Skip to main content
sharethis

เมธา มาสขาว[1]


ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YDP)


Blog http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha


 



 



ที่มาของภาพ : http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha/2007/07/22/entry-1


 


ผมได้รับมอบหมายให้พูดถึงพลังคนหนุ่มสาวในการสร้างสังคม-ประชาธิปไตย ด้วยน่าจะอนุมานได้ว่า คนหนุ่มสาวเป็นอนาคตและความหวังทางสังคมหนึ่งที่สำคัญ ดังที่มีคนกล่าวว่า เราปลูกอะไรในวันนี้ ย่อมเห็นผลของมันในวันหน้า และทุกกลุ่มพลังทางสังคมควรมีส่วนร่วมเพื่อจัดวางการอยู่ร่วมกัน


 


เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมเพิ่งกลับจากการประชุมสัมมนา Young Progressive South East Asia - YPSEA ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีการรวมตัวกันขององค์กรคนหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสังคมนิยม-ประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ อันประกอบไปด้วยสมาชิกมากกว่า 10 องค์กรจาก 5 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ด้วยความคาดหวังว่า คนหนุ่มสาวจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสังคมนิยม-ประชาธิปไตยในทางสากลได้ ไม่วันนี้ก็ในอนาคต


 


แต่กระนั้นก็ตาม หากถามกลับไปว่า คนรุ่นเดือนตุลาคม 2516 ซึ่งตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงในอดีต เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ที่มีอำนาจทางสังคมอยู่ตามสาขาอาชีพต่างๆ ก็ยังมิอาจสร้างสังคม-ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะอะไร?


 


สำหรับผมแล้ว นั่นอาจเพราะมิใช่ปัญหาทางอุดมการณ์อย่างเดียว แต่เรามิอาจคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมใหม่ได้โดยไม่เข้าใจความไม่เป็นธรรมจากความขัดแย้งหลักของโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่ง ณ บัดนี้ เราไม่อาจให้การปฏิเสธปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นได้อีกต่อไป ที่ซึ่งสร้างความแปลกแยกให้เราเอง แม้จะเป็นคนหนุ่มสาวด้วยกันหรือเป็นคนแก่ชราด้วยกันก็ตาม


 


ความขัดแย้งทางชนชั้นนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้ขึ้นต่อกับความสัมพันธ์ทางการผลิต และกำหนดวิถีชีวิตของเราให้ขาวต่ำดำสูงกันออกไป และแน่นอนมันกำหนดสังคมและวัฒนธรรมให้เราด้วย จนในปัจจุบันนี้สังคมเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลและบริโภคนิยมเป็นว่าเล่น


 


ถ้าเราไม่ต่อสู้โดยการแตะต้องโครงสร้างนี้ เราก็มิอาจเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมได้เลย นักปรัชญาประวัติศาสตร์ได้เคยบอกเราว่า "รัฐทุนนิยมเป็นเพียงคณะกรรมการประกอบการของนายทุน" เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า รัฐซึ่งน่าจะเป็นกลไกในการจัดวางการอยู่ร่วมกันในยุคใหม่ ได้เป็นเพียงที่ปรองดรองผลประโยชน์ของชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น ที่เขาได้เข้าไปใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดวางผลประโยชน์ร่วมกัน ออกกฏหมายและระเบียบร่วมกัน


 


และนั่นทำเราเห็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยว่า หลังจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น ก็เพราะมีแต่ชนชั้นนำทางสังคมไทยเท่านั้นที่ได้เข้าไปสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ตนเองปกครองสังคมมาอย่างเนิ่นนาน ออกกฏหมายและนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เอื้อผลประโยชน์ต่อชนชั้นของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง


 


ผลผลิตของสิ่งเราเหล่านั้นก็คือ ประเทศนี้มีการกระจายรายได้แย่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก ช่องว่างทางสังคมเหลื่อมล้ำมหาศาล เรามีรถเบนซ์เกือบมากที่สุดในโลกขณะที่มีคนจนมากมายหลายสิบล้านคน ยากลำบากและไม่มีที่ดินทำกิน เพราะสินทรัพย์เหล่านั้นเดินเข้าสู่กลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ซึ่งเหล่านายทุน ผู้ประกอบการเท่านั้นมีอำนาจในการซื้อไว้-ครอบครอง


