Skip to main content
sharethis

รายงาน : รับหรือไม่รับ "รัฐธรรมนูญ" แนวรบชายแดนใต้เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง


 


 


 


ในขณะที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับเรื่องการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มนั้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังประสบปัญหาความไม่สงบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีเพียงคำถามเดียวที่พวกเขาอยากรู้คำตอบมากที่สุด คือ "เมื่อไหร่จะสงบ" เป็นคำถามที่ไม่รู้ว่าใครจะตอบได้


 


 


 


กระแสเรื่องการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกปลุกอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นในทุกสังคม โดยมีหลายกลุ่มที่ทยอยออกมาชี้แจงแถลงไข ถึงเหตุผลที่รับและไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปฏิวัติ 2549


 


ก่อนที่กำหนดวันลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ จะตัดสินว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกนำไปใช้หรือต้องเหนื่อยเปล่ากับการต้องลงทุนลงแรงร่างกันขึ้นมา


 


ในขณะที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับเรื่องการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มนั้น ช่างต่างกับบรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อเรื่องเดียวกันนี้


 


จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังประสบปัญหาความไม่สงบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีคนเจ็บและตายกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนไม่สามารถทำหากินได้คล่องนั้น มีเพียงคำถามเดียวที่พวกเขาอยากรู้คำตอบมากที่สุด คือ "เมื่อไหร่จะสงบ" เป็นคำถามที่ไม่รู้ว่าใครจะตอบได้


 


หากลองหยั่งเสียงคนในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนหนึ่งต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่า เขาจะรับหรือไม่รับ ด้วยเหตุผลอะไร ก็พบว่ามีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งรับและไม่รับ และที่ไม่รู้ว่าจะรับหรือไม่รับดี


 


 


 


ยะโก๊ะ ลาเต๊ะ


 


 


ชาวบ้านอย่างนายยะโก๊ะ ลาเต๊ะ ชาวบ้านส้ม ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยสูญเสียบิดาในเหตุการณ์ยึดมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ก็เช่นกัน


 


เขาบอกว่า แม้จะเคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกฎหมายหลายครั้งในกิจกรรมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังรับรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่น้อยมาก ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะรับหรือไม่รับดี หรือถ้ารับหรือไม่รับแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีผลอะไร


 


"ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านเลย เพราะแม้แต่ตามร้านน้ำชาในหมู่บ้านก็ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่อง ส่วนผมเองถ้าไม่ออกไปร่วมกิจกรรมนอกหมู่บ้านเลยก็คงไม่รู้เรื่องเหมือนกัน"


 


เขาบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐก็เคยให้แจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับไปอ่านที่บ้านแล้ว แต่เมื่อถึงบ้านก็ยังไม่ได้อ่านซักทีเพราะไม่มีเวลาพอ ต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว


 


"ถ้าแจกให้คนอื่นด้วย เขาก็คงไม่อ่านเพราะบางคนอ่านภาษาไทยไม่ได้ หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ถ้าจะให้ดีต้องมีคนมาอธิบายให้ความรู้อย่างการอบรมกฎหมายก็น่าจะดีกว่า ชาวบ้านจะเข้าใจมากกว่า"


 


เขาบอกว่า ตอนนี้ตามร้านน้ำชา หรือที่ไหนๆ ก็แทบไม่มีใครพูดถึงเรื่องการลงประชามติเลย เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ถ้าเขารู้เขาก็พูด แต่ส่วนใหญ่จะสนใจความเดือดร้อนจากความไม่สงบมากกว่า โดยเฉพาะเวลาเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวชาวบ้านไป ทำให้คนในบ้านที่เหลือไม่มีคนดูแล อีกทั้งญาติ ๆ ต้องคอยหาทางช่วยเหลือคนที่ถูกควบคุมตัวไป เรื่องนี้สำคัญกว่าสำหรับเขา


 


เช่นเดียวกัย "มหามะยูฮารี ลาเต๊ะนือริง" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส พูดถึงเรื่องนี้ว่า ชาวบ้านในพื้นที่พูดถึงเรื่องการลงประชามติน้อยมาก แสดงว่าส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าต้องมีการลงประชามติด้วย แต่รู้ว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา แต่ไม่ทราบเนื้อหาและไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร


 


ส่วนในระดับปัญญาชนหรือนักการเมืองท้องถิ่นจะทราบ เพราะมีการติดตามข่าวสารอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่การคุยกันถึงเรื่องการลงประชามติอย่างเป็นจริงเป็นจัง


 


เขาเสนอว่า ก่อนวันลงประชามติ จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพราะในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูท้องถิ่น ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจมากที่สุดคือ สอดแทรกใน คุตบะห์ หรือเทศนาธรรมในการละหมาดวันศุกร์ กับสอดแทรกในรายการวิทยุภาษามลายูท้องถิ่น


 


เขาบอกว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องการลงประชามติ จึงบอกไม่ได้ว่าส่วนใหญ่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ชาวบ้านจะรับหรือไม่รับ ขึ้นอยู่กับการชี้นำด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีกระบวนการชี้นำประชาชน เช่นเดียวกับการสร้างกระแสต้านการลงประชามติหรือต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่มีเช่นกัน


 


มหามะยูฮารี บอกด้วยว่า สำหรับตัวเอง คิดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน เพราะคิดว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงเนื่องจากมีการเลือกตั้ง แม้ในบางมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับตนยังไม่พอใจก็ตาม เช่น ประเด็นเรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ขอแก้ไขได้ในภายหลัง


 


ไม่ว่าผลการลงประชามติครั้งนี้จะเป็นอย่างไร "มหามะยูฮารี" บอกว่า ก็คงไม่มีผลอะไรมากกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ขึ้นอยู่กับคนที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้ว มีการออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ มาใช้แก้ปัญหาความไม่สงบ แต่สถานการณ์ก็ยังเหมือนเดิม จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ถึงจะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านจึงไม่ให้ความสำคัญมากนัก


 


"ชาวบ้านให้สนใจเพียงว่า จะทำอย่างไรให้สามารถทำมาหากินได้สะดวก มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเมื่อไหร่เท่านั้น"มหามะยูฮารี กล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


มันโซร์ สาและ


 


 


ขณะที่ "มันโซร์ สาและ" กลุ่มสื่อยุติธรรมเพื่อสันติภาพ แกนนำภาคประชาชนในจังหวัดยะลา บอกว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มแกนนำมุสลิมในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะยังให้ความหวังกับการเมืองระบบรัฐสภาในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


และยังเห็นว่า ประเด็นการควบคุมนักการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ออกเสียงรับ


 


เขาบอกด้วยว่า ในส่วนของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จะมีปฏิกิริยาอย่างไรนั้น ไม่ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกระแสต่อต้านรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในพื้นที่


 


อย่างไรก็ตาม เขาเปรียบเทียบการลงประชามติครั้งกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา ก็ไม่พบว่ามีการต่อต้านการออกเสียงเลือกตั้ง แต่กลับมีประชาชนออกมาใช้สิทธิในจำนวนที่สูงมาก ดังนั้นการลงประชามติครั้งนี้น่าจะไม่มีการต่อต้าน


 


อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องรับคือ ไม่ต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใ นที่หน่วยความมั่นคงกำลังผลักดันอยู่ขณะนี้ ถูกประกาศใช้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็จะยังไม่มีการเลือกตั้ง และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ก็ยังอยู่ เชื่อว่าจะยิ่งทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านไปโดยง่ายในรัฐบางชุดนี้


 


ส่วนในสายประชาสังคมในพื้นที่ก็ต้องการรับร่างธรรมนูญฉบับนี้ด้วย เพราะ ต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนต่อไปเพราะเอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


ด้านนักธุรกิจอย่าง "อาลี ยาลาลุดดีน" เจ้าของบริษัท พีเนียร์ เลนีต จำกัด นักธุรกิจในจังหวัดปัตตานี ซึ่งส่งออกหมากแห้ง บอกว่า ตนจะออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว


 


เขาบอกว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดปัตตานี ทั้งมุสลิมและพุทธ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่ายังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ก็สามรถมาแก้ไขได้ในภายหลัง


 


เหตุที่จะรับเพราะ เขาเห็นว่า การมีรัฐบาลที่มีฝ่ายค้านย่อมดีกว่ารัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน อย่างน้อยในการออกกฎหมายก็จะมีฝ่ายค้านคอยอภิปรายถ่วงดุลได้ ไม่ใช่จะออกกฎหมายอะไรก็ออกได้ เช่น พระราบัญญัติความมั่นคงภายใน ที่กำลังถูกต้านอยู่ขณะนี้


 


"การมีฝ่ายค้าน จะทำให้เสียงของชาวบ้านถูกนำไปอภิปรายในสภาด้วย เพราะเป็นผุ้แทนของชาวบ้านโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกนำไปแก้ไขได้มากขึ้น และการทำงานของรัฐบาลก็จะมีการถ่วงดุลมากขึ้นด้วย"


 


 


 


สมนึก ระฆัง


 


 


ขณะที่ "นายสมนึก ระฆัง" ทนายความชั้นหนึ่งของจังหวัดยะลา ในฐานะประธานเครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย บออกว่า ในกลุ่มชาวไทยพุทธในพื้นที่ ขณะนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ มีทั้งคนที่รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รับ


 


เขาบอกด้วยว่า กลุ่มคนที่จะรับนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ เพราะจะทราบข้อมูลมากกว่าชาวบ้านทั่วไป หรืออาจจะถูกผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานขอให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยก็ได้


 


ส่วนกลุ่มที่ไม่รับนั้น มีเหตุผลว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่อไปก็อาจมีการปฏิวัติขึ้นอีก


 


"ส่วนตัวผมเองจะไม่รับแน่นอน" เขาย้ำ


 


พร้อมกับบอกด้วยว่า ในภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นยังมองไม่ออกว่า คนส่วนใหญ่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะต่างกับเสียงส่วนใหญ่ของทั้งประเทศหรือไม่ แต่จากการที่ผมได้พูดคุยกับลูกความ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ส่วนใหญ่ก็บอกว่าจะไม่รับเช่นกัน เหตุผลก็คือเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการทหาร


 


"ที่สำคัญคือยังไม่รู้ว่าประชาชนในบางพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมาออกเสียงลงประชามติหรือไม่ เพราะความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านกับรัฐยังมีอยู่สูง อีกทั้งความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ชนบทมีสูงมาก"


 


เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวมุสลิมที่ไม่ออกมาลงประชามติก็อาจมาจากความหวาดระแวงดังกล่าว แต่คนไทยพุทธที่ไม่มาลงประชามติหรือลงแต่ไม่รับ ก็อาจมองว่า เวลานี้รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเขา เพราะถึงรับรู้ก็ไม่ได้สนมากเท่าเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพ


 


เขาบอกว่า ถึงจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหนก็แล้วแต่ แต่คนที่จะนำมาใช้นั้น ใช้อย่างไรนั่นสำคัญกว่า


 


ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า "ที่ผ่านมาคนไทยพุทธไม่พอใจรัฐบาลมาก เพราะรัฐการปฏิบัติระหว่างคนพุทธกับมุสลิมไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ การเข้ารับราชการ การสนับสนุนการศึกษา ทางราชการให้แก่มุสลิมหมด ทุกอย่างเอื้อให้กับมุสลิม"


 


รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหน คำตอบสำหรับคนชายแดนใต้ อาจไม่ใช่อยู่ที่ใครจะเอาไปใช้ คำตอบสำคัญน่าจะอยู่ที่เอาไปใช้แล้วจะแก้ปัญหาความไม่สงบในบ้านเมืองได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net