นักข่าว-อาจารย์กฎหมายตอบ ทำไมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ?

ประชาไท - 26 ก.ค.50  ฝ่ายงานพัฒนาบุคลากร มูลนิธิดวงประทีป จัดการอภิปรายวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่มูลนิธิดวงประทีป เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา

 

นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า เขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยได้ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ของกลุ่มพลเมืองภิวัตน์เมื่อต้นปี และแม้ร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จเมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน ก็ไม่เปลี่ยนใจจากเดิม ซ้ำยังยิ่งตอกย้ำว่า คิดถูกแต่แรกแล้วที่ไม่รับร่างฯ

 

เหตุผลที่ปฏิเสธ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกซึ่งสำคัญมาก คือ ภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกยัดเยียดโดยทหาร ทั้งการกำหนดวิธีสรรหา และสัดส่วน ส.ส.ร. โดยจะเห็นว่า ส.ส.ร. 100 คนได้รับการคัดสรรมาจาก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) โดย ส.ส.ร. แต่ละคนได้เงินเดือนเดือนละแสนต้นๆ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน และกรรมาธิการยกร่างฯ 35 คน มาจาก คมช. 10 คน

 

นอกจากนี้ กำหนดเวลาต่างๆ ยังมีจำกัด โดยในช่วงท้ายๆ ก็มี ส.ส.ร. บ่นว่าเวลายกร่างฯ ไม่พอ ไม่ได้จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างฯ หรือมีเวลาพิจารณามากพอ แต่ละจังหวัดได้งบประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อให้นำไปจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน แต่บางจังหวัดเงินไปอยู่กับหัวคะแนน ซึ่งก็นำไปจัดเลี้ยง เพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต ในขั้นโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีเรื่องที่น่าสลดคือ การใช้เงินภาษีของประชาชนไปใช้โฆษณาชวนเชื่อ

 

นอกจากกำหนดกติกาเองแล้ว ถึงวันนี้ก็ยังไม่บอกด้วยว่าจะหยิบฉบับไหนมาใช้และปรับอย่างไร หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพียงแต่ออกมาบอกว่า คมช.จะเอาฉบับไหนมาก็ได้และอาจเลวร้ายกว่าร่างรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งนี่เป็นการขู่กรรโชกอย่างชัดเจน ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ถ้ารับร่างฯ ครั้งนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่ออนาคตการเมืองไทยในอีก 5-10 ปี ทหารจะได้ใจว่าประชาชนรับได้กับการฉีกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วยังรับร่างฯ ที่ทหารแต่งตั้งคนเข้ามาร่างอีก แต่ถ้าไม่รับฯ จะเป็นการตัดไฟวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารในอนาคต ไม่ว่าบางมาตราจะดีหรือไม่ก็ตาม

 

"คนที่ฉีกรัฐธรรมนูญกำลังบอกเราว่า ควรสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ให้รับเถอะ ดีแล้ว ทั้งที่ถ้าเขาเชื่อในกฎหมายจริงจะไม่ยึดอำนาจ"

 

สำหรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แม้บางมาตราจะมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญ 40 แต่จะมองแต่เนื้อหาไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างจากการเก็บเงินก้อนใหญ่ได้แล้วนำมาใช้ โดยไม่ตั้งคำถามว่า เป็นของใคร เจ้าของจะเดือดร้อนไหม จะถูกฟ้องรึเปล่า นั่นคือ ไม่สนใจถึงผลที่จะตามมา

 

นายประวิตร เล่าว่า ในการพิจารณามาตราเกี่ยวกับการศึกษา มีการถกเถียงจากฝ่ายล้าหลังให้ลดการให้เงินการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 40 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ประชาชน 12 ปี เหลือ 9 ปี ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลมีเงินไม่เพียงพอ และผู้สอนคุณภาพเฮงซวย โดยศรีราชา เจริญพานิช กมธ. ได้กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาเงินไปเสียกับการศึกษาของประชาชนเหล่านี้ เพราะว่าคนจบปริญญาตรีสามแสนคน ส่วนใหญ่ทำอะไรไม่เป็น มีที่ทำงานเป็นก็หลุดรอดออกมาอยู่บนโต๊ะนี้ --อันหมายถึงโต๊ะกรรมาธิการยกร่างฯ 35 คน

 

ในขณะเดียวกัน พอมาถึงมาตรา 77 ระบุว่า "รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ" เน้นว่า ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ

 

ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ระบบเศรษฐกิจให้พอเพียง (มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) แต่งบทหารกลับต้องเพียงพอ ขณะที่เรื่องการศึกษามีการยื้อกันมา เถียงกันมาก จนต้องโหวต แต่เรื่องงบทหารกลับไม่มีการถกเถียงกันเลย เงียบกันหมด

 

