Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 26 ก.ค.50   เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนต้านแอ๊บบอต จัดแถลงข่าวเรื่อง "ภาคประชาชนประณามบริษัทยาในการพยายามล้ม CL ในไทย" ที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมออกประกาศบริษัทยาต้องหยุดการโฆษณาชวนเชื่อและแสดงความจริงใจต่อผู้ป่วย


 


ประกาศดังกล่าวระบุประเทศไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) โดยรัฐกับยา 3 ชนิด คือยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่มีชื่อทางการค้าว่า สต๊อคคริน หรือที่มีชื่อสามัญทางยาว่า เอฟฟาไวเรนซ์ และยาที่มีสูตรผสมระหว่างยาโลพินาเวียร์ ยาริโทนาเวียร์ และยาโคลพิโดเกรล ที่เป็นยารักษาโรคเส้นเลือกอุดตันในหัวใจและสมอง ซึ่งยาต้นตำหรับที่ขายทั่วไปมีราคาสูงมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถได้รับยาดังกล่าว


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของบริษัทแอ๊บบอตฯ ในสองเหตุการณ์คือ 1.การพยายามสร้างภาพว่าต้องการแก้ปัญหา ด้วยวิธีการประกาศลดราคายาที่ได้ทำ CL ไปแล้ว โดยมีเงื่อนให้ล้มการทำ CL ของยาตัวนั้น และการเสนอยาสูตรใหม่ในราคาที่ต่ำโดยเงื่อนไขไม่ให้ประกาศ CL เพิ่ม ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีความเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่หยุดสร้างภาพโดยการที่ให้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยาด้วยกันจัดตั้งและมอบรางวัล "Global Business Coalition on HIV/AIDS Award" ให้แก่บริษัทแอ๊บบอตฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทยอดเยี่ยมที่สนับสนุนให้คนเข้าถึงยา ถือเป็นการสร้างภาพและหลอกลวงประชาชน


 


นอกจากนี้เขา ยังแสดงความหวั่นเกรงว่าหากยังมีการซื้อเวลากันอยู่อย่างนี้ ปัญหาจะตกอยู่กับผู้ป่วย เพราะยาที่มีสำรองอยู่จะเพียงพอใช้ไปได้อีกเพียงไม่เกิน 4 เดือน แต่อย่างไรก็ตามต้องรอให้การจัดการเป็นไปตามกระบวนการเพราะหากเร่งรัดมากไปกว่านี้อาจส่งผลต่อคุณภาพของยาได้


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนยาในไทยกว่าสิบรายการซึ่งครอบคลุมถึงยารักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และโรคใต ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้ CL และภาคประชาชนก็ร่วมกันรณรงค์บอยคอตไม่ซื้อสินค้าของบริษัทแอ๊บบอต นอกจากนี้ ในส่วนการเคลื่อนไหวของนานาชาติในกลุ่มผู้ติดเชื้อและนักเคลื่อนไหวทางสังคมก็ได้ทำการรณรงค์ให้เข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทแอ๊บบอตฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เว็บไซต์ล่มและเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น โดยบริษัทแอ๊บบอตฯ ให้เหตุผลของการ้องร้องว่าทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารในเรื่องโรคเอดส์จากองค์กรได้ แต่หลังจากนั้นถูกกดดันอย่างหนักจนต้องถอนฟ้องไปในที่สุด


 


นายวิรัตน์กล่าวต่อว่าการที่กระทรวงสาธารณะสุขพยายามอ่อนข้อโดยการให้บริษัทเสนอราคายาต้นตำหรับของบริษัทไม่ให้สูงกว่ายาสามัญเกินกว่า 5% ถือเป็นการโอนอ่อนมากที่สุดเท่าที่จะยอมรับได้แล้ว โดยลดราคายามาสู้กับยาสามัญ เพื่อการประนีประนอมในการอยู่ร่วมกันทางสาธารณสุข แต่การต่อรองในปัจจุบันบริษัทแอ๊บบอตฯ ก็ยังให้ราคาที่สูงกว่า 5% อีกทั้งยังมีเงื่อนไขของการยกเลิก CL เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นท่าทีที่ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นทางกลุ่มจึงมีความเห็นว่ากระทรวงสาธารณะสุข ต้องไม่อ่อนข้อไปมากกว่านี้


 


ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไปว่า จะติดตามจนกว่าบริษัทแอ๊บบอตฯ จะยอมขึ้นทะเบียนยาใหม่จากที่ได้ถอนขึ้นทะเบียนไป และจะติดตามเอาผิดกับทางบริษัท ในแง่ของกฎหมายฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า โดยขณะนี้ทำการปรึกษากับนักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วว่าอาจสามารถเอาผิดได้ และได้มีการดำเนินการทำจดหมายยื่นฟ้องไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์แล้ว


 


นอกจากนี้จะทำงานประสานกับเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อกดดันบริษัทแอ๊บบอตฯ พร้อมเดินหน้าชักชวนผู้บริโภค"เลิกซื้อ เลิกใช้" ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอ๊บบอตฯ ต่อไป และจะสื่อสารกับประชาชนทั่วไปให้หันมาซื้อยาสามัญซึ่งมีคุณภาพเทียบเคียงกับยาต้นตำหรับแต่ราคาถูกกว่า อีกทั้งยกตัวอย่างกฎหมายของประเทศฟิลิปปินส์ที่ให้แพทย์สั่งยาโดยเขียนชื่อสามัญทางยา ไม่ใช่ชื่อทางการค้าที่แพทย์อาจเขียนให้จากการถูกชักจูงจากบริษัทยา ซึ่งประเทศไทยน่ามีการนำมาใช้ในปัจจุบัน


 


หลังจบการประกาศได้มีการต่อสายถึงนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม(ประเทศไทย) ที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย โดยเธอระบุถึงการออกแถลงการณ์ขององค์การหมอไร้พรมแดนในการประชุมสมาคมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ณ นครซิดนีย์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมที่ให้ความสนใจกับกรณีปัญหา CL ของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก


นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่าได้มีการตั้งโต๊ะเพื่อให้ร่วมลงนามสนับสนุนการทำ CL ในประเทศไทยและให้บริษัทแอ๊บบอตฯ หยุดสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่แฝงมากับการช่วยเหลือโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกีดกันไม่ให้ประเทศไทยส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชน ซึ่งมีแพทย์จาก 40 ประเทศทั่วโลก อธิเช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรีย ไต้หวัน ฯลฯ มากกว่า 400 คน ได้ให้ความสนใจร่วมลงชื่อและซักถามรายละเอียด อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแขนง


 


นอกจากการรวมลงนามในเอกสารแล้วทางองค์การหมอไร้พรมแดนยังได้เปิดให้มีการร่วมลงชื่อผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต โดยนางสาวกรรณิการ์กล่าวถึงรายชื่อที่รวบรวมได้ว่าจะนำไปมอบเป็นกำลังใจให้กับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และอีกชุดจะนำไปมอบให้กับบริษัทแอ๊บบอตฯ เพื่อหวังเป็นแรงกดดันทางสังคมให้ทางบริษัทเปลี่ยนท่าที่ ในการที่จะแสดงความจริงใจให้ประชาชนทั่วโลกได้เข้าถึงยาอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net