Skip to main content
sharethis

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ห้อง 101


 


นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวเปิดงาน ว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ไม่ได้แยกตัวออกจากสังคม ไม่ได้แบ่งงานตามใจชอบของกรรมการแต่ละคนแต่เอาประชาชนเป็นตัวนำการทำงานของกรรมการสิทธิฯ แม้สิทธิบางอย่างไม่ได้อยู่ในสิทธิมนุษยชนสากล ก็ได้มีความพยายามนำมาพิจารณาสนองต่อประโยชน์ของประชาชน


 


กรรมการสิทธิมนุษยชนแตกต่างจากองค์กรอิสระอื่นซึ่งทำงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่กรรมการสิทธิฯ เปิดประตูให้มีการสัญจรสื่อสาร 2 ทางระหว่างกรรมการสิทธิมนุษยชนและบุคคลภายนอก ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมการสิทธิฯจะมีอำนาจมากหรือน้อยก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเติบโต มีขีดความสามารถ ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สะท้อนว่าประชาชนมีขีดความสามารถปกป้องตัวเอง ซึ่งการตั้งอนุกรรมการมาสนองต่อประชาชนในแต่ละเรื่องก็ต้องการให้ภาคสังคมมีส่วนร่วมตัดสินใจจากระดับล่าง ไม่ใช่แค่ทำเรื่องร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ แม้ว่าการตัดสินใจสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน


 


นายเสน่ห์ กล่าวว่า ภารกิจอันหนึ่งคือการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็มีคุณูปการ ทั้งนี้ต้องอาศัยเวลาความเข้าใจ ทรัพยากร นำมาขยายเครือข่ายในวงกว้างให้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นเครือข่ายทำหน้าที่สะท้อนปัญหาจากพื้นที่และโต้แย้งกรรมการสิทธิฯได้ มากกว่าการสะท้อนความต้องการของกรรมการสิทธิเอง แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต ขอย้ำว่าการทำงานไม่ควรขึ้นอย่กับกรรมการเพียง 11 คน หรือ 7 คนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะควรขึ้นอยู่กับการผลักดันของภาคประชาชน


 


นายเสน่ห์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 คณะรัฐประหารใช้คำว่า ปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นคำตรงกันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่ลักษณะปัญหาแตกต่างกัน เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พยายามจะบรรจุสิทธิเสรีภาพประชาชนให้ครบถ้วน แต่พบว่าแม้บัญญัติครบแต่ก็ปราศจากความหมายถ้าประชาชนไม่ได้ผลักดัน ทั้งนี้ ก่อน 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 หัวใจในการกระจายอำนาจจะมองเพียงแค่มี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่ได้ เพราะปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมีไปถึงชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมาก็มักจะมีการลักลั่นขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า มีบางชุมชนที่ประสานงานกับ อบต.ได้ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรท้องถิ่น จนกระทั่งมีการยึดอำนาจแล้วร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทางกรรมการสิทธิฯ ได้ทำข้อเสนอรัฐธรรมนูญฉบับเจตนารมณ์ประชาชน แต่ข้อเสนอต่างๆ เกือบทั้งหมดถูกปฏิเสธ  


 


ทั้งนี้ อนาคตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง หรือสภา แต่อนาคตอยู่ที่ประชาชนที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ขึ้น


 


ต่อมานายเสน่ห์ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ซักถามประเด็นความไม่เป็นเอกภาพในองค์กรคณะกรรมการสิทธิฯว่า หลักการขององค์กร คือ ไม่เกี่ยวข้องกับฝักฝ่ายทางการเมือง แน่นอนว่าเมื่อมีความไม่ถูกต้องก็ต้องเข้าไป แต่ไม่ใช่ในฐานะเป็นฝั่งนั้นเป็นฝ่ายนี้ ซึ่งเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน เส้นแบ่งตรงไหนเราก็ต้องไม่ประมาทและด้วยเหตุนี้เราจึงต้องทำงานเป็นคณะ การตัดสินใจเป็นคณะจะได้ช่วยดึงกัน


 


แต่เรื่องของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันจะแบ่งเส้นทีเดียวทำได้ยาก แต่ก็ต้องประคับประคองให้มีความเป็นเอกภาพให้ได้ ไม่ใช่เพื่อความสามัคคี ถ้าจะรับใช้ปัญหาของประชาชน ก็ต้องมีการประสานงานกัน เพราะ ไม่ว่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจทั้งการเมือง เป็นเรื่องเดียวกัน


 


ต่อข้อเถียงที่มีว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนบางคนเคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายเสน่ห์กล่าวว่า


 


"ผมพูดหลายครั้งว่า ยังไงๆ เราจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร บางกรณีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องวินิฉัยว่าอะไรควร อะไรไม่ควรแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องวินิจฉัยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ที่ผมพูดกับเพื่อนกรรมการก็คือว่า การที่จะถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ต้องนึกถึงบทบาทสถานะกรรมการสิทธิฯ ที่ต้องรับใช้สังคม การใช้สิทธิอะไรที่เป็นการบั่นทอนสังคม ผมคิดว่ากรรมการสิทธิต้องจำกัดขอบเขตตรงนั้น จะไปเข้าฝ่ายไหนตรงไหน เราห้ามคนไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่าการกระทำต่างๆ ถ้าไปถึงจุดที่เป็นการคุกคามความสงบเรียบร้อยความปกติสุขของประชาชน อันนั้นผมไม่เรียกว่าเป็นสิทธิ"


