ปริญญาจี้ คมช.ประกาศนำรธน.40 มาใช้หาก รธน.50 ไม่ผ่าน

วานนี้ (30 ก.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเสวนาเรื่อง "ประชามติที่ดีควรเป็นอย่างไร" จัดโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา โดยมีวิทยากรคือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และนายอุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร

 

นายอุเชนทร์กล่าวว่า การลงประชามติรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง เพราะมีความพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคัดค้านด้วยวิธีการต่างๆ เช่น มีการข่มขู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ออกมารณรงค์คัดค้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกรรมการการเลือกตั้ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดประชามติ รวมทั้งยังมีกล่าวหาตราหน้า ป้ายสีทางการเมืองต่อกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีความเห็นต่างกับตน เช่น ตั้งคำถามต่อกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า กลุ่มอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กลุ่มนักวิชาการพวกนี้เอาเงินที่ไหนมาซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์

 

นอกจากการข่มขู่ด้วยวาจาแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจและทหารโดยใช้ข้ออ้างกฎอัยการศึกหรืออื่นๆ เช่น กรณีคุณสมบัติ บุญงามอนงค์, กรณีผู้นำแรงงานไทรอัม และกลุ่มกรรมกรปฏิรูป, กรณีคุณครูประทีป อึ๊งทรงธรรม เป็นต้น

 

"ฝ่ายที่คัดค้านนั้น ไม่เพียงไม่ได้รับการสนับสนุน และถูกปิดกั้นในแทบทุกทาง แต่ฝ่ายสนับคือ ส.ส.ร. ได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการโฆษณาถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ และโกหกประชาชนบ้างในบางครั้งที่มีโอกาสอย่างน่าละอาย"

 

กลุ่มอาจารย์นิธิ(เอียวศรีวงศ์) กลุ่มนักวิชาการพวกนี้เอาเงินที่ไหนมาซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์

 ฝ่ายที่คัดค้านนั้น ไม่เพียงไม่ได้รับการสนับสนุน และถูกปิดกั้นในแทบทุกทาง แต่ฝ่ายสนับสนุน คือ ส.ส.ร. ได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการโฆษณาถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ และโกหกประชาชนบ้างในบางครั้งที่มีโอกาสอย่างน่าละอาย ขณะที่กลไกรัฐก็พยายามที่จะระดมกำลังทรัพยากร และใช้ทุกกลวิธี เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกปิดกั้น กฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

 

หน่วยงานหรือองค์ที่มีหน้าที่ในการจัดการออกเสียงประชามติ ต้องมีความเป็นกลางไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆ ทั้งจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายสภานิติบัญญัติ (สนช.) และที่สำคัญ คือ จะต้องไม่มีส่วนได้เสียในประเด็นหรือเรื่องที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เพื่อชักจูงโน้มน้าว หรือใช้กลวิธีใดที่มีผลให้ผู้มีสิทธิออกเสียงออกเสียงไปในทางใดทางหนึ่ง

 

รศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประชามติในครั้งนี้มีข้อบกพร่องหลายประการโดยเฉพาะกรณีที่ประชาชนไม่รู้ว่าหากไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลและคมช.จะหยิบฉบับไหนมาให้ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบเพื่อการตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเนื้อหาของฉบับใดที่ดีกว่ากัน ต้องโทษประธานสนช.ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่โดยหลักประชามติที่ดีนั้นประชาชนต้องรู้ว่าจะเลือกระหว่างอะไร การที่พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯระบุว่าหากไม่เลือกของที่วางอยู่ตรงหน้าก็จะเจอของที่กำไว้ด้านหลัง ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไร นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นว่านายกฯไม่เข้าใจการทำประชามติที่แท้จริง ดั้งนั้นทางออกที่ดีที่สุดทางคมช.และครม.ต้องประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะนำฉบับไหนมาใช้

 

"ผมยืนยันว่าจะต้องเป็นฉบับ 2540 แต่หากไม่ประกาศออกมา ประชามติครั้งนี้ก็ไม่ใช่ประชามติที่แท้จริง เป็นแต่เป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ยึดอำนาจเท่านั้น ไม่ต่างกับการทำประชามติในฟิลิปปินส์ในยุคประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มากอสหรือที่ประเทศในระบอบเผด็จการทั่วโลกใช้กัน และท้ายที่สุดสังคมโลกจะไม่เปรียบเทียบการประชามติของไทยเป็นเหมือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่จะมองว่าเป็นเหมือนฟิลิปปินส์หรือพม่า"

 

ข้อบกพร่องอีกประการคือการให้นาง สดศรี สัตยธรรม และนาย ประพันธ์ นัยโกวิทก.ก.ต.ซึ่งเป็นผู้รักษากติกา มาเป็นส.ส.ร. ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่เหมาะสมแต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะต้องลาออก แต่หากในอนาคต มีการกระทำที่เข้าข่ายใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางก็ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.กกต.ที่กำหนดให้กกต.ต้องเป็นกลาง ซึ่งเป็นความผิดเดียวกับที่พล.อ. วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต.ต้องติดคุก

 

นอกจากนี้ยังบกพร่องตรงที่ให้ส.ส.ร.ออกกฎระเบียบที่ใช้ในการลงประชามติ ทั้งนี้ในการรณรงค์นั้นพออนุโลมได้ว่า ส.ส.ร.ซึ่งเป็นผู้ร่างย่อมมีสิทธิ์พูดว่าข้อดีของรัฐธรรมนูญคืออะไร แต่การใช้งบประมาณของรัฐให้ข้อดีเพียงด้านเดียวกับประชาชนก็น่าจะมีปัญหา เพราะโดยหลักการทำประชามติที่ดีองค์กรของรัฐต้องเป็นกลางและให้ประชาชนตัดสินกันเอง นอกจากนี้พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฉบับนี้ก็มีข้อบกพร่องเพราะมีเจตนามุ่งลงโทษประชาชนมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐเพราะพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกกลุ่มการเมืองหลอกลวง หรือคุกคาม หรือจูงใจให้รับหรือไม่รับร่างดังกล่าว แต่ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่หากใช้อำนาจกระทำการเช่นเดียวกัน

 

"ต้องถามก่อนว่าการประชามติครั้งนี้อยากให้ประชาชนตัดสินจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็พอแก้ไขได้คือครม.และคมช.ต้องประกาศว่าถ้าไม่ผ่านจะนำรัฐธรรมนูญบับไหนมาใช้ และต้องประกาศว่าจะต้องเลือกตั้งภายในกี่วัน เพราะการเลือกตั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะประชาธิปไตย ซึ่งถ้ากติกาชัดเจน ผลที่ออกมาทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ ถ้าประชามติผ่าน กลุ่มที่คัดค้านทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)หรือ 19 กันยา ก็ต้องยอมรับ เพราะว่าประชาชนได้ตัดสินแล้ว แต่หากคมช.ไม่ประกาศออกมาว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด จะเกิดวิกฤตแน่นอน"

 

การลงประชามติในครั้งนี้จะมีบัตรเสียมากกว่าการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากมีประชาชนที่ไม่รู้ว่าจะรับหรือไม่รับดีและต้องการงดออกเสียงแต่ไม่มีช่องงดออกเสียงให้กา จึงไม่กาทั้งสองช่อง แต่กกต.ถือว่าเป็นบัตรเสีย ดังนั้นจึงควรแก้ไขด้วยการแยกประเภทด้วยการไม่กาช่องใดช่องหนึ่งถือว่าเป็นการงดออกเสียง

 

ด้าน ผศ.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการลงประชามติครั้งนี้ถือเป็นการกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคต ซึ่งประชาชนต้องพิจารณาเนื้อหาสาระว่าหากรับแล้วจะได้รัฐธรรมนูญฉบับไหน แต่ที่ผ่านมาฝ่ายที่รณรงค์กลับไม่พูดถึงเนื้อหา แม้แต่พรรคการเมืองก็ไม่ให้ข้อมูลกับประชาชน ว่าที่รับหรือไม่รับเพราะอะไร แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นอมาตยาธิปไตยสูงมากโดยเฉพาะการสรรหาส.ว. จะทำให้สถาบันการเมืองไทยกลายเป็นบ้านพักคนชราเป็นที่พักของข้าราชการเก่าและชนชั้นนำของสังคมไทย ขณะที่ระบบพรรคการเมืองแบบรวมเขตจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและรับบาลอ่อนแอเละเป็นอันตรายต่อทิศทางการเมืองไทย

 

กรณีที่มีการณรงค์ว่าให้รับก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขที่หลังนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายและไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติและไม่ควรจะถูกแก้ไขโดยง่าย ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คมช.และครม.ควรประกาศว่าหากไม่อา ฉบับ 50 ให้ใช้ฉบับ 40 และให้ประชาชนลงประชามติเลือกว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใด

 

 

 

ที่มา : เรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐและไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท