Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


นับเวลาเกือบ 2 เดือนที่ชาวเลมอแกนกลุ่มหนึ่งจากจังหวัดระนองลงเรือประมงนายทุนและถูกจับกุมตัวอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ กลางมหาสมุทรอินเดีย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? เพราะเขาเป็นคนไร้รัฐ หรือเพราะเขาไม่ใช่มนุษย์ จึงไม่มีใครออกมาถามหาให้ความช่วยเหลือ


 


ในขณะที่คลื่นสูงลูกแล้วลูกเล่าสาดซัดฝั่งอันดามัน แม้รู้ดีว่านี่คือฤดูมรสุม แต่ชาวมอแกนกลุ่มเล็กๆ จากเกาะเหลา ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง คิดว่าการต่อสู้กับปากท้องของครอบครัวและตนเองน่ากลัวกว่าคลื่นอันบ้าคลั่งจากท้องทะเลยิ่งนัก พวกเขาตัดสินใจลงเรือ "ปรวีร์" ของนายทุนคนหนึ่งเพื่อเดินทางออกจากฝั่ง หวังใช้ความเป็นยิปซีทะเลของพวกเขาสร้างรายได้


 


23 พฤษภาคมเรือประมงปรวีร์เคลื่อนออกจากฝั่งเกาะเหลา พร้อมลูกเรือชาวมอแกน 19 ชีวิต ภารกิจ "ดำปลิง" ของลูกเรือไม่มีการบอกกล่าวจุดหมายปลายทาง เรือเคลื่อนหายไปท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งท้องทะเล ทิ้งครอบครัวที่ยืนมองพร้อมความหวังว่าจะกลับมาพร้อมค่าจ้างก้อนใหญ่มาจุนเจือครอบครัว


 


ในความหวังที่ครอบครัวเฝ้ารอ จู่ๆ วันที่ 11 มิถุนายน ก็มีข่าวแพร่สะพัดบนฝั่งเกาะเหลาว่า พี่น้องชาวมอแกนทั้ง 19 ชีวิตถูกทางการอินเดียจับกุมที่น่านน้ำหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดียวพร้อมเรือประมงและไต้ก๋งชื่อ "เบิ้ม" ทำให้ความหวังทั้งหมดของครอบครัวต้องมลายลง


 


เพราะชาวเลมอแกนเหล่านี้รู้ดีว่าพวกเขามีสถานะเช่นไรในผืนแผ่นดินไทย ชาวเลนามสกุลพระราชทาน "ประมงกิจ" ทั้งหมดจำนวน 19 ชีวิตและครอบครัวเบื้องหลังพร้อมเพื่อนพ้องร่วมชะตากรรมบนเกาะเหลาเป็นผู้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีสถานะทางทะเบียนในทะเบียนบุคคลของกระทรวงมหาดไทย พวกเขาไม่มีรัฐใดมารองรับ แม้ส่วนใหญ่จะอาศัยเกาะเหลาเป็นถิ่นพำนักและทำมาหากินมาตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แต่ด้วยภาพของยิปซีทะเล อันเรียกขานชนเผ่าเร่ร่อนในท้องทะเล ทำให้ประเทศไทยไม่รองรับสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์นี้


 


ความหวังความฝันที่ถูกแทนที่ด้วยน้ำตาและความเสียใจ เพราะรู้ว่าคงไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาแน่...


 


เอ็นจีโอรายหนึ่งที่ลงไปเก็บข้อมูลเรื่องดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เปิดเผยว่า "ชาวเลที่นี่แค่ออกเรือไปเลยกำหนดหลายวัน พวกเขาก็รู้แล้วว่าถูกจับแน่" เป็นเสียงสะท้อนภาพปัจจุบันขณะของชีวิตชาวเลที่นี่ได้ดีที่สุด


 


เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเลเหล่านี้ถูกจับ ชะตากรรมที่แขวนไว้กับความไม่รู้ กลุ่มนายทุนและอำนาจแห่งปากท้อง ผลักดันให้พวกเขาจำเป็นต้องออกเรือ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางข้างหน้าอยู่ที่ไหน ชาวยิปซีทะเลที่รู้จักท้องทะเลดีกว่าผืนดิน ทำได้เพียงรับคำสั่งให้ทำงานเพื่อแลกกับอาหารประทังชีวิตบนเรือและค่าจ้างเมื่อเรือกลับเข้าฝั่ง ญาติพี่น้องที่อยู่บ้าน นอกจากรอคอยเงาเรือทาบเหนือท้องน้ำหน้าเกาะแล้ว ยังภาวนาในใจให้เรือลำดังกล่าวกลับเข้าฝั่งตามกำหนด


 


เพราะเมื่อไหร่ที่ออกไปเลยกำหนด หมายถึงการถูกจับกุมจากตำรวจน้ำในประเทศผู้เป็นเจ้าของน่านน้ำ...


 


เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่มีการแจ้งว่าพวกเขาถูกจับที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย หมู่เกาะที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 อยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 600 กิโลเมตร นับเป็นสวรรค์ของเรือประมงผิดกฏหมาย เพราะธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรทางทะเลที่ยังมีอยู่อย่างมหาศาล ล่อตาล่อใจของนายทุนเรือประมงที่ต้องการ "ของทะเล" สดๆ มาแลก "เงิน" โดยไม่สนอกสนใจอะไรทั้งสิ้น


 


"ตอนนี้นายทุนคนดังกล่าวพยายามติดต่อเอาเรือและไต้ก๋งชาวไทยกลับมา แต่เขาไม่สนใจว่าชาวเลมอแกนอีก 19 ชีวิตนั้นจะอยู่อย่างไร ตอนนี้เขาจ่ายเงินให้ครอบครัวละหนึ่งพันบาท ซึ่งเรามองว่ามันทดแทนกันไม่ได้" หนึ่งในเอ็นจีโอที่ลงไปติดตามสถานการณ์เปิดเผยและกล่าวต่อว่า ชาวเลที่อยู่ในสถานะของผู้ไร้สัญชาติ ไร้รัฐให้การรับรองเป็นที่ต้องการ มันทำให้กลุ่มนายทุนทำงานง่ายมาก เพราะเวลาถูกเจ้าของน่านน้ำจับ เขาจะจ่ายเงินเพื่อเอาเรือกลับมา หรือจ่ายเพิ่มเพื่อไต้ก๋งชาวไทยอีกคน ส่วนที่เหลือนั้นเขาไม่สนใจ


"จะสนใจทำไมกับคนที่ไม่มีเอกสารใดๆ มารองรับความเป็นคน ไม่มีประเทศใดรับเป็นเจ้าของ" เขากล่าว และขยายความว่าชาวเลมอแกนทุกคนไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่อินเดียได้ และสถานกงสุลไทยก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ


 


ชาวเลเป็นใคร มาจากไหน?


 


"นฤมล อรุโณทัย" จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่าในประเทศไทย มีชาวเลอยู่ 3 กลุ่ม คือ "มอแกน" "มอแกลน" และ "อูรักลาโว้ย"


           


            ทั้งสามกลุ่มพูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน แต่ทว่าแต่ละกลุ่มก็มีภาษาย่อยของตนเองซึ่งเป็นภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน และต่างก็มีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง แต่มีประเพณีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันเช่น พิธีฉลองวิญญาณบรรพบุรุษและพิธีลอยเรือ


           


            ชาวเลมอแกลน มีประชากรประมาณ 2,500 คน กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านในจังหวัดพังงาและภูเก็ต มีภาษาที่คล้ายคลึงกับภาษามอแกน จึงสามารถสื่อสารกับมอแกนได้ มอแกลนตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวรมานานกว่าร้อยปีทำให้ผสมผสานภาษาและวัฒนธรรมไทยค่อนข้างมาก มีสถานะเป็นพลเมืองไทย บางครั้ง จึงเรียกว่า "ไทยใหม่" เด็กๆ เข้าศึกษาในโรงเรียนในท้องถิ่น หลายคนนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังคงเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษและมีงานฉลองใหญ่ในอำเภอบางสัก จังหวัดพังงา ทุกปี


 


            ชาวเลอูรักลาโว้ย มีประชากรประมาณ 4,000 คน เป็นชาวเลกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะในจังหวัดภูเก็ต กระบี่และสตูล ถึงแม้ว่าจะมีการผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยและกลายเป็น "ไทยใหม่" แต่อูรักลาโว้ยในหลายหมู่บ้านยังคงมีพิธีลอยเรือปีละ 2 ครั้ง


 


            ชาวเลมอแกน มีประชากรในประเทศไทยประมาณ 400 คน และในประเทศเมียนมาร์อีกประมาณ 2,000-3,000 คน ส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตกึ่งเร่ร่อน เดินทางทางทะเลบ่อยครั้ง มีพิธีประจำปีคืองานฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละครั้ง ในช่วงนี้มอแกนจากเกาะต่างๆ จะชุมนุมกันเพื่อร่วมงานฉลองโดยงดออกทะเล 3 วัน 3 คืน ประมาณ 20- 30 ปีที่ผ่านมา มีมอแกนหลายครอบครัวที่ตั้งหมู่บ้านค่อนข้างถาวรที่หมู่เกาะสุรินทร์ วิถีชีวิตที่อพยพโยกย้ายอยู่บ่อยครั้งและเน้นการยังชีพ เก็บหาอาหารจากธรรมชาติ ในฐานะของชนชาวยิปซีทะเล ทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในการดำน้ำ และรู้จักทะเลเป็นอย่างดี


 


            ชาวเลทั้ง 3 กลุ่มในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่มักจะสื่อสารกันด้วยภาษาปักษ์ใต้ บางคนได้เรียนหนังสือและพูด อ่าน เขียนได้ โดยเฉพาะกลุ่มอูรักลาโว้ย ซึ่งถือเป็นไทยใหม่ มีชุมชนใหญ่อยู่ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และมีการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตกลมกลืนกับคนไทยมากขึ้น แต่กรณีของชาวมอแกน เกือบทั้งหมดยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง ยังดำรงชีพด้วยวิถีชีวิตแบบเก่า


 


            ชาวอูรักลาโว้ยบางส่วนขึ้นฝั่งทำงานรับจ้าง แต่ชาวเลมอแกนทั้งหมดยังถือเอาทะเลเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ พวกเขาใช้ชีวิตผูกติดอยู่กับทะเล ในโลกแห่งทุนนิยม เขาต้องเปลี่ยนแปลงการหากินเพื่อดำรงอยู่ โดยการรับจ้างเรือประมงขนาดใหญ่ แต่ก็ยังอยู่กับทะเลเหมือนเดิม


 


            กรณีนี้ต่างกับกรณีที่เรือประมงไทยถูกจับที่น่านน้ำมาเลเซียและเวียดนามเมื่อหลายเดือนก่อน เพราะมีลูกเรือเป็นคนไทย ทางกงสุลไทยประจำประเทศจึงเข้าไปเป็นธุระดำเนินการนำลูกเรือเหล่านั้นกลับมาได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวเลมอแกนจากเกาะเหลา กงสุลไทยจึงไม่เข้าไปดำเนินการใดๆ เพราะคนที่ถูกจับไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองไทย จนถึงขณะนี้จึงยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาจากทางกงสุลไทย


 


ชะตากรรมของบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงเป็นภาพซ้ำๆ ที่ฉายครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้กุมนโยบาย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่สามารถ "เลือกเกิด" ได้จึงต้องยอมรับการถูกกระทำในฐานะพลเมืองชั้นล่างสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


พวกเขาจะถามหาความรับผิดชอบจากใคร...หรือต้องยอมรับชะตากรรมเช่นนี้ตลอดไป แต่ในยุคแห่งความสมานฉันท์และวลี "ดอกไม้หลายสีเป็นสิ่งสวยงาม" น้ำตาของเด็กตัวเล็กๆ ในอ้อมกอดของแม่ชาวมอแกนผู้กำลังยืนมองความเวิ้งว้างแห่งทะเลรอคอยให้ผู้เป็นสามีกลับคืนมา พอจะสะกิดหัวใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย ให้รับผิดชอบพวกเขาในฐานะของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกได้หรือไม่


 


            คำตอบคงอยู่ที่ "หัวใจ" ไม่ใช่กฏหมาย...


 


 






รายชื่อมอแกนโดนจับ ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ตามเอกสารแบบสำรวจผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน แบบ 89


 


1. นายจีจั๊ด         ประมงกิจ


2. นายฉ่อย         ประมงกิจ


3. นายปอแร็น     ประมงกิจ


4. นายพจน์         ประมงกิจ


5. นายโด่ง          ประมงกิจ


6. นายดอน         ประมงกิจ


7. นายชิชิน         ประมงกิจ


8. นายปั่น           ประมงกิจ


9. นายอาแม่น     ประมงกิจ


10. นายภูเก็ต      ประมงกิจ


11. นายเตยอ      ประมงกิจ


12. นายอาเล็ม     ประมงกิจ


13. นายต๊อก       ประมงกิจ


14. นายเบ็น        ประมงกิจ


15. นายวัก          ประมงกิจ


16. นายวิทย์       ประมงกิจ


17. นายบาแยน    ประมงกิจ


18. นายแหว่ง      ประมงกิจ


19. นายช้าง ประมงกิจ ไม่มีชื่อ-เอกสารอยู่ในแบบสำรวจผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนของอำเภอ เพราะไม่ได้มาสำรวจทั้ง 2 ครั้ง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net