 


ยังมิต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมโลก ที่คน 200 ล้านคนเท่านั้นที่ร่ำรวย ในขณะที่ 1,800 ล้านคนเป็นคนชั้นกลาง แต่กว่า 4,000 ล้านคนอดอยาก ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันซึ่งนายทุนยึดครองผลประโยชน์


 


ผมคิดว่าเราไม่อาจสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นได้ หากชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่เข้าไปสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐนั้นจัดวางความเป็นธรรมทางสังคม ผลประโยชน์ทางชนชั้น หรือสร้างสังคมนิยมม-ประชาธิปไตยที่จับต้องได้ อย่าลืมว่าชีวิตเราสัมพันธ์กับการเมืองและการถูกปกครองตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่พ่อต้องไปแจ้งเกิดที่ว่าการอำเภอ หรือตั้งแต่แม่ตั้งท้องแล้วลาหยุดงานไม่ได้เลยทีเดียว ซึ่งระบอบการเมืองนั้นเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


 


ในประเทศแถบยุโรปนั้นสร้างสังคมนิยม-ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ เพราะเขามีพรรคการเมืองที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์เข้าไปสู่อำนาจรัฐ หรือพรรคตัวแทนทางชนชั้นเข้าไปต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พรรคสังคมนิยมในประเทศสเปน, ฝรั่งเศส พรรคสังคม-ประชาธิปไตย ในประเทศเยอรมัน พรรคแรงงาน ในประเทศนอรเวย์ ฯลฯ


 


ผมคิดว่าทุกกลุ่มในสังคมนี้มีผลประโยชน์ทางการเมืองหมด ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน ทหาร ข้าราชการ กลุ่มทุน หอการค้า หรือ ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร ลูกจ้าง เพียงแต่ว่า ชนชั้นล่างข้างท้ายไม่เคยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นโดยเท่าเทียม นอกจากการแลกเปลี่ยน เสนอให้หรือหยิบใช้เพื่อส่งผ่านอำนาจในช่วงแห่งการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่กลุ่มอื่น? นายทุน กองทัพ ข้าราชการ สถาบัน ชนชั้นนำทางสังคม ครอบครองสมบัติผลัดกันชมเป็นว่าเล่น


 


การสร้าง "สังคม-ประชาธิปไตย" ในสังคมไทยตอนนี้ ผมว่ามีอยู่ 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือ เราต้องสร้างความเข้มแข็งในนามของ "สถาบันประชาชน" ไม่ว่าจะรูปแบบองค์กร หรือกลุ่มขบวนการใด ทั้งทางชนชั้น อาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการชาวนา ชาวไร่ กรรมกร พนักงานสาขาอาชีพต่างๆ จะต้องมีขบวนการตนเองที่เข้มแข็งและต่อรองผลประโยชน์เพื่อชนชั้น หรือกลุ่มทางสังคมของตนเองได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


 


เหล่านี้อาจเกิดในรูปของพรรคการเมืองทางชนชั้น สาขาอาชีพ หรือในนามกลุ่มพลังทางการเมืองก็ได้ และในอีกทางหนึ่งคือ ชนชั้นล่างทางสังคมที่ถูกกระทำลุกขึ้นมาด้วยขบวนการแห่งการเปลี่ยนแปลง รื้อถอนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น โดยการ Revolution ทางสังคมใหม่ ทางนี้ไม่เหมือนการรัฐประหารและประชาคมสากลยอมรับได้ แต่จะเป็นจริงได้คงต้องมีขบวนการที่เข้มแข็ง ยาวนานและมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหลักทางสังคม ดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยต่อสู้มา และหรือ ขบวนการประชาชนทั่วโลกที่เคยหรือกำลังต่อสู้อยู่


 


ผมอยากเรียนกับทุกท่าน ที่คาดหวังถึงสังคมนิยม-ประชาธิปไตยในห้องนี้ว่า หากความเป็นจริงที่ว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้แล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งหลักที่รอวันประทุของเหตุการณ์หากเราไม่มีการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างเหล่านี้ยังดำรงอยู่ สังคมนิยมจะไม่มีวันตาย สังคมนิยม-ประชาธิปไตยยังคงมีลมหายใจอยู่ และมันไม่เคยตายตราบใดที่ยังมีขบวนการกรรมกร ชาวนา-ชาวไร่เคลื่อนไหวเดินขบวนอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากความขัดแย้งทางโครงสร้าง และรอหล่อหลอมเป็นรูปของขบวนการใหญ่ที่เข้มแข็งสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคตเท่านั้น ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม


 


ว่าแต่ เราจะร่วมสร้างขบวนการในรูปแบบใด?


 


อย่าได้แปลกใจว่าทำไมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐสภาชั่วคราวของเนปาล ได้มีมติ 281 ต่อ 2 และงดออกเสียง 41 ต้องการยกเลิกระบบ monarchy ในเนปาล เพราะความขัดแย้งหลักได้ถึงจุดปะทุของเหตุการณ์ขึ้นแล้ว และเพราะขบวนการประชาชนฝ่ายซ้ายในประเทศเนปาลได้ลุกขึ้นต่อสู้อย่างเข้มแข็งมาก


 


ถามถึงขบวนการคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางสังคมได้อย่างไร คนหนุ่มสาวมีจุดเด่นในตัวเองด้วยพลังแห่งวัยของการแสวงหา ความเป็นธรรมทางสังคมเป็นสิ่งศรัทธายึดถือได้โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นเคลือบแฝงมากมายนัก คนหนุ่มสาวจะต้องรวมพลังกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน หรือทำงานสาขาอาชีพอะไร เพื่อสร้างขบวนการของคนหนุ่มสาวในยุคใหม่ แต่นั่น เราจะต้องเลือกว่าเราจะต่อสู้เพื่อใคร? และอย่างไร? นั่นหมายถึงเราจะต้องวิเคราะห์ความขัดแย้งหลักทางสังคมและต้องการเปลี่ยนแปลงมัน ซึ่งแน่นอน เมื่อนั้น เราต้องเลือกจุดยืนทางชนชั้นและอุดมการณ์ทางการเมือง


 


ในประเทศไทย ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (Young People for Democracy Movement-YPD) ในนามของขบวนการคนหนุ่มสาวทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่ผมสังกัดอยู่ก็กำลังพยายามทำเรื่องนี้อยู่ โดยการพยายามรวมพลังคนหนุ่มสาวในรูปของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระหว่างสากล ซึ่งได้ทำงานร่วมกับ International Union of Socialist Youth - IUSY องค์กรคนหนุ่มสาวโลกซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 องค์กรในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และก่อตั้งมากว่า 100 ปี องค์กรคนหนุ่มสาวสากลที่พยายามสร้างและรวมพลังคนหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม-ประชาธิปไตยในระดับสากลให้ได้ ในนามคำขวัญที่ว่า "all over the world to change it" และล่าสุดในการต่อต้านสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-เลบานอน "the World is our Country, the Humanity is our Homeland"


 


เราหวังว่า สังคมนิยม-ประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางบันได..


 


คำถามต่อสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ เราจะต่อสู้เพื่อใคร? ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม หากเราจะต่อสู้เพื่อสังคมนิยม หรือ สังคม-ประชาธิปไตย? ถ้าดังนั้น เราต้องคิดเรื่องขบวนการต่อสู้ และขบวนการต่อสู้จะต้องมีทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองและขบวนการจัดตั้งทางความคิดเพื่อทำความเข้าใจอุดมการณ์ทางสังคม ทุกวันนี้พื้นที่ของอุดมการณ์สังคมนิยม-ประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานมากเท่าไหร่ในสังคมไทย ยิ่งแนวคิดสังคมนิยมด้วยแล้วอย่าได้พูดถึง นอกจากประชาธิปไตยเสรีนิยม และระบอบอมาตยาธิปไตยที่อันตรายที่สุดหาก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับนี้ผ่าน


 


เราจะสร้างขบวนการอย่างไร -> เพื่อมุ่งสู่การมีส่วนในอำนาจรัฐ -> และสร้างสังคมนิยม-ประชาธิปไตย ทั้งในแง่การเมืองการปกครองและในแง่ของพหุวัฒนธรรมสังคม นั่นคือโจทย์ของขบวนการคนหนุ่มสาวและภาคประชาชนไทยในวันนี้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นผ่านประชามติของสังคมโลกมาแล้วตั้งแต่กว่า 60 ปีที่ผ่านมาในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนในรัฐของตนและการใช้อำนาจแห่งรัฐบาลจะต้องมาจากเจตจำนงค์มูลฐานของประชาชน" ผมเห็นความสำคัญว่า เราควรมีพรรคการเมืองของเราเอง พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ พรรคการเมืองทางชนชั้นในอนาคต เพื่อเข้าไปต่อรองผลประโยชน์ทางโครงสร้างในภาคการเมือง


 


สุดท้ายคำถามสำหรับอนาคตก็คือ ในห้วงยามนี้ เราจะสู้รบตบมือกับสถานการณ์อย่างไรดี ท่ามกลางเงื่อนไขที่พลังของภาคประชาชนก็อ่อนแอ ทั้งยังไม่สามารถเสนอชุดอุดมการณ์สังคม-ประชาธิปไตยของตนเองได้อย่างมีพลัง คำถามคงวนเวียนอยู่ในความคิดของใครหลายคนในสถานการณ์ปัจจุบันว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องต่อสู้เพื่อเผด็จการนายทุนกลับมาอีก หรือต้องปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยใหม่ตามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ในทฤษฎีมาร์กซ์ หรือต้องต่อสู้จนสูญเสียประชาชนผู้รักชาติ-ประชาธิปไตยเพื่อสั่งสอนทหารไม่ให้กลับมาอีก ซึ่งยังไม่ทราบว่าอีกกี่คำรบแล้วคำรบเล่า, และหรือเราจะเปลี่ยนผ่านความคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมไปสู่ประชาธิปไตยสังคมนิยมได้อย่างไร ที่ซึ่งเรามีประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ


 


พี่น้องที่รักทั้งหลาย ฐานะทางประวัติศาสตร์มุมกลับนอกจากชัยชนะของประชาชนที่อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-21 พฤษภาคม 2535 จนศัตรูล่าถอยออกไปเพราะความเกรงกลัวต่อศรัทธานั้น คือ ปรากฏการณ์ที่เราต่อสู้อยู่กับอำนาจรัฐที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำ เราพ่ายแพ้และถูกเขาฆ่าตายจำนวนมาก เลือดเนื้อจากปลายกระบอกปืนแห่งอำนาจรัฐของเราที่เขาครอบครอง ซึ่งนั่นเพราะเรามีเพียงพลังประชาธิปไตยทางอุดมการณ์ แต่เราจะสร้างขบวนการได้อย่างไร พลังของประชาชนจะรวมตัวกันเป็นรูปขบวนการได้อย่างไร? ซึ่งผมหมายถึงทั้งรูปขบวนการและรูปของพรรคการเมืองของขบวนการ. เพื่อเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองและแก้ปัญหาทางชนชั้น?


 


ภาคประชาชนจะต้องรวมพลังกันให้ได้ และเราไม่ควรสยบยอมที่จะถูกกระทำอีกต่อไป.


 


บทความในประชาไทย้อนหลังของเมธา มาสขาว


รายงานพิเศษ : 3 ปี การอุ้มหายสมชาย นีละไพจิตร, โดย เมธา มาสขาว และ พรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ, ประชาไท, 10/3/2550


 


ข่าวในประชาไทย้อนหลังที่เกี่ยวข้องกับ ศยป.


แถลงการณ์จากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(ศยป.) บาปร้าย 7 ประการ ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร, ประชาไท, 16/2/2549


ศูนย์ประสานงานเยาวชนฯ เรียกร้องรัฐประหารแบบก้าวหน้า, ประชาไท, 20/9/2549


เครือข่ายเยาวชนแสดงจุดยืน ไม่เอานายกฯ คนนอก, ประชาไท, 15/3/2550


 







[1] หมายเหตุจากผู้เขียนบทความ : Social-Democracy สำหรับผมน่าจะแปลได้ว่า "สังคมนิยม-ประชาธิปไตย" มากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net