Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                                                                                                10 .นนทรี ยานนาวา กทม.10120


 


                                                            3    กรกฎาคม    2550


 


เรื่อง     ขอวิจารณ์แนวคิด "รักท้องถิ่น"


เรียน     คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย


จาก       นายโสภณ พรโชคชัย


           


            ตามคำแถลงของท่านเรื่อง "ทำไมต้อง "รักท้องถิ่น"?" [1] ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "ประชาไท" ได้ปรากฏข้อความบางตอนซึ่งสะท้อนแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้:


 


         ". . . กูอยู่ของกูมาอย่างนี้ จะดีจะชั่วกูก็อยู่ของกูมาแต่รุ่นปู่ย่า ทำมาหากินเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวมาโดยอาศัยทรัพยากรรอบตัว คือ ผืนดิน แม่น้ำ ป่าเขา ทะเล . . . เมื่อวันหนึ่งมีคนจะมาทุบหม้อข้าว จะมาแบ่งแยกทำลายชุมชนของเรา  เราจึงมีแต่ต้องลุกขึ้นสู้ . . . เพื่อรักษาปากท้อง หม้อข้าว และหม้อรกของเราไว้ อย่ามาพูดคำว่า "ผลประโยชน์ของชาติ"  หรือ "ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" กับเราแต่เพียงลอยๆ เพื่อเป็นข้ออ้างให้เราต้องเสียสละ เพราะคนส่วนใหญ่ ย่อมประกอบด้วยคนส่วนน้อย คนเล็กคนน้อยมารวมกัน ศักดิ์ศรีของคนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนส่วนน้อยถูกย่ำยี"


 


            การที่ประชาชนในพื้นที่หนึ่งซึ่งอยู่อาศัยกันมานาน แต่ต้องได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เป็นเรื่องน่าเศร้า และหากยิ่งต้องออกจากพื้นที่ไปหรือสูญเสียอาชีพที่ทำอยู่ด้วยแล้ว ย่อมเป็นความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ดังนั้นประเด็นนี้จึงอยู่ที่การจ่ายค่าทดแทนให้สมควร ซึ่งครอบคลุมความสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ อาชีพและรายได้ (หม้อข้าวไม่ถูกทุบ) รวมทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่


            การทดแทนที่เหมาะสมสามารถคำนวณได้จากการประเมินค่าทรัพย์สินตามหลักวิชา เช่น ค่าทดแทนความสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ ต้องจ่ายตามราคาตลาดที่เป็นธรรม ความสูญเสียอาชีพคำนวณเป็นมูลค่าจากการแปลงรายได้สุทธิของการประกอบกิจการประมงหรืออื่นๆ เป็นต้น การประเมินค่าทรัพย์สินเป็นวิชาที่ใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมโดยเฉพาะแก่ประชาชนทั่วไป


            ปัญหาของการเจาะจงซื้อหรือเวนคืนที่ผ่านมา ก็คือการคำนวณค่าทดแทนต่ำกว่าความเป็นจริง การละเลยค่าทดแทนบางรายการ (เช่น โอกาสของรายได้ในอนาคต) การจ่ายค่าทดแทนช้า การขาดการประเมินค่าทรัพย์สินตามหลักวิชาอย่างรอบด้าน และการขาดการทบทวนผลการประเมินอย่างรอบคอบระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ดังนั้นหากมีการซื้อหรือเวนคืนที่เป็นธรรมแล้ว ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบย่อมไม่ต่อต้านและไม่รู้สึกถูกย่ำยี


            อย่างไรก็ตาม ความเคยชินหรือความสูญเสียทางจิตใจเฉพาะบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลในการขออยู่ต่อได้ เพราะหากนำความนี้มาอ้าง ก็คงไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ หรืออาจคิดค่าทดแทนที่สูงเกินจริง ที่ผ่านมาแม้แต่สุสาน เจดีย์ หรือวัดวาอารามยังต้องรื้อย้าย [2] ในกรณีการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ความรู้สึกทางจิตใจเหล่านี้ก็สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง


            ผู้ที่ถูกเวนคืนไม่ใช่ผู้เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ตราบเท่าที่ได้รับค่าทดแทนที่เป็นธรรม [3] ผู้ถูกเวนคืนมีสิทธิไม่ยอมรับค่าทดแทนจากการเวนคืนที่คำนวณได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ประเทศทั่วโลกต่างมีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคใหม่ๆ ตามความจำเป็นของยุคสมัย การเวนคืนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และประชาชนทุกหมู่เหล่ามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หาไม่ก็จะเป็นการขัดขวางความเจริญของชาติไปอย่างน่าเสียดาย


            หากประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศพากันจับจองทรัพยากรของส่วนรวม เช่น ทะเล ลำคลอง หรือป่าเขา มาเป็นของตนด้วยถือว่าตนอยู่ใกล้และได้ใช้ประโยชน์มานาน ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ก็คงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส ถ้าการปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ก็คงทำให้ประเทศแตกแยกกันไปหมด และเกิดความวุ่นวายแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไม่มีที่สิ้นสุด บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องนี้จะพันธนาการประเทศของเราให้ถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือทั่วโลกต่างพัฒนาไปไกลโดยไม่ติดกับปัญหานี้เพราะต่างยอมรับในสิทธิของชาติเหนือสิทธิส่วนบุคคล


            ในการลงทุนโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ่อนอกนั้น หากแม้ภาครัฐมาลงทุนเอง บางท่านก็ยังคงไม่ยินดีเช่นกัน อย่างไรก็ตามเราควรสนับสนุนการลงทุนสาธารณูปโภคหากเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เสียภาษีอากรแก่ประเทศเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศในระยะยาว ให้โอกาสในการสร้างงานสำหรับประชาชนในพื้นที่ และให้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ


            บางครั้งอาจมีข้อคำนึงว่า การดำเนินโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นการเปิดโอกาสการฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้อนี้คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างจริงจังของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนที่มุ่งหวังจะสอดส่องเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าภาคประชาชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ด้านการนี้กลับมีจำนวนไม่มาก และขาดบทบาทที่กว้างขวางและต่อเนื่องเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามเราคงไม่สามารถอาศัยข้ออ้างเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ มาถือครองทรัพยากรของประเทศเป็นของตนเอง


            อนึ่งข้อวิจารณ์นี้หมายเฉพาะถึงแนวคิดข้างต้นของท่านเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจำกัดประเด็นในการแลกเปลี่ยนและอภิปรายให้ตรงตามสาระ ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็คงจะได้อภิปรายในโอกาสต่อไป


            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


                                                                                    ด้วยความเคารพ


                                                                           นายโสภณ พรโชคชัย [4]


 


 


 


      [1] คำแถลงของคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย แสดงอยู่ในเว็บไซต์ประชาไท โปรดอ่านที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8593&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


      [2] โปรดดูรายละเอียดในข่าว ทล.เร่งมือขยายถนนสองแคว-หล่มสัก รับโครงข่าย East - West Corridor โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 19 สิงหาคม 25480 20:01 . http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9480000112340 หรือกรณีอื่นที่ http://www.kodmhai.com/m4/m4-21/Nthailaw-4-21/N277.html หรือ http://www.dol.go.th/lo/smt/practice/april/12677-8.htm


      [3] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความของผมเรื่อง "เวนคืน: น้ำตา เสียสละ หน้าที่?" http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market86.htm


      [4] ผมทำงานเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ครับ เคยทำประเมินค่าทดแทนให้กับยายไฮ ขันจันทา กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในโครงการสาธารณูปโภคให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเจ้าของทรัพย์สิน และเคยศึกษาเกี่ยวกับการประเมินค่าทดแทนผลกระทบของเสียงกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น ท่านสามารถติดต่อผมได้ที่ sopon@thaiappraisal.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net