Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 18 ก.ค.50 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงพลเมืองไทย ในวาระที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เพื่อเป็นการเตือนว่ากฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐมากเกินไป และอาจส่งผลกระทบในการลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิทางการเมืองของประชาชนหนักข้อขึ้นด้วยการใช้กฎหมายป้องปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์นี้เป็นข้ออ้าง


 


จดหมายดังกล่าว ยังได้ตั้งข้อสังเกตสนับสนุนความกังวลใจดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้สื่อมวลชน ชุมชนสื่อออนไลน์ ช่วยเผยแพร่ ข่าวสาร ความคิดเห็น หรือส่งเสียงประท้วงคัดค้าน ในกรณีที่มาตรการตามกฎหมายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


"การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้า ค้น ยึด อายัด สื่อคอมพิวเตอร์ได้นั้น ย่อมไม่ต่างจากแนวคิดรัฐอำนาจนิยมในอดีตที่ออกกฎหมายให้มีการยึดแท่นพิมพ์ หรือจับกุมเครื่องส่งกระจายเสียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ถ้ารัฐเห็นว่าการกระทำใดขัดต่อกฎหมาย หรือความมั่งคงของรัฐ ทั้งที่กระบวนการร่างกฎหมาย ดังกล่าวนี้ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มาจากสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนเลย  แต่ผลก็คือเราทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างยอมจำนน" จดหมายระบุ


เนื้อหาของจดหมายมีดังนี้


 


 


จดหมายเปิดผนึกจาก คปส. และ FACT ถึง พลเมืองไทย


ว่าด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม เป็นต้น


 


วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2550 คือวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประการใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรก ที่ถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549


 


ทั้งนี้ หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้จริงภายใน 30 ดังนั้นในวันพรุ่งนี้คือวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เป็นวันที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อพลเมืองไทยทุกคน โดยเฉพาะปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ความเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ในทุกมิติ อีกทั้งกระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการผลักดันกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายประกอบ พ.ร.บ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวน 3 ฉบับ คือ



  • หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ
  • หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.
  • กฎกระทรวงว่าด้วยการยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เห็นความสำคัญในการมีกติกาสำหรับการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน แต่เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร (Communication Rights) ของพลเมือง 


ทั้งนี้เรามีข้อสังเกตว่า



  1. การออกพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ เป็นการออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลทั้งโดยผ่านศาลและอำนาจโดยตรงของ เจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายยังกำหนดด้วยว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท (Internet Service Providers-ISP) จะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังไว้นานถึง 90 วัน ไว้ให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรับรู้ ดังนั้นหากเปรียบก็เหมือนเราจะถูกค้นบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลและไม่ต้องแจ้งเรา นอกจากจะถูกค้นได้ภายในวันนั้นแล้ว ยังสามารถถูกย้อนหลังตรวจได้อีก 90 วัน ซึ่งนอกจากจะถูกลิดรอนสิทธิการตรวจสอบข้อมูลที่ถือได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารแล้ว ขณะนี้ยังมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลถึงความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยว่า เมื่อมีกฎหมายมาแล้ว แต่ในกฎหมายกลับยังไม่มีการระบุคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นว่าจะได้มาอย่าง ใครจะเป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการระบุกติกาที่มาของเจ้าหน้าที่อย่างไร

 



  1. การออกกฎหมายการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการออกกฎหมายตามที่เคยต้องการให้มีกฎหมายควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ที่เดิมออกแบบกฎหมายไว้ 6 เรื่องซึ่งจะมีทั้งการป้องกันปราบปราม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่ปรากฏว่าในการออกกฎหมายครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจเลือกจะออกแต่เฉพาะกฎหมายที่เป็นการปราบปราม ซึ่งกระทบและลิดรอนสิทธิประชาชนผู้สื่อสาร โดยรัฐบาลไม่คิดที่จะยกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้บังคับร่วมกันเลย ซึ่งหากจะออกฎหมายที่มีผลตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลย้อนหลังได้ถึง 90 วัน รัฐก็ควรผลักดันให้ออกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย


เราเกรงว่า นับตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป รัฐจะใช้กฎหมายดังกล่าวในการลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว (Right to privacy) และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ของประชาชนหนักข้อขึ้นด้วยการใช้กฎหมายโดยมีเหตุผลซ่อนเร้นทางการเมืองมากกว่าการป้องปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่สังคมไทยขาดความเป็นประชาธิปไตย และแนวโน้มในอนาคตที่รัฐอำนาจนิยมจะครอบงำสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทยมากขึ้น เช่นการผลักดันกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ... หรือทิศทางการสืบทอดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช) เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องตื่นตัวเฝ้าระวังการใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างจริงจังมากขึ้น


 


เราเห็นด้วยกับหลักการในการคุ้มครองเด็ก หรือ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รับความเสียหายจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่เราไม่เห็นด้วยที่รัฐจะมีอำนาจมากเกินไปในการควบคุม เซ็นเซอร์ เนื้อหาสาระในสื่อคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ต จนกระทั่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างการที่รัฐจะปกป้องผู้ที่ถูกกระทำจากคอมพิวเตอร์ กับการละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยรัฐเองนั้นคลุมเครือยิ่ง


 


การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้า ค้น ยึด อายัด สื่อคอมพิวเตอร์ได้นั้น ย่อมไม่ต่างจากแนวคิดรัฐอำนาจนิยมในอดีตที่ออกกฎหมายให้มีการยึดแท่นพิมพ์ หรือจับกุมเครื่องส่งกระจายเสียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ถ้ารัฐเห็นว่าการกระทำใดขัดต่อกฎหมาย หรือความมั่งคงของรัฐ ทั้งที่กระบวนการร่างกฎหมาย ดังกล่าวนี้ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มาจากสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนเลย  แต่ผลก็คือเราทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างยอมจำนน


 


วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2550 เป็นวันที่กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้


 


คปส. และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน ชุมชนสื่อออนไลน์ ช่วยเผยแพร่ ข่าวสาร ความคิดเห็น หรือส่งเสียงประท้วงคัดค้าน ในกรณีที่มาตรการตามกฎหมายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสวงหาข้อมูล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเสรีภาพของประชาชนที่มีจุดยืน ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกทางการเมืองแตกต่างจากอำนาจรัฐ


 


ถึงเวลาแล้วที่พลเมือง ผู้ไม่ยอมรับการคุกคามสิทธิเสรีภาพผ่านสื่อออนไลน์ (Cyber dissidents) จักต้อง รวมพลังกันติดตาม ตรวจสอบ คัดค้าน หรือประท้วงการใช้อำนาจของรัฐในทางมิชอบ ก่อนที่เราจะตกเป็นฝ่ายที่ถูกรัฐจัดการ ตรวจสอบและดำเนินคดีกับเราคนใดคนหนึ่งโดยไม่ทันรู้ตัว


 


เราต้องไม่ยอมให้รัฐรุกล้ำ คุกคาม สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกยึดกุมไปได้แล้ว ยากที่เราจะเรียกร้องให้คืนกลับมา


 


ที่สำคัญ ความผิดทางอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นคนละเรื่อง กับเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต  เพราะการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่อาชญากรรม อีกทั้งเว็บไซต์การเมืองไม่ใช่เว็บโป๊เปลือย  การอ้างเรื่องการควบคุมเว็บไซต์ลามกอนาจารพ่วงแถมด้วยการควบคุมเว็บไซต์ทางการเมืองด้วยนั้น เท่ากับรัฐกำลังทำให้การเมืองเป็นเรื่องอนาจารที่ประชาชน ไม่ควรดู ไม่ควรอ่าน ไม่ควรคิด ไม่ควรพูด หรือแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกใดๆ ในพื้นที่สาธารณ


 


เสรีภาพในการแสดงออกผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ ไม่ต่างจากเสรีภาพสื่ออื่น เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือสื่อสารมวลชนใดในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมถึงกันหมด (Convergence) ดังนั้นจึงต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะสิทธิเสรีภาพสื่อเหล่านี้ มันคือสิ่งชี้วัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย


 


 


คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)


18  กรกฎาคม พ.ศ. 2550


 


  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net