พลเมืองเหนือ : สัมภาษณ์มานิจ สุขสมจิตร "ต้องเลือก เป็นสื่อต้องไม่เล่นการเมือง"

บทสัมภาษณ์จาก "พลเมืองเหนือ" สัมภาษณ์มานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เดินทางไปบรรยายให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นประธานพิธีปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การทำข่าวสืบสวนสอบสวน" ให้นักข่าวภูมิภาคของภาคเหนือ

 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ได้สะท้อนมุมมองต่อบทบาทสื่อในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติ ไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

 000

 

 

สถานะของสื่อในร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ต่างจากของเดิมอย่างไรบ้าง

รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมาก ตอนออกมาใหม่เป็นที่อิจฉาในเพื่อนๆ สื่ออาเซียน ว่าเสรีภาพของไทยมีมากกว่าของเขา เราก็ภูมิใจ แต่ต่อมา การใช้งานไม่เป็นไปตามที่ให้ เสรีภาพไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากถูกแทรกแซงและครอบงำจากฝ่ายการเมือง และบางมาตราที่ให้ตรากฏหมายลูกก็ไม่มีการตราขึ้น การบังคับใช้จึงคงไม่เกิดผลจริงจัง

 

สื่อของรัฐถูกแทรกแซง เลยมาถึงหนังสือพิมพ์ของเอกชน ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เก็บเอาช่องโหว่มาบัญญัติไว้เพื่อแก้ปัญหา เช่น ห้ามนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเจ้าของสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะไม่เป็นเจ้าของเอง แต่ให้พี่น้องมาถือหุ้นก็เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

 

นอกจากนั้นก็ห้ามแทรกแซงสื่อทางตรงและอ้อม จะสั่งการผ่านใครต่อใคร ถ้าพิสูจน์ว่าได้ทำเช่นนั้น จะเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนได้ การบัญญัติไว้เช่นนี้ เราเชื่อว่าน่าจะป้องกันการแทรกแซงได้ จะทำให้สื่อมีเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นได้ ซึ่งเสรีภาพที่สื่อได้รับมานั้น เป็นเสรีภาพที่ให้กับประชาชน แต่สื่อเป็นผู้ใช้ เท่ากับให้มีโอกาสแสวงหาข้อมูลโดยไม่ถูกครอบงำ เมื่อเราได้ข้อมูลถูกจ้องรอบด้าน มาเสนอประชาชน เมื่อประชาชนตัดสินใจข้อมูลอย่างรอบด้าน ย่อมตัดสินใจถูกต้องกว่าการได้ข้อมูลเพียงด้านเดียว

 

 

การห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อรวมถึงในท้องถิ่นด้วยหรือไม่

มีข้อตำหนิเหมือนกันว่า การห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เป็นการตัดอาชีพ เพราะนักการเมืองท้องถิ่น หลายๆ คนที่เป็นเจ้าของสื่อ แต่กฏหมายที่ออกมาต้องใช้เสมอหน้ากัน ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากในเทศบาลหนึ่ง นายกเทศมนตรีเป็นเจ้าของหนังสือพิพม์ ถ้านายกเทศมนตรีไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ปล่อยปละละเลยบ้านเมือง ชาวบ้านจะร้องใคร ร้องไปที่สื่อ สื่อจะกล้าลง กล้าวิจารณ์หรือไม่ ดังนั้นเมื่อห้ามนักการเมืองระดับชาติ ก็ห้ามนักการเมืองท้องถิ่นด้วย ข้อที่ว่าเป็นการขัดขวางเสรีภาพกันนั้น ก็ในเมื่อจะเป็นนักการเมืองแล้ว ก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อคนไปอยู่ในอาชีพหนึ่งก็ต้องสละในบางเรื่อง เช่น คนเป็นพระก็ต้องสละไม่ฉันอาหารเย็น คนเป็นนักการเมืองก็ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ถ้าไม่อยากก็ต้องทำเช่นนี้ ก็ไปทำการค้าไปไม่มีใครว่าอะไร ไม่ได้การตัดเสรีภาพ

 

 

แล้วคนที่เป็นอยู่แล้วต้องทำอย่างไร

ต้องปรับตัว หาทางคลี่คลาย ขายหุ้นออกไป ระหว่างกฎหมายลูกจะออกมา ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นนักการเมือง ก็ต้องเลิกเป็นสื่อ เราปล่อยปละละเลยมานานแล้ว เมื่อมาจัดระเบียบอาจเกิดความคับข้องใจ แต่ก็ต้องเลือกเอา มิเช่นนั้น หากประชาชนตรวจสอบได้ก็เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนได้ เพราะ ผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญ และหากเรื่องร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินศาลเดียวเท่านั้นด้วย

 

 

ในสถานการณ์รับไม่รับรัฐธรรมนูญเช่นนี้ คิดอย่างไร

มีคนพูดว่า การไม่รับรัฐธรรมนูญมี 2 แนวคิด หนึ่งบอกว่าไม่อ่านไม่รับ เพราะมาจากเผด็จการ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 17 ฉบับที่ผ่านมา มีฉบับไหนไม่มาจากปฏิวัติ ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.2475 จากการยึดอำนาจของคณะราษฎร จึงมีรัฐธรรมนูญ เว้นยุคของนายกฯ บรรหาร ที่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2540

 

ผมคิดว่าหลายๆ คนไม่ชอบการยึดอำนาจ ผมเองก็ไม่ชอบ แต่เมื่อเรื่องมันเลยมาถึงเช่นนี้ มันหมุนเข็มนาฬิกากลับไม่ได้ เราจะปล่อยโดยไม่เข้าไปดูแลเช่นนั้นหรือ เราก็ต้องเข้าไปดูแล ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่า เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมมีอาชีพสื่อ ได้รับมอบหมายจากเพื่อสื่อให้เข้ามาอุดช่องโหว่ เราก็ได้เพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวข้องจากเดิมมี 3 มาตราเพิ่มเป็น 4 มาตรา

 

อีกแนวคิดคือ เนื้อหา ผมเห็นว่า การจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญอยากให้ประชาชนได้อ่านเสียก่อน ถ้ารับหรือไม่รับโดยไม่อ่านจะน่าเสียดายมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีและข้อเสีย ใน 309 มาตรา แม้แต่คนร่างก็อาจจะไม่ถูกใจไปทั้งหมด เหมือนเวลาเราสร้างบ้านทั้งหลัง เราไม่ชอบบันได เราจะทุบบ้านทิ้งหรือ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คนแก้ไขได้ เมื่อมีสภาประชาชนแล้ว เราบัญญัติให้รัฐธรรมนูญแก้ไขง่ายขึ้น เพราะไม่อยากให้คนฉีกรัฐธรรมนูญอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท