Skip to main content
sharethis

นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดมาตรการเชิงรุก ส่งผลให้สถานการณ์ความรุนแรงลดระดับลง ถือเป็นผลดีที่ทำให้ฝ่ายปกคอง และผู้เกี่ยวข้องในการทำงานมวลชน ซึ่งการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในบริบททางด้านการเมืองและสังคมจิตวิทยาเพื่อรักษามวลชน พบว่าจากนี้ไป ศอ.บต.จะต้องเร่งดำเนินการใน 3เรื่องหลัง คือ ด้านการเมือง หรือการต่อสู้ทางความคิด ความเชื่อ ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจรัฐ และด้านการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน


 



ผอ.ศอ.บต.กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาความคิดความเชื่อ โดยได้วางแนวทางเริ่มตั้งแต่ ค้นหาหลักกการที่ถูกต้อง จากผู้รู้ในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันการศึกษา สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านวิธีการพบปะพูดคุย เวทีสัมนา รวมทั้งประมวลจากผู้รู้ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกได้มาแสดงทัศนะไว้ จัดทำเป็นเอกสารองค์ความรู้ เช่น เอกสารอิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ จากนั้นดำเนินกระบวนการเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่นเครือข่ายร้านน้ำชา การอ่านคุตบะห์ในวันละหมาดใหญ่วันศุกร์ ทั้งนี้ตนเองยังใช้วิธีการพบปะกับอิหม่ามด้วยตัวเอง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 14 อำเภอ ไม่น้อยกว่า 1,200คน


 



นายพระนาย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้เพิ่มกรอบอัตรากำลังพลสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน ซึ่ง ครม.มีมติเพิ่มจำนวนกำลัง อส.จำนวน 2,016 อัตรา ใน 2 ภารกิจคือ รปภ.ชุมชน หมู่บ้าน โดบแบ่งเป็นหมู่บ้านละ 6 นาย จำนวน 300 หมู่บ้าน ทั้งหมด 1,800 คน และภารกิจ รปภ.ประจำขบวนรถไฟ 2 กองร้อย 216 คน นอกจากนี้ยังได้มีการฝึกอบรมทบทวนชุด ชรบ.ทั้ง 37 อำเภออีกด้วย


 



ส่วนปัญหาของเจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึงพื้นที่และประชาชน ศอ.บต.ได้ใช้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นถึงอำนาจรัฐ โดยในปี 2550 นำร่อง 44 อำเภอๆ ละ 2 ตำบลรวม 88 ตำบล 636 หมู่บ้าน และในปี 2551เพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 88 ตำบลและดำเนินการต่อเนื่องจนครบทุกตำบล หมู่บ้าน ทั้งนี้ต้องการให้ประชาชน ได้รับทราบว่าถ้าให้ความร่วมมือกับทางการด้วยดีแล้ว จะได้รับการดูแลอย่างดีจากทางราชการในการปรับสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตเป็นการตอบแทน


 



ส่วนการแก้ไขปัญหาผลกระทบให้กับประชาชน จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องเศรษฐกิจ โดยการกำหนดแผนระยะสั้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนระยะกลางจะสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการผลิตเดิมที่มีศักยภาพ และระยะยาวขยายฐานการผลิต โดยเร่งรัดให้มีการดำเนินการพัฒนาเขตโครงการนิคมอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ปัตตานี


 



นอกจากนี้จะเพิ่มการอำนวยความเป็นธรรม ด้วยการจัดตั้งและพัฒนาประสิทธิภาพการรับเร่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม จชต.ของ ศอ.บต.ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น จะเห็นได้จากสถิติการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เพิ่มมากขึ้น จากปี 2548 มีจำนวน 220 ราย ปี 2549 มีจำนวน 169 ราย และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 มีจำนวนถึง 333 ราย ซึ่งยังไม่นับรวมเรื่องที่ประชาชนมาขอคำแนะนำ หรือขอคำปรึกษา หรือมาร้องทุกข์ แต่ได้รับการชี้แจงจนเป็นที่น่าพอใจ มีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ราย


 


 


.....................................................................................................


ที่มา: http://www.komchadluek.net


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net