ด้าน รศ.ดร.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นหัวมังกุดท้ายมังกร โดยเริ่มจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พยายามสร้างภาพให้เป็นประชาธิปไตย บอกว่ารับฟังความเห็นตามภาคจากประชาชน แต่จะเห็นจากร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้ฟังประชาชน โดยเฉพาะมาตราเรื่อง ส.ว. และมาตบท้ายที่กระบวนการประชามติ ทั้งที่ผ่านมา หลายคนดูถูกประชาชนว่า โง่ ถูกซื้อเสียง แต่สุดท้ายก็รณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ ซึ่งนี่คือการฉกฉวยสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

 

ด้านเนื้อหา รศ.ดร.ประสิทธิ์ แสดงความเห็นว่า ที่มาและอำนาจของวุฒิสมาชิกไม่สัมพันธ์กัน โดยขณะที่รัฐธรรมนูญ 40 ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ถ้าไม่ดี ประชาชนก็จะตรวจสอบ โดย ส.ว. มีอำนาจที่สำคัญ คือ อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 50 อำนาจของ ส.ว. ยังมีอยู่เท่าเดิม แต่กลับลดจำนวนลงจาก 200 คนเหลือ 150 คน โดยมาจากการสรรหาและเลือกตั้งตรง โดยมีกรรมการสรรหา 7 คน มาคิดแทนประชาชน (ดูล้อมกรอบ มาตรา113) ทีตอนนี้ไม่เชื่อวิจารณญาณของประชาชน แต่จะให้ประชาชนลงประชามติเข้าข้างรัฐธรรมนูญ  

 

ขณะที่เกณฑ์การสรรหาต้องมีความรู้ มีจริยธรรม มีประสบการณ์ ก็เป็นแค่นามธรรม เป็นดุลยพินิจ เพราะเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งคือ กฎหมายลูกที่กำหนดรายละเอียดยังไม่ออก ดังนั้นจะมาให้รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ เพราะเรายังไม่เห็นทั้งหมด ยังไม่รู้ว่าเกณฑ์การสรรหา ส.ว. จะเป็นอย่างไร

 

คุณสมบัติก็แย้งกันเอง เช่น การสรรหา ส.ว. ต้องคำนึงความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ รวมถึงการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แต่คุณสมบัติ บอกว่า ต้องจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า แล้วไหนบอกว่าให้โอกาส นับว่าเนื้อหายังลักลั่นกันอยู่เอง

 

และถ้ากรรมการสรรหา 7 คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้าราชการและศาล โดยเฉพาะกรรมการที่เป็นศาลทั้งสามท่าน ใช้ดุลยพินิจผิดพลาดคลาดเคลื่อน พร้อมจะรับคำวิจารณ์รึเปล่า ถ้าสื่อและนักวิชาการวิจารณ์ว่าตัดสินใจผิดพลาด ผมว่าไม่คุ้มกัน

 

ทั้งนี้ องค์กรที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ คิดว่า มี 3 กลุ่ม นั่นคือ ทหาร ในมาตรา 169 วรรค 2 ให้อำนาจ ครม. ในการโอนหรือใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจไปใช้ในกรณีประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือเกิดการรบได้ทันที โดยเพียงแจ้งให้รัฐสภาทราบ ซึ่งขัดกับหลักการใช้งบประมาณที่ต้องผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน

 

ถัดมา คือ ศาล ซึ่งอำนาจได้อำนาจมากมาย ทั้งเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ขยายเกษียณอายุราชการไปเป็น 70 ปี ให้อำนาจริเริ่มเสนอกฎหมายได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แม้จำกัดเฉพาะกฎหมายวิธีพิจารณาความก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น กรณีงบไม่พอ ยังแปรญัตติของบประมาณเพิ่มได้โดยแค่แจ้งไปที่คณะกรรมาธิการเท่านั้น  

 

อีกองค์กรหนึ่งคือ องคมนตรี โดยในรัฐธรรมนูญ 40 ให้บำเหน็จบำนาญแก่องคมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ส.ส. และส.ว. แต่ปัจจุบันถูกตัดหมด คงไว้แต่องคมนตรีที่ได้บำเหน็จบำนาญ ซึ่งมองในแง่ร้ายก็คือ ไม่ชอบนักการเมือง ก็เลยตัดทิ้ง คงไว้แต่ขององคมนตรี

 

สำหรับส่วนของประชาชน ที่มองกันว่าเป็นจุดเด่น แต่ รศ.ดร.ประสิทธิ์ มองว่าเป็นจุดด้อย เช่น การลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือถอดถอน เกรงว่า จะเสนอกฎหมายกันเยอะเกินไป หรือการถอดถอนอาจมีการกลั่นแกล้งกัน ปปช. ก็ต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังมีคดีค้างอยู่จำนวนมาก

 

"ทุกร่างทำเหมือนว่าประชาชนได้อะไร เช่น สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ 40 ก็มี แต่พอ 19 กันยายน 49 ก็พิทักษ์ไม่ได้ จะให้ประชาชนต่อต้านอะไร รถถังมา ยีเอ็มซีมา เอ็ม 16 มาใครจะไปต่อต้าน"

 

