาะเป็นผู้นำจริง และสนใจขับไล่เผด็จการเป็นเรื่องรองพวกเขาก็ควรมีสิทธิชุมนุมและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยสื่อและภายใต้กฎหมายอยู่ดี


 


ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน (และเป็นปัญหาอันหนึ่งของสื่อที่มิสามารถหาหลักฐานให้สังคมรู้ชัดได้ว่าใครเริ่มความรุนแรงก่อน จนมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลางในเรื่องนี้) บทบรรณาธิการก็กล่าวต่อไปว่า ยุคพันธมิตรนั้นไม่มีการปะทะ ถึงแม้มีคนเข้าร่วมเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แต่กลับเกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม จนเป็น "จราจลขนาดย่อม กระทั่งมีตำรวจและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก"  ตรงนี้ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานข้อมูลที่จะฟันธงไปได้ว่า ฝ่ายผิดคือผู้ชุมนุม นปก. เพราะตำรวจสมัยนี้ก็อาจมียุทธวิธีปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่แตกต่างจากสมัยพันธมิตรประท้วง บทบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ยังได้กล่าวต่อไปว่า "การจัดการของเจ้าหน้าที่ต่อม็อบ นปก. นับว่านุ่มนวล และเข้าใจถึงหัวใจของการเรียกร้องมากพอจนเห็นถึงพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับการสลายม็อบท่อก๊าซไทยมาเลเซีย... ในรัฐบาลที่ผ่านมา"


จริงๆ แล้วนุ่มนวลหรือตีซะน่วมกันแน่ นี่เป็นการสรุปเร็วเกินไปโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่โพสต์ทูเดย์ก็ยังไม่ยอมหยุด และกล่าวต่อในสามย่อหน้าสุดท้ายว่า         


 


"เราเห็นว่าชอบแล้วที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับแกนนำที่ไม่รับผิดชอบต่อผลของความเสียหายที่เกิดขึ้น เราเห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอดทนอดกลั้นไม่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เมื่อเทียบกับการสลายการชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยิ่งเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ไม่มีการตัดสินใจใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุม


         


"ถ้อยแถลงของแกนนำ นปก. ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบและโยนบาปให้มือที่สาม เป็นข้อแก้ตัวที่ยากจะรับฟัง เพราะเสียงตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงบนรถขบวนฟ้องชัดว่ามีการใช้ถ้อยคำยั่วยุให้ฝูงชนบ้าคลั่งและพร้อมใช้ความรุนแรงแตกหัก


         


"ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด แกนนำ นปก.จึงควรรับไปเต็มๆ เพราะเราปฏิเสธวิธีการของอนาธิปไตยที่ไม่อาจแผ้วถางทางไปสู่สังคมอารยะได้"


 


ปัญหาคือ เสียงตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงที่โพสต์ทูเดย์อ้างว่า ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้ฝูงชน "บ้าคลั่งและพร้อมใช้ความรุนแรงแตกหัก" ไม่ได้เป็นหลักฐานให้สาธารณะทราบได้ว่าเกิดขึ้นหลังมีการปะทะหรือเกิดขึ้นก่อนมีการปะทะ (ไม่มีลำดับเวลา) หากตำรวจปะทะเข้ามาก่อนแล้วผู้ประท้วงจะสู้กลับบ้างก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในระดับหนึ่ง เราจะต้องค้นหาต่อว่าเสียงเครื่องขยายเสียงที่ออกมาจริงๆ แล้วพูดว่าอย่างไรและเกิดขึ้นก่อนการปะทะหรือหลังเกิดการปะทะกันอย่างนัวเนียแล้ว เพราะสมัย พ.. 35 ถึงจุดหนึ่งแล้วประชาชนก็สู้กลับเช่นเดียวกัน


 


ในขณะเดียวกัน การยึดอำนาจโดยใช้อาวุธและกำลังทหารถือเป็นความรุนแรงอย่างใหญ่หลวง ถึงแม้ไม่ได้ใช้กระสุนแม้เพียงนัดเดียว แต่สื่อ "คุณภาพ" ก็ดูจะไม่มีปัญหากับเรื่องนี้สักเท่าใดนักและยอมรับ "ความชอบธรรม" ของ คมช. รัฐบาลสุรยุทธ์ สนช. ... คตส. ฯลฯ