 


นายเสน่ห์ กล่าวถึงกรณีนายจรัล ดิษฐาภิชัย ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และร่วมนำขบวนม็อบหน้าบ้านสี่เสาเทวศน์คืนวันที่ 22 ก.ค.ว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมงานยึดถือว่าต้องมีความเคารพต่อสิทธิแต่ละคน เคารพต่อความมีวุฒิภาวะ ที่จะวินิฉัย และกรรมการสิทธิก็ไม่อยากตัดสินใจเข้าไปสอดแทรกและเรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคมที่ต้องวินิจฉัยตัดสิน ไม่ใช่เฉพาะกรรมการสิทธิฯ เราไม่มีอำนาจให้ใครไปทำอะไร ในแง่หนึ่งก็เป็นประโยชน์ที่ไม่ก้าวก่ายกัน แต่หากสังคมวินิจฉัยแล้วเชื่อว่าตัวกรรมการสิทธิคงไม่ถึงกับไม่สนใจใยดี เป็นเรื่องตัวบุคคล ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม


 


ทั้งนี้มีคนมาร้องเรียนว่าเราไม่มีแอคชั่นใดๆ ซึ่งเราก็มีแอคชั่นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสนช. ซึ่งมีอำนาจ แนวโน้มที่จะถอนนายจรัลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ สนช. และผู้ร้องเรียนก็บอกว่าถ้าไม่ได้ผลคำตอบอะไรภายใน 3 วัน ก็จะยื่นให้สนช. เมื่อก่อนเป็นอำนาจของวุฒิสภา


"ขอย้ำว่ากรรมการสิทธิฯต้องเป็นตัวของตัวเองไม่เป็นเครื่องมือของใครทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนตัวบุคคลเป็นเรื่องมโนธรรม ความสำนึกและสังคมต้องดูแล อย่างไรก็ตามเราก็มีองค์กรที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้คือ สนช. ซึ่งอาจจะดูยากเย็น แต่นี่คือเหตุผลของความเป็นอิสระของกรรมการสิทธิฯ หากถูกทำอะไรง่ายๆ ก็จะมีปัญหา การเป็นนักสิทธิมนุษยชนถ้าไม่นึกถึงความรู้สึกสึกคิดของสังคมก็จะมีปัญหา ไม่ใช่มองสิทธิเอาแต่ใจตัว "


 


สื่อมวลชนยังถามต่อถึงผลการพิจารณาคำร้องเรียนที่มีกลุ่มธรรมาภิบาล เป็นผู้มายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เรื่องขอให้ตรวจสอบนายจรัลว่ามีพฤติกรรมขัดต่อ พรบ. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและขัดต่อ มาตรา 9 ซึ่งกำหนดว่า กรรมการสิทธิต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเป็นกลางรวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน ขณะเดียวกันก็ขอให้คณะกรรมการหามาตรการดำเนินการเพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคมภายใน 3 วัน ถ้าไม่มีคำตอบกลุ่มธรรมาภิบาลก็จะยื่นเรื่องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อดำเนินการถอดถอนนายจรัล ออกจากตำแหน่ง


 


นายเสน่ห์ กล่าวว่า กรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการวินิฉัยส่วนตัวของนายจรัล ซึ่งประกาศต่อคณะกรรมการสิทธิฯและสาธารณชนแล้วว่าการไปเข้าร่วมกับ นปก. เป็นการกระทำในนามส่วนตัว ซึ่งสังคมก็อาจจะแยกได้ยากและมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเพราะเป็นคนคนเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นว่า เมื่อสังคมให้ความสนใจก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าควรเป็นอย่างไร


 


นายเสน่ห์  กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้ยกเรื่องที่ไม่มีคำร้องเรียน แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชนในวงกว้างและยิ่งกว่านั้นมีปัญหาการละเมิดสิทธิ หรือไม่ละเมิดสิทธิ มีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะ จึงมีความเห็นว่าจะตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะหยิบยกตรวจสอบเรื่องราวเหตุการณ์โดยสาวไปถึงต้นเหตุ เพื่อศึกษาความเป็นมาต่างๆ มุ่งหวังที่จะให้เป็นบทเรียนต่อสังคมทั้งต่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายชุมนุมประท้วง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น และสรุปว่าต่อไปภายหน้าควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะเหตุการณ์คืนวันที่ 22 ก.ค. แต่สาวเรื่องถึงต้นตอให้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น  


               


นายเสน่ห์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าจะมีการจับกุมแกนนำ นปก. และกระแสข่าวจะมีการรื้อเวทีที่สนามหลวงว่า หากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างถึงที่สุด แต่เมื่อเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net