หมวดจริยธรรมที่เพิ่มมาใหม่ บอกว่านักการเมืองต้องมีจริยธรรม คุณธรรม ไม่เหมือนคนเป็นไข้ แล้วเอาปรอทไปวัดเสียบปาก แล้วบอกว่า คนนี้คุณธรรมสูงส่ง คนนี้เป็นคนไม่ดี มันดูไม่ได้ แม้จะเขียนดี แต่ก็ปฏิบัติไม่ได้

 

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ห้ามเฉพาะ กมธ. 35 คนลงสมัคร ส.ส. ส.ว. แต่กลับไม่ได้ห้าม ส.ส.ร. และ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ลงสมัคร จะบอกว่า ส.ส.ร. ไม่มีส่วนได้เสียกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ เพราะข้อท้วงติงของ ส.ส.ร. มีส่วนต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ สนช. ก็เป็นผู้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ซึ่งกำหนดการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว. ดังนั้น เมื่อร่างเสร็จแล้ว ส.ว. ใน 150 คนครึ่งหนึ่งก็อาจจะมาจากคนเหล่านี้ เหมือนกับที่เคยกล่าวหารัฐบาลที่แล้วว่า สร้างเครือข่าย สร้างระบอบ    

 

นิรโทษกรรม โดยปกติ เป็นการออกกฎหมายย้อนหลังแล้วเป็นคุณ โดยออกในพ.ร.ก. หรือพ.ร.บ. และออกโดยรัฐบาลที่มาจาก ส.ส. แต่คราวนี้ออกด้วยตัวเองเลย แต่ในมาตรา 309 กลับให้การกระทำ

ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แปลว่าต่อไปนี้ทำอะไรก็ได้ เพราะได้นิรโทษกรรมไว้แล้ว นอกจากนี้ ขณะที่อดีต นิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นการบริหาราชการอย่างอื่น แต่รัฐธรรมนูญนี้ ให้นิรโทษกรรมการกระทำ 3 ทาง คือ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

 

แนวนโยบายของรัฐ เดิมเป็นแนวทางกว้างๆ แล้วการลงรายละเอียดให้เป็นนโยบายพรรคการเมือง แต่ปัจจุบัน ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นเจตจำนง เหมือนบังคับว่า รัฐบาลต้องทำดังต่อไปนี้ 1 2 3 4 จะมีผลเสียทำลายความเป็นปึกแผ่นของพรรคการเมือง ได้รัฐบาลผสม ซึ่งเข้ามาประนีประนอมกัน

 

ด้านการลงประชามติ บรรยากาศไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย มีบทกำหนดลงโทษ เหมือนมีเจตนาเล่นงานประชาชน ถ้าวิจารณ์และทำลายสาระสำคัญก็มีความผิดจำคุก 1 ปี มี กกต. ที่เป็น ส.ส.ร. ด้วยถึง 2 คน ระยะเวลาในการทำความเข้าใจเนื้อหา 309 มาตรา ซึ่งเข้าใจยาก บางมาตราก็ขัดแย้งกันเอง

 

ทั้งนี้ เกรงว่า รัฐบาลหรือ คมช. จะเอาสถานการณ์การเมืองขณะนี้มาบีบให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าเสียดายถ้าประชาชนรับเพราะเบื่อการเมือง อยากให้มีเลือกตั้ง หรือทำให้มันจบๆ ไป แทนที่จะเอาเวลามาอธิบายศึกษาเหตุผลกัน

 


 

มาตรา 113

 

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธาน

ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาบุคคลตามมาตรา ๑๑๔ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแจ้งผลการสรรหาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

 

ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกันเองให้กรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานกรรมการ

 

ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วยกรรมการ

ที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๑๑๔ ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการสรรหาบุคคลที่มี

ความเหมาะสมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ

และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เท่าจำนวน

ที่จะพึงมีตามที่กำหนดในมาตรา ๑๑๑ วรรคหนึ่ง

 

ในการสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์

ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาเป็นสำคัญ และให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มี

ความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคล

ในแต่ละภาคตามวรรคหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย

 

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปตาม

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มา

ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

 

มาตรา ๑๑๕ บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

() มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

() มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

() สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

() ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใด

อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย

() มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกัน

ไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

() เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

() เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน

ไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา

() เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

() ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

() ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือเคยเป็นสมาชิก

หรือเคยดำรงตำแหน่งและพ้นจากการเป็นสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองมาแล้ว

ยังไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

() ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจาก

การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

() เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๒ () () ()

() () () () () () (๑๑) (๑๒) (๑๓) หรือ (๑๔)

() ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่น

หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี

 

มาตรา ๑๖๙ การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย

ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ

หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไป

ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้

เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้

เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย

 

ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจโอนหรือ

นำรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดไปใช้ในรายการที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันที และให้รายงานรัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า

 

ในกรณีที่มีการโอนหรือนำรายจ่ายตามงบประมาณที่กำหนดไว้ในรายการใดไปใช้ใน

รายการอื่นของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐบาลรายงานรัฐสภาเพื่อทราบทุกหกเดือน

 

มาตรา ๓๐๙ บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำ

ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและ

การกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

 

 

-----------------------------------

หมายเหตุ: เน้นโดย ประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท