Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 ก.ค.50   เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "แนวทางการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาชนในการบริหารจัดการแม่น้ำปิงทั้งระบบอย่างบูรณาการ" ณ ห้องภูมิระพี โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ข้อสรุปจากเวทีจะรวบรวมเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแม่น้ำปิงเพื่อเสนอต่อ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 ก.ค.นี้


 


เวทีสาธารณะมี "ฉลาดชาย รมิตานนท์" เป็นผู้กล่าวปาฐากถาใน เรื่อง "การบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม" ที่นอกจากนำเสนอกระบวนคิดและสะท้อนปัญหาการจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงทั้งระบบแล้ว ยังทิ้งท้ายอย่างท้าทายกรอบกระบวนการจัดการน้ำแบบระบบราชการที่ถ่ายทอดผ่านนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานเปิดงานอย่างสวนฉีกมุม


 


"ประชาไท" มีให้อ่านทั้ง  2 มุม


 


000


 


ปาฐกถา


ฉลาดชาย รมิตานนท์


นักวิชาการศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวคิดในระบอบประชาธิปไตย ถ้าสมมติว่าเรายังมีระบอบการเมืองในแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่จำเป็นและไม่ใช่สิ่งที่ต้องมี เพราะในทางทฤษฎีแล้ว ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของประเทศหรือเจ้าของแผ่นดินก็ทรงจัดการทุกอย่างในประเทศด้วยความเป็นธรรม ด้วยจิตสำนึกของผู้ปกครอง ด้วยความกรุณา


 


แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยก็หมายความว่า ทรัพยากรทุกชนิดที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นของปวงชนชาวไทยหรือประชาชนชาวไทย


 


ดังนั้น จึงมีนัยยะว่า เมื่อเปลี่ยนการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว อำนาจการจัดการทุกอย่าง รวมทั้งทรัพยากรเป็นอำนาจของประชาชน เพียงแต่ในทางปฏิบัติเราไม่สามารถจัดการเองได้ การจัดการทรัพยากรทั้งประเทศถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่


 


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การพัฒนาประเทศ การค้าขาย การวางนโยบาย เรื่องความมั่นคง การศึกษา หรือต่างๆ นานา ถูกมอบไปอยู่ในมือของรัฐ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 60 ปี หลายสิ่งเปลี่ยนไปมาก ประชาธิปไตยมันเปลี่ยนแปลงไปในในแนวที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น


 


การเปลี่ยนแปลงไปมีหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญคือประชาชนเห็นว่ารัฐไม่สามารถจัดการแต่เพียงผู้เดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน หรืออย่างมีความเป็นธรรม ดังนั้น กระแสการเรียกร้องให้กระจายอำนาจแท้จริงแล้วคือกระแสการเรียกร้องให้การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากร เพราะทรัพยากรเป็นฐานที่มาของการทำมาหากินหรือการดำรงชีวิตของประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆ


 


ทรัพยากรดิน เป็นฐานที่มาของการดำรงชีวิตของผู้คน เราจะพบว่าปัญหาการจัดการดินมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือปัญหาเรื่องการจัดการหรือการกระจายกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้จนในปัจจุบัน เพราะที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศจะอยู่ในมือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง จำนวนน้อยคน


 


ส่วนราษฎรที่จำเป็นต้องทำมาหากินหรือที่เราเรียกว่าชาวไร่ ชาวนา กลับตกอยู่ในฐานะผู้เช่าหรือไม่ก็เป็นชาวนาไร้ที่ดิน หรือเป็นผู้บุกรุกในเขตที่รัฐที่หวงห้าม จึงถือว่าเป็นปัญหาการจัดการทรัพยากรที่เป็นปัญหาใหญ่และยังไม่ได้รับการแก้ไข


 


นอกจากนี้ ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการทรัพยากรในเรื่องที่ดินยังเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ความยากจน ทำให้ราษฎรหรือประชาชนต้องเป็นผู้อยู่ในการอุปถัมป์นักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ ทำให้พวกเขากลายเป็นพวกลงคะแนนเลือกตั้งตามใบสั่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพูดว่าผู้สร้างปัญหาคือประชาชนเองที่ดันไปเลือกคนไม่ดีไปเป็นผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ซึ่งการพูดแบบนี้เป็นการพูดที่ไม่ยุติธรรม โดยไปมองแต่ว่าชาวบ้านออกเสียงและออกเสียงมาในลักษณะอย่างนี้ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นกลายเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น แต่ไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากความยากจนอันเนื่องมาจากความไม่ธรรมในการจัดการทรัพยากรของรัฐจนทำให้ประชาชนต้องไปอยู่ในอุปถัมป์ของนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติและยอมขายสิทธิขายเสียง


