Skip to main content
sharethis

ตามที่ศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ ได้พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 459/2548 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (21 ธ.ค.2547) และให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 14349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่ แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จำนวนเนื้อที่ 43 ไร่ ภายใน 30 วัน และให้รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ควบคุมสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 14349/15341 โดยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เพิ่มเติม พร้อมทั้งกำหนดให้ กฟผ. ป้องกันการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์และภัยธรรมชาติ และให้ ครม. สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุดนั้น


ล่าสุด นางมะลิวรรณ  นาควิโรจน์ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ และเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมด ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4


โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่ราษฎรอำเภอแม่เมาะ จำนวน 18 ราย ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง กรณีแหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ อายุ 13 ล้านปี กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


ด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เปิดหน้าดินแปลงประทานบัตรที่ 14349/15341โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านเรียกร้องจากฝ่ายประชาชนที่เห็นว่าพื้นที่ ที่พบซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จำนวนพื้นที่รวมทั้งหมด 43 ไร่ ที่มีความหนาประมาณ 12 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นซากฟอสซิล ที่มีความหนามากที่สุดในโลก 


 


ระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ถูกฟ้อง ตั้งแต่ 1-4 ไม่ยอมทำอะไรที่แสดงให้เห็นถึงการปกป้องซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์แต่อย่างใด ทำให้พื้นที่ที่ซากฟอสซิลหอยขมรวมตัวกันอยู่  ลดลงเหลือเพียง 18 ไร่ ทำให้เกิดหายนะของโบราณสถานที่เกิดจากธรรมชาติ  แต่ผู้ถูกฟ้อง 1-4  กลับคิดถึงเรื่องผลประโยชน์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกล่าวอ้างว่ามูลค่าสูง ตลอดจนได้ไถทำลายไปอย่างตั้งใจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึง ซากโบราณสถาน อันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ และของมนุษยชาติ ในการที่จะต้องเข้ามาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน จากอดีตไปจนถึงอนาคตโดยไม่มีวันสิ้นสุด อีกทั้งยังจะเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่ายั่งยืนอยู่คู่ประเทศไทยตราบชั่วนิรันดร์ 


 


ขณะเดียวกันกลับคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์เพียงการขุดถ่านหินขึ้นมาเผาเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น  หากจะเว้นพื้นที่ตรงนี้เพียงแค่ 43 ไร่ ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล  กลุ่มผู้ถูกฟ้อง 1-4  ก็ยังไม่มีจิตสำนึกในความเป็นคนไทยที่ต้องหวงสมบัติของแผ่นดินและต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินด้วยการรักษาใว้


         


ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จึงต้องยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.50 ให้เพิกถอนมติครม.และคุ้มครองหอยดึกดำบรรพ์ โดยให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์อายุ 13 ล้านปี ที่เหลือเพียง 18 ไร่ เป็นเขตโบราณสถาน ภายใน 180 วัน


ทั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ ได้ออกมาจี้ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดต่อกรณีที่ได้สร้างความหายนะให้กับสมบัติของแผ่นดินและของมนุษยชาติดังกล่าวด้วยข้อเรียกร้อง 6 ข้อ


1. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1-4 เคารพในคำสั่งศาลปกครองกลาง และหยุดคิดเรื่องการอุทธรณ์ ด้วยจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนในทรัพย์สมบัติของแผ่นดินเกิด


2. ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ถูกคำสั่งศาลให้เพิกถอนมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.47 โดยออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูโบราณสถานฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ โดยให้มีการอนุรักษ์ฟอสซิลหอยเป็นประเพณีแห่งชาติ พร้อมจัดให้มีพิธีกรรม ขอขมาซากฟอสซิลหอยซึ่งถือเป็นจุดศูนย์รวมตัวของสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้วในอดีต ภายในเดือนส.ค.50 และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้เพื่อการศึกษาของมนุษยชาติต่อไป


3. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกคำสั่งศาลให้ทำการเพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 14349/15341 เรียกคืน หรือระงับประทานบัตรที่เหลือทั้งหมด เพื่อทำการตรวจสอบว่า กฟผ.ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกฎหมายแนบท้ายประทานบัตรครบถ้วนทุกกระบวนการอย่างเคร่งครัดหรือไม่


4. ขอให้ผู้บริหารกฟผ. ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อธิบดี ปลัดกระทรวง ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ต้องแสดงความรับผิด ด้วยการลาออกทั้งหมด เพราะกลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำหน้าที่ด้วยขาดจิตสำนึกต่อทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน และมวลมนุษยชาติ  


5. ขอให้มีการจัดตั้งมูลนิธิคุ้มครองซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ โดยการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมจากองค์กรภาคประชาชน องค์กรอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังดูแล มิให้มีการทำลายหรือทำให้เกิดความเสียหาย โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนงบประมาณ และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าเสียหายที่ได้สั่งการไถและทำลายซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์จนย่อยยับ จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่


6. ขอให้มีการดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 50 ด้วยความเคารพในคำสั่งศาล และด้วยจิตสำนึกในความเป็นคนที่รักและหวงแหนทรัพย์สมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป


นางอัญชนก ปกแก้ว ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ กล่าวว่า นอกจากที่เรายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เรายังยื่นหนังสือถึงกระทรวงที่รับผิดชอบ รวมทั้งกฟผ.เพื่อคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ และขอให้ยอมรับผลคำตัดสินของศาลปกครองด้วย


"ซึ่งหลังจากนี้ ทางชาวบ้านและองค์กรท้องถิ่นคงจะปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่า จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์นี้กันต่อไป"


ด้านนายเฉลียว ทิสาระ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เมาะ และกลุ่มอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางสำนักข่าวประชาธรรมว่า กลุ่มต้องเดินหน้าติดตามผลจากคำสั่งศาลอย่างใกล้ชิด เพราะตั้งแต่พบซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ กฟผ.ก็ไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านหรือข้อเรียกร้องใดๆ ของประชาชนที่เห็นว่าซากฟอสซิลหอยขมควรค่าแก่การอนุรักษ์ ระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ดีว่าผู้ถูกฟ้องทั้งหมดไม่ได้ทำอะไรที่แสดงถึงความพยายามในการปกป้อง อนุรักษ์ซากฟอสซิล ทำให้พื้นที่ที่ซากฟอสซิลหอยขมรวมตัวกันอยู่ลดลงจนเหลือเพียง 18 ไร่ 


"ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่กฟผ.อ้างว่ามีมูลค่าสูง ตลอดจนได้ไถทำลายโดยไม่คำนึงถึงซากโบราณสถาน อันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติ การปกป้องรักษาโดยประชาชนคนธรรมดา ย่อมดีกว่าฝากไว้ที่หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ" นายเฉลียวกล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net