 


ข้อสังเกตโดยสรุป เหตุการณ์นี้ สื่อคุณภาพมิได้ใช้สองมาตรฐานในการเลือกปฏิบัติระหว่าง นปก. กับพันธมิตร แต่ดูเหมือนจะไร้ซึ่งมาตรฐาน และการเลือกฟันธงสืบเนื่องมาจากความเชื่อของสื่อว่า ม็อบ นปก. ประกอบด้วย "คนเลว" ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง การเขียนจึงเป็นไปแบบสะใจไม่ต้องรอพิสูจน์หลักฐานว่าใครเริ่มต้นก่อความรุนแรงก่อนซึ่งอาจเป็น นปก. หรือตำรวจก็ได้ แต่สื่อมิได้หาหลักฐานแน่ชัดนอกจากภาพผู้ประท้วงตีตำรวจและเสียงโทรโข่งบอกให้ลุยซึ่งก็ไม่ได้ตอบว่าใครเริ่มต้นสร้างความรุนแรงก่อน


 


สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความตกต่ำในระดับมาตรฐาน และมาตรฐานอันตกต่ำนี้มิเพียงแต่เป็นการทำร้ายผู้ชุมนุมซึ่งในนั้นมีความหลากหลาย รวมถึงผู้คนที่ไม่เอาทักษิณซึ่งเข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่งและผู้ชุมนุมที่มีความคิดต้านเผด็จการอย่างสงบ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชุมนุมที่เอาทักษิณจะควรถูกสรุปแบบฟันธงล่วงหน้าว่าต้องการความรุนแรง) ในขณะเดียวกัน บทบรรณาธิการเหล่านี้ได้สร้างความสับสนให้แก่สาธารณะและเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อที่เรียกตนเองว่าเป็นสื่อ "คุณภาพ" ด้วย


 


ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้อง "ขอร้อง" ให้สื่อเลิกทำร้ายตัวเองและประชาชนต่อไปหรือไม่และก็อดคิดไม่ได้ว่ามาตรฐานอันตกต่ำนี้ (new low) จะนำสังคมไปสู่อะไร


 


 


 


 


 


 


....................................


ปล. 1 ในที่สุด หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก็เขียนบทบรรณาธิการออกมาอีกแนวในวันที่ 30 .. โดย กลับลำเขียนบทบรรณาธิการในวันจันทร์ที่ 30 .. ที่ผ่านมาว่า "วิธีที่ถูกต้องในการจัดการกับความรุนแรงในวันที่ 22 .. คือการสืบสวนสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น และจึงจับตัวผู้สมควรรับผิดชอบโดยใช้หลักกฎหมายตามปกติ"


 


ก็ทำไมต้องไปสืบสวนล่ะครับ เมื่อบางกอกโพสต์ก็ฟันธงไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้เริ่มก่อความรุนแรงก่อน


 


ปล. 2 ผู้เขียนขอฝากการ์ตูนหน้าบรรณาธิการจากเดอะเนชั่น และโพสต์ทูเดย์ให้ดูประกอบว่า แม้กระทั่งการ์ตูนนิสต์ก็ฟันธงไปแล้วเหมือนกันโดยไม่ต้องรอหลักฐาน 


 


     



จาก นสพ.เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 27 .. 50


1: "ช่วยด้วย ผมเป็นเหยื่อของเผด็จการ! และเห็นไหม หัวผมแตกเลือดไหลโชก


            ผมเป็นฮีโร่แล้ว ผมเป็นวีรชน ใช่! ผมคือวีรชนประชาธิปไตย!!!


2: "เออดี! นี่ 500 บาท แต่อย่าลืมว่า รวมค่ารักษาพยาบาลในนี้แล้วนะ…"


 


 


 


จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 24 .. 50


 





 





[1] ไอเอ็นเอ็น 18.15 วันพฤ. 26 .. "9 หัวโจกจ๋อย! ศาลอนุญาตฝากขัง สน. สามเสน 2 วัน ลงบันทึก ขังคุกต่อ 10 วัน"   (และในอีกหลายโอกาส ไอเอ็นเอ็น ก็ยังใช้คำนี้ในข่าวที่ยิงมาเข้ามือถือผู้เขียน)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net