 


ปัญหาป่าไม้เป็นรูปธรรมสำคัญอีกประการ เราพบว่าหน่วยราชการของรัฐได้จัดการในลักษณะที่ไม่โปร่งใส ไม่ยั่งยืน ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา แล้วทำให้ป่าไม้ในประเทศไทยย่อยยับอัปราไป แล้วได้บวกเข้าไปกับนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันการขยายพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลาง ทำให้การขยายพื้นที่หรือการใช้พื้นที่ตลอดปีมาปลูกพืชเพื่อส่งออกก็ส่งผลให้ต้องใช้น้ำและใช้ป่ากันมหาศาล


 


ตามมาด้วยการบุกเบิกพื้นที่ในที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรก่อน เช่น ในภาคอีสานในยุคการขยายตัวของมันสัมปะหลัง อ้อย หรือยางในปัจจุบัน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมคือทุจริตกล้ายางในรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส สะท้อนการคอรัปชั่นในวงข้าราชการ


 


ทำไมจึงคอรัปชั่นในวงราชการ ก็เพราะนักการเมืองไม่สามารถคอรัปชั่นได้ ถ้าไม่มีข้าราชการร่วมมือ เราจึงพบว่า เมื่อนักการเมืองเข้าไปมีอำนาจจึงย้ายข้าราชการ แล้วนำข้าราชการที่ตอบสนองต่อการสร้างผลประโยชน์นักการเมืองมาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ


 


เราจึงไม่แปลกใจที่จะพบว่า ตัวแทนราชการมักจะชี้นิ้วมาที่ประชาชนเสมอว่าเป็นผู้กระทำความผิด คงทราบกันดีว่าประวัติศาตร์การเมืองไทยยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจอยู่ที่ข้าราชการ กระทรวง ทบวง กรม ทหาร ในช่วง 30 ปีแรก


 


จนกระทั่ง เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา อำนาจของธุรกิจหรืออำนาจของพ่อค้าเริ่มแข็งขึ้นซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลกหรือโลกาภิวัตน์ที่เศรษฐกิจไทยต้องเข้าไปผูกหรือไปพัวพันมากขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศมีมากขึ้น  สิ่งที่เราเรียกว่าอภิมหาโปรเจ็คหรือเมกกะโปรเจ็คเริ่มหลั่งไหลเข้ามา มีผลทำให้พ่อค้า นักธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกว่าทุนระดับชาติต้องร่วมมือกับทุนนานาชาติเพื่อเข้าไปทำมาหากินหรือสร้างรายได้จากเมกกะโปรเจ็คเหล่านั้น


 


ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด สร้างความเสียหายให้กับประเทศมากที่สุด และส่งผลกระทบมากสุดในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาก็คือสนามบินสุวรรณภูมิ แต่นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียว เราจะเห็นความอัปลักษณ์ของการร่วมมือระหว่างข้าราชการกับนักการเมืองซึ่งเป็นนายทุนระดับชาติในอีกหลายอภิมหาโปรเจ็ค เช่น เรื่องโรงกรองน้ำที่คลองด่าน หวยบนดิน-ใต้ดิน และที่รอการนำมาเปิดเผยกันให้มากขึ้น ปัญหาเหล่านี้คิดว่าประชาชนไม่ใช่ผู้สร้าง แต่ประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดแต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวว่าคือประชาธิปไตย


 


การมีส่วนร่วมมีความหมายหลายประการ มันมีความหมายถึงการตรวจสอบด้วย ไม่ใช่มีส่วนร่วมเมื่อส่วนราชการนำโปรเจ็คมาเปิดเผย แล้วว่าโปรเจ็คนั้นทำไปแล้ว ได้อนุมัติขั้นตอนต่างๆ ผ่านไปแล้ว และมาขอให้ประชาชนลงประชามติ การมีส่วนร่วมแบบนั้นคิดว่าจอมปลอม เป็นการมีส่วนร่วมที่ผู้มีอำนาจ คือนักการเมืองและข้าราชการยัดเยียดให้ประชาชนแล้วว่านี่คือการมีส่วนร่วม มันเป็นแต่เพียงว่าจะเอาหรือไม่เอา และถึงไม่เอาเราก็ผ่านอยู่ดี


 


ปัญหาเรื่องน้ำ เฉพาะน้ำปิง คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของความแยบยลของระบบราชการและนักการเมืองที่จะซ่อนผลประโยชน์เอาไว้บนพื้นฐานของการสร้างเมกกะโปรเจ็ค ซึ่งรองผู้ว่าฯ พูดว่าทำอะไรต้องใช้เงิน ไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ต้องถามว่า การใช้เงินใช้อย่างไร มาจากไหน ใช้เพื่ออะไร ใช้โดยใคร และกระบวนการใช้เงินหล่านี้โปร่งใสขนาดไหน


 


ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินอย่างเดียว แต่อยู่ที่เงินจำเป็นต้องมี เพราะถ้าไม่มีการใช้เงินมันก็ไม่มีเมกกะโปรเจ็ค เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกที่สุดคือการสร้างโปรเจ็คเพราะเป็นการสร้างเงินหรือหาเงิน หลังการเลือกตั้งคราวหน้า คิดว่าจะมีแนวโน้มที่สำคัญคือ บรรดาเมกกะโปรเจ็คต่างๆ จะยากขึ้น หมายความว่าโปรเจ็คขนาดพันล้านหรือหลายหมื่นล้านจะเป็นที่จับตามากขึ้น เราเรียนรู้ได้จากกรณีของสนามบินสุวรรณภูมิหรือซีทีเอ็กซ์ เพราะทุนนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนจากอเมริกาเขาระวังมากขึ้นในเรื่องความโปร่งใสหรือการทุจริต เพราะเขามีกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นที่จะห้ามไม่ให้บริษัทของอเมริกาเข้ามาใช้จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อที่จะซื้อโปรเจ็ค หรือซื้อหรือจ่ายเงินให้นักการเมืองหรือข้าราชการ เข้าใจได้ว่าเขาคงให้ได้แค่ 5-6 เปอร์เซ็น แต่ในไทยในรัฐบาลที่ผ่านมาการเรียกเงินใต้โต๊ะทำกันถึง 30 เปอร์เซ็น ประเทศในยุโรปก็มีกฎหมายเข้มงวดในการคอรัปชั่นในเมกกะโปรเจ็ค


 


แต่มียกเว้น 3 ประเทศที่องค์กรประชาชนต้องจับตามอง เพราะไม่ยอมเซ็นต์สัญญาในเรื่องของการให้เงินใต้โต๊ะได้แก่ เยอรมัน ญี่ปุ่นและ จีน ดังนั้น ถ้ามีเมกกะโปรเจ็คที่เกี่ยวกับ 3 ประเทศนี้ให้ระวังเป็นพิเศษว่าจะมีการคอรัปชั่นสูง


 


เมกกะโปรเจ็คเป็นฐานการเงินให้กับกลุ่มการเมืองที่กำลังต้องการมีอำนาจต่อไปโดยใช้เงิน กลุ่มเหล่านั้นก็รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในปัจจุบัน และยังต้องพึ่งเมกกะโปรเจ็คเพียงแต่จะถูกจับจ้องสูงมากในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมไม่ให้ไปใช้เงินซื้อราชการหรือนักการเมือง แต่ในประเทศเราก็ต้องมีองค์กรคอยจับจ้องเรื่องนี้เช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม คิดว่าเมกกะโปรเจ็คจะไม่ค่อยสดใสเท่าไร แต่โครงการในระดับท้องถิ่นจะงอกงามคือแตกมาเป็นดอกเห็ดเพื่อเป็นฐานของการดำเนินการของนักการเมือง นักธุรกิจหรือพ่อค้าท้องถิ่น ควรจะเตรียมตัวได้ว่ากระแสการใช้เงินขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเบ่งบานหลังจากการการเลือกตั้ง และเมื่อเบ่งบานก็เป็นหน้าที่ของประชาชนจะต้องตรวจสอบ


 


แต่แน่นอนว่าการตรวจสอบนี้มีอันตราย แต่เมื่อมีอันตรายการตรวจสอบจะต้องเป็นกลุ่มก้อน เป็นองค์กรหรือเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ประชาชนถูกกีดกันให้อยู่ในฐานะเพียงผู้ที่มาออกเสียงว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนราษฎร เป็นอบจ. หรือเป็นอบต. แต่หลังจากการนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจะถูกกีดกัน เช่นไม่ให้เข้าไปดูรายละเอียดการใช้เงินต่างๆ


 


ทำอย่างไรจะแก้ปัญหา คำตอบมีหลายส่วน ส่วนสำคัญหนึ่งคือเรื่องความรู้หรือองค์ความรู้ แต่ปัญหาขณะนี้ของไทยและหลายประเทศคือสิ่งที่เรียกว่าความรู้ถูกจำกัดหรือถูกให้นิยามว่าความรู้คือสิ่งที่นักวิชาการหรือราชการบอกว่าเป็นความรู้ ถ้านักวิชาการหรือข้าราชการไม่เรียกว่าความรู้สิ่งนั้นไม่ใช่ความรู้


 


ดังนั้นในการนำเสนอโครงการต่างๆ เช่น โครงการจัดการน้ำ กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นผู้มีความรู้มากที่สุดในประเทศ และอ้างว่าความรู้ในการจัดการน้ำเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้สากล ในบรรดานักจัดการน้ำทั้งหลายหากไปดูพื้นหลังทางการศึกษา เขาจะบอกว่ามีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็นนักฟิสิกส์ วิศวกร หรือนักไฮโปรโลจิสต์ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ


 


แต่เมื่อเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์  เคมี หรือชีวะ มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนในเรื่องการใช้น้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ทางด้านฟิสิกส์ มันไม่เกี่ยวข้องอะไรความรู้ที่เราเรียกว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม


 


เขาจัดการน้ำบนฐานของฟิสิกส์ เช่น ปริมาตรน้ำ การไหลน้ำ ความเร็วของการไหลน้ำ นี่คือสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ แต่ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเลยคือความรู้เกี่ยวกับชีวิตคน นอกจากนั้นความรู้ในการจัดการน้ำยังถูกบวกหรือผสมกับแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ คือมองว่าน้ำเป็นสินค้า น้ำจะถูกปล่อยให้ใช้อย่างเสรีไม่ได้ น้ำต้องถูกนำมาจัดสรรโดยคำนึงอย่างมีมูลค่า ซึ่งจะใส่ภาคส่วนไหนแล้วคุ้ม เล่นให้ชาวบ้านคุ้มหรือไม่เมื่อเทียบกับภาคโรงแรมหรือใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า


 


เป็นวิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ซ้อนทับมาบนวิธีคิดแบบฟิสิกส์ซึ่งทำให้การจัดการน้ำของรัฐเป็นการจัดการน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ในระดับมหภาค จึงไม่น่าแปลกใจที่การจัดการน้ำของกรมชลประทานหรือของรัฐจะสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านหรือท้องถิ่น


 


ทำอย่างไรจึงเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ก็ต้องจำเป็นต้องสร้างความรู้อีกชุดหนึ่งที่ไม่ใช่ชุดความรู้ฟิสิกส์ หรือเศรษฐศาสตร์มหภาค แต่เป็นความรู้ที่เรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เรายังรีบร้อนใช้คำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างรวบรัดเกินไปโดยที่ยังไม่ได้สืบค้นคำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ ต้องร่วมกันค้นหา ร่วมกันสร้าง ร่วมกันผลักดันหรือสถาปนาให้เป็นชุดความรู้อีกชุดหนึ่งที่มีสถานภาพที่จะต้องถกเถียงได้อย่างมีน้ำหนัก


 


ที่รองผู้ว่าฯ พูดก็หงุดหงิดอยู่ คือบอกว่าต้องมาพูดกันด้วยเหตุผลไม่ใช่ถือธงมา แต่คิดว่าคนที่ถือไม่ใช่ชาวบ้าน แต่คือระบบข้าราชการหรือนักการเมือง ธงอันนั้นถือมาแล้วแล้วบอกว่าคุณจะเอาหรือไม่ ถ้าไม่เอาผมก็ทำอยู่ดี ชาวบ้านไม่ได้ถือธงอะไรมา หรือถือก็เป็นธงเล็กๆ พอถือมาเขาก็ว่าธงคุณมันเล็กๆ เกินไป จะเรียกว่าธงไม่ได้ด้วยซ้ำ ของเขาต่างหากคือธง หรือเหตุผลที่แท้จริง ส่วนของพวกคุณไม่ใช่เหตุผล ดังนั้นทำอย่างไรให้เหตุผลที่ถือกันมาคนละเล็กคนละน้อยกลายเป็นเหตุผลในความคิดเขา ไม่ใช่เรื่องง่าย


 


เพราะนักวิชาการของรัฐมีระบบคิดชุดหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ ชุดเศรษฐกิจมหภาค ในภาษาวิชาการเรียกว่ามีกระบวนทัศน์หนึ่ง ซึ่งถ้าเราพูดมาในหลายเหตุผลที่เป็นกระบวนคิดของชาวบ้านมันเป็นอีกกระบวนทัศน์หนึ่ง ดังนั้น 2 กระบวนทัศน์นี้พูดกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง ในที่สุดแล้วการพูดกันด้วยเหตุผลจะเป็นเพียงฉากหน้า แต่ฉากหลังจะตัดสินกันด้วยการเมือง ทำอย่างไรจะให้การเมืองท้องถิ่นหรือภาคประชาชนมีอำนาจในการต่อรองได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ใช่แค่ลุ่มน้ำปิงแต่หมายถึงระดับชาติที่จะต้องมีองค์กรที่เข้มแข็งตรวจสอบรัฐบาลได้ เรื่องนี้โยงไปถึงรัฐธรรมนูญด้วย


 


สุดท้าย เรื่องการจัดการทรัพยากรลุ่มแม่น้ำปิง ถ้าเราจะเสนอการจัดการเรื่องน้ำท่วมเชียงใหม่อย่างเป็นระบบทั้งสาย ความซับซ้อนมันสูงมหาศาล เพราะปัญหาของแม่น้ำปิงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไม่หมือนกันเลยทั้งเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางระบบนิเวศ และทางสังคม


 


ในทางสังคมวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรามีปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นไม่เป็นปัญหา แต่มีปัญหาตรงที่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นมีการจัดลำดับความสำคัญทางชาติพันธุ์ แล้วเกณฑ์ที่นำมาจัดลำดับความสำคัญของชาติพันธุ์คือเกณฑ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมมาก ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร นั่นคือความเป็นไทย ที่ได้รับการอธิบายโดยรองผู้ว่าฯ ว่า คือความรักต่อเมืองไทย ความรักแผ่นดิน ความรักเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนามธรรมมากที่ว่าอะไรคือความรัก หรืออะไรคือการแสดงออกซึ่งความรักต่อแผ่นดิน


 


เพราะอย่างนี้จึงเกิดอาการทึกทักว่าคนที่ไม่ใช่ไทยหรือชาวเขาจะไม่รักแผ่นดินไทย หรือคนที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานต่างชาติจะไม่รักเมืองไทย คิดเพียงว่าจะเข้ามากอบโกยใช้ทรัพยากรอย่างสุรุ่ยสุร่าย คิดว่าเป็นวิธีคิดที่มีอคติ มีมายาคติมหาศาล


 


ดังนั้น ถ้าจะจัดการน้ำทั้งระบบต้องใส่ใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ใส่ใจต่อความหลายหลายต่อชีวิตของคนที่อยู่ในแต่ละส่วนของพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ว่ามีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน


 


เราจะไปเรียกร้องให้ชาวนาแถวอยุธยาอยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหวังว่าเศรษฐกิจพอเพียงพอจะเป็นทางออกหรือการประทังปัญหาได้บางระดับ คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำงานได้ในระดับชุมชนเช่น ชุมชนที่ห่างจากเมือง ชุมชนที่เป็นชนเผ่าทั้งหลาย ในขณะที่ชาวนาภาคกลางจะกังวลถึงน้ำแล้ง น้ำท่วม หรือผลผลิต เขาก็จะมีเสียงดังในสภาหรือหอการค้าต่างๆ แต่พี่น้องท้องถิ่นต่างจะไม่มีเสียง เป็นปัญหาที่ยังต้องการการทำความเข้าใจอย่างละเอียดถ้าจะจัดการลุ่มน้ำปิงอย่างเป็นระบบ


 


ขอสรุปว่าปัญหาทั้งปวงไปรวมกันที่ปัญหาทางการเมืองในทุกระดับ ในความเห็นส่วนตัวมีเรื่องที่น่าเสียดายคือ ในช่วงรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมาเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับความเป็นอุดมการณ์ได้มากที่สุด เพราะมีทุกอย่างทั้งมีทุน มีความศรัทธาของประชาชน มีรากหญ้าหนุน แต่เขากลับทำให้ประชาธิปไตยพัง ทำให้การกระจายอำนาจกลายเป็นเรื่องตลก กลายเป็นตัวร้าย ที่ระบบราชการโดยมีรองผู้ว่าฯ เป็นตัวแทนที่มองว่าประชาชนเป็นผู้สร้างปัญหา


 


000


 


นายกองเอกวิลาศ รุจิวัตนพงศ์


รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่


ประธานกล่าวเปิดงาน


 


ปัญหาของเมืองเชียงใหม่ที่สำคัญยิ่งปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาของแม่น้ำปิงซึ่งเป็นสายน้ำสายหลักของคนเชียงใหม่และลำพูน ปัญหาที่เกิดขึ้นคงมิใช่ภาครัฐแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว หรือไม่ใช่เรื่องที่ภาคประชาชนจะนิ่งดูดายอยู่ได้ หน้าที่ในการจัดการระบบการแก้ปัญหาแม่น้ำปิงส่วนใหญ่โดยโครงสร้างคือข้าราชการเข้าไปจัดการ แต่การจัดการที่ใช้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใดนั้นคงขึ้นอยู่กับหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบเอง เพราะปัญหาแม่น้ำปิงไม่ได้เฉพาะในลำแม่น้ำแต่เกี่ยวเนื่องขึ้นไปถึงคนที่อยู่ริมน้ำ บนเขา ยอดเขา ที่เป็นต้นน้ำอย่างแท้จริง


 


ต้นน้ำปิงที่แท้จริงเป็นสายน้ำเล็กๆ ฉะนั้นผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหมดไม่ว่าภาคประชาชน ภาคนักวิชาการซึ่งมีหน้าที่ที่จะศึกษาวิจัยนำเพื่อนำข้อเสนอแนะมาให้สำหรับส่วนราชการดู และข้าราชการที่มีทั้งข้าราชการส่วนกลาง กระทรวง ทบวง กรม หลายหน่วยที่ตั้งในพื้นที่มาจัดการร่วมกับภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งการบริหารจัดการหลายๆ เรื่องสามารถทำได้สำเร็จ แต่บางเรื่องสำเร็จยาก เพราะต่างคนต่างมีแนวคิดของตัวเอง และไม่ค่อยฟังความคิดคนอื่น หรือฟังแต่ฟังน้อย หรือฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เราต้องยอมรับว่าตั้งปี 2539 เป็นต้นมาที่เกิดองค์กรส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบทั่วประเทศ หรือก็คือการมี อบต. มีอำนาจค่อนข้างอิสระ


 


จะเห็นว่าการทำงานในพื้นที่หลายๆครั้งการประสานสอดคล้องน้อย เพราะต่างคนต่างถือได้ว่ามีอำนาจเหมือนกันในการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญคือ วันนี้งบประมาณการบริหารราชการของรัฐโดยกฎหมายที่จะกระจายอำนาจจะมี 35 เปอร์เซ็นต์จะต้องจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. และอบจ. ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี


 


โดยการบริหารนั้นขึ้นกับตัวแทนของประชาชนที่อาสาไปเป็นนายกอบต. นายกเทศมนตรี หรือนายก อบจ.


ที่จะบอกก็คือ วันนี้การทำงานทุกอย่างต้องใช้เงิน ซึ่งงบประมาณของรัฐที่ง่ายสุดก็คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะคิดวันนี้ เสนอวันนี้ เดือนหน้าทำก็ได้


 


แต่ถ้าเป็นรัฐบาลใหญ่ วันนี้ศึกษา ปีหน้าไปตั้งงบประมาณในรัฐบาล กว่าจะได้จริงก็อีก 3 ปีจึงจะได้ทำ เวทีวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถไปบูรณาการกับแนวทางที่ราชการคิดขึ้น และเป็นแผนงานที่เคยผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่ 7 ก.พ. 49 อนุมัติประมาณ 30 โครงการ มูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท งานหลักคือการสร้างเขื่อนตอนบนเพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงมาเร็วเกินไป


 


ขณะนี้ได้เงินมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณฉุกเฉินมากที่สุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค่อนข้างมากในระบบเตือนภัย แต่โครงการหลักจริงๆ ยังไม่ได้เงินเลย บางโครงการอย่างโครงการสร้างพนังกั้นน้ำแม้ได้งบประมาณมาแล้ว แต่มีการต่อต้านเยอะ กรมโยธาธิการเลยยุติโครงการ ทั้งที่ยังไม่เห็นรูปแบบกันเลยว่าเป็นอย่างไร ผมเองก็เสียดาย เพราะเหมือนการปรับภูมิทัศน์ลุ่มน้ำปิงให้ดูสวยงามไม่ใช่กำแพงสูงขึ้นมาปิดแม่น้ำ เพราะคนคิดออกแบบคือสถาปนิก แล้วมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ไปช่วย คนอายุประมาณ 70 กว่าปี ซึ่งที่ดินถูกกัดเซาะไปเยอะก็ร้องมาว่าทำไมไม่สร้างพนังกั้นน้ำ


 


ดังนั้น ต้องนำความเห็นทุกฝ่ายมารวมกัน เชียงใหม่ถือว่าเป็นจังหวัดที่สมบูรณ์ ดอยสุเทพด้านหน้าสวยงาม แต่ด้านหลังถ้าขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูด้านหลังถูกถางเตียนโล่งหมดแล้วเพราะพื้นที่ทางการเกษตร จากการที่คนเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้มีประมาณ 1,600,000 คน ขณะที่หลายปีก่อนมีเพียงไม่กี่แสนคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมคนต่างด้าว หรือคนต่างประเทศที่มาอยู่ และไม่รวมไปถึงแรงงานอพยพจากพม่าก็มาอยู่ ในปัจจุบันจึงมั่นใจว่าแท้จริงมีคนถึงประมาณ 2,000,000 คน ที่มาใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเชียงใหม่ มาอยู่และมาใช้ทรัพยากร


 


ในขณะที่คนเหล่านั้นบางครั้งสำนึกของความรักประเทศน้อยเกินไป สำหรับคนที่ไม่ใช่คนเชียงใหม่ การดูแลสิ่งแวดล้อมก็ไม่สน การตัดไม้ทำลายป่าก็ทำ อาจจะคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย คือข้ามมาจากกฝั่งโน้น อาจอาศัยความเป็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักเพื่อความอยู่รอด


 


วันนี้เราต้องมาแก้ปัญหาในเมืองก่อน เพราะเป็นจุดเศรษฐกิจที่ถ้ามีปัญหานักท่องเที่ยวก็ไม่มาเชียงใหม่ ถ้าไม่มา คนเชียงใหม่ก็ยิ่งแย่ เพราะถ้าไม่มีคนมาเที่ยวพืชพรรณทางการเกษตรก็ขายไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนคนซื้อก็เป็นคนข้างนอก


 


เราต้องช่วยกันโดยมีเหตุผลว่าถ้าราชการจะทำอะไร นักวิชาการต้องมาช่วย เพราะเดี๋ยวนี้จะทำอะไร การดูผลดีผลเสียเราใช้นักวิชาการทั้งสิ้น อาจจะไม่ใช่นักวิชาการโดยตรง แต่เป็นบริษัทที่ศึกษาสิ่งแวดล้อม


 


การจัดการของรัฐนั้นมีหลายหน่วยค่อนข้างเยอะ การบูรณาการที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันการบูรณาการมีมากขึ้น ข้อเสนอแนะจากฟากประชาชนก็รับฟังเพื่อให้งานสำเร็จได้ เพียงแต่ทุกคนจะต้องยืนบนเหตุและผล บนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการเป็นอย่างไร ทำอย่างไรปัญหาแม่น้ำปิงจะน้อยลงไม่ว่าจะปัญหาการกัดเซาะ หรือน้ำท่วม และถ้าทำเป็นเอกสารได้จะดี หน่วยงานที่ไปศึกษาจะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net